'ไขมันช่องท้อง' เสี่ยงเบาหวาน-หัวใจ ไม่อยาก 'อ้วนลงพุง' ต้องงดอาหารแปรรูป
แพทย์สหรัฐชี้ "อาหารแปรรูป" เป็นตัวการให้เกิด "ไขมันช่องท้อง" สะสม ซึ่งเป็นไขมันอันตรายที่เพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวานประเภท 2 โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองได้
Key Points:
- วัยทำงานอย่าชะล่าใจ “ไขมันใต้ผิวหนัง” แตกต่างกับ “ไขมันในช่องท้อง” โดยการมีไขมันในช่องท้องสะสมมากเกินไปเป็นปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง
- ไขมันในช่องท้องเชื่อมโยงกับการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานประเภท 2, ภาวะดื้อต่ออินซูลิน, โรคหัวใจ และแม้แต่มะเร็งบางชนิด
- ดร.ฌอน โอมารา (Sean O'Mara, MD) แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินและนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านการเพิ่มประสิทธิภาพสุขภาพในสหรัฐอเมริกา ชี้ว่า หนึ่งในวิธีลดไขมันช่องท้องได้ดี ก็คือ การงดบริโภค “อาหารแปรรูป”
ชาวออฟฟิศที่ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน กินอาหารฟาสต์ฟู้ด-อาหารแปรรูปบ่อย และไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ต้องระวัง! อาจทำให้เกิดไขมันสะสมจนเสี่ยงต่อโรคร้าย บางคนอาจเข้าใจว่าไขมันที่พอกพูนนั้น เป็นไขมันส่วนเกินทั่วไป แต่จริงๆ แล้วมีไขมันสะสมอีกส่วนหนึ่งที่อันตรายมากกว่า นั่นคือ “ไขมันช่องท้อง”
- ไขมันช่องท้องคืออะไร? ต่างจากไขมันอื่นๆ อย่างไร?
ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า “ไขมันใต้ผิวหนัง” แตกต่างกับ “ไขมันในช่องท้อง” มีข้อมูลจากกลุ่มงานสร้างเสริมสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า
ไขมันใต้ผิวหนัง (Subcutaneous Fat) คือ ไขมันที่พบได้ใต้ชั้นผิวหนังทั่วทุกส่วนในร่างกาย การมีไขมันใต้ผิวหนังสะสมอยู่ตามส่วนต่างๆ อาจจะไม่อันตรายหรือก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพมากนัก แต่อย่างไรก็ตาม การมีไขมันสะสมอยู่เยอะมากๆ ก็จะทำให้เกิดการหย่อนคล้อยของกล้ามเนื้อ ทำให้สัดส่วนรูปร่างไม่กระชับได้
ส่วน ไขมันในช่องท้อง (Visceral Fat) คือ ไขมันที่อยู่ใต้ชั้นกล้ามเนื้อของช่องท้องเป็นหลัก มักสะสมอยู่ตามอวัยวะภายในร่างกาย เช่น ตับ กระเพาะ ลำไส้ หากปล่อยให้สะสมนานๆ ไป ไขมันชนิดนี้ก็จะมีความแข็งตัวมากขึ้น และจะดันให้หน้าท้องให้ยื่นออกมาจนเห็นได้ชัดเจน อีกทั้งไขมันในช่องท้องสามารถเกิดได้ทั้งกับคนอ้วนและคนผอม
โดย สาเหตุหลักของไขมันในช่องท้อง เกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์หรือกินอาหารไม่สมดุล กล่าวคือกินอาหารกลุ่มแป้ง ไขมัน น้ำตาลมากเกินไป จนร่างกายไม่สามารถเผาผลาญได้หมดในแต่ละวัน รวมถึงมักพบในผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย ไม่ชอบเคลื่อนไหวร่างกาย แม้แต่คนที่ทานน้อยก็ยังมีโอกาสพบภาวะไขมันในช่องท้องได้
- ทำไม “ไขมันในช่องท้อง” ถึงเป็นอันตรายต่อสุขภาพ?
การมีไขมันในช่องท้องมากเกินไปเป็นปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง จากการศึกษาวิจัยในต่างประเทศหลายชิ้นพบว่า ไขมันส่วนเกินในช่องท้อง จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานประเภท 2, ภาวะดื้อต่ออินซูลิน, โรคหัวใจ และแม้แต่มะเร็งบางชนิด
อีกทั้งไขมันที่สะสมตามอวัยวะภายในร่างกาย ไม่ได้เป็นแค่การเก็บพลังงานส่วนเกินเท่านั้น แต่มันยังสร้างฮอร์โมนและ “สารบ่งชี้การอักเสบ” ในระดับที่สูงขึ้น ยิ่งเซลล์ในร่างกายอักเสบมากขึ้น ก็ยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้าย เมื่อเวลาผ่านไป ฮอร์โมนเหล่านี้สามารถส่งเสริมการอักเสบที่ยาวนานและเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่างๆ ดังที่กล่าวไปข้างต้น
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ “โรคหัวใจ” การอักเสบของเซลล์ในร่างกายเป็นเวลานาน อาจทำให้ “คราบจุลินทรีย์ (Plaque)” ซึ่งก็คือคอเลสเตอรอลและสารอื่นๆ ก่อตัวขึ้นภายในหลอดเลือดแดง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ หากปล่อยให้มีคราบจุลินทรีย์หนาขึ้นเรื่อยๆ ก็จะไปดันให้ผนังหลอดเลือดหัวใจแตกปริออกได้ในที่สุด
เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้น เลือดในหลอดเลือดแดงจะจับตัวเป็นลิ่มและขัดขวางการไหลเวียนของเลือดบในหลอดเลือดหัวใจ ลิ่มเลือดนี้เองที่อาจทำให้หัวใจขาดออกซิเจนและทำให้หัวใจวายได้ นอกจากนี้ หากคอเลสเตอรอล สารอักเสบ และกรดไขมันอิสระในเลือด เดินทางไปถึงตับ ก็จะทำให้เกิดภาวะไขมันสะสมในตับและอาจนำไปสู่การ “ดื้อต่ออินซูลินของตับ” และนำไปสู่การป่วยเป็นโรคเบาหวานประเภท 2
- วิธีลดไขมันช่องท้องในวัยทำงาน ต้องทำอย่างไร?
วิธีสังเกตว่าเรามีภาวะไขมันช่องท้องสะสมหรือไม่นั้น อาจทำได้โดย "การวัดรอบเอว" เนื่องจากเส้นรอบเอวเป็นตัวบ่งชี้ได้ว่าไขมันที่อยู่ลึกในท้องและเกาะอยู่รอบๆ อวัยวะภายในมีปริมาณมากน้อยเพียงใด สำหรับผู้หญิงวัยทำงาน รอบเอวไม่ควรเกิน 80 ซม. และสำหรับผู้ชายวัยทำงานรอบเอวไม่ควรเกิน 94 ซม. การวัดเหล่านี้ใช้ไม่ได้กับเด็กหรือสตรีมีครรภ์ หรือสามารถตรวจสอบอีกวิธีหนึ่งโดยการ "วัดดัชนีมวลกาย (BMI)" ก็จะบอกได้ว่าคุณมีไขมันมากเกินไปหรือไม่
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงอยากรู้แล้วว่าเราจะสามารถลดไขมันในช่องท้องได้อย่างไรบ้าง? หนึ่งในวิธีที่ได้ผลและได้รับการยืนยันจาก ดร.ฌอน โอมารา (Sean O'Mara, MD) แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินและนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพในสหรัฐอเมริกา ก็คือ การงดบริโภค “อาหารแปรรูป”
โดยล่าสุดเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เขาได้โพสต์ข้อความผ่านสื่อโซเชียลว่า “อาหารแปรรูปเป็นตัวการของการเกิดไขมันอันตรายในช่องท้อง ผู้ป่วยคนหนึ่งที่เขาดูแลพบว่า หลังจากงดกินอาหารแปรรูปทั้งหมดมา 35 สัปดาห์ พบว่าไขมันช่องท้องลดลงจริง แม้ไม่ได้ออกกำลังกาย (เป็นการทดลองภายใต้การควบคุมปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย)”
ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าว ไม่ได้แปลว่าคนเราไม่ควรออกกำลังกาย การออกกำลังกายยังคงจำเป็นต่อการสร้างเสริมสุขภาพที่ดี แต่อาจจะไม่ต้องหักโหม เพราะหากลด ละ เลิก การกินอาหารแปรรูปได้ ก็จะมีส่วนช่วยลดไขมันช่องท้องได้ตรงจุดมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ดร.ฌอน ยังเคยให้ข้อมูลไว้ด้วยว่า “ไขมันในช่องท้อง” มักมาจากพฤติกรรมการกินอาหารแปรรูป, คาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว, น้ำตาลที่ไม่ดีต่อสุขภาพ, น้ำมันจากโรงงานอุตสาหกรรม, การใช้ชีวิตแบบนั่งนิ่งๆ, การดื่มแอลกอฮอล์, การนอนหลับไม่ดี และความเครียด
ดังนั้น ในฐานะแพทย์และนักวิจัยด้านการเพิ่มประสิทธิภาพด้านสุขภาพ เขาแนะนำว่า ให้ลดไขมันช่องท้องด้วยการ “งดกินอาหารแปรรูป” เพิ่มการออกกำลังกายให้มากขึ้น (เช่น เปลี่ยนจากวิ่งจ๊อกกิ้งช้าๆ เป็นวิ่งเร็วสลับกันไป) หรือเริ่มต้นการกินอาหารรูปแบบคีโต ปรับปรุงการทำงานของระบบลำไส้ เช่น กินอาหารที่มีโพรไบโอติกส์ รวมไปถึงปรับปรุงระดับฮอร์โมนและอารมณ์ด้วยการลดความเครียด เป็นต้น
-----------------------------------------
อ้างอิง : Dr.SeanOMara, Dr.Seanomara, Healthline, Healthdirect, National Library of Medici,e, แพทยศาสตร์ ศิริราช1, แพทยศาสตร์ ศิริราช2