คอเลสเตอรอล
เราเข้าใจกันดีว่าการที่เลือดของเรามีระดับคอเลสเตอรอลสูงเกินกว่า 200 นั้นมีความเสี่ยงที่คอเลสเตอรอลจะทำให้เกิดการก่อตัวของคราบไขมัน
ไปเกาะที่เส้นเลือดเป็นเสมือนหินปูน (plaque) ทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดแข็ง (Atherosclerosis) และเส้นเลือดแคบลง ซึ่งเมื่อรุนแรงมากขึ้นก็จะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือโรคหลอดเลือดสมองตีบ ตลอดจนปัญหาเกี่ยวกับไตเพราะไตจะมีเส้นเลือดเป็นจำนวนมาก
เราจะเข้าใจกันด้วยว่ามีคอเลสเตอรอล 2 ประเภทคือ High Density Lipoprotein (HDL) และ Low Density Lipoprotein (LDL) ซึ่งทั้ง 2 ประเภทนั้นภาษาอังกฤษไม่ได้ใช้คำว่าไขมันหรือ fat แต่ใช้คำว่า Lipid กล่าวคือไขมันหรือ fat ก็เป็น Lipid ประเภทหนึ่งเช่นกัน
นอกจากนั้นแล้วยังมีคำว่า protein อีกด้วย กล่าวคือ Lipid นั้นจะถูกขนส่งเข้าไปในเลือดไม่ได้หากไม่มีการเคลือบโดย protein จึงเป็นที่มาของชื่อว่า lipoprotein
คอลเลสเตอรอลซึ่งเป็น lipid ประเภทหนึ่งนั้นเราจะเผาผลาญโดยการออกกำลังกาย (หรือโดยการนำมา “ใช้” ของร่างกาย) ไม่ได้ คอเลสเตอรอลนั้นร่างกายของเราสร้างเองได้หรือมีอยู่ในเนื้อสัตว์และนมเนยที่เรากินเข้าไป
ที่เราพูดกันว่า LDL (Low Density Lipoprotein)คือ “ไขมันไม่ดี” ก็เพราะ LDLคือไขมันที่มีความหนาแน่นต่ำที่นำพาคออเลสเตอรอลไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายและหากมีการนำส่งมากเกินความต้องการของร่างกายก็จะทำให้เกิดการสะสมตามเส้นเลือดดังที่กล่าวข้างต้น
สำหรับ HDL หรือ High Density Lipoprotein ที่เราเรียกกันว่าเป็น “ไขมันดี” นั้นก็เพราะไขมันที่มีความหนาแน่นสูงดังกล่าวคือกระบวนการของการเก็บคอเลสเตอรอลที่เหลือใช้กลับไปไว้ที่ตับ จึงเป็นที่มาของการตั้งมาตรฐานว่าร่างกายควรมี LDL ไม่เกิน 130 mg/dLและ HDL ไม่ควรต่ำกว่า 40 mg/dLสำหรับผู้ชายและ 50 mg/dL สำหรับผู้หญิง
ดังนั้นจึงมีการกล่าวเพิ่มเติมอีกว่าหากคอเลสเตอรอลรวมเกินกว่า 200 เล็กน้อยก็อาจไม่ต้องกังวลมากหากระดับ HDL สูง (เช่นประมาณ 60-70 หรือมากกว่านั้น) เพราะหมายความว่า HDL จะช่วยเก็บกวาดเอาคอเลสเตอรอลที่ร่างกายไม่ต้องการใช้กลับออกมาจากเส้นเลือด
แต่ไขมันที่มีความสำคัญต่อสุขภาพอย่างมากอีกตัวหนึ่งคือไตรกลีเซอรไรด์ (triglycerides) ที่ไหลเวียนอยู่ในเลือดโดยจะถูกสร้างขึ้นมาเมื่อเรากินอาหารที่มีแคลอรี่สูง (เช่นอาหารแป้งและน้ำตาล รวมทั้งไวน์และสุรา) และไม่ได้ออกกำลังกายทำให้มีแคลอรี่เหลือใช้ ซึ่งจะถูกแปลงมาเก็บเอาไว้ในรูปของไตรกลีเซอรไรด์ในเซลล์ไขมัน (fat cells) ของร่างกาย ปริมาณไตรกลีเซอรไรด์ควรต่ำกว่า 100 mg/dLโดยระดับสูงที่น่าเป็นห่วงคือ 200 หรือมากกว่านั้นและหากสูงเท่ากับ 300 หรือมากกว่าจะถือว่าอันตรายมาก
การลดระดับคอเลสเตอรอลที่ “ไม่ดี” หรือ LDL กับไตรกลีเซอรไรด์ลงนั้นเราจะได้รับคำแนะนำให้ลดการกินอาหารที่มีไขมัน “ไม่ดี” (ไขมันอิ่มตัว) ให้น้อยลดง ตลอดจนการลดการบริโภคแป้งและน้ำตาลและควรออกกำลังให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มคอเลสเตอรอลที่ “ดี” หรือ HDL อีกด้วย แต่เป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยากดังที่หลายๆ คนคงจะประสบอยู่ในขณะนี้
ทั้งนี้ผมขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมจากการค้นคว้าเกี่ยวกับ LDL ว่าสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
- ใหญ่และนุ่ม (large fluffy) หรือ Type A ซึ่งมีอันตรายน้อย
- เล็กและหนาแน่น (small and dense) หรือType Bซึ่งอันตรายมาก
ทั้งนี้เพราะมีงานวิจัยพบว่า LDL Type B นั้นจะเกาะติดเส้นเลือดอย่างเหนียวแน่นทำให้ HDL เก็บกวาดออกได้ยาก ดังนั้นผู้ที่มี LDL Type B เป็นจำนวนมากจึงมีงานวิจับพบว่าความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ทั้งนี้การกินอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลเป็นจำนวนมากจะเพิ่มความเสี่ยงทำให้มี LDL Type B เป็นจำนวนมาก กล่าวคือการลดการกินอาหารประเภทไขมันลงเพื่อหวังลดคอเลสเตอรอลนั้นจะต้องทำไปพร้อมๆ กับการลดอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลอีกด้วย มิฉะนั้นแล้ว LDL ประเภทอันตรายคือ Type B ก็อาจเพิ่มขึ้นอย่างมากก็ได้
นอกจากนั้นแล้วการกินแป้งและน้ำตาลมากเกินไปก็ยังทำให้มีพลังงาน (แคลอรี่) เหลือใช้ ทำให้ไตรกลีเซอรไรด์สูงขึ้นดังที่กล่าวข้างต้นอีกด้วย ซึ่งสามารถประเมินได้ว่าการมีไตรกลีเซอรไรด์สูงจะควบคู่ไปกับการมี LDLType B ในระดับสูงอีกด้วย ดังนั้นหากLDL ไม่สูงเกินเกณมากนักฑ์และไตรกลีเซอรไรด์ต่ำก็อาจเบาใจได้บ้างว่า LDL ที่สูงนั้นน่าจะเป็นประเภทใหญ่และนุ่ม (Type A) ที่ HDL สามารถกวาดเก็บออกมาได้โดยง่าย
จึงได้มีการทำงานวิจัยที่พบว่าสัดส่วนของไตรกลีเซอรไรด์ต่อ HDL นั้นเสามารถใช้ประเมินความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจและโรคเส้นเลือดตีบตันได้อย่างแม่นยำ ทั้งนี้ Triglyceride/HDL นั้นควรอยู่ที่ระดับต่ำเช่น 1-2 และไม่ควรสูงถึง 4 หรือมากกว่านั้น เช่นงานวิจัยชื่อ Comparison of serum lipid values in patients with coronary artery disease ตีพิมพ์ใน American Journal of Cardiology เมื่อธันวาคม 2005 ซึ่งมีข้อสรุปว่า “Triglycerides and ratio of triglycerides to HDL cholesterol were the most powerful, indepent variables related to precocity (การคาดการณ์ที่แม่นยำ) of coronary artery disease”
ดังนั้นจึงควรระมัดระวังระดับของไตรกลีเซอรไรด์และพยายามเพิ่มระดับของ HDL นอกจากการควบคุมระดับ LDL และคอเลสเตอรอลโดยรวมให้เหมาะสมครับ