เปิดวิธีเพิ่มราคา 'ผลผลิตเกษตร'ขึ้น 100-1,000 เท่า รองรับตลาดเสริมอาหาร
ตลาดเสริมอาหาร- Functional Food - Functional Drinks มูลค่า 1.9 แสนล้านบาท คาดโตเพิ่มอีก พร้อมเปิดแนวทางนำผลผลิตเกษตร พืชพรรณ วัตถุดิบในไทยมาเพิ่มมูลค่า ราคาอัพขึ้น 100-1,000 เท่า รองรับตลาด
Keypoints:
- ตลาดเสริมอาหาร- Functional Foods - Functional Drink มูลค่า 1.9 แสนล้านบาท คาดโตเพิ่มอีก คนไทยบริโภคเสริมอาหาร-วิตามิน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 149 % ตกคนละ 1,000 บาทต่อเดือน
- ไทยยังต้องนำเข้าสารสกัดวัตถุดิบจากต่างประเทศ ทั้งที่ต้นทุนไทยมีสูง พืชพรรณสมุนไพรกว่า 6,000 ชนิด แต่ยังขาดการต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเชิงพาณิชย์ มีงานวิจัยรองรับ - ผ่านวิเคราะห์คุณภาพ
- รองรับตลาดเสริมอาหาร ตัวอย่างการนำผลผลิตเกษตร พืชถิ่นมาสกัดได้สารสำคัญ เพิ่มมูลค่าขึ้น 100-1,000 เท่า มะขามหวานจากกิโลกรัมละ 3 บาท เป็น 3,000 บาท
เรียกได้ว่าในปัจจุบันทั้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Functional Foods และ Functional Drink ล้วนมีการเติม “Nutraceutical”ลงไปทั้งสิ้น ซึ่งคำนี้ยังไม่มีศัพท์บัญญัติเฉพาะที่ชัดเจนนักในภาษาไทย อาจเรียกว่า “เภสัชโภชนศาสตร์” “โภชนเภสัช” “โภชนบำบัด”หมายถึงสารสำคัญในอาหารอาจจะจากพืชหรือสัตว์ที่สกัดออกมา เมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจงในการส่งเสริมสุขภาพด้านต่างๆ แต่ไม่ใช่ยา
เมื่อเร็วๆนี้ในการแถลงข่าว การจัดกิจกรรม การประกวดนวัตกรรมสารสกัดและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “Vitafoods Asia Nutraceutical Awards” รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ผู้จัดงาน “ไวต้าฟู้ด เอเชีย 2023 (Vitafoods Asia 2023)” งานแสดงสินค้าเทคโนโลยีและนวัตกรรมสารสกัดและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย อธิบายว่า
"อาหารเสริม"เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องรับประทานเพื่อเสริมอาหารหลักที่ได้รับไม่เพียงพอ มักจะใช้ในคน 3 กลุ่ม คือ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ ที่อาจจะมีภาวะบางอย่างทำให้ได้รับอาหารไม่พอ ส่วน "เสริมอาหาร" หากไม่รับประทานก็ไม่เป็นไร แต่คนรับประทานเนื่องจากเทรนด์การดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน
แนวโน้มของอุตสาหกรรมเสริมอาหารในประเทศไทยขยายตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน มาจากการที่ผู้บริโภคต้องการผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อดูแลสุขภาพและสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงอยู่เสมอ รวมทั้งสัดส่วนประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้การบริโภคผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้เป็นที่ต้องการมากขึ้นไปด้วย
โดยตัวเลขทางการตลาดของ Nutraceuticalของไทยทั้งในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ,Functional Foods และ Functional Drink ที่ซึ่งเอสเอ็มอีแจ้งว่า มูลค่าอยู่ที่ 1.9 แสนล้านบาท และคาดการณ์ว่าในปี 2026 อัตราเติบโตรายปี 7 % ตัวเลขจะอยู่ที่ 2.6 แสนล้านบาท แต่ยังไม่มีข้อมูลว่าเป็นการนำเข้าเท่าไหร่
และตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวิตามินในไทย เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 149.3% ผู้บริโภคมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 1,000 บาท ต่อเดือนเพื่อการดูแลสุขภาพที่ดีให้กับตัวเอง มาพร้อมกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยปัจจุบันการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจะเน้นเรื่องป้องกันโรค ความงาม ชะลอวัย กระดูก และเรื่องสุขภาพอื่นๆ
“ช่วงสถานการณ์โควิด 19 ผลักดันให้ธุรกิจด้านนี้โตอย่างมาก แต่เกิดในประเทศฝั่งที่ไกลจากประเทศไทย และอาเซียน โดย 90 % เป็นการนำเข้าวัตถุดิบสารสำคัญ เพราะฉะนั้นในภูมิประเทศที่มีอากาศร้อน จึงมีโอกาสทางธุรกิจอย่างมากที่จะผลิตวัตถุดิบที่เป็นสารสำคัญ จากการที่มีผลผลิตทางการเกษตร พืชพรรณ สมุนไพรต่างๆ เพื่อมารองรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้เองภายในประเทศ”รุ้งเพชรกล่าว
ไทยมีศักยภาพอย่างมาก
ขณะที่ ศิรินันท์ ทับทิมเทศ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร(ศนส.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า วว.มีแนวความคิดที่จะนำวัตถุดิบของชาวบ้าน พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ผ่านงานวิจัยต่างๆ เพื่อให้สามารถจำหน่ายในตลาดได้ ซึ่งที่ผ่านมาวว.ได้มีการนำพืชท้องถิ่นของประเทศไทยมาวิจัย พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางจำนวนมาก
“สิ่งที่ได้เปรียบของไทย คือวัตถุดิบที่มีคุณภาพ แต่ละจังหวัดมีภูมิปัญญาและวัตถุดิบจำนวนมาก ไทยมีพืชพรรณกว่า 10,000 และเป็นสมุนไพรราว 6,000 ชนิด สามารถนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ซึ่งตลาด Functional Food และเสริมอาหารในไทยสามารถเติบโตได้อีกมาก หากมีการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้”ศิรินันท์กล่าว
ในส่วนของศนส.ที่ดำเนินการวิจัย เช่น
- มะขามหวานที่เป็นพืช GI ของจ.เพชรบูรณ์มาสกัดเอาสารสำคัญซึ่งสามารถนำไปทำได้ทั้งเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าจากขายได้กิโลกรัมละ 3 บาทเป็น 3,000 บาท
- สารสกัดขิงทำเป็นน้ำมันขิง ส่งออกไปต่างประเทศ ปรากฎว่าได้รับความนิยมและยินดีจะซื้อกิโลกรัมละ 1 แสนบาทจากที่ขายภายในประเทศกิโลกรัมละราว 1,000 บาท
- ผลิตภัณฑ์จากว่านหางจระเข้ที่จะเสริมมวลกระดูก และการสกัดคอลลาเจนได้จากเกล็ดปลา ซึ่งผ่านการทดสอบประสิทธิภาพความปลอดภัยแล้ว เป็นต้น
สำหรับการส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการ วว.มีศักยภาพที่ช่วยพัฒนาศึกษาวิจัยสิ่งที่เขาสนใจ มีโรงงานที่สามารถช่วยผลิตล็อตเล็กๆให้ไปลองตลาดก่อน และมีห้องแล็ป ที่สามารถนำผลิตภัณฑ์มาทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยได้ หากผ่านการรับรองจากแล็ปของวว.จะสามารถส่งออกไปขายในต่างประเทศได้ทั่วโลก เพราะจุดอ่อนหนึ่งของผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี อยู่ที่การเข้าไม่ถึงเรื่องของการวิเคราะห์และการรับรองมาตรฐาน ซึ่งสามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาและบริการได้
ตัวอย่างการเพิ่มมูลค่าพืชไทย
ทศพล อุมะมานิต นักวิจัย สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หรือ KAPI มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) บอกว่า KAPI มีภารกิจในการวิจัยและพัฒนาของเหลือที่อาจจะไม่มีมูลค่าทางการเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เพื่อให้ชุมชนนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆต่อไป ซึ่งในประเทศไทยมีพืชพรรณมากมาย แต่ยังขาดการวิจัยพัฒนาที่จะมารองรับและยกระดับพืชถิ่นให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์โดยใช้งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ต่างชาติเห็นความสำคัญสารสกัดของไทยอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มที่ช่วยป้องกัน รักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง(NCDs)
KAPI มีการวิจัยพัฒนา นำเปลือกมังคุดที่เดิมขายได้ 10 บาทต่อกิโลกรัมมาสกัดเป็นแซนโทนบริสุทธิ์ เพิ่มมูลค่าขายได้เป็น 2 ล้านบาท เพื่อนำมาใส่เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และกำลังทำให้มีความบริสุทธิ์มากยิ่งขึ้น ก็จะเพิ่มมูลค่าขึ้นไปอีกอยู่ที่ 10 ล้านบาท โดยมีคุณสมบัติเรื่องลดการอักเสบ กำลังอยู่ระหว่างการทดลองในผู้ป่วยมะเร็งเพื่อลดการอักเสบจากการให้เคมีบำบัด
- มะม่วงหาวมะนาวโห่ นำมาศึกษาวิจัยในเรื่องของการลดน้ำหนัก ลดคลอเรสเตอรอล ก็มีผู้ประกอบการมาซื้องานวิจัยไป เป็นการเพิ่มมูลค่าจากพืชที่อาจจะมีปลูกในบ้านแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง
- กากรำข้าวที่ศึกษาวิจัยพบว่ามีกรดโปรตีนจำนวนมาก จึงนำมาสกัด ช่วยในเรื่องของการชะลอริ้วรอย ใช้ได้ทั้งในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง
พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการ
“วว. และมหาวิทยาลัย พร้อมที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการ ทั้งด้านเครื่องมือ การวิจัยและทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อผลักดันให้ไปสู่ธุรกิจอย่างเต็มที่ อย่างเรื่องแหล่งทุนที่มก.ก็มีโครงการที่จะสนับสนุนโดยให้เงินมาเพื่อศึกษาวิจัยเบื้องต้นให้ก่อน และถ้าได้ผลงานวิจัยเบื้องต้นแล้วก็จะไปเขียนโครงการต่อด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันแหล่งทุนหลายแห่งพร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการหรือถ้าเป็นผู้ประกอบการที่พร้อมลงทุนและเดินไปด้วยกันกับนักวิจัยก็ได้”ทศพลกล่าว
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ต้องการได้รับการส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาผลิตภัณฑ์บนฐานทุนที่มีอยู่ภายในประเทศ สามารถเข้ารับคำปรึกษาจากวว. ,KAPI และหน่วยงานวิจัยได้ ซึ่งจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพที่ดีขึ้น รวมถึง มีการรองรับเรื่องผลการวิเคราะห์ทางห้องแล็ปที่สำคัญด้วย
และอีกหนึ่งเวที คือ งานไวต้าฟู้ด เอเชีย 2023 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-22 ก.ย.2566 ที่ฮอลล์ 5-7 ชั้น LG ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เป็นการรวบรวมผู้ประกอบการมากกว่า 8,000 คนจากทั่วโลก แหล่งนวัตกรรมที่ทันสมัย วัตถุดิบคุณภาพ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและบริการต่างๆจากซัพพลายเออร์กว่า 400ราย
ที่สำคัญ อินฟาร์มา มาร์เก็ตส์ฯ ร่วมกับศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร วว. จัดประกวด “Vitafoods Asia Nutraceutical Awards” ผลักดันซอฟท์พาวเวอร์โดยสนับสนุนผู้ประกอบการในไทยให้นำวัตถุดิบจากภายในประเทศ โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตรมาสร้างมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ข้าว หากสามารถดึงสารบางอย่างออกมาได้จะช่วยเรื่องชะลอวัย เป็นต้น
ซึ่งการประกวดเปิดกว้างสำหรับทุกคนที่มีแนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์เข้าร่วมแข่งขัน ส่งผลงานที่เป็นแบบ Prototype แนวคิดผลิตภัณฑ์ แผนงาน หรือแผนการผลิต สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือสารสกัดทุกประเภท ได้ที่ https://vitafoodsasianutraawards.com/login ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 15 ส.ค. 2566 เงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 100,000 บาท เกียรติบัตรรับรองคุณภาพ สำหรับต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์และสารสกัดสู่เชิงพาณิชย์