ยิ่ง 'อดนอน' ก็ยิ่งอ้วน! วิจัยชี้ นอนน้อยกว่า 7 ชม. จะอ้วนง่ายขึ้น 26%

ยิ่ง 'อดนอน' ก็ยิ่งอ้วน! วิจัยชี้ นอนน้อยกว่า 7 ชม. จะอ้วนง่ายขึ้น 26%

วิจัยเผย หาก "นอนน้อย" กว่า 7 ชม. ร่างกายจะหลั่ง "ฮอร์โมนความหิว" ออกมามากกว่าปกติ ทำให้คนอดนอนยิ่งหิวมากผิดปกติ จนกินเกินกว่าที่ร่างกายต้องการไปอีก 300 แคลอรี ทำให้เสี่ยงเป็นโรคอ้วนมากขึ้น 26%

Key Points: 

  • นักวิจัยพบว่า “ผู้ที่นอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมงเป็นประจำ เสี่ยงเป็นโรคอ้วนง่ายขึ้น 26% เมื่อเทียบกับผู้ที่นอนหลับเพียงพอในปริมาณที่แนะนำ คือ 7-9 ชั่วโมงต่อคืน
  • ผู้ใหญ่ที่นอนหลับ 4-5 ชั่วโมงต่อคืน ติดต่อกัน 2 สัปดาห์ พวกเขากินเพิ่มขึ้น 300 แคลอรีต่อวัน เพราะร่างกายหลั่ง “ฮอร์โมนเกรลิน” หรือฮอร์โมนความหิวให้พุ่งสูงขึ้น และไปควบคุม “ฮอร์โมนเลปติน” หรือฮอร์โมนอิ่มให้ลดลง 
  • เมื่อสมองสั่งให้เราหิวมากขึ้น ร่างกายจะตอบสนองความหิวด้วยอาหารกลุ่มแป้งและน้ำตาลเป็นหลัก เช่น คุกกี้ มันฝรั่งทอด ไอศกรีม พิซซ่า โดนัท ฯลฯ จึงยิ่งทำให้อ้วนง่ายมากไปอีก

วัยทำงานทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหา "นอนไม่หลับ" เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ผลพวงจากการนอนไม่หลับนอนน้อย หรือนอนไม่พอ ไม่ใช่แค่ส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจเท่านั้น แต่ยังทำให้ "อ้วน" ได้ง่ายกว่าคนที่นอนพักผ่อนเพียงพอ แล้วทำไมถึงเป็นแบบนั้น? กรุงเทพธุรกิจ ชวนเจาะเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับฮอร์โมนความหิวของร่างกาย 

 

  • นอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมง เสี่ยงเกิดโรคอ้วนมากขึ้น 26% 

มีข้อมูลจาก Marie-Pierre St-Onge รองศาสตราจารย์ด้านโภชนาการเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการนอนหลับแห่งโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานมากมายที่ยืนยันว่าหากวัยทำงาน “อดนอน” จะมีพฤติกรรมกินมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ภาวะ “โรคอ้วน” ได้ง่าย 

ในช่วงปี 2564 กลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียได้วิเคราะห์ข้อมูลจากงานวิจัยเกี่ยวกับการนอนหลับรวม 36 ชิ้น ซึ่งมีกลุ่มทดลองเข้าร่วมหลายแสนคน ทีมนักวิจัยพบว่า “ผู้ที่นอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมงต่อคืนเป็นประจำ มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคอ้วน 26% เมื่อเทียบกับผู้ที่ได้รับการนอนในปริมาณที่แนะนำ คือ 7-9 ชั่วโมงต่อคืน 

ยกตัวอย่างงานวิจัยชิ้นหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการทดลองทางคลินิกโดยคัดเลือกผู้ใหญ่วัยทำงานที่มีสุขภาพแข็งแรงและติดตามพฤติกรรมการกินของพวกเขา ในขณะที่จำกัดการนอนหลับตอนกลางคืน (ลดเวลาการนอนจาก 7-8 ชั่วโมง ให้เหลือเพียง 5 ชั่วโมงครึ่ง) ผลการทดลองพบว่า ผู้ใหญ่ที่นอนหลับเพียง 5 ชั่วโมงครึ่งต่อคืน ติดต่อกัน 2 สัปดาห์ พวกเขากินเพิ่มขึ้น 300 แคลอรีต่อวัน โดยส่วนใหญ่มักกินขนมและของว่าง เช่น เพรทเซล คุกกี้ มันฝรั่งทอด ไอศกรีม และลูกอม 

รองศาสตราจารย์ Marie-Pierre วิเคราะห์การทดลองจำนวนมากและสรุปได้ว่า โดยเฉลี่ยแล้วผู้คนจะรับประทานอาหารเพิ่มขึ้นระหว่าง 300 - 550 แคลอรีในวันที่มีการ “อดนอน” เมื่อเทียบกับเวลาที่พวกเขาสามารถนอนได้ 7 ชั่วโมงขึ้นไป ซึ่งมีพฤติกรรมบริโภคอาหารเป็นไปอย่างปกติ

ยิ่ง \'อดนอน\' ก็ยิ่งอ้วน! วิจัยชี้ นอนน้อยกว่า 7 ชม. จะอ้วนง่ายขึ้น 26%

 

  • นอนเพียง 4 ชั่วโมงต่อคืน “ฮอร์โมนความหิว” จะพุ่งสูงขึ้น

ขณะที่งานวิจัยอีกชิ้นระบุว่า การนอนเพียง 4 ชั่วโมงติดต่อกันสองสามคืนขึ้นไป จะทำให้ร่างกายหลั่ง “ฮอร์โมนเกรลิน” หรือฮอร์โมนความหิวให้พุ่งสูงขึ้น (ฮอร์โมนนี้หลั่งออกมาจากเซลล์กระเพาะอาหาร) และไปควบคุม “ฮอร์โมนเลปติน” หรือฮอร์โมนอิ่มให้ลดลง 

จากนั้นเมื่อกระเพาะหิวสมองก็จะสั่งการให้เรากินอาหารในกลุ่มแป้งและน้ำตาลสูง เพื่อต้องการให้ร่างกายได้รับพลังงานด่วนๆ เช่น ลูกอม โดนัท และพิซซ่า ฯลฯ จึงยิ่งทำให้คนที่ชอบ “อดนอน” มีภาวะอ้วนง่ายขึ้น

นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานจากผลงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่ชี้ตรงกันว่า การนอนไม่พอ ยังมีส่วนทำให้ช่องท้องขยายตัวมากขึ้น หรือที่เรียกว่า “อ้วนลงพุง” โดยจากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร American College of Cardiology เมื่อต้นปี 2565 นักวิทยาศาสตร์พบว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองวัยผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรงได้นอนเพียง 4 ชั่วโมงต่อคืน ในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ 

พวกเขาไม่เพียงแต่กินมากขึ้นและน้ำหนักขึ้นเท่านั้น แต่พวกเขายังประสบกับ “การขยายตัวของไขมันในช่องท้อง” มากขึ้นตามไปด้วย  โดยเฉพาะไขมันที่เกาะอยู่รอบอวัยวะภายใน เช่น ไต ตับ และลำไส้ และการมีไขมันในช่องท้องสูง จะเพิ่มโอกาสในการป่วยเป็นโรคร้ายแรง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคมะเร็งหลายชนิด

ยิ่ง \'อดนอน\' ก็ยิ่งอ้วน! วิจัยชี้ นอนน้อยกว่า 7 ชม. จะอ้วนง่ายขึ้น 26%

 

  • หนึ่งในวิธีเพิ่มชั่วโมงการนอนหลับ คือ การเลี่ยงใช้สมาร์ทโฟนก่อนนอน

ส่วนงานวิจัยอีกชิ้นได้ทำการทดลองเกี่ยวกับวิธีการเพิ่มชั่วโมงการนอนหลับให้วัยทำงาน โดยงานวิจัยดังกล่าวได้ตีพิมพ์เมื่อต้นปี 2565 ในวารสาร JAMA Internal Medicine นักวิทยาศาสตร์ได้คัดเลือกผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน จำนวน 80 คนที่นอนหลับเฉลี่ย 6 ชั่วโมงต่อคืนเป็นประจำ นำมาแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งได้รับคำแนะนำให้นอนหลับให้มากขึ้นอีก 1.2 ชั่วโมงต่อคืน โดยใช้วิธีอยู่ห่างจากสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก่อนเข้านอน ในขณะที่กลุ่มที่สอง ให้นอนหลับในปริมาณเท่าเดิม 

Esra Tasali ผู้เขียนงานวิจัยชิ้นดังกล่าว และเป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการนอนหลับแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก กล่าวว่า “โดยพื้นฐานแล้วเรากำลังสอนให้ผู้คนใช้ชีวิตโดยที่ไม่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใกล้เวลานอนมากเกินไป”

จากนั้นนักวิจัยติดตามกลุ่มผู้ร่วมทดลองเป็นเวลา 2 สัปดาห์ พวกเขาพบว่า กลุ่มที่นอนหลับมากขึ้นกว่าเดิม 1.2 ชั่วโมงต่อคืน สามารถลดปริมาณการกินอาหารลงได้ 270 แคลอรีต่อวัน แม้ว่าพวกเขาจะกินเมนูอาหารเดิมๆ อย่างที่เคยกิน (ไม่ได้กินอาหารคลีน/อาหารสุขภาพ) ผลสรุปคือน้ำหนักพวกเขาลดลงได้เล็กน้อย ทั้งยังรู้สึกดีขึ้นและมีพลังงานมากขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ร่วมทดลองกลุ่มที่สองที่นอนน้อยกว่า

ยิ่ง \'อดนอน\' ก็ยิ่งอ้วน! วิจัยชี้ นอนน้อยกว่า 7 ชม. จะอ้วนง่ายขึ้น 26%

ท้ายที่สุด รองศาสตราจารย์ Marie-Pierre สรุปว่า โดยทั่วไปแล้วทุกคนควรตั้งเป้าหมายที่จะนอนหลับให้ได้ประมาณ 7 ชั่วโมงต่อคืน หรืออาจจะน้อยกว่านี้ได้เล็กน้อย (ประมาณ 6 ชั่วโมง-6ชั่วโมงครึ่ง) ที่สำคัญคือ ต้องสังเกตร่างกายและจิตใจตัวเองหลังจากตื่นนอนในทุกๆ วัน

หากตื่นขึ้นมาด้วยความรู้สึกนอนอิ่ม สดชื่น กระปรี้กระเปร่า และไม่เหนื่อยและอ่อนล้าตลอดเวลา ก็แปลว่าคืนที่ผ่านมาร่างกายได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ แต่ถ้าตื่นมาแล้วยังรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า อาจจะต้องเพิ่มเวลานอนหรือพบแพทย์เพื่อค้าหาสาเหตุอาการเหนื่อยล้าดังกล่าวได้อย่างตรงจุด

------------------------------------------------

อ้างอิง : WashingtonPostNational Library of Medicine1National Library of Medicine2