'ฝันร้าย' ไม่ใช่แค่ฝัน แต่อาจเป็นสัญญาณเตือนปัญหาสุขภาพ
การนอนเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่หลายคนกลับมีปัญหาการนอน โดยเฉพาะ อาการนอนไม่หลับ อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหนึ่งอาการที่ดูจะเป็นเรื่องเล็ก ที่ไม่เล็กอย่าง 'ฝันร้าย' การที่ฝันร้ายบ่อยๆ อาจเป็นสัญญาณเตือนปัญหาสุขภาพได้
Key Point :
- ฝันร้าย คือ ความฝันที่ก่อให้เกิดอารมณ์ด้านลบ มีภาพชัดเจน ผู้ที่ฝันสามารถจำเนื้อหาได้ เนื้อหาความฝันมักน่ากลัว และส่งผลให้การนอนหลับไม่ต่อเนื่อง
- บางคนมักจะฝันร้ายตอนเช้าส่งผลให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวล หวาดกลัว หรือโศกเศร้า อีกทั้งยังพบว่า เด็กมีอาการฝันร้ายมากกว่าผู้ใหญ่
- แม้การนอนหลับแล้วฝัน เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่หากฝันร้ายจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง
ช่วงเวลาในการพักผ่อนที่ดีที่สุด คือ การนอนหลับ เพื่อฟื้นฟูร่างกายและจิตใจหลังจากที่เหน็ดเหนื่อยมาทั้งวัน แต่การนอนหลับมักควบคู่มากับ ความฝัน หากฝันดีตื่นเช้ามาก็สดใสไม่มีเรื่องกังวลอะไร แต่ถ้าฝันร้ายก็คงสร้างความวิตกกังวลไม่น้อยส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันที่นอกจากจะพักผ่อนไม่พอแล้วยังต้องมาคิดมากกับเรื่องราวในความฝันอีก
ข้อมูลจาก อ.นพ.กานต์ จำรูญโรจน์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายความหมายและผลกระทบของฝันร้าย เพื่อนำไปดูแลรักษาสุขภาพกายและสุขภาพใจของตัวเองว่า ฝันร้าย คือ ความฝันที่ก่อให้เกิดอารมณ์ด้านลบ มีภาพชัดเจน ผู้ที่ฝันสามารถจำเนื้อหาได้ เนื้อหาความฝันมักน่ากลัว และส่งผลให้การนอนหลับไม่ต่อเนื่อง ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงการนอนที่มีการเคลื่อนไหวไปมาของตาอย่างรวดเร็ว (rapid eye movement sleep) บางคนมักจะฝันร้ายตอนเช้าส่งผลให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวล หวาดกลัว หรือโศกเศร้า จากการศึกษาทางระบาดวิทยา พบว่า เด็กมีอาการฝันร้ายมากกว่าผู้ใหญ่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- มหากาพย์การนอน นอนอย่างไรให้มีคุณภาพ
- ‘นอนไม่หลับ’ คืนวันอาทิตย์ เพราะเกลียดวันจันทร์ ทำไมวัยทำงานเป็นกันเยอะ?
- 8 ‘อาหารช่วยให้หลับสบาย’ คลายวิตกกังวล อารมณ์ดีก่อนนอน
สาเหตุของฝันร้าย
- ฝันร้ายไม่ใช่ความผิดปกติเสมอไป แต่หากเกิดขึ้นบ่อยจนรบกวนชีวิตประจำวัน พบว่ามักมีสาเหตุบางอย่างที่ควรได้รับการบำบัดรักษา
- สาเหตุที่พบบ่อยของฝันร้ายมาจากความวิตกกังวลและความเครียด
- การสูญเสียบุคคลที่รักหรือ การถูกกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างรุนแรง
- ผลข้างเคียงของยา เช่น ยานอนหลับ
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่มากเกินไป
- ความผิดปกติของการหายใจขณะหลับหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- การรับประทานอาหารที่ย่อยยากก่อนนอน เช่น เนื้อสัตว์
- มีปัญหาด้านสุขภาพจิต เช่น ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และภาวะผิดปกติทางจิตใจที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) ซึ่งภาวะอย่างหลังนี้มักจะฝันถึงเหตุการณ์ร้าย ๆ ที่เคยพบเจอมา เป็นภาพฉายซ้ำ ๆ บางครั้งอาจเห็นภาพแค่บางส่วน
ฝันร้ายแบบไหนบอกว่ากำลังป่วย
แต่ละคนมีเรื่องราวฝันร้ายที่แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่ฝันร้ายที่บอกถึงปัญหาหรือความผิดปกติของสภาพจิตใจมีลักษณะ ดังนี้
- เกิดขึ้นบ่อยครั้ง
- ทำให้สะดุ้งตื่นจากฝันร้ายอยู่เสมอ จนรบกวนการนอนหลับเป็นประจำ
- ส่งผลให้ไม่มีความสุขในการใช้ชีวิต ทำกิจกรรม การงาน หรือเข้าสังคม
ฝันร้ายในเด็ก
เด็กเล็ก 1-2 ปี จะเริ่มมีอาการฝันร้าย คือ การสะดุ้งตื่นกลางดึกและร้องไห้ แต่ในเด็กเล็กอาจจะยังไม่รู้ว่าคือฝันร้าย แต่เมื่ออายุ 3-4 ปี จะเริ่มสื่อสารถึงเรื่องราวที่ฝันได้ และรับรู้ว่าสิ่งนั้นคือฝันร้าย
สาเหตุฝันร้ายในเด็กเล็ก อาจเกิดจากความเหนื่อยล้าหรือเกิดจากสถานการณ์ เหตุการณ์ สิ่งแวดล้อมที่เด็กได้รับก่อนเข้านอนหรือได้รับในแต่ละวัน เช่น ดูภาพยนตร์ โทรทัศน์ หรือคลิป Youtube ที่มีภาพ เสียงที่น่ากลัวหรือมีความรุนแรง พอถึงเวลานอนตอนกลางคืนเด็กก็มักจะฝันร้าย
วิธีลดอาการฝันร้ายของเด็ก
- เข้านอนอย่างเป็นเวลา เด็กเล็กควรเข้านอนแต่หัวค่ำฝึกเป็นนิสัยและห้องนอนของเด็กอาจจะมีตุ๊กตาที่ชอบไว้เป็นเพื่อนแก้เหงาเพื่อให้เด็ก ๆ มีจิตใจสงบลดฝันร้าย
- กิจกรรมก่อนเข้านอน หากิจกรรมที่เบา ๆ ไม่ควรเล่นกีฬาหนัก ๆ หรือดูทีวี ดูหนังที่มีฉากน่ากลัวหรือสยองขวัญ งดรับประทานอาหารที่หนักมาก เพราะจะส่งผลต่อระบบย่อยอาหารทำให้หลับยากและเสี่ยงต่อฝันร้าย
ฝันร้ายทุกคืน มีวิธีป้องกันอย่างไร ?
- ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนก่อนนอน เช่น ชา กาแฟ ช็อกโกแลต น้ำอัดลม
- พยายามทำกิจกรรมผ่อนคลายก่อนนอน เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ดูหนัง
- รักษาอุณหภูมิในห้องไม่ให้ร้อนหรือเย็นเกินไป
- ทำให้ห้องมืดสนิทช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น
- ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 20-30 นาทีในช่วงเย็นหรือประมาณ 3-4 ชั่วโมงก่อนเข้านอน
- กำหนดเวลานอนให้เหมือนกันในทุกวันให้ร่างกายได้จดจำเวลาเข้านอนและตื่นนอน
- หลีกเลี่ยงการเล่นโซเชียลมีเดียหรือติดตามข่าวเครียด ๆ ก่อนนอน
- การนอนหลับแล้วฝัน เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน หากนอนหลับฝันร้ายจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงเพื่อให้การนอนมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
นอนไม่หลับ อีกหนึ่งปัญหาสุขภาพ
อีกหนึ่งปัญหาการนอนที่พบมาก คือ นอนไม่หลับ ข้อมูลจาก โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ อธิบายว่า นอนไม่หลับ เป็นภาวะหรืออาการที่เกิดขึ้นร่วมกับเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันที่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางร่างกายและจิตใจ ทำให้นอนหลับไม่เพียงพอ ตื่นขึ้นมาแล้วไม่สดชื่น หากนอนไม่หลับมากกว่า 1 สัปดาห์ อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานและความสัมพันธ์กับผู้อื่น จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างทันท่วงที
สาเหตุของอาการนอนไม่หลับ
ปัจจัยทางกาย
- อาการผิดปกติของโรค เช่น โรคสมองเสื่อม ความผิดปกติของฮอร์โมน ไอเรื้อรัง ปัสสาวะบ่อยในเวลากลางคืน มีอาการเจ็บปวดทรมานมากจนทำให้นอนไม่หลับ
- ความผิดปกติของระบบการหายใจ เช่น หายใจไม่สะดวก หายใจลำบาก ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- เกิดจากความผิดปกติของร่างกาย เช่น การเคลื่อนไหวแขนขาที่ผิดปกติขณะนอนหลับ
- การได้รับสารกระตุ้นบางอย่าง เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ปัจจัยทางจิตใจ
- เหตุการณ์ในชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นส่งผลต่อจิตใจ อาจเป็นเรื่องที่ทำให้เสียใจ หรือไม่สบายใจ
- เกิดจากอาการเริ่มแรกของโรคทางจิตบางอย่าง เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคจิตเวช
ปัจจัยทางสภาพแวดล้อม
- สภาพห้องนอน เช่น แสงสว่างมากเกินไป เสียงดัง อุณหภูมิรัอนเกินไป
- รู้สึกแปลกต่อสถานที่ การเปลี่ยนสถานที่นอน และการเดินทางข้ามเส้นแบ่งเวลาโลก
- การนอนที่ไม่เป็นเวลา เช่น การทำงานกะดึก ทำกิจกรรมตี๋นเต้นผาดโผนก่อนนอน
แอลกอฮอล์ไม่ช่วยให้นอนหลับ
เมื่อนอนไม่หลับ บางคนอาจหาทางออกด้วยการจิบแอลกอฮอล์เย็นๆ เพราะรู้สึกว่าผ่อนคลาย ทำให้นอนหลับได้ดี แต่จริงๆ แล้วแอลกอฮอล์ไม่ได้ช่วยให้นอนหลับ และยังส่ง
ผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง และโรคหยุดหายใจขณะหลับ
การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องในการนอน
- เข้านอนและตื่นนอนเป็นเวลาให้ร่างกายปรับวงจรการนอนเป็นปกติและหลับง่ายขึ้น
- จัดสภาพแวดล้อมในห้องนอน เช่น อากาศไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป เสียงไม่ดังเกินไป ไม่สว่างเกินไป
- ใช้เตียงนอนสำหรับการนอนเท่านั้น ไม่ควรทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น ทำงาน รับประทานอาหาร นอนดูทีวี
- หลีกเลี่ยงอุปกรณ์สื่อสารอย่างน้อย 30 นาทีก่อนนอน และกิจกรรมที่ทำให้หัวใจเต้นแรงกว่าผิดปกติ
- ควรนอนเมื่อรู้สึกง่วง หากนอนไม่หลับใน 20 นาที ให้ลุกไปทำกิจกรรมที่สบายใจแล้วกลับมานอนใหม่
- อย่าบังคับตัวเองให้นอนหลับ เพราะอาจทำให้เกิดความกังวล และหลับยาก
- อย่านอนชดเชยตอนกลางวัน เพราะจะทำให้นอนไม่หลับตอนกลางคืน
- รับประทานอาหารที่มีส่วนช่วยในการนอนหลับเป็นมื้อเย็น เช่น นมสดจืด เนื้อไก่ ไข่ เนื้อปลา เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง และถั่ว รวมถึงหลีกเลี่ยงอาหารมื้อหนักก่อนนอน 2 ชั่วโมง
- งดสารกระตุ้นหลังเที่ยงวัน เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวัน ห้ามออกกำลังกายก่อนนอนเพราะจะทำให้หลับยากขึ้นกว่าเดิม
- อาบน้ำอุ่น ดื่มนมอุ่น และผ่อนคลายต่าง เช่น ทำสมาธิ จะช่วยให้หลับง่ายขึ้น
- ไม่ควรใช้ยาเพื่อทำให้หลับเพราะเมื่อหยุดยาจะทำให้นอนไม่หลับมากขึ้น ยกเว้นแพทย์เป็นผู้สั่งยาให้
- มาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและแก้ไขโดยเร็วตั้งแต่ระยะแรก จะทำให้ปัญหารุนแรงน้อยลง
อ้างอิง : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี , โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์