เข้าใจโรคพาร์กินสัน เช็กอาการ-วิธีรักษา ต่างจาก ‘พาร์กินสันเทียม’ อย่างไร

เข้าใจโรคพาร์กินสัน เช็กอาการ-วิธีรักษา ต่างจาก ‘พาร์กินสันเทียม’ อย่างไร

เคลื่อนไหวช้า เกร็ง สั่น ทรงตัวลำบาก เข้าข่ายป่วยโรคพาร์กินสัน เข้าใจอาการที่เกิดจากความเสื่อมของสมอง รักษาอย่างไร หายขาดได้ไหม? เช็กให้ดี ต่างจาก “พาร์กินสันเทียม” ตำแหน่งความเสื่อมสมอง-อาการที่แสดงออกคล้ายคลึงแต่ไม่เหมือนกัน!

Key Points:

  • “พาร์กินสัน” คือ อาการที่เกิดจากเซลล์สมองที่สร้างสารสื่อประสาท “โดปามีน” เสื่อมลง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย
  • การรักษาโรคพาร์กินสันในปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันต้องพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาตามอาการ ทั้งการรับประทานยาหรือฝังยาใต้ผิวหนัง รวมถึงวิธีการฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า
  • นอกจาก “พาร์กินสัน” ยังมี “พาร์กินสันเทียม” มีลักษณะอาการบางอย่างคล้ายคลึงกัน หากไม่สังเกตให้ดีอาจมองว่า เป็นโรคเดียวกันได้ แต่มีสาเหตุการเกิดโรคต่างกัน รวมถึงขั้นตอนการรักษาด้วย


เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายก็ย่อมโรยราไปตามวัย อาการเคลื่อนไหวช้า มือไม่เที่ยง ก้าวขาลำบาก หยิบจับอะไรแล้วมือไม้สั่นอาจถูกเข้าใจว่า เป็นอาการโดยทั่วไปของผู้สูงอายุ แต่รู้หรือไม่ว่า ลักษณะดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเป็นปกติกับผู้สูงอายุทุกคน แต่อาจเข้าข่ายเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า กำลังป่วยด้วยโรคพาร์กินสัน หากปล่อยไว้และไม่เข้ารับการรักษาตามอาการมีสิทธิล้มป่วยนอนติดเตียงในท้ายที่สุด

“กรุงเทพธุรกิจ” ชวนทำความเข้าใจสาเหตุ อาการบ่งชี้ วิธีการรักษา รวมถึงความแตกต่างระหว่าง “พาร์กินสัน” และ “พาร์กินสันเทียม” โรคที่มีอาการใกล้เคียงกัน แต่มีสาเหตุและวิธีการรักษาต่างกัน

  • “พาร์กินสัน” คืออะไร?

โรคพาร์กินสัน คือ โรคความเสื่อมของระบบประสาทที่พบได้บ่อยที่สุดในกลุ่มผู้สูงอายุ ในกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป พบบ่อยเป็นอันดับสองรองจาก “โรคอัลไซเมอร์” 

พาร์กินสันเกิดจากเซลล์สมองบริเวณแกนสมองเสื่อมซึ่งเป็นส่วนที่สร้างสารสื่อประสาทอย่าง “โดปามีน” มีหน้าที่ช่วยควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย เมื่อสารเคมีดังกล่าวเสียสมดุลจึงมีผลทำให้การเคลื่อนไหวร่างกายผิดปกติไปด้วย

สำหรับประเทศไทย สภากาชาดไทยมีการเก็บรวบรวมสถิติและพบว่า อุบัติการณ์การเกิดโรคพาร์กินสันมีสัดส่วนที่ 425 คน ต่อประชากร 100,000 คน พบมากในแถบภาคกลางของประเทศ สมัยก่อนรู้จักกันในชื่อของ “โรคสันนิบาตลูกนก” 

  • สาเหตุของโรค “ พาร์กินสัน”

สาเหตุที่ทำให้ “สารโดปามีน” ลดลงอันเป็นสาเหตุของโรคพาร์กินสัน อาจเกิดจากหลายปัจจัยด้วยกัน โดยที่พบบ่อย ได้แก่ การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแก้วิงเวียนศีรษะ ยาแก้อาเจียน ยากล่อมประสาท ยารักษาอาการทางจิต นอกจากนั้นยังมาจากความผิดปกติในสมองด้วยสาเหตุอื่นๆ อาทิ หลอดเลือดสมองอุดตัน หลอดเลือดสมองแตก สมองอักเสบ เนื้องอกในสมอง รวมถึงผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุที่ศีรษะ หรือบางคนมีประวัติคนในครอบครัวเคยป่วยเป็นโรคพาร์กินสันก็สามารถพบได้จากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมราว 10-15 เปอร์เซ็นต์

  • ข้อสังเกตอาการโรค “พาร์กินสัน”

อาการที่พบได้จะเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวเป็นหลัก ตั้งแต่มือสั่นทำให้ใช้มือไม่คล่องเหมือนเดิม ทั้งการเปิดปิดขวดน้ำ จับปากกา-ดินสอเขียนหนังสือ กลัดกระดุม มีอาการกล้ามเนื้อเกร็ง แขนขาเกร็ง ใบหน้าแสดงออกทางอารมณ์ได้น้อย ไม่ค่อยกะพริบตา พูดเสียงเบา กลืนอาหารไม่คล่องทำให้สำลักได้ง่าย ไปจนถึงการทรงตัวเวลาเดิน นั่ง ก้าวขาลำบาก ต้องใช้วิธีก้าวสั้นๆ แทน ส่วนอาการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวก็มีทั้งความจำไม่ดี นอนไม่หลับ นอนละเมอ ซึมเศร้า ท้องผูก เป็นต้น

  • “พาร์กินสัน” รักษาอย่างไร หายขาดได้ไหม?

การรักษาโรคพาร์กินสันปัจจุบันแพทย์จะแนะนำให้เริ่มต้นใช้ยาในการรักษาโดยมีเป้าหมาย คือ การเพิ่มการออกฤทธิ์ของสารโดปามีนในสมอง มีทั้งการรับประทานยาและการใช้แผ่นแปะเพื่อเป็นการปรับสมดุลในสมอง แต่ไม่สามารถทำให้เซลล์สมองที่เสื่อมฟื้นตัวได้ เป็นการรักษาตามอาการเพื่อให้อาการที่มีอยู่ทุเลาลง สามารถทำกิจวัตรประจำวันอื่นๆ ได้สะดวกมากขึ้น นอกจากการรักษาด้วยยาแล้ว การรับประทานอาหารให้เหมาะสมและออกกำลังกาย เช่น รำมวยจีน รำไทเก๊ก เดิน ปั่นจักรยาน ก็ช่วยประคับประคองอาการได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม หากรักษาไปนานๆ แล้วเกิดอาการ “ดื้อยา” แพทย์อาจพิจารณาทางเลือกด้วยการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าในสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation, DBS) โดยเป็นการเจาะรูเล็กๆ ไว้ที่กะโหลกศีรษะสองรู ใส่สายไฟไว้ที่สมองโดยมีสายเชื่อมต่อผ่านใต้หนังศีรษะมาที่บริเวณคอและหน้าอก เชื่อมกับเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่ฝังไว้ที่หน้าอก ทำหน้าที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าออกไปกระตุ้นสมอง 

  • “พารกินสัน” VS “พาร์กินสันเทียม” 

นอกจากโรคพาร์กินสันแล้ว ยังมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันแต่แตกต่างกันที่สาเหตุ อาการบางอย่าง และวิธีการรักษา เรียกว่า “พาร์กินสันเทียม”

ความแตกต่าง คือ พาร์กินสันจะมีอาการสั่นเมื่อหยุดนิ่ง จะหยุดสั่นหรือดีขึ้นเมื่อต้องเคลื่อนไหว ส่วน “พาร์กินสันเทียม” มีอาการสั่น เกร็ง ขณะเคลื่อนไหว มีการกระตุกของกล้ามเนื้อที่ไม่สามารถควบคุมได้ 

เมื่อต้องก้าวเท้าเดินผู้ป่วยพาร์กินสันจะต้องโน้มตัวและศีรษะไปข้างหน้า และก้าวด้วยการซอยเท้าสั้นๆ ส่วนผู้ป่วย “พาร์กินสันเทียม” ก้าวเท้าแรกจะทำได้ยาก การยกเท้าเป็นไปด้วยความลำบาก โดยรวมแล้วมีลักษณะการเกร็งของกล้ามเนื้อมากกว่าโรคพาร์กินสัน รวมถึงสาเหตุของอาการป่วยก็ไม่เหมือนกันด้วย พาร์กินสันเกิดจากความเสื่อมของส่วนที่สร้างสารสื่อประสาท “โดปามีน” แต่ “พาร์กินสันเทียม” ตำแหน่งความเสื่อมของเซลล์ประสาทอยู่คนละจุดกัน

หากมีผู้สูงอายุในบ้านที่มีอาการในลักษณะนี้ ควรพาไปปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อที่จะได้รู้ถึงสาเหตุและวิธีการรักษาที่ถูกต้อง เพื่อให้อาการเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่แข็งแรงทั้งกายและใจ

 

อ้างอิง: BumrungradMedpark HospitalPhyathaiMahidolSiph HospitalThe World Medical Center