'Health Link' เชื่อมข้อมูลสุขภาพ แพลตฟอร์มกลาง รักษาทุกที่ทั่วไทย
หนึ่งในความท้าทายของระบบสุขภาพของไทย คือ แต่ละ รพ. จัดเก็บข้อมูลผู้ป่วยในรูปแบบที่ต่างกัน Health Link แพลตฟอร์มดิจิทัล เชื่อมต่อข้อมูลผู้ป่วยระหว่าง รพ. นับเป็นหนึ่งตัวช่วยที่ทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่าง รพ. ง่ายขึ้น เพื่อการรักษาประชาชนแบบไร้รอยต่อ
Key Point :
- Health Link ระบบเชื่อมต่อข้อมูลผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล ช่วยลดกระบวนการที่ใช้เวลานานและไม่จำเป็น ความร่วมมือระหว่าง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ กระทรวงสาธารณสุข
- ระบบดังกล่าว มีที่มาจากการมุ่งพัฒนาระบบสุขภาพระดับประเทศ แก้โจทย์ความท้าทายของฐานข้อมูลผู้ป่วยที่ไม่เชื่อมถึงกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับการรักษาอย่างไร้รอยต่อ
- Health Link ได้พัฒนาขึ้นด้วยมาตรฐานความข้อมูลกลางและมีความปลอดภัยระดับสากล ปัจจุบัน มีโรงพยาบาลที่เข้ารวมโครงการกว่า 1,100 แห่ง
ความท้าทายของบริการด้านสาธารณสุขไทย คือ ระบบฐานข้อมูลที่ยังไม่เชื่อมถึงกัน โรงพยาบาลแต่ละแห่งจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วยในรูปแบบข้อมูลที่ต่างกัน จึงเป็นเรื่องยากในการแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดเมื่อเข้ารับการรักษาพยาบาล
เป็นที่มาของการพัฒนาระบบ Health Link ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) และ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพระหว่างสถานพยาบาลทั่วประเทศ ให้แพทย์เข้าดูประวัติการรักษา ของผู้ป่วยจากต่างโรงพยาบาล โดยผู้ป่วยสามารถกำหนดสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของตนเอง เป้าหมายเพื่อเป็นแพลตฟอร์มกลางของประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 'ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช' เปิดบริการเต็มรูปแบบ มี.ค. 2567
- 90 มัสยิด 5 จังหวัดชายแดนใต้ ขับเคลื่อน “มัสยิดปลอดบุหรี่”
- บัตรทองให้ 'ทวารเทียม' -'รากฟันเทียม' ฟรี นวัตกรรมฝีมือคนไทย
รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) (BDI) กล่าวในงานแถลงข่าว ความคืบหน้าโครงการ Health Link 2023 โดยระบุว่า เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายขึ้น ภายใต้การดำเนินงานของ BDI ที่พัฒนาระบบเชื่อมต่อข้อมูลผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล หรือ Health Link ทำให้ความท้าทายดังกล่าว มีทางออก หากผู้ป่วยเปลี่ยนโรงพยาบาล ไม่จำเป็นต้องขอประวัติใหม่ทุกครั้ง Health Link ช่วยลดกระบวนการที่ใช้เวลานานและไม่จำเป็น ในบางกรณีการที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาช้าไปเพียงไม่กี่นาที เพราะต้องรอประวัติการรักษาเดิม อาจจะหมายถึงนาทีชีวิตของผู้ป่วย
สำหรับ Health Link ได้พัฒนาขึ้นด้วยมาตรฐานความข้อมูลกลางและมีความปลอดภัยระดับสากล ได้แก่ ระบบ e-KYC เทคโนโลยีช่วยป้องกันผู้อื่นแอบอ้าง , การเข้ารหัสข้อมูลในระบบ เพื่อป้องกันความลับของข้อมูลส่วนบุคคล , ข้อมูลสุขภาพเก็บแยกส่วน จากข้อมูลที่ระบุตัวตนได้ เพื่อรักษาความลับของข้อมูล ใช้ Cloudflare ปกป้องเครื่องแม่ข่าย ป้องกันการโจมตีจากภายนอก , รับส่งข้อมูลผ่าน HTTPS ผู้ดักฟังข้อมูลไม่สามารถอ่านข้อมูลได้ , ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO27001 ระบบบริหารจัดการ ความปลอดภัยของข้อมูล และ แพทย์เท่านั้นที่เข้าดูข้อมูลได้ โดยมีการยืนยันตัวตนกับแพทยสภา และการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล
“การจัดเก็บและพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ระดับประเทศ ย่อมต้องได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน และสิ่งสำคัญ คือ ข้อมูลสุขภาพของประชาชน ซึ่งต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของข้อมูลเพื่อให้โรงพยาบาลสามารถส่งต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ ปัจจุบัน โครงการ Health Link มีความก้าวหน้ามาตลอดระยะเวลาการดำเนินงานกว่า 2 ปี (2564 – 2565) ทั้งการเพิ่มจำนวนสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการมากกว่า 1,100 แห่ง จากหลายเครือข่าย ได้แก่ โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลเอกชน ฯลฯ โดยมีสถานพยาบาลที่ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพผู้ป่วยแล้ว 100 แห่ง และภายในปี 2567 นี้จะสามารถเชื่อมข้อมูลให้แล้วเสร็จอย่างน้อย 200 แห่ง ”
ใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล
สำหรับการพัฒนา Health Link ในระยะต่อไป เทคโนโลยีดิจิทัลด้านสุขภาพจะเน้นไปที่การใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุขไทย โดยใช้ข้อมูลเพื่อการวางแผนควบคุมโรค การวางแผนส่งเสริมสุขภาพเพื่อการป้องกันโรค การวางแผนส่งเสริมสุขภาพเพื่อการป้องกันโรค การให้บริการประชาชนที่สะดวกรวดเร็วขึ้น รวมถึงการคืนข้อมูลสู่ประชาชนให้สามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเองได้ ส่งเสริมดูแลสุขภาพ และยังสามารถต่อยอดการเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกับกรมบัญชีกลาง สปสช. และระบบประกันสังคม ช่วยเพิ่มความสะดวกให้ประชาชนและลดภาระงานเอกสารของสถานพยาบาลในการดำเนินการเรื่องเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล
นพ.ธนกฤต จินตวร ที่ปรึกษาอาวุโสโครงการ Health Link กล่าวเพิ่มเติมว่า เป้าหมายการพัฒนาแพลตฟอร์มกลาง คือ การให้บริการด้านการรักษาพยาบาลแบบไร้รอยต่อ สะดวก รวดเร็ว ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น และลดการสิ้นเปลืองทรัพยากร ตอบโจทย์ทั้ง 'การรักษาพยาบาล' เพื่อการดูแลคนไทยให้ดีที่สุด และตอบโจทย์ 'สมาคมวิชาชีพและกลุ่มโรคต่างๆ' เช่น เรามีผู้ป่วยเบาหวาน 12 ล้านคน ผู้ป่วยมะเร็ง 7 ล้านคน ผู้ป่วยบางคนมาทำการรักษาที่กรุงเทพฯ และต้องกลับไปต่างจังหวัดเพื่อให้แพทย์ในพื้นที่ดูแล ดังนั้น แพทย์ที่ต่างจังหวัดสามารถเข้ามาติดตามการรักษาในระบบได้
“การทำงานเบื้องต้น แพทย์ต้องล็อกอินเข้าระบบ และกดเข้าลิงค์ยืนยันตัวตนในระบบของแพทยสภา เพื่อจำเป็นต้องรู้ว่าใครเข้าไปดูข้อมูลผู้ป่วยบ้าง เป็นระบบเรียลไทม์ ถัดมา เลือก รพ. ที่ตนเองทำงาน เข้าสู่หน้าจอค้นหาข้อมูลผู้ป่วย และกรอกเลขที่บัตรประชาชน จะสามารถดูข้อมูลผู้ป่วยในระบบได้ ทั้งข้อมูลเบื้องต้น การแพ้ยา วัคซีน วินิจฉัย ผลแล็บ รวมทั้งประวัติการพบแพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการกำกับดูแล PDPA อีกด้วย”
ก้าวต่อไปสาธารณสุขไทย
ความชัดเจนของก้าวต่อไป ในระบบสาธารณสุขไทย จะถูกขับเคลื่อน ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการดูแลประชาชน ส่งเสริมการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพในระดับประเทศ และประโยชน์ที่สถานพยาบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนจะได้รับ ทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้บุคลากรในวงการสาธารณสุข ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และมุมมองต่อการขับเคลื่อนนโยบายด้านสาธารณสุขดิจิทัล
สำหรับประชาชนที่สนใจรับสิทธิการดูแลสุขภาพและต้องการเข้าร่วมในระบบ Health Link สามารถทำได้เพียงแค่ยินยอมให้โรงพยาบาลส่งต่อข้อมูลประวัติการรักษาเข้าสู่ระบบได้ด้วยลงทะเบียนสมัคร Health Link ได้ฟรี ในแอปพลิเคชั่น 'เป๋าตัง' คลิกที่ 'กระเป๋าสุขภาพ' และกดเลือก 'สิทธิที่น่าสนใจ' หรือสมัครผ่านเว็บไซต์ www.healthlink.go.th/portal โดยยืนยันตัวตนผ่านแอปฯ ThaID ของกรมการปกครอง
ผู้ป่วยโรงพยาบาลรามาธิบดี สามารถสมัครผ่านทางแอปพลิเคชั่น Rama โดย Health Link ยังมีบริการใหม่ให้ผู้ป่วยของโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ทั้ง 11 แห่ง สามารถสมัครได้ที่เคาน์เตอร์เวชระเบียนของโรงพยาบาลได้ทันที เพียงแค่แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ
สธ.ทุ่ม 2 หมื่นล้านยกระดับบริการ
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเปิดการประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ Service Plan Sharing ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาระบบบริการสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งระบบบริการ บุคลากร การดูแลรักษาที่เป็นเครือข่ายเชื่อมโยง ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างมาก สำหรับในปี 2567 ได้มีแผนพัฒนาระบบริการสุขภาพ (Service Plan) ทั้ง 19 สาขา เพื่อตอบโจทย์ให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ลดการป่วยและการเสียชีวิต โดยเฉพาะจากสาเหตุหลัก 3 เรื่อง ได้แก่ อุบัติเหตุ โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็ง
โดยใช้งบลงทุนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เพื่อให้แต่ละโรงพยาบาลนำไปพัฒนาศักยภาพของตนเองให้สามารถตอบโจทย์ประชาชนได้มากขึ้น เช่น การส่องกล้องอวัยวะต่างๆ (Endoscope) การปรับปรุงห้องผ่าตัด ระบบคอมพิวเตอร์ ระบบความปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security) เครื่องฉายรังสี เป็นต้น โดยให้เป็นการหารือร่วมกันในระดับจังหวัดและเขตสุขภาพ เพื่อ “ทำโรงพยาบาลให้เป็นโรงพยาบาลของประชาชน” รวมถึงการลงทุนในส่วนของโรงพยาบาลทันตกรรม เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านทันตกรรม ซึ่งจะเกิดการสร้างรายได้และนำมาพัฒนางานของโรงพยาบาลต่อไป
สำหรับในปีงบประมาณ 2566 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ใช้งบลงทุนในการพัฒนาด้านต่างๆ ตามเป้าหมาย ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท อาทิ การจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ การปรับปรุงโรงพยาบาลตามนโยบาย EMS การติดตั้งโซล่าเซลล์ จัดสร้างบ้านพักบุคลากรประมาณ 10,000 ยูนิต เป็นต้น