'Smart Healthcare TTM' แหล่งความรู้ บริการแพทย์แผนไทย-สมุนไพรครบวงจร

'Smart Healthcare TTM' แหล่งความรู้  บริการแพทย์แผนไทย-สมุนไพรครบวงจร

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศไทย ปี 2565 มีมูลค่าสูงถึง 52,104.3 ล้านบาท โดยในปัจจุบันยาจากสมุนไพรอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติจำนวนกว่า 94 รายการ ทั้งที่ในตำรับตำรายาสมุนไพรของไทยมีมากกว่าแสนรายการ

Keypoint:

  • ตลาดสมุนไพรได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ยิ่งในปัจจุบันผู้คนให้ความสำคัญในการดูแล ป้องกันการเกิดโรคมากขึ้น สมุนไพร เป็นอีกหนึ่งทางเลือกดูแลสุขภาพ
  • ตำรับตำราแพทย์แผนไทยในปัจจุบันมีมากกว่าแสนรายการ การจัดทำแพลตฟอร์มSmart Healthcare TTM จะเป็นคู่มือดูแลสุขภาพด้วยศาสตร์แผนแพทย์ไทยและแพทย์ทางเลือก สมุนไพร
  • 4 โมดูลแหล่งความรู้ รวบรวมตำรับตำราการแพทย์แผนไทยในรูปแบบดิจิทัล และฐานข้อมูลขนาดใหญ่ พร้อมบริการแผนไทยแชทบอท ตอบคำถามดูแลสุขภาพอย่างครบวงจร

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข  ได้ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)ในการจัดทำศึกษา วิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรอัจฉริยะ (Smart Healthcare TTM)  เมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา

นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึงความคืบหน้าว่า ขณะนี้ทางกรมการแพทย์แผนไทยฯ และมจพ.ได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มร่วมกันใน 4 โมดูล นั่นคือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

“สมุนไพรออร์แกนิค” มาแรง ตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพทั่วโลก

เรียน"แพทย์แผนไทย" ไม่ตกงาน "ตลาดสมุนไพร"ขยายตัวรองรับเพียบ

ดูแลรักษา 'โรคภูมิแพ้' ด้วยสมุนไพร -อาหารการกิน-แพทย์ทางเลือก

อาการแบบไหน? เข้าข่าย ‘วัยทอง’ เรื่องที่สูงวัยหญิง-ชาย ต้องระวัง

 

รู้จักแพลตฟอร์ม Smart Healthcare TTM

  • โมดูลที่ 1 Digital TTM Knowledge Management

โดยกรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้รวบรวมตำรับตำราการแพทย์แผนไทยที่บันทึกในสมุดไทย ใบลาน ศิลาจารึก กว่า 50,000 รายการ  ส่งต่อไปยังมจพ.ในการพัฒนาระบบ Smart TTM Library  เพื่อรองรับการจัดการภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย

พร้อมทั้งจัดเก็บต้นฉบับในรูปแบบภาพดิจิทัลและข้อมูลที่ได้รับการถ่ายถอด-ปริวรรตแล้ว รวมทั้งองค์ความรู้ที่ได้จากหมอพื้นบ้าน งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร

ทั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยจะใช้ความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) เช่น Ontology ,Knowledge Graph  มาใช้ในการพัฒนา ซึ่งเมื่อสำเร็จแล้วจะทำให้เกิด Knowledge-based  เพื่อให้บริการองค์ความรู้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพด้วยตนเองและนักวิชาการ โดยผ่านระบบสืบค้นข้อมูลอย่างอัจฉริยะ

\'Smart Healthcare TTM\' แหล่งความรู้  บริการแพทย์แผนไทย-สมุนไพรครบวงจร

  • โมดูลที่ 2 TTM Expert & Recommendation Systems

ทางกรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้มีการวิเคราะห์ เตรียมข้อมูลจากตำรับตำราการแพทย์แผนไทยที่ประกาศเป็นของชาติแล้วกว่า 7,000 รายการและที่มีการลงทะเบียนตามมาตรา 15 จากนายทะเบียนจังหวัดไม่น้อยกว่า 200,000 ตำรับ นำมาถ่ายถอด-ปริวรรตภาษาโบราณบันทึกไว้ในที่ต่างๆ แต่กระบวนการแปลและถ่ายถอดต้องใช้เวลานานและต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ ในการดำเนินการ

อีกทั้ง ผู้เชี่ยวชาญมีจำนวนน้อย จึงร่วมกันวิจัยและพัฒนาระบบผู้เชี่ยวชาญและระบบช่วยแนะนำ โดยใช้เทคโนโลยี AI   เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการถ่ายทอด-ปริวรรต และสังคายนาตำรับตำราการแพทย์แผนไทย ให้การดำเนินการแปลอักษรโบราณออกมาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

\'Smart Healthcare TTM\' แหล่งความรู้  บริการแพทย์แผนไทย-สมุนไพรครบวงจร

 

 

เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างครบห่วงโซ่คุณภาพ

  • โมดูลที่ 3 Herbal Product & Service Big Data Management

ซึ่งเป็นการพัฒนา Big Data ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เชื่อมโยงข้อมูลจากแหล่งต่างๆ รวมทั้งสื่อสังคมออนไลน์

โดยอาศัยการศึกษาและวิจัยด้าน AI และ Deep Learning ในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ องค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทย สมุนไพร ผลิตภัณฑ์ และบริการ เพื่อก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคต ใช้ในการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาการแพทย์แผนไทย และสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจอย่างครบห่วงโซ่คุณภาพ

\'Smart Healthcare TTM\' แหล่งความรู้  บริการแพทย์แผนไทย-สมุนไพรครบวงจร

  • โมดูลที่ 4  Smart TTM Herbal Product & Service Innovation

การพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลเพื่อยกระดับการสร้างความรอบรู้ และบริการทางการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก และสมุนไพรอัจฉริยะ ซึ่งได้แก่

1.)ระบบ Panthai Chatbot (แผนไทยแชทบอท) สามารถตอบคำถาม ประเมินสุขภาพ วิเคราะห์ข่าวปลอมด้านการแพทย์แผนไทย และระบุชนิดสมุนไพรด้วยภาพ

2.)ระบบ Panthai Good Doctor ตรวจรักษาด้วยแพทย์แผนไทย AI โดยใช้ศาสตร์การแพทย์แผนไทยและสมุนไพรให้แก่ประชาชน เพื่อให้เข้าถึงการให้บริการได้อย่างสะดวก มีประสิทธิภาพ

3.)ระบบ Thailand  Herbal Expo & Garden Metaverse  ที่สามารถเยี่ยมชมงานมหกรรมสมุนไพรไทย พิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยและสวนสมุนไพรในสภาพแวดล้อมของโลกเสมือนจริง รวมถึงสามารถซื้อขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรผ่านทางระบบได้ ซึ่งทางมจพ.จะนำเทคโนโลยี Virtual Reality /Augmented Reality:VR/AR,NLP และDeep Learning มาประยุกต์ใช้กับการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพ

“เบื้องต้นทั้ง 4 โมดูล จะเริ่มใช้งานได้จริงอย่างเต็มรูปแบบในปี 2567 ซึ่งขณะนี้ในส่วนของ Panthai Chatbot นั้นสามารถตอบคำถามด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรได้ไม่น้อยกว่า 200 คำถาม และสามารถวินิจฉัยโรคด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยได้ไม่น้อยกว่า 5 กลุ่มโรค อาทิ โรคนอนไม่หลับ เจ็บป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมอง  โรคสะเก็ดเงิน กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และการบำบัดยาเสพติด พร้อมทั้งสามารถระบุชนิดสมุนไพรด้วยภาพไม่น้อยกว่า 300 ชนิด ดังนั้น หากประชาชน หรือผู้ประกอบการสนใจด้านสมุนไพรสามารถเข้ามาใช้บริการได้ "นพ.ธงชัย  กล่าว

\'Smart Healthcare TTM\' แหล่งความรู้  บริการแพทย์แผนไทย-สมุนไพรครบวงจร