โรงพยาบาลของประชาชน ความมั่นคงด้านสุขภาพ
รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณปี 2567 ให้กระทรวงสาธารณสุข 2 หมื่นล้านบาท นำไปจัดสรรให้แต่ละโรงพยาบาลพัฒนาศักยภาพ เน้นการดูแลรักษาที่เป็นเครือข่ายเชื่อมโยง ทั้งด้านอุบัติเหตุ โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็ง โดยเฉพาะ “มะเร็ง” ซึ่งเป็นโรคยอดฮิตของคนไทย
มีการคาดการณ์ เศรษฐกิจเพื่อสุขภาพทั่วโลก (Global Wellness Economy) ในปี 2568 ไว้ว่าจะมีมูลค่าประมาณ 7 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 230 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่จะเน้นการป้องกันมากกว่าการรักษา รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น คาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2567 ฉะนั้นการนำระบบสุขภาพดิจิทัลมาใช้เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น บุคลากรทางการแพทย์ทำงานสะดวก รวดเร็ว ซึ่งจะมีส่วนสนับสนุนให้การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยได้อีกทางหนึ่ง
เนื่องจากปัจจุบันนี้เทรนด์การดูแลสุขภาพแบบองค์รวมกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น ผู้คนต่างตื่นตัวหันมาให้ความสำคัญในการใส่ใจดูแลตัวเองโดยเฉพาะการชะลอวัยด้วยโภชนบำบัด การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และช่วยชะลอความแก่โดยไม่ใช้ยา เป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพที่ดีได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะหลังจากการระบาดของโควิด-19 คนยุคใหม่หันมาใส่ใจสุขภาพเชิงป้องกันมากขึ้น โดยให้ความสำคัญทั้งเรื่องของการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย เรื่องของสุขภาพจิตกับการทำงาน ความงาม และเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยตรวจเช็กสุขภาพเพื่อให้รู้เท่าทันโรค
มีการคาดการณ์ว่าในปี 2568 ประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ โดยจะมีผู้สูงอายุ 1 คน ต่อประชากร 5 คน ทว่ากลุ่ม Silver Age ยังต้องการใช้ชีวิตอย่างแอคทีฟ อยากไปเที่ยว อยากทำกิจกรรมที่อยากทำ โดยที่อายุไม่ได้เป็นอุปสรรคของการใช้ชีวิต ดังนั้นศาสตร์การชะลอวัยแบบองค์รวม จึงได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น บริการทางการแพทย์และบริการอื่นๆ ในปัจจุบันจึงมีการพัฒนาไปสู่การดูแลไม่ใช่แค่ร่างกายเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงจิตใจ ที่อยู่อาศัย และด้านสังคม คุณภาพชีวิต เพื่อให้ครอบคลุมทุกมิติ
ระบบสาธารณสุขไทยเองก็มีการพัฒนาไปตามยุคสมัยอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีการยกระดับบริการการแพทย์และสาธารณสุขไปสู่ระบบสุขภาพดิจิทัล ใช้ระบบการแพทย์ทางไกล เพื่อลดการเดินทาง ลดค่าใช้จ่ายแก่ประเทศ พัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพ เพิ่ม Cyber security และการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อสร้าง “ความมั่นคงด้านสุขภาพ” ให้โรงพยาบาลเป็นของประชาชนจริงๆ สามารถไปใช้บริการได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ได้เป็นของคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่ของหมอ ของพยาบาล
เพื่อ “ทำโรงพยาบาลให้เป็นโรงพยาบาลของประชาชน” ตอบโจทย์ให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ลดการป่วยและการเสียชีวิต รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณปี 2567 ให้กระทรวงสาธารณสุข 2 หมื่นล้านบาท นำไปจัดสรรให้แต่ละโรงพยาบาลพัฒนาศักยภาพ เน้นการดูแลรักษาที่เป็นเครือข่ายเชื่อมโยง ทั้งด้านอุบัติเหตุ โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็ง โดยเฉพาะ “มะเร็ง” ซึ่งเป็นโรคยอดฮิตของคนไทย ที่ผ่านมาเน้นเรื่องการรักษา แต่ระบบใหม่จะเน้นเรื่องป้องกัน การคัดกรองแต่เบื้องต้น และการรักษาให้มีความเชื่อมโยงกัน เป็นระบบแบบบูรณาการที่เป็นรูปธรรม ช่วยให้คนจนเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมอย่างแท้จริง