สูงวัย ห่างไกล 'อัลไซเมอร์' รู้เท่าทัน ป้องกันความเสื่อม
ทำความเข้าใจ 'อัลไซเมอร์' โรคที่พบได้บ่อยที่สุดในกลุ่มภาวะสมองเสื่อม โดยจะมีอาการแสดงในระยะเริ่มต้นในปัญหาด้านความจำนำมาก่อนอาการด้านอื่นๆ แล้วเราจะสามารถสังเกตอาการคนรอบข้างได้อย่างไร เพื่อให้เข้าใจ และดูแลอย่างทันท้วงที
Key Point :
- เมื่อคนเราอายุมากขึ้น ร่างกายจะเริ่มมีการเสื่อมไปตามเวลา หนึ่งในนั้น คือ ภาวะสมองเสื่อม เป็นกลุ่มอาการเสื่อมถอยของสมรรถภาพสมองในด้านการรู้คิด (Cognition) ซึ่งมี 6 ด้าน
- อัลไซเมอร์ เป็นหนึ่งในโรคกลุ่มภาวะสมองเสื่อม โดยจะมีอาการแสดงในระยะเริ่มต้นในปัญหาด้านความจำนำมาก่อนอาการด้านอื่นๆ
- ขณะเดียวกัน โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง นับเป็นปัญหาสุขภาพและเพิ่มความเสี่ยงของอัลไซเมอร์ ดังนั้น จึงควรดูแลตัวเอง ก่อนที่จะเข้าสู่สูงวัย เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและสมองเสื่อมช้าลง
ประเทศไทยเข้าสู่งสังคมสูงวัย ปัญหาหนึ่งด้านสุขภาพของสูงวัย คือ อัลไซเมอร์ หากดูทั่วโลกมีผู้ป่วยมากขึ้นราว 55 ล้านคน และจะยังมากขึ้นทุกปี ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ จะมีปัญหาสำคัญในการหลงลืม อาจจะจำบุคคลไม่ได้ จำสถานที่ไม่ได้ หลงทิศทาง เพราะฉะนั้น เป็นปัญหาที่รักษาไม่ได้ การที่ดูแลป้องกันก่อนตั้งแต่ก่อนเกิดโรค หรือ สามารถวินิจฉัยได้ก่อนเป็นโรคในระยะแรกเป็นสิ่งสำคัญ
เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์ฝึกสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จัดงาน วันอัลไซเมอร์โลก 21 กันยายน ของทุกปี ‘สังคมยุคใหม่...ใส่ใจอัลไซเมอร์’ พร้อมนิทรรศการภาวะสมองเสื่อม การลดความเสี่ยง และกิจกรรมฝึกสมอง และฟังการเสวนาจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ในหัวข้อต่างๆ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้ที่สนใจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- หลงลืม พูดติดขัด สัญญาณเตือน ! อาการ 'โรคสมองเสื่อม'
- “นอนไม่หลับ” ภัยร้ายใกล้ตัวกว่าที่คิด เสี่ยงอันตรายถึงสมอง
- หลงลืมแบบไหน...“อัลไซเมอร์” สมองเสื่อมป้องกันได้ไหม
ข้อมูลจาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อธิบาย อาการเริ่มต้นของโรคอัลไซเมอร์ ว่า ภาวะสมองเสื่อม เป็นกลุ่มอาการเสื่อมถอยของสมรรถภาพสมองในด้านการรู้คิด (Cognition) ซึ่งมี 6 ด้าน ได้แก่ ความจำและการเรียนรู้ การใช้ภาษา สมาธิเชิงซ้อน ความสามารถในการบริหารจัดการ การรับรู้ทักษะการเคลื่อนไหว และการรู้คิดด้านสังคม จนมีผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันและต้องพึ่งพาผู้ดูแล บางคนอาจจะมีอาการทางจิตหรือพฤติกรรมร่วมด้วย
โรคอัลไซเมอร์ เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดในกลุ่มภาวะสมองเสื่อม โดยจะมีอาการแสดงในระยะเริ่มต้นในปัญหาด้านความจำนำมาก่อนอาการด้านอื่นๆ อาจสังเกตอาการเตือนของโรคสมองเสื่อม โรคความจำเสื่อม ได้จากพฤติกรรมอาการหลงลืม จำสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ได้ เช่น พูดหรือถามคำถามเดิมซ้ำๆ วางของผิดที่ อย่างเอาโทรศัพท์ไปใส่ตู้เย็น เอาแปรงสีฟันไปใส่ตู้กับข้าว เอาของใช้ในครัวไปไว้ในห้องน้ำ แล้วก็หาของชิ้นนั้นไม่เจอ จำนัดหมายไม่ได้ จำรายละเอียดเหตุการณ์ที่พึ่งผ่านไปไม่ได้ กินข้าวแล้วบอกว่ายังไม่ได้กิน เป็นต้น
ซึ่งอาการเหล่านี้จะต่างจากคนสูงวัยที่มีอาการหลงลืมทั่วไปคือ อาการหลงลืมเกิดขึ้นบ่อย ต้องใช้เวลานานในการนึกทบทวนแล้วก็ยังนึกไม่ออก เหมือนความจำเรื่องนั้นมันไม่เคยเกิดขึ้นหรือมันหายไปเลย ในขณะที่คนทั่วไปจะหลงลืมชั่วขณะแล้วพอจะนึกออกได้ในเวลาต่อมา
โควิด-19 และ NCDs มีผลต่ออัลไซเมอร์?
รศ.พญ.โสฬพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายนวัตกรรมการศึกษาและสารสนเทศ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าศูนย์ฝึกสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อธิบายว่า โดยประสบการณ์ เห็นมาหลายคนที่หลังจากติดโควิด -19 สมองแย่ลง แต่บางคนก็ไม่ได้แย่ลง ดังนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องจำเพาะบุคคล จากเรื่องของความรุนแรงของการติดโรค จากโรคประจำตัวเดิม สิ่งที่เกิดขึ้นในสมองซับซ้อนและเดาไม่ได้ ด้วยสถานการณ์โควิดในปัจจุบันก็เบาใจได้มากเพราะหลายคนมีภูมิคุ้มกัน
“ขณะที่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง(NCDs)ถือเป็นต้นเหตุ เป็นศัตรูของเราทั้งโลก และเกิดจากตัวเราเอง ไม่ว่าจะเป็น เบาหวาน ไขมัน ความดัน อะไรที่เกี่ยวข้องกับเส้นเลือดจะเกี่ยวข้องกับสมองแน่นอน และอัลไซเมอร์มาแน่นอน ถือเป็นปัจจัยที่เราป้องกันดูแลได้ ไม่มีใครดูแลได้ดีเท่าเรา และการดูแลที่ดีไม่ใช่ในช่วงอายุมากแล้ว แต่ต้องดูแลตัวเองตั้งแต่อายุ 30-40 ปี”
โรคซึมเศร้า เสี่ยงอัลไซเมอร์
ทั้งนี้สุขภาพกายที่แข็งแรง นับเป็นหนึ่งในเป้าหมายของผู้สูงอายุ และ คนที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุมองว่าเป็นเรื่องสำคัญ ที่สุด แต่นอกจากความแข็งแรงทางกายแล้ว ยังมีเรื่องของจิตใจ และโรคซึมเศร้าก็ถือเป็นความเสี่ยงของอัลไซเมอร์
รศ.พญ.โสฬพัทธ์ อธิบายต่อไปว่า ต่อให้ร่างกายมีโรคภัยเล็กน้อย แต่หากร่างกายสบายก็โล่ง ตรงกันข้ามหากร่างกายสบาย จิตใจไม่แข็งแรงก็ลำบาก โรคซึมเศร้า ไม่ว่าจะเศรษฐานะ ชีวิตดี ก็เป็นโรคซึมเศร้าได้ บางอย่างเกิดจากยา เกิดจากร่างกาย เกิดจากโรคอื่นๆ บางอย่างหาสาเหตุไม่ได้เลย แต่สิ่งสำคัญ คือ หากเกิดแล้วสมองพังแน่ และมีความเสี่ยงจะเป็นโรคสมองเสื่อมแน่นอน ดังนั้น รีบวินิจฉัย รักษา โรคซึมเศร้ารักษาไม่ยาก ขอให้มารับการรักษาให้เร็วที่สุด ไม่ต้องอายเพราะเป็นโรคของสมอง
“ดังนั้น วิธีการเช็กอารมณ์ตัวเองง่ายๆ ว่ารู้สึกอย่างไร หากรู้สึกว่าไม่อยากออกไปข้างนอก ไม่อยากกินอะไรอร่อย ไม่อยากเจอใครหรือทำอะไร หากยาวนานถึง 2 สัปดาห์ นอนไม่หลับตื่นตี 3-4 ให้รู้สึกว่าเรามีปัญหาเรื่องอารมณ์หรือไม่ ให้รับการรักษา วินิจฉัยจากแพทย์ การรักษาในระยะแรกจะหายได้เร็ว และดึงความสุขกลับมาได้เร็ว”
ชีวิตวิถีใหม่ใส่ใจสุขภาพ
ศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม สาขาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า เคยมีการสำรวจว่าประชาชนอยากจะสูงวัยแบบไหนมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ สุขภาพ จิตใจ ความสัมพันธ์ครอบครัวเพื่อนบ้าน และเศรษฐานะ พบว่า ส่วนใหญ่มองว่า สุขภาพร่างกาย เป็นสิ่งสำคัญ คือ ไม่มีโรค หากมีโรคแล้วก็ต้องมีความแข็งแรง ดูแลรักษาโรคได้ดี สมองไม่เสื่อม เคลื่อนไวได้ดี ต้องมีความพร้อมในการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค
ทั้งนี้ แม้สุขภาพจะสำคัญในหลายด้าน แต่ก็ไม่ใช่เฉพาะสุขภาพกายเท่านั้น แต่ยังต้องมองไปถึงสุขภาพใจ สังคม เศรษฐานะ ผศ.พญ.อรพิชญา ศรีวรรโณภาส อาจารย์ประจำหน่วยเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคทางกายในผู้สูงวัย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่มีโรคเรื้อรังตั้งแต่อายุยังน้อย และเมื่อเลื่อนขั้นมาเป็นสูงวัย โรคที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน ความดันสูง ก็จะตามมา โรคเหล่านี้พอแบกมานานสิ่งที่จะเกิดขึ้น หากควบคุมได้ไม่ดี อาจจะทำให้อาการแกว่ง โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเรื้อรังเหล่านี้ก็จะมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น
“ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งที่เจอได้บ่อย คือ โรคเฉพาะวัย เช่น โรคกระดูกพรุนในกลุ่มผู้สูงวัย รวมถึง อัลไซเมอร์จะเจอในกลุ่มสูงวัยเยอะ ซึ่งโรคเหล่านี้ต้องมีการคัดกรอง มีการตรวจตั้งแต่แรก หากเจอจะสามารถพยายามควบคุมหรือป้องกันไม่ให้ดำเนินโรคไปเยอะ เพื่อให้มีความสุขกับการใช้ชีวิต เวลาเป็นสูงวัย หมอจะบอกเสมอว่า อยู่ให้สบาย ตายให้สะดวก เตรียมทุกอย่างให้เรียบร้อย เป็นคอนเซปต์ของโรคทางกาย ขณะที่ สุขภาพใจ ทำให้เราอยู่สบาย ทั้งสบายกายและสบายใจ เพราะฉะนั้น หากรู้สึกว่าจิตตกสามารถปรึกษาแพทย์ได้”
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญ ที่จะต้องเตรียมพร้อมก่อนสูงวัย อาทิ เตรียมตรวจเช็กสุขภาพกายประจำปี ฉีดวัคซีน ป้องกันโรค หาความรู้ ที่นำมาปฏิบัติได้จริง เตรียมสิ่งแวดล้อมรอบบ้าน ป้องกันอุบัติเหตุ เตรียมพร้อมด้านการเงิน และรู้สิทธิประกันสุขภาพของตนเอง
เข้าใจโรค เข้าใจอัลไซเมอร์
ผศ.พญ.อรพิชญา กล่าวถึงวิธีสังเกตคนรอบข้างว่า หากคนที่ใกล้ชิดเริ่มแตกต่างจากเดิม ไม่น่าใช้คนที่เคยรู้จัก หรือ ความแปลก มีความรุนแรงจนเริ่มทะเลาะกัน ทำให้เกิดผลเสียกับสมาชิกในครอบครัว ควรพบแพทย์ หากเราต้องเป็นผู้ดูแลผู้ที่เป็นอัลไซเมอร์ ทำอย่างไรที่เราจะเป็นจิตคิดบวก เพราะสิ่งหนึ่งที่จะตามมา คือ ความกังวล ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ
1. เข้าใจเขา พฤติกรรม ความสามารถที่ลดลง ที่ส่งผลให้ทำอะไรแปลกๆ หากเราเข้าใจว่าเป็นอาการป่วยเราจะเข้าใจเขาได้มากขึ้น
2.เข้าใจโรค ว่าอยู่ในระยะอะไร ต้องการการดูแลอย่างไร
3. เข้าใจตัวเอง ผู้ดูแลส่วนใหญ่มักจะลืมไป ยอมรับตัวเราเองว่าอารมณ์โกรธและไม่เข้าใจเป็นเรื่องปกติ วางทุกข์ลง ก็จะทำให้เข้าใจโรคได้ดี
สังคมเมืองกับผู้สูงวัย
สถานการณ์ผู้สูงอายุในปัจจุบัน โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเมืองใหญ่มีความหลากหลายของประชากรรศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มองว่า เราชอบเปรียบเทียบเรากับประเทศญี่ปุ่น แต่เรามองแบบผิวเผิน ญี่ปุ่นเงื่อนไขหลายอย่างทำให้เขาอายุยืน เขาจึงมีคนอายุมากเร็วกว่าเราแต่สังคมไม่ชรา ขณะที่ไทยแก่ไม่เท่าเขาแต่สังคมเราชรา ที่ผ่านมา เมืองไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตให้ง่ายในหลายเรื่อง ไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุ แต่รวมไปถึงกลุ่มอื่นๆ
การสร้างเมืองให้น่าอยู่คนเฉพาะกลุ่มก็ไม่ง่าย ยังต้องสร้างให้กับคนหลายกลุ่มก็ไม่ง่าย หากดูผู้สูงอายุในประเทศไทยเฉลี่ย 22% ของประชากร ส่วน กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีประชากรตามทะเบียนบ้าน 5.8 ล้านคน มีอีกราว 2 ล้านคนที่เป็นคนภูมิลำเนาอื่นที่มาอาศัยในกทม. และมีจากปริมณฑลที่เข้ามาราว 2 ล้านคน ดังนั้น วันๆ หนึ่งเรามีประชากรในกทม.ราว 10 ล้านคน หากคิดง่ายๆ จากตัวเลข 22% เราน่าจะมีผู้สูงวัยราว 2.2 ล้านคนในกทม. แต่หากคิดเป็นประชากรในพื้นที่จริงๆ จะมีผู้สูงอายุ ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน นอกจากนี้ เงื่อนไขของพื้นที่ก็ต่างกัน จำนวนผู้สูงอายุที่มากที่สุดอยู่ใจกลางกทม. 28%
“มีหลายอย่างมากที่เราต้องดูแล ผู้ว่าฯ กทม. บอกเสมอว่าอยากให้ผู้สูงอายุติดเพื่อน ติดสังคม อย่าติดบ้าน ขณะที่สังคมเมืองไม่เหมือนที่อื่น เราใช้ชีวิตห่างเหินมากกว่า ถ้าเราจะทำให้เขาเป็นผู้สูงอายุที่ยังคงคึกคัก อาจจะหมายถึงการดูแลกันตั้งแต่ระยะกลางๆ เตรียมความพร้อมของกลุ่มวัยก่อนสูงอายุ (Pre-aging) ไม่ใช่แค่สุขภาพเรื่องเดียว บางครั้งเราทำให้เรื่องสุขภาพ Luxury เกินไป คนจะดูแลสุขภาพได้ต้อง Work Life Balance แต่เขาหาเช้ากินค่ำ Work Life Balance เป็นเรื่องยาก เพราะฉะนั้น เราไม่สามารถทำ Life Long Learning ได้ในระยะเวลาสั้นๆ ต้องปูกันมาก่อน ด้วยเงื่อนไขเมืองไม่ได้ดูแลกันแค่สุขภาพ แต่ต้องมีทางเดินเท้า อากาศสะอาด อาชีพ ครอบครัวมั่นคง จึงไม่มีปัญหารุมเร้าและดูแลกันได้อย่างใกล้ชิด"
หากมองเป็นรูปธรรม กทม. มีชุมชน 2,017 ชุมชน ค่อนข้างหนาแน่น การดูแลหลากหลาย เรามีชมรมผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 20,000 คน เราพยามให้ศูนย์บริการสาธารณสุขเข้าไปหาถึงบ้านในผู้สูงอายุที่ติดเตียง ติดบ้าน พิการ และการรับเบี้ยคนพิการมีระบบออนไลน์ ขณะเดียวกัน กทม. มีโรงพยาบาลสังกัด 12 แห่ง จากทั้งหมด 148 แห่ง ปัจจุบัน เรามีแอปฯ หมอ กทม. 52 โรงพยาบาล และจะลงมาที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 ศูนย์ 77 สาขา และร้านขายยาอีก 800 กว่าร้าน ดังนั้น หากทำได้ผู้สูงอายุเดินไปแค่ร้านขายยา ป่วยแล้วไม่ต้องมาอยู่โรงพยาบาล นอกจากนี้ ยังมีปุ่มโทรเรียกฉุกเฉินผ่านแอปฯ สามารถระบุตำแหน่งที่อยู่ได้ง่ายขึ้น
“อีกทั้ง ในปี 2567 จะมีกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุเยอะขึ้น โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้ปลดล็อกว่าโครงการใดที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UC) ดังนั้น ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่น ทางเท้า อากาศ ขยะในชุมชน เรากำลังทำอยู่ และสุดท้าย รพ.ในสังกัดกทม. มีการเดินหน้าเปิดเวชศาสตร์ครอบครัว เวชศาสตร์เมือง มีงานกลุ่มบริบาลผู้สูงอายุ ดังนั้น จะมีกลุ่มลักษณะนี้อยู่ในทุกโรงพยาบาล จะสามารถดูแลผู้สูงอายุ หรือ ผู้ที่กำลังจะสูงอายุ” รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าว