สูงวัยไม่เหงา 'ผู้ช่วยเฉพาะกิจ' หาหมอ พาเที่ยว ไม่เดียวดาย
กรุงเทพธุรกิจ ชวนพูดคุยกับ ปุณณดา ประเสริฐสุด ผู้ที่เรียกตัวเองว่า 'ผู้ช่วยเฉพาะกิจ' ร่างที่สองของลูกหลาน พาผู้สูงวัย ผู้ป่วย ไปหาหมอ ท่องเที่ยว ไหว้พระ เช็กอินคาเฟ่ ไปจนถึงสำรวจเส้นทาง
Key Point :
- ในวันที่บริบทสังคมไทยเปลี่ยนไป ครอบครัวมีขนาดเล็กลง ในบางครั้งลูกหลานมีความจำเป็นต้องทำงาน และผู้สูงวัยอาจจะเหงาหรือต้องไปหาหมอ
- ผู้ช่วยเฉพาะกิจ หรือ Helper จึงเป็นหนึ่งตัวช่วย ที่จะทำหน้าที่แทนลูกหลาน เติมเต็มความผูกพันในครอบครัว ไม่ว่าจะพาไปหาหมอ ท่องเที่ยว ไหว้พระ ฯลฯ
- แต่การที่จะเป็น Helper ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสิ่งสำคัญ คือ ต้องใจเย็น รอบคอบ ใส่ใจ และเข้าใจผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบาง
เมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย หลายคนมองว่า นั่นคือ 'โอกาส' ในการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ อาหาร ผลิตภัณฑ์ บริการ และหนึ่งในนั้น คือ บริการพาสูงวัยไปหาหมอ ไปเที่ยว หรือคอยดูแลในวันที่ลูกหลานมีความจำเป็น ซึ่งต้องใช้ความเข้าใจ ใจเย็น และละเอียดอ่อน เพราะต้องดูแลเสมือนคนในครอบครัวเราเอง
“การทำหน้าที่ผู้ช่วยเฉพาะกิจ เป็นการสร้างพลังบวก เสมือนจิ๊กซอว์ที่เชื่อมให้แต่ละบ้านมีความสุข คลายกังวลลูกหลานในวันที่อาจติดภารกิจไม่สามารถพาพ่อแม่ไปหาหมอได้ และสร้างความรู้สึกอบอุ่นให้สูงวัยไม่ให้รู้สึกโดดเดี่ยว”
ปุณณดา ประเสริฐสุด ในวัย 43 ปี ที่เรียกตัวเองว่า 'ผู้ช่วยเฉพาะกิจ' หรือ Helper บอกเล่าให้ “กรุงเทพธุรกิจ” ฟังถึงบทบาทหน้าที่ในปัจจุบัน หลังจากออกจากงานประชาสัมพันธ์ ให้แก่องค์กรเพื่อสังคม และองค์กรสาธารณกุศล มาสู่การเป็นผู้ช่วยลูกๆ หลานๆ พาผู้สูงวัยไปหาหมอ ไปวัด ทำบุญ เที่ยว พาคนท้องไปหาหมอ หรือแม้กระทั่งพาสำรวจเส้นทางก่อนไปปาร์ตี้ที่บ้านเพื่อน โดยอัตราค่าบริการเริ่มต้นที่ ครึ่งวัน 1,500 บาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- "พาพ่อแม่หาหมอ - ไปเที่ยว" ธุรกิจยุคใหม่ รับสังคมสูงวัย
- พาผู้สูงอายุไปโรงพยาบาล ธุรกิจแห่งความใส่ใจ ที่ไม่ใช่ใครก็ทำแทนกันได้
- "ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ" รับส่ง ช้อปปิ้ง หาหมอ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์วัยเกษียณ
ทั้งหมดฟังดูเหมือนจะสนุกและง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการที่จะดูแลผู้สูงวัยหรือกลุ่มเปราะบาง คุณสมบัติสำคัญข้อแรก คือ ต้องใจเย็น ถัดมา คือ ต้องเข้าใจภาวะทางอารมณ์ ของผู้สูงอายุ คนที่อยู่ในกลุ่มเปราะบาง และใช้ใจดูแลใจเขา ต้องมี Service Mind ที่ดี เพราะหากใจร้อน ย่อมเกิดผลเสียอย่างแน่นอน และอีกหนึ่งคุณสมบัติคือ ความรอบคอบ โดยเฉพาะการเช็กความพร้อมของรถเพื่อความปลอดภัย ความสะอาด วีลแชร์ในการไปโรงพยาบาล ไปจนถึงกล่องโฟมเผื่อลูกค้าซื้อของกลับระหว่างไปเที่ยว
“และอีกเรื่องที่ต้องระวังมากๆ คือ การพูด ต้องพูดในแง่ดีเพื่อให้ผู้สูงวัยรู้สึกว่าเราเป็นผู้ช่วยที่ลูกเขาส่งมา เพราะรักแม่รักพ่อ อยากให้คนที่ไว้ใจมาช่วย พูดอย่างไรก็ได้ อย่าให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นภาระ คนสูงวัยหากใจเขาไม่ดีแล้ว ร่างกายที่เจ็บป่วยก็จะทรุดลง”
จุดเริ่มจากประสบการณ์
เรียกว่าการให้บริการผู้ช่วยเฉพาะกิจ ไม่ใช่การมองเห็นโอกาสทางธุรกิจของการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย แต่มาจาก Pain Point จากประสบการณ์ของตนเอง เริ่มจากการพาคุณแม่ไปหาหมอ “ปุณณดา” เล่าย้อนไปราวปี 2551 ในตอนนั้นยังไม่มีรถและพยายามพาคุณแม่ไปหาหมอที่คลินิกพิเศษ ใน รพ. ช่วงเย็น ไปด้วยรถแท็กซี่ รถไฟฟ้า ปรับยาอยู่ 2 เดือน จนวันหนึ่งคุณหมอถามว่าเราทำงานอะไร ทำไมพาแม่มาหาเองได้ ตอนนั้นงงว่าทำไมเราก็เป็นพนักงานบริษัททั่วไป หมอบอกว่า ลองสังเกตดูที่นั่งอยู่หน้าห้อง ส่วนใหญ่คนสูงวัยมากันเอง น้อยมากที่ลูกหลานจะพามา
“เป็นจุดเริ่มต้นและเป็นแรงบันดาลใจ ทุกครั้งไม่ว่าแม่จะไปหาหมอที่ไหน ไปตามนัด หรือ ไปตรวจใหม่ เราจะพาไปเอง และด้วยงานที่ทำในตอนนั้น ได้เจอคนพิการ กลุ่มเปราะบาง ยิ่งตอกย้ำว่า ไม่มีใครอยากอยู่โดดเดี่ยว ยิ่งในยามเจ็บป่วย กำลังใจหรือแค่ใครสักคนที่อยู่ข้างๆ เป็นสิ่งสำคัญ”
แรงบันดาลใจสู่อาชีพ
หลังจากพาคุณแม่ไปหาหมอบ่อยๆ และเริ่มมีโอกาสอาสาพาผู้ใหญ่ที่รู้จักไปโรงพยาบาลบ้าง หลังจากนั้น เริ่มกลายเป็นอาชีพเสริมที่เพื่อนๆ ซึ่งอาจจะติดงาน หรือ อยู่ต่างประเทศ ไว้ใจให้พาคุณพ่อคุณแม่ไปหาหมอ นอกจากนี้ ยังขยายไปถึงการพาไปไหว้พระ ทำบุญ ซื้อของ ท่องเที่ยว เช็กอินคาเฟ่ สำรวจเส้นทาง เป็นต้น
“เราไม่คิดเป็นรายชั่วโมงหรือในเชิงธุรกิจมาก คิดเงินเป็นทริปครึ่งวันเริ่มต้น 1,500 บาท ในกทม. และปริมณฑล ไปรับและส่งถึงบ้าน การเป็น “ผู้ช่วยเฉพาะกิจ” หมายถึง การทำหน้าที่แทนลูกหลาน จะมีวีลแชร์ไว้ประจำรถที่ด้านหลัง และต้องเตรียมของใช้ให้ครบทั้งน้ำดื่ม แอลกอฮอล์ล้างมือ กระดาษเช็ดมือ ใส่เป็นถุงซิปล็อกให้ทุกคน จะไม่นำไปใช้ต่อกับคนอื่น และทำความสะอาดรถทุกครั้งหลังส่งลูกค้า”
ปุณณดา เล่าต่อไปว่า ต้องเก็บข้อมูลก่อนทุกครั้งว่าเขาป่วยเป็นโรคอะไร หาหมอที่ไหน หมอชื่ออะไร และมีอะไรที่ต้องระวังหรือไม่ บางครั้งต้องไปสำรวจสถานที่ก่อน สิ่งสำคัญ คือ ลูกค้าต้องไม่ใส่ของมีค่า และเราเองก็จะไม่ใส่เครื่องประดับ เพื่อป้องกันการบาดเนื้อเขาโดยไม่รู้ตัว ถัดมา คือ เวลาไปหาหมอ เป็นข้อตกลงเลยว่าจะให้ทางลูกหลาน เป็นคนชำระเงินตรงกับทาง รพ. จะไม่จ่ายไปก่อนแล้วมาเบิก เพราะบางคนอาจจะข้องใจว่าเราจ่ายไปเท่านั้นจริงหรือไม่ และบางครั้งเวลาพบหมอจะให้เขาวิดีโอคอลกับหมอด้วย เหมือนเรามาทำหน้าที่แทนเขาเป็นร่างที่สอง
“หลายคนถามว่าทำไมเราไม่หาบัดดี้ หรือ คนขับรถ มองว่านั่นจะไปเกิดต้นทุนกับลูกค้า ฉะนั้น จะมีบางกลุ่มที่ไม่รับ ได้แก่ ผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยที่มีอาการในภาวะวิกฤต ผู้ป่วยที่มีประวัติลมชัก และผู้ป่วยที่อาการแพนิกว่าไปกับใครไม่ได้จริงๆ ต้องขอให้มีผู้ดูแลมาด้วย เพราะเราต้องรู้ศักยภาพตัวเองและนึกถึงเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก ดังนั้น กลุ่มเป้าหมาย คือ สูงวัยและผู้ป่วยที่ยังสามารถดูแลตัวเองได้ ไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤติ”
เราอยู่ได้ ลูกค้าอยู่ได้
ทั้งนี้ หลายคนอาจจะมองว่าการที่สังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย ธุรกิจเหล่านี้มีโอกาสเติบโตอย่างมาก และเริ่มมีคนสอบถามเข้าร่วมทีมเพราะอยากหารายได้เสริม 'ปุณณดา' กล่าวว่า การขยายให้ทีมใหญ่ขึ้นนั้น การจะไว้ใจคนที่จะมาทำงานกับเราเป็นเรื่องยาก อีกเรื่องที่ต้องระมัดระวังมาก คือ การขับรถ หากมีผู้ร่วมทีมเป็นคนใจร้อน มีประวัติการชนเยอะก็ไม่แนะนำ เพราะชีวิตพ่อแม่คนๆ หนึ่งอยู่ในมือเรา
“บางคนมองว่าโอกาสทางการตลาดต้องขยายทีม แต่หากเราควบคุมไม่ได้เราก็ไม่เอา เพราะชีวิตคนสำคัญกว่าเงินเยอะ เราจะแลกชีวิตคนๆ หนึ่งกับเงินก็ไม่คุ้มอยู่ดี นอกจากนี้ เรามาจากคนที่ไม่มีมาก่อน คนที่ต้องเดินทางด้วยรถสาธารณะ ต้องจ่ายค่าแท็กซี่ 200 -300 บาทต่อเที่ยว ฉะนั้น จึงคิดค่าบริการที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ รอบหน้ามีอะไรก็ให้นึกถึงเรา ช่วยกันไปนานๆ ดีกว่าเขามาหาเรารอบเดียวแล้วไม่มาอีกเลย ยินดีให้คำปรึกษา ผ่านช่องทาง FB : punnada prasertsud”
'คนดูแลคน' ได้ดีกว่า
ถึงทุกวันนี้นวัตกรรม เทคโนโลยี หุ่นยนต์ เข้ามาช่วยในการดูแลคนได้มากขึ้น แต่สำหรับ “ปุณณดา” ก็ยังมองว่า คนดูแลคนให้มีความสุขทางใจได้มากกว่าหุ่นยนต์ เอไอ แค่เราถามคุณแม่ว่า “แม่กินอะไร” แค่คำนี้ทำให้คนสูงวัยในบ้านรู้สึกว่าลูกหลานใส่ใจ
สิ่งที่ได้รับจากอาชีพนี้ อย่างแรก คือ เราเป็นต้นแบบให้ลูกสาว ทุกวันนี้เราดูแลคุณแม่เขาก็เห็น ฉะนั้น เขาจะรู้และซึมซับอยากให้เขารู้ว่า การดูแลซึ่งกันและกันมันมีความสุข ทุกวันเขาจะมีหน้าที่เอาผ้าขนหนูให้ยาย เอาผ้าถุงไปตากให้ยาย และเขาจะมีความสุขที่เขาได้ทำ นอกจากนี้ ยังเป็นการเติมเต็มความรู้สึกของเราด้วยส่วนหนึ่ง เราเคยลำบาก และอยู่ในสถานะที่มองซ้ายมองขวาแล้วหาคนช่วยไม่ได้ มันเคว้งคว้างและวันหนึ่งเรามีโอกาสช่วยคนอื่น เราเอาแค่อยู่ได้ แต่สิ่งที่ได้กลับมา คือ เมื่อเขาได้ไปหาหมอ ได้กลับบ้านปลอดภัย ได้ไปกินในสิ่งที่เขาอยากกิน สูงวัยได้รู้ว่าลูกหลานไม่ได้ทอดทิ้งแต่ส่งผู้ช่วยมา เขามีความสุขเราก็มีความสุข มันคือการสร้างสังคมน่าอยู่
“เพราะมนุษย์ เป็นสิ่งแวดล้อมของกันและกัน เราเริ่มจากคนใกล้ตัวมีความสุข เราก็จะมีความสุขไปด้วย เป็นการสร้างพลังบวกต่อไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ ยังมีโปรเจกต์ช่วยครอบครัวที่มีทุนทรัพย์ไม่เยอะ โดยในแต่ละเคสที่ได้ไปเป็นผู้ช่วยจะเก็บใส่กระปุกเคสละ 100 บาท เพื่อช่วยเหลือเคสอื่นที่ไม่ค่อยมีเงิน จ่ายแค่ค่าน้ำมัน ส่วนค่าแรงเราช่วย ถือว่าเราปันจากส่วนอื่นมาช่วยเขา” ผู้ช่วยเฉพาะกิจ กล่าวทิ้งท้าย