เรื่องเล่า‘หมอโบว์’ รักษา‘ช้าง’ และแม่อัลไซเมอร์ที่ลืมแล้วว่ามีลูก
การรักษาช้างทั้งเหนื่อยและหนัก แล้วทำไม'หมอโบว์' สัตวแพทย์หรือหมอรักษาช้างคนนี้มีความสุขได้ทุกวัน รวมถึงเรื่องเล่าในวันที่แม่(อัลไซเมอร์)หลงลืมไปแล้วว่ามีลูกชื่อโบว์
ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนนี้ หลายครั้งวิ่งขึ้นเขา และตากฝน เพื่อตามไปรักษาช้างในป่า...สารพัดเรื่องราวเกี่ยวกับคนไข้ไซส์ยักษ์ที่จะลุก จะนั่ง ทีมงานรักษาช้างต้องหลบให้ทัน....
นี่คือเรื่องของหมอโบว์-รัชดาภรณ์ ศรีสมุทร สัตวแพทย์หญิงรักษาช้าง โรงพยาบาลช้างกระบี่ เจ้าของเพจหมอโบว์ ที่มียอดติดตาม 1.3 ล้าน โดยก่อนหน้านี้เพจของเธอนำเสนอเรื่องแม่ที่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ ปัจจุบันเล่าความน่ารักของช้างและการรักษาช้าง เพื่อให้ความรู้คนที่สนใจ ดังนั้นภาพบนเพจและวิดีโอ จึงเป็นไปตามความเป็นจริง ไม่ได้ตกแต่งให้สวยงามเหมือนเพจทั่วไป
ลองอ่านเรื่องคนไข้ไซส์ใหญ่ที่หลายคนมองว่าน่ารัก แต่มีบางเรื่องต้องระวัง รวมทั้งเรื่องที่หมอโบว์เจอ มีทั้งอึดและโหด การเฝ้าอาการช้าง 24 ชั่วโมง และเรื่องเล่าในวันที่แม่อัลไซเมอร์หลงลืมไปแล้วว่ามีลูกชื่อโบว์ และแม่กลายเป็นเด็กน้อยที่ต้องดูแล แต่ความรักไม่เคยจางหายไปจากโลกใบนี้ ...
- ทำไมเลือกที่จะเป็นหมอรักษาช้าง ทั้งๆ ที่เหนื่อยและหนัก
ตอนเรียน...อาจารย์สอนให้รักษาสัตว์ได้ทุกประเภท แล้วค่อยเลือกว่าจะรักษาสัตว์แบบไหน โบว์ชอบช้าง ตอนฝึกงานที่โรงพยาบาลช้างกระบี่รู้สึกผูกพัน โบว์มองว่าคนไทยไม่ได้เลี้ยงช้างไว้ดูเล่นเหมือนเลี้ยงหมาแมว
แต่เลี้ยงไว้เพื่อประกอบอาชีพ คนเลี้ยงช้างบางคนก็ไม่ได้ร่ำรวย ช้างบางเชือกอยู่มาตั้งแต่รุ่นปู่ถึงรุ่นพ่อ ทำงานส่งเสียลูกๆ ของพวกเขาเรียนจนจบปริญญาตรี ช้างจึงเป็นสัตว์ที่มีคุณค่า
เวลาที่เรารักษาช้างสักเชือกให้หายป่วย เจ้าของช้างยกย่องเราเหมือนเป็นนางฟ้าเลย เพราะเหมือนได้ช่วยชีวิตญาติหรือคนในครอบครัวของเขา เพราะถ้าช้างตาย ก็ไม่ได้ประกอบอาชีพ คนไทยจึงมีความผูกพันกับช้าง ช้างเป็นสัตว์ที่เชื่อฟังคนเลี้ยง เราก็เลยชอบและมุ่งมั่นที่จะเป็นหมอรักษาช้าง
- สิ่งยากที่สุดในการรักษาช้าง ?
ช้างเป็นสัตว์ตัวใหญ่ คนก็เลยกลัว คนที่เรียนด้านนี้บางคนไม่กล้าที่จะเป็นหมอรักษาช้าง จริงๆ แล้วไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แต่การรักษาช้างป่วยหรือควบคุมช้างตกมันในป่าจะยาก ถ้าเป็นช้างตกมันเขาจะอาละวาด เขาจะทำลายทุกสิ่ง แม้กระทั่งควาญช้างที่เคยรู้จัก
เพราะฮอร์โมนช้างพลุ่งพล่าน ช้างจะก้าวร้าวมาก เจ้าของช้างจึงต้องการให้หมอช่วย ทำให้ช้าสงบโดยการยิงปืนลูกดอกยาซึม เมื่อช้างซึมลงจึงสามารถเข้าหาช้างได้ ซึ่งค่อนข้างจะยากพอสมควร
- ช้างเชือกแรกที่รักษาในป่าเป็นอย่างไรบ้าง
เป็นช้างตกมัน แถวๆ จังหวัดพังงา เจ้าของต้องการให้เข้าควบคุมช้าง เนื่องจากอุปกรณ์ผูกกมัดช้างไม่แข็งแรง เจ้าของกลัวว่าช้างจะหลุดแล้วอาละวาด อาจจะไปทำร้ายคนแถวนั้น หรือเข้าทำลายพืชสวนของชาวบ้านได้ ตอนนั้นมีทีมงาน 4 คน มีหมอ คนขับรถและควาญช้างสองคน ทำงานยากมาก เพราะฝนตกหนัก
สภาพในป่าไม่มีที่หลบฝน โบว์เป็นผู้หญิงคนเดียวก็ยืนปากสั่น เพราะหนาวมาก เมื่อยิงยาซึมไปแล้ว ต้องรอช้างซึมจึงเข้าควบคุมช้าง และย้ายช้างไปบริเวณที่เหมาะสม ที่มีน้ำและอาหารให้ช้างเพียงพอ กว่าจะเสร็จภารกิจ จึงใช้เวลา 5-6 ชั่วโมงในป่า ดีนะที่รอดมาได้
- หมอโบว์ท้อบ้างไหม
หลังจากวันนั้น โบว์ก็ป่วยแต่ไม่ท้อ เราเคลื่อนย้ายช้างลงมาอยู่ในที่ที่เหมาะสมได้ ถ้าช้างหลุด หรือช้างขาดน้ำ ขาดอาหารอาจเสียชีวิต กรณีแบบนี้ ถ้าไม่เป็นเราต้องช่วยเขา แต่ก็ต้องยอมรับว่า ต่อไปถ้าเข้าป่าต้องเตรียมอุปกรณ์ไปให้พร้อมกว่านั้น เพราะไม่รู้ว่าจะเจออะไรบ้าง
- นอกจากช้างในป่า ยังมีช้างติดเตียงที่โรงพยาบาล ?
ปกติช้างจะเป็นสัตว์ที่ยืนตลอด จะนอนแค่วันละ 3-4 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ถ้าเป็นช้างป่วยแล้วต้องนอนตลอดเวลา ก็จะส่งผลเสีย อาจทำให้ช้างเสียชีวิตได้ อย่างน้องบัวสวรรค์เป็นช้างติดเตียงตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ตอนนี้ 8 ขวบ น้องบัวยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้
เพราะน้องบัวเข้มแข็ง แต่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด 24 ชั่วโมง คอยให้น้ำ ให้อาหาร เปลี่ยนแผ่นรองซับ เปลี่ยนที่นอน พลิกตัวทุกวัน ต้องใส่ใจมากๆ น้องบัวจึงเป็นช้างป่วยประจำที่นี่ คุ้นกับทุกคน ร่าเริง กินเก่ง
- แต่ละวันหมอโบว์ต้องทำภารกิจอะไรบ้าง
เวลาทำงานจะไม่แน่นอน แล้วแต่อาการป่วยของช้างแต่ละช่วง บางครั้งก็ต้องตื่นเช้ามาก เพื่อมารับเคสฉุกเฉิน เช่น ถ้าวันไหนมีช้างลุกไม่ไหว ต้องใช้รถแมคโครยกช้างรีบให้ยา
หลังจากนั้นก็ต้องมาเตรียมยาให้ช้างเชือกอื่นๆที่เข้ามารอการรักษา ช้างจะต้องใช้ยาจำนวนเยอะมาก บางครั้งใช้ 20-30ขวดต่อเชือก ก็ใช้เวลาเตรียมนาน ถ้าช่วงนั้นมีช้างเยอะ ก็ต้องจัดคิวเข้ามารับการรักษาตลอดทั้งวัน
- ถ้าจะทำให้ช้างไว้วางใจต้องทำอย่างไร
จริงๆ แล้วช้างไม่ค่อยชอบหมอ เพราะเราทำให้ช้างเจ็บจากการฉีดยา แต่ไม่ใช่ทุกเชือกเป็นแบบนั้น อาจจะหลอกล่อด้วยการเอาอาหารที่ชอบไปให้บ่อยๆ พูดคุยกับเขาให้เขาชินเสียง
แต่ช้างจะคุ้นเคยกับควาญช้างมากกว่า เวลารักษาต้องมีเจ้าของหรือควาญช้างมาด้วย เพื่อสั่งช้างให้ให้นิ่ง ให้ทำตามคำสั่ง เพื่อหมอจะได้สะดวกและปลอดภัยในการรักษา
- เรียนรู้อะไรจากควาญช้างบ้าง
ได้เรียนรู้ว่าช้างแต่ละเชือกมีอุปนิสัย ความชอบ และการดูแลที่แตกต่างกัน รวมถึงพวกคำสั่งช้าง เพื่อให้ช้างนอน หันซ้ายหรือหันขวาแต่หมอไม่สามารถสั่งช้างได้ทุกครั้ง เพราะช้างจะจำเสียงควาญช้าง เชื่อฟังควาญช้างมากกว่า
- เคยโดนลูกหลงถูกช้างทำร้ายบ้างไหม
โบว์โดนไม่เยอะ เพราะมีทีมงานที่เป็นเหมือนพยาบาลหรือผู้ช่วยหมอคอยระวังภัยให้ตลอด โบว์เคยป้อนอาหารให้ช้างแล้วโดนงับมือ เคยโดนช้างสะบัดงาใส่ แต่โชคดีที่มีทีมงานนี่แหละช่วยดึงเราออกมา ช่วยชีวิตหมอไว้ได้ทุกครั้ง
- การรักษาช้างนอกสถานที่ต้องเตรียมตัวอย่างไร
ถ้าช้างเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ หมอก็ไปดูให้ที่บ้านได้ เพราะเรามีโครงการสัตวแพทย์สัญจร ที่ออกไปรักษาช้างถึงบ้าน และในกรณีที่ช้างเจ็บป่วยหนัก ไม่สามารถขึ้นรถมาโรงพยาบาลได้ หมอก็ต้องออกไปดูอาการ รักษาเบื้องต้นก่อนนำช้างเข้ามารักษาต่อที่โรงพยาบาล
การเตรียมตัว ก็ต้องเตรียมยา เตรียมอุปกรณ์ เตรียมรถ และเตรียมคนให้พร้อมทุกสถานการณ์ โดยเราจะมีทีมงานประมาณ 2-4 คนในการออกรักษานอกสถานที่
- ถ้าจำเป็นต้องวิ่งหนีช้าง ต้องทำอย่างไร
ต้องเตรียมตัววิ่งตั้งแต่ช้างยังไม่เข้าใกล้ เวลาเราเข้าหาช้างเพื่อยิงยาซึมที่ก้น ต้องเข้าด้านหลัง ห้ามเข้าด้านหน้า ถ้าช้างหลุดวิ่งมาหาเรา ไม่มีอะไรมาก วิ่งให้เร็วที่สุด โชคดีที่ยังไม่เคยเจอกรณีช้างวิ่งไล่แบบจริงๆจังๆ
- แสดงว่าหมอโบว์อยู่ง่าย นอนง่าย กินง่าย?
ก็ไม่ง่าย แต่ไม่ซีเรียสเรื่องที่นอนค่ะ บางทีไม่ได้อาบน้ำก็นอนได้
- เห็นบอกว่า หมอรักษาช้างมีไม่เพียงพอ ถ้าอย่างนั้นต้องมีระบบจัดการอย่างไร
ที่โรงพยาบาลช้างกระบี่มีหมอไม่เพียงพอ ทำให้บางครั้งทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ บางทีหมอคนหนึ่งออกไปรักษาข้างนอก อีกคนรักษาช้างที่โรงพยาบาล และบางครั้งก็มีช้างป่วยที่ต้องไปรักษาด้านนอกอีกเชือก เราก็ออกไปรักษาไม่ได้ เพราะเรามีหมอแค่ 2 คน ไม่เพียงพอจริงๆ
- อยากให้เล่าเรื่องช้างที่คนไทยเข้าใจผิดๆ ?
คนไทยส่วนใหญ่มองว่าช้างทุกเชือกน่ารัก อย่าลืมว่าช้างเป็นสัตว์ป่า จะมีสัญชาตญาณการระวังตัว บางเชือกอาจทำร้ายเรา เพราะคิดว่า เราจะไปทำร้ายเขา ช้างจะรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่ออยู่กับคนไม่รู้จัก
ถ้าช้างอยู่กับควาญช้างหรือคนที่ไว้ใจ เขาจะทำตัวน่ารัก ไม่ระแวง ไม่ใช่ว่าช้างทุกเชือกเข้าไปกอดประชิดตัวได้ เป็นเรื่องที่คนเข้าใจผิด บางทีเห็นช้างยืนอยู่ แล้วคิดว่าเข้าไปกอดหรือจับได้ อันตรายมาก อาจโดนช้างทำร้ายได้
ส่วนการใช้อาวุธหรือโซ่กับช้าง ถ้าถามว่า โบว์เห็นด้วยไหมที่มีการใช้เชือก โซ่ หอก หรือ ใช้ตะขอกับช้าง ถ้าไม่มีเหตุผล โบว์ไม่เห็นด้วย แต่ถ้าช้างดื้อใช้ไม้หวายตี ก็ยอมรับได้เหมือนสอนเด็ก เพื่อให้ช้างรู้ว่า สิ่งที่เขาทำ มันผิด แต่ถ้าตีเพราะโมโห และช้างไม่ได้ทำอะไรผิด โบว์ไม่เห็นด้วย
เวลาช้างเข้ารักษาในโรงพยาบาลช้าง ควาญช้างต้องมีอาวุธไว้ในกรณีฉุกเฉิน ควาญช้างต้องถืออุปกรณ์ที่สามารถควบคุมช้างได้
เพราะเราไม่รู้ว่าช้างเชือกนั้นมีนิสัยอย่างไร เวลาเขาป่วยเขาจะหงุดหงิด ถ้าควาญช้างไม่พกอาวุธมา ถ้าช้างอาละวาดจะอันตรายต่อช้างเชือกอื่น และควาญช้าง รวมถึงหมอด้วย
- หมอโบว์ขี่ช้างเป็นไหม
รู้คำสั่งที่จะใช้กับช้าง แต่ช้างทุกเชือกไม่ใช่ว่าจะเชื่อฟังเรา เขาจะเชื่อฟังเฉพาะควาญช้าง ถามว่าขี่ช้างได้ไหม...ขี่ได้ แต่ถ้าจะออกคำสั่งให้ไปซ้ายหรือขวาอาจจะไม่ได้
- ตั้งใจว่าจะเป็นหมอรักษาช้างอีกนานแค่ไหน
โบว์จะรักษาช้างไปจนกว่าร่างกายจะทำไม่ไหว โบว์ไม่คิดจะไปรักษาสัตว์อื่นหรือทำอาชีพอื่น แต่ถ้าวันหนึ่งอายุเยอะ ปวดหลังไม่ไหว ทำงานยากก็ค่อยว่ากันอีกที
- ไม่รับเงินบริจาคเพื่อช้าง ?
ใช่คะ เพราะได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ถ้าใครอยากบริจาคก็ซื้อของส่งมา อาจเป็นผลไม้ หรือยารักษาช้าง ถ้าบริจาคเงินไม่รับคะ หรือถ้าอยากสนับสนุนให้กำลังใจทีมงาน อาจส่งเป็นบะหมี่สำเร็จรูป กาแฟ ทุกคนก็จะได้รู้ว่าสิ่งที่ส่งมาหมอและพนักงานได้กินแน่นอน ดีกว่าเป็นเงินนะคะ
- เล่าถึงวัยเด็กที่ทำให้ผูกพันกับสัตว์ จนเป็นที่มาของการเรียนสัตวแพทย์สักนิด ?
ครอบครัวชอบเลี้ยงสัตว์อยู่แล้ว พ่อก็ชอบเลี้ยงสัตว์ เมื่อก่อนเลี้ยงเป็ด ไก่ แล้วเอาไข่ไปขาย ตอนนี้พ่อโบว์อยู่บ้านที่พังงา ส่วนแม่อยู่ที่ศูนย์ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์
ก่อนหน้านี้ก็ดูแลแม่เอง แต่ดูแลได้ไม่ดีพอ ส่งผลต่อสุขภาพของแม่ จึงให้หมอและพยาบาลที่เชี่ยวชาญดูแลดีกว่า ศูนย์ดูแลก็อยู่ใกล้ที่ทำงาน โบว์ก็ไปเยี่ยมประจำ
- เห็นบอกว่า งานอดิเรกของหมอโบว์คือ ตัดคลิปการถ่ายทำตอนรักษาช้าง ?
จะมีคนถ่ายคลิปให้ เพื่อไม่ให้เสียเวลางาน เราก็ทำงานไปปกติ คนถ่ายก็ถ่ายไป ไม่มีการสร้างคอนเทนต์ ยกเว้นอยากถ่ายคลิปความน่ารัก ความขี้เล่นของช้าง เวลาถ่ายทำก็ต้องไม่รบกวนการรักษาช้าง โบว์เอาคลิปมาตัดต่อเอง
อีกอย่างเราไม่ได้รับโฆษณาในเพจ เพราะอยากทำสิ่งที่ลูกเพจอยากดู เผื่อคนต่างชาติเห็นจะได้รู้ว่า คนไทยนอกจากใช้ช้างในการประกอบอาชีพ ก็ยังดูแลช้าง เมื่อช้างป่วยก็พามารักษา
โบว์ทำเพจเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้น้องๆ ที่สนใจเรียนสัตวแพทย์ ไม่จำเป็นต้องเป็นหมอรักษาช้าง เผื่อว่าการทำคลิปของเราจะทำให้หมอรักษาช้างเพิ่มจำนวนมากขึ้น
- ย้อนมาเรื่องครอบครัว เคยทำคลิปแม่ที่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ ?
ตอนแม่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ช่วงแรก โบว์เอาแม่มาดูแลเอง เพราะพ่อต้องทำงาน ถ้าปล่อยให้แม่อยู่บ้านคนเดียวคงไม่ได้ พ่อจึงส่งแม่มาอยู่กับโบว์ เพราะที่พักใกล้ที่ทำงาน ตอนนั้นแม่ยังกินข้าวเอง แม้จะอาบน้ำไม่ถูสบู่ เอายาสีฟันมาถูตัวบ้าง แต่ยังช่วยเหลือตัวเองได้
โบว์ก็จะกลับมาดูทุกชั่วโมง และโบว์ต้องปิดประตู และทำรั้วขนาดใหญ่ให้แม่มีพื้นที่เดินเล่นภายในรั้ว ชมสวนได้ และเมื่อแม่ป่วยมากขึ้น ต้องดูแลใกล้ชิด ปล่อยแม่นอนคนเดียวไม่ได้ จะห่วงมาก จึงต้องพาแม่มาทำงานด้วย
- ตอนนั้นเครียดไหม
เครียด เหมือนจะซึมเศร้า เพราะผู้ป่วยอัลไซเมอร์ อารมณ์ไม่แน่นอน บางวันถามว่าเราเป็นใคร บางวันก็ดีต่อเรา ยิ้มกอด แต่บางทีก็ด่าเรา เพราะจำเราไม่ได้
ตอนแรกว่าจะลาออกจากงาน เพื่อดูแลแม่ จากนั้นพ่อลาออกจากงานมาดูแลแม่แทน ซึ่งทำอยู่ช่วงหนึ่ง แต่แม่มีอาการลืมมากขึ้น พ่อซึ่งไม่มีความเชี่ยวชาญในการดูแล ก็เลยทำตามคำแนะนำของหมอ ส่งแม่ไปอยู่ศูนย์ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ มีพยาบาลและหมอดูแล ซึ่งค่าใช้จ่ายสูงพอสมควร
- หมอโบว์จัดการกับความรู้สึกอย่างไร
ก็มีบ้างที่ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมต้องเป็นแม่เรา เหมือนเราสูญเสียแม่ แล้วได้แม่อีกคนมา แทบไม่รู้จักเราเลย ทั้งๆ ที่เมื่อก่อน มีอะไรก็ปรึกษาแม่ มีแม่เป็นที่พึ่ง
แต่ตอนนี้แม่คนนั้นหายไปแล้ว แม่กลับเป็นเด็ก แล้วเราโตขึ้น กลายเป็นว่าเราเลี้ยงแม่ ก็เลยเข้าใจเลยว่า ตอนเด็กๆ เราเอาแต่ใจแค่ไหน แล้วทำไมเราจะดูแลแม่ไม่ได้ รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ลูกคนหนึ่งต้องทำให้ดีที่สุด
- ก่อนหน้านี้แม่สอนอะไรหมอโบว์บ้าง
แม่เป็นครู ไม่ได้สอนให้เราเป็นคนดีอะไรมากมาย แต่ต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ช่วยเหลือคนอื่นตามกำลัง
แม่ไม่ได้สอนให้ลูกเป็นที่หนึ่ง ไม่เคยบังคับให้เรียนหนังสือ หรือแข่งกันคนนั้นคนนี้ แต่แม่สอนว่า ถ้าเรียนดี อนาคตจะดีขึ้น
- แล้วอะไรเป็นความรื่นรมย์ในชีวิตหมอโบว์
โบว์โอเคกับชีวิตนะ ยังมีแม่อยู่ข้างๆ แม้จะไม่ได้นอนด้วยกันทุกวัน แต่แวะไปหาบ่อยๆ เราก็มีความสุข ไม่ต้องกระเตงแม่ไปรักษาช้างอีก
ไม่มีใครอยากเอาแม่ห่างจากตัว เวลาว่างเราก็ซื้อขนมเยอะๆ ไปให้แม่ที่ศูนย์ดูแล เข้าไปนั่งคุยนั่งเล่นกับแม่
..............
ภาพจากเฟซบุ๊ก หมอโบว์