อาการแบบไหน? เข้าข่าย ‘วัยทอง’ เรื่องที่สูงวัยหญิง-ชาย ต้องระวัง

อาการแบบไหน? เข้าข่าย ‘วัยทอง’ เรื่องที่สูงวัยหญิง-ชาย ต้องระวัง

‘วัยทอง’ เป็นอาการที่ทุกเพศ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงและผู้ชายที่มีอายุในช่วง 40-59 ปี วัยที่สามารถผลิตฮอร์โมนเพศลดน้อยลงจนเกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และมีโอกาสเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพได้ง่าย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคกระดูกพรุน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ เป็นต้น

Keypoint:

  • วัยทอง อาการที่ฮอร์โมนในร่างกายของทั้งผู้หญิงและผู้ชายที่อายุเริ่มด้วยเลข 4 ไปจนถึง 59 ปี จะเริ่มแสดงอาการ
  • เช็กอาการวัยทองที่เกิดขึ้นทั้งระยะสั้น และระยะยาวในผู้หญิงและผู้ชาย ไม่ใช่เพียงการร้อนวูบวาบ หรือการนอนไม่หลับ แต่ส่งผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด กระดูกพรุนร่วมด้วย
  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาหาร การออกกำลังกาย  ไม่เครียด ดูแลร่างกายและจิตใจสม่ำเสมอ ยืดชีวิตวัยผู้ใหญ่ สูงวัยอย่างมีคุณภาพ

เมื่อก้าวสู่วัย 40 กว่าปี ผู้หญิงและผู้ชาย หลายๆ คนเริ่มมีอาหารร้อนวูบวาบ นอนไม่หลับ  อ่อนเพลีย ซึ่งทุกคนอาจมองว่าตัวเองเป็นโรค หรือเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง ซึ่งอาการเหล่านั้น ...อาจจะเป็น 'วัยทอง' ซึ่งแต่ละคนแต่ละเพศอาจจะมีอาการแตกต่างกันออกไป 

'วัยทองในผู้หญิง' หรือวัยหมดระดู หมายถึง สตรีในวัย 40 – 59 ปี ที่มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงเนื่องจากรังไข่หยุดทำงาน ซึ่งทำให้สิ้นสุดการมีประจำเดือนอย่างถาวรร่วมด้วยกับการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาตามมา แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

1. ระยะก่อนหมดประจำเดือน (perimenopause)

เป็นระยะเริ่มของการหมดประจำเดือนทำให้สตรีมีประจำเดือนมาผิดปกติ ร่วมกับมีอาการทางร่างกาย เช่น ร้อนวูบวาบ มึนศีรษะ อ่อนเพลีย อารมณ์จะแปรปรวน ซึ่งระยะนี้จะเกิดประมาณ 2-3 ปี

2. ระยะหมดประจำเดือน (menopause)

เป็นระยะที่เริ่มตั้งแต่การหมดประจำเดือนมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี

3. ระยะหลังหมดประจำเดือน (postmenopause)

เป็นระยะที่เริ่มตั้งแต่หลังหมดประจำเดือนมาแล้ว 1 ปี ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ ช่องคลอดตีบแคบ กระดูกพรุน และเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคต่างๆได้ง่าย

อาการแบบไหน? เข้าข่าย ‘วัยทอง’ เรื่องที่สูงวัยหญิง-ชาย ต้องระวัง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เคล็ด(ไม่)ลับ ฉบับ 'วัยทอง' ดูแลสุขภาพด้วยศาสตร์แผนไทย

แนะผู้หญิงอายุ 45 เตรียมพร้อมสุขภาพก่อนเข้าวัยทอง

รู้ทัน "วัยทองก่อนวัย" ภาวะรังไข่เสื่อม เสี่ยง ท้องยาก

 

อาการแบบไหน? เข้าข่าย 'วัยทองในผู้หญิง' 

อาการผู้หญิงวัยทอง จะแบ่งเป็นทั้งอาการระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้        

อาการระยะสั้น

  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ มาติดกันหรือห่างจากกันมาก บางรายอาจมีเลือดออกผิดปกติ
  • อาการร้อนวูบวาบ จากการแปรปรวนของระดับฮอร์โมนทำให้ร่างกายควบคุมอุณหภูมิผิดปกติ โดยจะมีอาการมากในช่วง 2-3 ปี แรก หลังหมดประจำเดือน และจะค่อยๆ ลดลงใน 1-2 ปี
  • นอนไม่หลับ อันเป็นผลของอาการร้อนวูบวาบ
  • ด้านจิตใจ มักพบเกิดอาการซึมเศร้า อารมณ์หงุดหงิด มีความวิตกกังวลง่าย
  • ช่องคลอดแห้ง จากระดับเอสโตรเจนที่ลดลง ทำให้มีปัญหาในการร่วมเพศ มีอาการคัน อาการการอักเสบของช่องคลอด มดลูก และช่องคลอดหย่อน ความต้องการทางเพศลดลง
  • โอกาสมีลูกน้อยลง จากการตกไข่ที่ไม่แน่นอน และไม่สามารถมีลูกได้อย่างถาวร หลังประจำเดือนไม่มาเต็ม 1 ปี
  • ผิวหนังเหี่ยวแห้ง ขาดความยืดหยุ่น เป็นแผล และกระได้ง่าย
  • เต้านมเล็กลง หย่อน ไม่เต่งตึง

อาการแบบไหน? เข้าข่าย ‘วัยทอง’ เรื่องที่สูงวัยหญิง-ชาย ต้องระวัง

อาการระยะยาว

  • ระบบหัวใจและหลอดเลือด  หลังหมดประจำเดือน ร่างกายจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันมากขึ้น เนื่องจากจากการขาดเอสโตรเจน เพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนทำหน้าที่สำคัญในการลดไขมันไม่ดี LDL
  • กระดูกพรุน การขาดเอสโตรเจนของวัยหมดประจำเดือนจะทำให้มีการทำลายเนื้อกระดูกมากขึ้นถึงร้อยละ 5 ต่อปี จนเกิดเป็นโรคกระดูกพรุนตามมา โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสันหลัง กระดูกข้อมือ และกระดูกสะโพก เป็นต้น
  •  ปัญหาของทางเดินปัสสาวะ  ผลจากระดับกระดูกสันหลังที่ลดลงทำให้เยื่อบุผนังท่อปัสสาวะบางลง และกระเพาะปัสสาวะหย่อนยาน ทำให้มีอาการแสบร้อนขณะปัสสาวะ และมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
  • น้ำหนักขึ้นและเริ่มอ้วน  ผลของการลดระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนทำให้มีผลต่อระบบการเผาผลาญอาหาร ทำให้มีการสะสมไขมันบริเวณหน้าท้องมากขึ้น

 

 เช็กอาการเข้าข่ายผู้ชายวัยทอง

ขณะที่ ผู้ชายเข้าสู่วัยทอง เนื่องจากโดยธรรมชาติฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนมีผลต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นระบบเผาผลาญไขมัน (Metabolism) การสร้างกล้ามเนื้อเพศชาย ความแข็งแรงของโครงสร้างกระดูก เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเริ่มลดลงในช่วงอายุ 42 – 45 ปี จึงส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย อาทิ ลงพุง อ้วนง่าย ผมร่วง ความต้องการทางเพศลดลง รวมถึงมีความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น ซึ่งลักษณะอาการเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจและการดำเนินชีวิตหากไม่สามารถปรับตัวได้

ผู้ชายแต่ละคนมีอาการวัยทองเกิดขึ้นแตกต่างกัน ซึ่งสามารถสังเกตอาการได้ดังนี้

  • อารมณ์แปรปรวน
  • เบื่อง่าย หงุดหงิดง่าย
  • ลงพุง
  • นอนไม่หลับ
  • อ่อนเพลีย
  • สมาธิลดลง
  • ซึมเศร้า
  • หย่อนสมรรถภาพทางเพศ
  • ฯลฯ

อาการแบบไหน? เข้าข่าย ‘วัยทอง’ เรื่องที่สูงวัยหญิง-ชาย ต้องระวัง

การรักษาอาการวัยทองที่ควรรู้         

1. อาการร้อนวูบวาบ

  • สังเกตและจดจำสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการร้อนวูบวาบและหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่หรือการสัมผัสกับอากาศที่ร้อนมาก
  • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารร้อน เครื่องดื่มที่มีสารกระตุ้นให้เส้นเลือดขยายตัว เช่น คาเฟอีน และแอลกอฮอล์
  •  รับประทานอาหารที่มีวิตามินอี และบี คอมเพล็กซ์ รวมถึงอาหารเสริมของสารเหล่านี้
  • งดสูบบุหรี่
  • ผ่อนคลายจิตใจ และหลีกเลี่ยงความเครียด เพราะความเครียดมีผลทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มขึ้น

2. ช่องคลอดแห้งและปัสสาวะบ่อย

  • ใช้สารหล่อลื่น เช่น K-Y Jelly เป็นต้น
  • ใช้ครีมเอสโตรเจนทาเพื่อกระตุ้นให้เลือดมาหล่อเลี้ยงช่องคลอดมากขึ้น
  • ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติขณะมีเพศสัมพันธ์ เพื่อช่วยกระตุ้นสภาวะการไหลเวียนเลือดที่ดีในช่องคลอด และทำให้ช่องคลอดยืดหยุ่นมากขึ้น

3. อาการนอนไม่หลับ และอารมณ์แปรปรวน

  • ใช้ยาลดอาการซึมเศร้า เช่น ยาในกลุ่ม SSRI รวมถึงทำกิจกรรมนันทนาการเพื่อผ่อนคายความเครียด และทำให้จิตใจแจ่มใส

4. กระดูกพรุน

  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือการทำงานหนัก
  • รับประทานอาหารที่มีแคลเซียม และวิตามินดีสูง
  • การใช้ฮอร์โมนเสริม แต่อาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งมากขึ้น

5. ผมร่วง

  • รับประทานฮอร์โมนเอสโตรเจน เพื่อยับยั้งการสร้างไดไฮโดรเทสโทสเตอโรนที่เป็นสาเหตุทำให้รากผมอ่อนแอ
  • สระผมอย่างสม่ำเสมอเพื่อกำจัด และป้องกันเชื้อแบคทีเรียที่อาจเป็นสาเหตุการทำลายรากผม และหนังศีรษะ รวมถึงใช้ยาสระผมที่มีสารกระตุ้นการงอกใหม่หรือสารที่ช่วยบำรุงเส้นผม

อาการแบบไหน? เข้าข่าย ‘วัยทอง’ เรื่องที่สูงวัยหญิง-ชาย ต้องระวัง

ปรับพฤติกรรม ปฏิบัติตัวยืดความเป็นหนุ่มได้นาน

  • แนวทางการดูแลตัวเองของคุณผู้ชายเพื่อรับมือวัยทองนั้นทำได้ไม่ยาก

ขอเพียงเปิดใจและพร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตในด้านต่าง ๆ ได้แก่

  • อาหาร เลี่ยงอาหารรสหวาน

เน้นทานอาหารที่ช่วยเสริมสร้างฮอร์โมนเพศชาย อาทิ ผักใบเขียว ถั่ว ไข่แดง แตงโม หรือหอยนางรม (ผู้ที่มีภาวะคอเลสเตอรอลสูงต้องระวัง ควรปรึกษาแพทย์และเลือกรับประทานให้เหมาะกับร่างกาย)

  • ออกกำลังกาย 

เน้นชนิดกีฬาที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น ปั่นจักรยาน ตีสควอช เป็นต้น

  • จิตใจ คิดบวกและรู้วิธีจัดการกับความเครียด

ซึ่งสิ่งสำคัญที่ช่วยเยียวยาจิตใจได้เป็นอย่างดีคือ กำลังใจและความเข้าใจจากคนในครอบครัว

ทำความรู้จักในร่างกายของแต่ละคน

ฮอร์โมนเป็นสารเคมีทางธรรมชาติที่ต่อมไร้ท่อต่างๆ ในร่างกายผลิตขึ้น เมื่อยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว ฮอร์โมนของคุณจะมีมากจนเต็มล้น ซึ่งทำให้คุณผู้หญิงมีผิวพรรณที่สวยสดใส มีอารมณ์ร่าเริงแจ่มใส ส่วนคุณผู้ชายก็จะมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง เต็มไปด้วยพละกำลัง แต่เมื่อเวลาผ่านไปผนวกกับอายุที่มากขึ้น ก็ทำให้การผลิตฮอร์โมนต่างๆ ของต่อมไร้ท่อนั้นลดลง และส่งผลต่อสุขภาพในที่สุด

หน้าที่ของฮอร์โมน

โดยปกติฮอร์โมนมีหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย เช่น

  • โกรท ฮอร์โมน (Growth Hormone) ที่สร้างจากต่อมใต้สมอง จะช่วยในเรื่องของการเจริญเติบโตในวัยเด็ก และช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกายในวัยผู้ใหญ่
  • ฮอร์โมนไทรอยด์ (Thyroid Hormone) ที่สร้างจากต่อมไทรอยด์ จะช่วยดูแลเรื่องระบบการเผาผลาญอาหาร หากฮอร์โมนไทรอยด์ลดต่ำลง ก็จะกลายเป็นคนอ้วนง่าย เชื่องช้า แต่จะโทษว่าความอ้วนเกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนอย่างเดียวไม่ได้ เพราะตราบใดที่คุณยังกินอาหารในปริมาณเท่าเดิมแต่ไม่ออกกำลังกายเลย เมื่ออายุมากขึ้นคุณก็จะมีรูปร่างที่อ้วนขึ้นได้ง่ายๆ

อาการแบบไหน? เข้าข่าย ‘วัยทอง’ เรื่องที่สูงวัยหญิง-ชาย ต้องระวัง

ต่อมไร้ท่อกับฮอร์โมนเพศ

ต่อมไร้ท่อที่ช่วยควบคุมการทำงานของร่างกาย ที่แบ่งแยกเพศอย่างชัดเจนจะมี 2 ส่วนด้วยกัน คือ

  • ในเพศหญิง

รังไข่ จะสร้างฮอร์โมนเพศหญิง Estrogen และ Progesterone ซึ่งช่วยในเรื่องของการมีรอบเดือน การตั้งครรภ์หรือการมีบุตร สภาพของผิวพรรณ ความเต่งตึง ชุ่มชื้น ทั้งยังช่วยควบคุมเรื่องของอารมณ์ไม่ให้แปรปรวนง่าย รู้สึกสดชื่นกระฉับกระเฉง ไม่อ่อนเพลีย รับมือกับความเครียดได้ดี มีความจำดี นอนหลับสนิท ช่วยสร้างภูมิต้านทาน ป้องกันโรคหัวใจ และป้องกันโรคกระดูกพรุน

  • ในส่วนของเพศชาย

ต่อมไร้ท่อที่ผลิตฮอร์โมนเพศชาย Testosterone ก็คือ อัณฑะ ฮอร์โมนเพศชายนี้จะช่วยทำให้รูปร่างของผู้ชายกำยำล่ำสัน มีกล้ามเนื้อเป็นมัดๆ เสียงห้าว มีการตัดสินใจที่เฉียบขาด มีความเป็นผู้นำ ชอบการแข่งขัน ความจำดี อารมณ์ไม่แปรปรวนง่าย และทำให้มีความต้องการทางเพศเพื่อการดำรงเผ่าพันธุ์

สัญญาณและอาการที่บ่งชี้ว่าระดับฮอร์โมนในร่างกายบกพร่อง

  • ในผู้ชาย

จะมีอาการ เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ความจำพร่าเลือน ขาดสมาธิ ขาดแรงกระตุ้นทางเพศ สมรรถภาพทางเพศเสื่อมหรือลดลง ปวดหลัง ปวดข้อ ขาดความกระปรี้กระเปร่า พละกำลังลดลง หดหู่ ซึมเศร้า ท้อแท้ต่อชีวิต อารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย ตื่นตระหนก วิตกกังวล มีความเครียดสูง

  • ในผู้หญิง

จะมีอาการค่อนข้างชัดเจนและสังเกตเห็นได้ง่ายกว่า เช่น ประจำเดือนไม่มาติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 12 เดือน ที่เรียกว่าอาการวัยทอง หรือประจำเดือนหมด (menopause) ทำให้มีอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออก เฉื่อยชา ขาดชีวิตชีวา อารมณ์หดหู่ ซึมเศร้า หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย เครียด วิตกกังวล ความจำพร่าเลือนหรือขาดสมาธิ ปวดศีรษะ หน้าอกหย่อนยาน การตอบสนองทางเพศไม่เป็นที่น่าพอใจ ช่องคลอดขาดความชุ่มชื้น สุขภาพผมและผิวเสียสมดุล และที่ร้ายแรงที่สุดก็คือ จะมีภาวะกระดูกพรุน

แก้ไขอย่างไรเมื่อฮอร์โมนเสียสมดุล?

จากอาการดังกล่าวทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย จะทำให้คุณภาพชีวิตของหลายๆ คนแย่ลง การให้ฮอร์โมนทดแทนจะช่วยให้การทำงานของร่างกายกลับมาใกล้เคียงกับเมื่อครั้งยังเป็นหนุ่มเป็นสาวได้ เช่น มีความจำดีขึ้น มวลกระดูกหนาแน่นขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทาง และไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถรับฮอร์โมนทดแทนได้

ฮอร์โมนทดแทนในวัยทอง

ผู้หญิงในช่วงวัยทองจะมีการลดลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนมาก ทำให้เกิดอาการต่างๆตามมา ปัจจุบันผู้หญิงบางกลุ่มจึงหันมาใช้ฮอร์โมนทดแทนเพื่อลดปัญหาจาการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย และทางด้านอารมณ์ดังกล่าว รวมถึงช่วยป้องกันโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ อาทิ โรคหัวใจ โรคกระดูกพรุน โรคมะเร็ง เป็นต้น

ฮอร์โมนทดแทนที่มีการใช้ในวัยทอง คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ที่ร่างกายขาดไปนั่นเอง นอกจากนั้น ยังใช้สารอื่นที่ออกฤทธิ์คล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือ โปรเจสเตอโรน

อาการแบบไหน? เข้าข่าย ‘วัยทอง’ เรื่องที่สูงวัยหญิง-ชาย ต้องระวัง

 รูปแบบการใช้ฮอร์โมน    

  • โดยการกินยา ทำให้ระดับไขมันที่ดีสูงขึ้น แต่จะทำให้ฮอร์โมนในเลือดไม่คงที่จากตับถูกทำลาย
  • โดยการฉีด ยาจะไม่ผ่านตับ และระดับไขมันที่ดีจะไม่เพิ่มเหมือนชนิดกิน
  • การใช้แผ่นปิด (estrogen-filled patch)โดยใช้ปิดที่แขนหรือก้น สามารถใช้ได้หลายวัน
  • การฝังฮอร์โมน วิธีนี้จะทำให้ฮอร์โมนในเลือดสูงเกินมากกว่าปกติ 2-3 เท่า
  • ครีมฮอร์โมนทาที่ผิวหนัง
  • ครีมฮอร์โมนทาที่ช่องคลอด ซึ่งจะเหมาะกับผู้ที่มีอาการช่องคลอดแห้ง

 ประโยชน์ฮอร์โมนทดแทน

  • ป้องกันโรคกระดูกพรุน
  • ป้องกันโรคหัวใจ
  • ลดอาการวัยทอง
  • ลดอาการร้อนวูบวาบ
  • ลดอาการช่องคลอดแห้ง และคัน ทำให้ช่องคลอดเต่งตึง ไม่แห้ง
  • ลดอาการปัสสาวะเล็ด
  • ใช้รักษาอาการร้อนวูบวาบ
  • ใช้ลดอารมณ์แปรปรวน และนอนไม่หลับ
  • ใช้ป้องกันโรคหัวใจ โรคสมองเสื่อม มะเร็งลำไส้ และลดโรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน

อาการแบบไหน? เข้าข่าย ‘วัยทอง’ เรื่องที่สูงวัยหญิง-ชาย ต้องระวัง

 ผู้ที่ควรหลีกเลี่ยง 

  • ผู้ที่มีประวัติมะเร็งเต้านม และมะเร็งมดลูก
  • ผู้ที่เป็นโรคตับ
  • ผู้ที่เกิดลิ่มเลือดที่เท้า
  • ผู้ที่มีประจำเดือนผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ

ผลเสียการใช้ฮอร์โมน      

  • เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านม โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ในปริมาณที่สูง และใช้ติดต่อกันนาน 10-15 ปี ซึ่งการใช้ฮอร์โมนทดแทนไม่ควรใช้ติดต่อนานเกิน 5 ปี
  • มีโอกาสเกิดนิ่วในถุงน้ำดี โดยเฉพาะการใช้แบบรับประทาน หากต้องการป้องกันโรคดังกล่าวควรใช้แบบชนิดปิดหรือชนิดทา

ข้อแนะนำการใช้ฮอร์โมน  

  • สำหรับฮอร์โมนเอสโตรเจนชนิดทา ให้ทาวันละ 1 กรัม/ครั้ง
  • ใช้ทาบริเวณหน้าขา หรือแขน และสามารถทาโลชั่นอื่นได้ตามปกติ
  • หลีกเลี่ยงการทาบริเวณหน้าอก หน้าท้อง และอวัยวะเพศ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวใกล้อวัยวะภายใน ตัวยาอาจซึมเข้าสู่อวัยวะภายในผ่านต่อมน้ำนมได้

อย่างไรก็ตาม  นอกจากการดูแลสุขภาพด้วยตนเองแล้ว การพบแพทย์ก็เป็นเรื่องจำเป็น โดยไม่ต้องรอให้เจ็บป่วยหรือเข้าสู่วัยทอง เราสามารถปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการดูแล และรักษาสุขภาพในขณะที่เรายังมีสุขภาพที่ดีได้ ซึ่งถือเป็นโอกาสทองที่เราจะได้รู้จักร่างกายของตนเองอย่างแท้จริง เพื่อที่จะได้ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย จะได้มีสุขภาพที่ดีอย่างยาวนานไปจนถึงวัยชรา

อ้างอิง:โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต , โรงพยาบาลเปาโล ,โรงพยาบาลกรุงเทพ