'วัณโรค' รู้เร็ว ตรวจคัดกรองไว รักษาหายไม่แพร่กระจาย
'วัณโรค' รู้เร็ว รักษาหาย ไม่แพร่กระจาย กรมควบคุมโรค ย้ำเตือนประชาชน ผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรค รวมถึงประชาชนกลุ่มเสี่ยง รีบไปตรวจคัดกรอง เพื่อค้นหาการป่วยเป็นวัณโรค และหาการติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง เพื่อเข้าสู่การรักษาทันท่วงที
จากเกิดกรณีข่าว จั๊ก ชวิน จิตรสมบูรณ์ นักร้องและนักแต่งเพลง อดีตวง Double U ตรวจพบว่า ป่วยเป็นวัณโรค ซึ่งในข่าวแพทย์คาดว่าได้รับเชื้อจากเพื่อนสนิทที่เพิ่งเสียชีวิตไปด้วย วัณโรค เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา
วัณโรค นับเป็นโรคติดต่อที่ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญทั่วโลกและประเทศไทย และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชาชนราว 1.6 ล้านคนต่อปี องค์การอนามัยโลก ให้ประเทศไทยติดอันดับใน 30 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรคสูงสุดในโลก โดยคาดว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ที่เกิดขึ้นประมาณ 103,000 รายต่อปี และเสียชีวิตกว่า 12,000 รายต่อปี
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยว่า ประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรไทย ติดเชื้อวัณโรคแล้ว แต่จะมีแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ป่วยเป็นวัณโรค อันเนื่องมาจากภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ลดลง ซึ่งประชากรอีกกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อและป่วยเป็นวัณโรคมากกว่าประชากรทั่วไป ได้แก่
- กลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคร่วม
- ผู้ป่วยเบาหวาน
- ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง
- ผู้ติดเชื้อเอชไอวี
- ผู้ต้องขังหรือผู้อาศัยในสถานคุ้มครองและคนพิการ
- ผู้ใช้สารเสพติด
- ผู้ติดสุราเรื้อรัง
- บุคลากรสาธารณสุข
- กลุ่มแรงงานข้ามชาติ
- ที่สำคัญที่สุดคือ กลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดหรือผู้สัมผัสร่วมบ้านกับผู้ป่วยวัณโรค
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 'วัณโรค' รู้ทัน ป้องกันได้ แพทย์แนะฝัง-เผา ยุติการแพร่กระจายเชื้อ
- สปสช. ร่วม "ยุติวัณโรค" หนุนยุทธศาสตร์ ไทยปลอดวัณโรค ปี 2578
- 'จั๊ก ชวิน' เผยป่วย 'วัณโรค' ชี้ได้รับเชื้อเพราะเหตุนี้ แฟนๆแห่ส่งกำลังใจ
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะที่เป็นส่วนราชการที่รับผิดชอบและนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติโดยตรง ได้ตระหนักและให้ความสำคัญถึงปัญหาวัณโรคมาโดยตลอด มีแผนงานและกิจกรรมที่จะผลักดันขับเคลื่อนนโยบาย การตรวจคัดกรอง ดูแล รักษา ในทุกกลุ่มเสี่ยง ไปยังหน่วยงานที่ดูแล รักษาวัณโรคโดยตรง ได้แก่ โรงพยาบาลต่างๆ ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อเข้าสู่กระบวนการการรักษาและป้องกันวัณโรคตามมาตรฐาน ที่รวดเร็วและทันท่วงที ตัดวงจรการแพร่กระจายเชื้อไปสู่คนอื่น ลดอัตราป่วยและอัตราตายจากวัณโรคต่อไป
ด้านนายแพทย์นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่า สืบเนื่องจาก ในกรณีที่เป็นข่าวและเกิดกระแสในโลกโซเชียล เรื่องการป่วยเป็นวัณโรคของนักร้องและนักแสดงชื่อดัง ที่ชื่อว่า จั๊ก ชวิน จิตรสมบูรณ์ กรมควบคุมโรค โดยกองวัณโรค ได้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเมื่อทราบข่าว ประสานความช่วยเหลือไปยังผู้จัดการส่วนตัวและครอบครัวโดยตรง เพื่อสนับสนุนด้านการตรวจรักษาเพิ่มเติมจากที่กำลังรักษาอยู่ ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ทั้งการติดเชื้อระยะแฝงและการป่วยเป็นวัณโรค ของสมาชิกในครอบครัว ผู้สัมผัสร่วมบ้าน ผู้สัมผัสใกล้ชิด เพื่อนสมาชิกวงดนตรีหรือเพื่อนนักแสดง ทั้งหมดที่ต้องการตรวจรักษา
วัณโรค เกิดขึ้นอวัยวะส่วนใด
ทั้งนี้ 'วัณโรค' พบได้ทุกส่วนของอวัยวะทั่วร่างกายเช่น วัณโรคกระดูก วัณโรคลำไส้ วัณโรคเยื่อหุ้มสมอง แต่ที่พบมากที่สุด คือ วัณโรคปอด ผู้ป่วยวัณโรคปอดจะมีอาการไข้ต่ำๆ ในเวลาบ่ายหรือเย็น ไอแห้งๆ และเจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ผิวหนังซีด เหลือง และเหงื่อออกตอนกลางคืน ปัจจุบันสามารถวินิจฉัยโรคได้จากการเอกซเรย์ปอดและการตรวจเสมหะผู้ป่วยด้วยการส่องผ่านกล้องจุลทรรศน์
อย่างไรก็ตามผู้ป่วยควรป้องกันและควบคุมการแพร่เชื้อ 'วัณโรค' โดยไม่ควรนอนร่วมกับผู้อื่น ควรปิดปากและจมูกทุกครั้งเวลาไอหรือจาม แยกและทำลายขยะที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย ด้วยการนำไปฝังหรือเผา แยกเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และภาชนะใส่อาหาร ควรฆ่าเชื้อด้วยความร้อน เช่น ลวก ต้ม และตากแดดจัด
วัณโรค รักษาหายหรือไม่
สำหรับ วัณโรค เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ ที่แพร่เชื้อจากผู้ป่วยจากการไอ จาม พูดคุย หรือร้องเพลง คนที่ได้รับเชื้อจะมีโอกาสป่วยเป็นวัณโรค เมื่อป่วยก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย และครอบครัว แต่เป็นโรคที่ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะวัณโรคสามารถรักษาหายได้ โดยกินยาอย่างต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง ประมาณ 6 เดือน โดยต้องรีบตรวจหา หรือวินิจฉัยให้เร็ว เมื่อมีอาการผิดปกติ
สังเกตอาการ วัณโรค
วิธีการสังเกตอาการวัณโรค โดยเริ่มจาก ไอเรื้อรัง นานเกิน 2 สัปดาห์ มีไข้ต่ำๆ ในช่วงบ่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด และที่สำคัญ เมื่อเรารู้ว่าเป็นผู้สัมผัสร่วมบ้าน ผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรค ให้รีบตรวจหาวัณโรคให้เร็วที่สุด ณ โรงพยาบาล หรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อเข้าสู่กระบวนการการรักษาตามมาตรฐานต่อไป
'วัณโรค รู้เร็ว รักษาหาย ไม่แพร่กระจาย' ประชาชนสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองวัณโรค โทร. 02 211 2224 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422