'ไข้เลือดออก'โรควายร้ายตัวจิ๋ว 'ยุงลาย' ที่ต้องป้องกัน ปักหมุดวิธีดูแล

'ไข้เลือดออก'โรควายร้ายตัวจิ๋ว 'ยุงลาย' ที่ต้องป้องกัน ปักหมุดวิธีดูแล

'โรคไข้เลือดออก' เป็นโรคที่แพร่ระบาดพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งชื่อไวรัสเดงกี​ (dengue virus) ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ โดยทั่วไปโรคไข้เลือดออกมักพบมากในช่วงฤดูฝน เนื่องจากยุงลายมีการแพร่พันธุ์มากในฤดูนี้

Keypoint:

  • 'โรคไข้เลือดออก' ภัยร้ายจากยุงลาย ยิ่งเข้าหน้าฝนยิ่งระบาดอย่างหนัก ในปัจจุบันพบผู้ป่วยมากกว่าปี 2565 ถึง 3 เท่า มียอดผู้ป่วยแล้ว 90,000 กว่าราย เสียชีวิต 84 ราย 
  • การป้องกันดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคไข้เลือดออก ทำได้ง่ายๆเพียงหลีกเลี่ยงอย่าให้ยุงกัด แต่หากยุงกัดแล้วต้องเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีไข้สูง ไม่ควรซื้อยามาทานเอง ควรรีบพบแพทย์ และควรกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
  • เช็กโรคไข้เลือดออก ผ่านแอปพลิเคชัน 'รู้ทัน' ว่าพื้นที่ที่เราอยู่ หรือจะไปนั้นเสี่ยงโรคไข้เลือดออกหรือไม่ ควรป้องกันดูแลตนเองอย่างไร

ข้อมูลจากรายงานการเฝ้าระวังโรคทางระบาดวิทยา (506) กองระบาดวิทยา ณ วันที่ 6 กันยายน 2566 พบว่า โรคไข้เลือดออกระบาดสูงสุดในรอบ 5 ปี ผู้ป่วยมากกว่าปี 2565 ถึง 3  เท่า มีผู้ติดเชื้อสะสมแล้วกว่า 90,000 ราย พบผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว 84 ราย 

โดยอัพเดทข้อมูลล่าสุด (15 ก.ย.2566) พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก สะสม 784ราย และเสียชีวิต 1 ราย ทั้งนี้ เชื้อไวรัสเดงกี  มีอยู่ด้วยกัน 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 DENV-4 ซึ่งมียุงลายตัวเมียเป็นพาหะนำโรค เมื่อยุงลายดูดเลือดผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเดงกี เชื้อจะเข้าไปฝังตัวภายในกระเพาะและต่อมน้ำลายของยุงโดยมีระยะฟักตัวประมาณ 8-12 วัน

เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสไปกัดคนอื่นๆ ต่อ เชื้อไวรัสก็จะเข้าสู่กระแสเลือดของผู้ที่โดนกัด ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกตามมา  เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายคนและผ่านระยะฟักตัวนาน 5-8 วัน หรือสั้นที่สุด 3 วัน ยาวนานที่สุด 15 วัน ก็จะทำให้เกิดอาการของโรคได้ อาการโรคไข้เลือดออกนั้นมีตั้งแต่อาการเป็นไข้สูง บางรายหากเข้ารับการรักษาช้าก็อาจจะรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

\'ไข้เลือดออก\'โรควายร้ายตัวจิ๋ว \'ยุงลาย\' ที่ต้องป้องกัน ปักหมุดวิธีดูแล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

รู้ทันสัญญาณเตือน 'ไข้เลือดออก' ดูแลตัวเองอย่างไร? ไม่ให้ป่วย 

ระวัง! ไข้เลือดออกเอเชียใต้ระบาดหนัก เหตุ'โลกร้อน-ฤดูมรสุม'นานขึ้น

 

ไข้เลือดออกคาดเดาความรุนแรงของโรคได้ยาก

พญ.สมรรจน์ ลิ้มมหาคุณ อายุรแพทย์ด้านโรคติดเชื้อในผู้ใหญ่ รพ.สมิติเวช กล่าวถึง ความอันตรายของการติดเชื้อไข้เลือดออกในกลุ่มผู้ใหญ่ว่า ปัจจุบันการติดเชื้อไข้เลือดออกในผู้ใหญ่มีอัตราสูงมากขึ้น อัตราการแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้น ผู้ที่เคยป่วยเป็นไข้เลือดออกแล้วยังเป็นซ้ำได้อีก และอาจเสี่ยงต่ออาการที่รุนแรงมากขึ้น แม้การป่วยครั้งแรกจะไม่แสดงอาการก็ตาม

ไข้เลือดออกคาดเดาความรุนแรงของโรคได้ยาก ไม่มียารักษาเฉพาะเจาะจง ไม่ว่าคนแข็งแรงดี หรือมีโรคประจำตัวก็มีโอกาสเป็นไข้เลือดออกรุนแรงได้

"การป้องกันไข้เลือดออกด้วยวัคซีน ถือเป็นแนวทางการป้องกันที่มีประสิทธิภาพวิธีหนึ่ง สามารถฉีดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ที่มีอายุระหว่าง 4-60 ปี มีประสิทธิภาพในการป้องกันไข้เลือดออกจากทุกสายพันธุ์ ได้ 80.2% และป้องกันการนอนโรงพยาบาลได้  90.4% โดยสามารถฉีดได้ทั้งคนที่เคยและไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน โดยไม่ต้องตรวจภูมิคุ้มกันก่อนฉีด วัคซีนมีความปลอดภัย ซึ่งผลข้างเคียงที่พบ เป็นเพียงผลข้างเคียงทั่วไป ได้แก่ อาการปวดตรงตำแหน่งที่ฉีดวัคซีน ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ โดยส่วนมากมักหายได้เอง ภายในเวลา 1-3 วัน” พญ.สมรรจน์ กล่าว

\'ไข้เลือดออก\'โรควายร้ายตัวจิ๋ว \'ยุงลาย\' ที่ต้องป้องกัน ปักหมุดวิธีดูแล

ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่เคยได้รับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใดจะมีภูมิคุ้มกันเฉพาะสายพันธุ์นั้น หากได้รับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ต่างออกไปจากครั้งแรกก็สามารถเป็นไข้เลือดออกได้อีก และโดยทั่วไปอาการของโรคครั้งที่สองมักรุนแรงกว่าครั้งแรก

ในแต่ละปีพบว่ามีการกระจายของเชื้อทั้ง 4 สายพันธุ์หมุนเวียนกัน และมีเชื้อที่เด่นแตกต่างกันไปในแต่ละปี ทำให้มีการระบาดของโรคมาโดยตลอด เนื่องจากประชาชนไม่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์นั้นๆ

\'ไข้เลือดออก\'โรควายร้ายตัวจิ๋ว \'ยุงลาย\' ที่ต้องป้องกัน ปักหมุดวิธีดูแล

 

สัญญาณเตือนโรคไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออกมีลักษณะที่แปรผันตามฤดูกาล (Seasonal variation) โดยจะเริ่มมีแนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้นในเดือนเมษายนและสูงสุดในเดือนมิถุนายน - สิงหาคม ซึ่งเป็นฤดูฝน เดือนกันยายนจะเริ่มมีแนวโน้มผู้ป่วยลดลง แตถ้าหากช่วงปลายปีจำนวนผู้ป่วยไม่ลดลงและยังคงสูงลอย อาจทำให้เกิดการระบาดต่อเนื่องในปีถัดไปได้ 

โดยกลุ่มอายุที่เป็นไข้เลือดออกมากที่สุดคืออายุ 10-14 ปี รองลงมาคือ 5-9 ปี, 15-24 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ เรียกได้ว่าโรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง ถ้าหากมีผู้ป่วย 1,000 ราย จะเสียชีวิต 1 ราย จาก 2 สาเหตุ คือ ภาวะเลือดออกมาก และเลือดรั่วจากเส้นเลือดจนเกิดภาวะช็อก และเสียชีวิต   

\'ไข้เลือดออก\'โรควายร้ายตัวจิ๋ว \'ยุงลาย\' ที่ต้องป้องกัน ปักหมุดวิธีดูแล

 อาการของโรคไข้เลือดออก จะแตกต่างกันไปแล้วแต่บุคคล แต่โดยส่วนใหญ่ที่พบคือ

  • มีไข้สูงเฉียบพลัน เกิน 38.5 องศาเซลเซียส หรืออาจสูงถึง 40-41 องศาเซลเซียส ซึ่งบางรายอาจมีชักเกิดขึ้น โดยเฉพาะในเด็กที่เคยมีประวัติชัก
  • มีเลือดออกที่ผิวหนัง เป็นจุดเลือดเล็กๆ กระจายอยู่ตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน
  • ในรายที่รุนแรงอาจมีอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมักจะเป็นสีดำ (melena) อาการเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนใหญ่จะพบร่วมกับภาวะช็อก
  • สิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดคือ อาการช็อก ที่ทำให้ระบบการไหลเวียนเลือดล้มเหลว
  • บางรายมีภาวะอาการตับโต กดเจ็บ ส่วนใหญ่จะคลำพบ ตับโตได้ประมาณวันที่ 3-4 นับตั้งแต่เริ่มป่วย ตับจะนุ่ม และกดเจ็บ
  • มีภาวการณ์ไหลเวียนล้มเหลว ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรง โดยเกิดภาวะการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว หรือภาวะช็อก เนื่องจากมีการรั่วของพลาสมาออกไปยังช่องปอด ช่องท้อง เกิด hypovolemic shock ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นพร้อมๆ มีไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว เวลาที่เกิดอาการช็อกจึงขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่มีไข้ อาจเกิดได้ตั้งแต่วันที่ 3 ของโรค หรือเกิดวันที่ 8 ของโรค ผู้ป่วยจะมีอาการเลวลง เริ่มมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเบา เร็ว และความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง
  • อาการป่วยไข้เลือดออกครั้งแรกจะไม่ค่อยรุนแรงมาก แต่หากเป็นครั้งที่ 2 จะเกิดความรุนแรงมากขึ้น ทำให้เลือดออก และช็อกได้

\'ไข้เลือดออก\'โรควายร้ายตัวจิ๋ว \'ยุงลาย\' ที่ต้องป้องกัน ปักหมุดวิธีดูแล

ส่วนการวินิจฉัยโรคในช่วงแรกจะแยกจากอาการไข้ทั่วไปค่อนข้างยาก ต้องเจาะเลือดตรวจ ซึ่งหากป่วยเพียง 1-2 วัน การเจาะเลือดตรวจอาจจะไม่พบเชื้อ ต้องใช้เวลา 3-4 วัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยส่วนบุคคลด้วย

วิธีรักษาอาการของโรคไข้เลือดออก

     พญ.สุรางคณา เตชะไพฑูรย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม รพ.สมิติเวช และ รพ.บีเอ็นเอช และผู้อำนวยการ รพ.เด็กสมิติเวช กล่าวว่า โรงพยาบาล เน้นย้ำจุดยืนการทำ Early Care ไม่ป่วยเพราะรู้ทันก่อนเกิดโรค และการ Prevention ลดความเสี่ยงการเกิดโรคต่างๆ มาโดยตลอด โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่มีมานาน พบในเด็กและผู้ใหญ่ เป็นโรคหนึ่งที่ทำให้ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล

 รวมทั้งในรายที่เป็นรุนแรงจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ จะเห็นว่าหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมมือกันรณรงค์ป้องกัน เพื่อลดการระบาดของโรค ซึ่งวัคซีนไข้เลือดออกจะลดผู้ป่วยติดเชื้อไข้เลือดออกในประเทศไทย ทำให้คนไทยมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง และปลอดภัยจากโรคนี้ได้อีกด้วย

วิธีในการปกป้องสมาชิกในครอบครัวให้ห่างไกลจากโรคไข้เลือดออก การติดเชื้อโรคไข้เลือดออกในครอบครัวเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ เนื่องจากโรคไข้เลือดออกที่ทุกคนรู้กันว่าพาหะนำโรคของโรคร้ายนี้คือยุงลาย ดังนั้น หากมีคนในครอบครัวที่ติดเชื้อไวรัสเดงกีหรือไข้เลือดออก

คนในครอบครัวก็มีความเสี่ยงที่จะติดได้เช่นกันจากยุงตัวเดิม โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก ผู้ปกครองและครอบครัวจึงควรสังเกตอาการ หากเด็กมีไข้ขึ้นสูงลอย เบื่ออาหาร และมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย ไม่แนะนำให้รับประทานยาเองที่บ้านแต่ให้พามาพบแพทย์

สำหรับปัจจุบันวิธีรักษาอาการของโรคไข้เลือดออกนั้นยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสที่ออกฤทธิ์ทำลายเชื้อไข้เลือดออกหรือเชื้อไวรัสเดงกีได้โดยตรง ดังนั้นการรักษาส่วนใหญ่จึงเป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ โดยหลัก ๆ เป็นการให้ยาลดไข้ในกลุ่มพาราเซตามอล ซึ่งการให้ยาลดไข้มีความสำคัญ ต้องพยายามหลีกเลี่ยงยาลดไข้ตัวอื่นที่อาจจะมีความสัมพันธ์ กับอาการ เลือดออก ผิดปกติได้ เช่น ยาในกลุ่มแอสไพริน (aspirin) หรือไอบูโพรเฟน (ibuprofen)

นอกจากนี้ยังควรเฝ้าระวังและสังเกตอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด หากผู้ป่วยมีอาการ ปวดท้อง มีอาการกระสับกระส่ายหรือซึมลง มือเท้าเย็นพร้อม ๆ กับไข้ลดลง หรือมีอาการหน้ามืด ควรรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที ก่อนที่ผู้ป่วยจะเกิดอาการช็อกได้

\'ไข้เลือดออก\'โรควายร้ายตัวจิ๋ว \'ยุงลาย\' ที่ต้องป้องกัน ปักหมุดวิธีดูแล

ป้องกันอย่างไรให้ไกลจากโรคไข้เลือดออก

การป้องกันการเกิดไข้เลือดออกที่ดีที่สุด ก็คือ การระวังไม่ให้ถูกยุงลายกัด 

การป้องกันยุงลายนั้นสามารถทำได้ ดังนี้

  • กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
  • หลีกเลี่ยงภาชนะที่มีน้ำขังต่าง ๆ 
  • ตุ่ม โอ่งต้องมีฝาปิดมิดชิด
  • ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำในภาชนะที่ขังน้ำ เช่น แจกัน ทุก ๆ 7 วัน
  • ใส่ทรายอะเบตลงในตุ่มน้ำและภาชนะกักเก็บน้ำในอัตราส่วน 10 กรัมต่อน้ำ 100 ลิตร และควรเติมใหม่ทุก 2-3 เดือน
  • ป้องกันการถูกยุงกัดที่เหมาะสม เช่น ทายาป้องกันยุง หรือใช้ยากันยุง เป็นต้น 
  • สวมเสื้อผ้าที่มิดชิดเพื่อลดโอกาสการถูกยุงกัด
  • นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งวิธีป้องกันโรคไข้เลือดออกที่พูดถึงกันมากที่สุดในปัจจุบัน นั่นก็คือ การใช้วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก วัคซีนจะสามารถใช้ได้ผลดีและลดความรุนแรงได้โดยเฉพาะในคนที่เคยป่วยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน 

\'ไข้เลือดออก\'โรควายร้ายตัวจิ๋ว \'ยุงลาย\' ที่ต้องป้องกัน ปักหมุดวิธีดูแล

ย้ำถ้าเป็นไข้เลือดออกไม่ควรซื้อยารับประทานเอง 

อย่างไรก็ตาม ไข้เลือดออก ไม่ได้ระบาดเพียงเฉพาะในประเทศไทย แต่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทั่วโลกรวม 4.2 ล้านรายในปี 2565 เพิ่มขึ้น 8 เท่าจากปี 2543 องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนด้วยว่า ไข้เลือดออกเป็นโรคเขตร้อนที่แพร่ระบาดเร็วที่สุด และเสี่ยงระบาดทั่วโลก อีกทั้งปัจจัยที่ทำให้ไข้เลือดเพิ่มสูงขึ้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะโลกร้อนขึ้น บวกกับปัจจัยอื่น เช่น การเคลื่อนย้ายของคนและสินค้า การขยายของเมือง และปัญหาเกี่ยวกับสุขอนามัย

ช่วงนี้การระบาดของโรคไข้เลือดออกในบางพื้นที่มีสถานการณ์ลดลงซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี แต่บางพื้นที่ก็ยังคงมีการระบาด ซึ่งกรมควบคุมโรคได้ติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และเปิดประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ (EOC) ร่วมกับเครือข่ายส่วนกลางและภูมิภาคทุกสัปดาห์ โดยย้ำให้ดำเนินการกำจัดลูกน้ำยุงลายให้ครอบคลุมในพื้นที่เสี่ยง อาทิ โรงเรือน (บ้าน/อาคาร), โรงเรียน/สถานศึกษาและ โรงพยาบาล เป็นต้น

โรคไข้เลือดออกสามารถป้องกันได้โดยหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกยุงกัด ควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด นอนกางมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด ทายากันยุงหรือจุดยาไล่ยุง รวมถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมไม่ให้ยุงลายมาวางไข่ การกำจัดไข่หรือลูกน้ำในภาชนะเพื่อตัดวงจรไม่ให้ลูกน้ำกลายเป็นยุงตัวเต็มวัย เป็นต้น

แต่ถ้าหากถูกยุงกัดแล้วมีอาการป่วยไข้ ต้องสังเกตอาการตนเองให้ดี เพราะช่วงนี้นอกจากมีไข้เลือดออกระบาดแล้วก็ยังมีไข้หวัดใหญ่ระบาดอีกด้วย ซึ่งอาจป่วยร่วมกันได้ทั้งสองโรคอาการเด่นชัดของไข้เลือดออกที่แตกต่างจากไข้หวัดใหญ่ในระยะต้นๆ คือ ไข้เลือดออกจะมีไข้สูง  อย่างรวดเร็วเฉียบพลัน ไข้ลดช้า ไม่มีน้ำมูก ไม่ไอ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคซึ่งปัจจุบันมีชุดตรวจไข้เลือดออกเด็งกี่ (NS1) ทำให้รู้ผลเร็วและรักษาได้ทันท่วงที ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟีแนก แอสไพริน รวมถึงยาชุด มีผลทำให้เลือดออกในทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา เสี่ยงต่อการเสียชีวิต

หรือรับประทานยาหรือเช็ดตัวแล้วไข้ไม่ลด หรือลดแล้วไข้กลับมาสูงอีก ควรรีบไปพบแพทย์ ซึ่งโรคไข้เลือดออกหากได้รับการรักษาล่าช้า จะเสี่ยงต่อการเสียชีวิต หากสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

\'ไข้เลือดออก\'โรควายร้ายตัวจิ๋ว \'ยุงลาย\' ที่ต้องป้องกัน ปักหมุดวิธีดูแล

รู้จักแอปพลิเคชัน 'รู้ทัน'เช็กไข้เลือดออก 

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค วิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์ม 'ทันระบาด' เพื่อสนับสนุนการเฝ้าระวังและควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออกแบบเชิงรุกสำหรับเจ้าหน้าที่ อีกทั้งยังต่อยอดสู่แอปพลิเคชัน 'รู้ทัน' เพื่อเป็นเครื่องมือให้ประชาชนใช้ติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออก รวมถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคโควิด-19 ฝุ่น PM2.5 ดัชนีความร้อนที่นำไปสู่โรคลมแดด

โดย 'ทันระบาด' เป็นแพลตฟอร์มจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลโรคไข้เลือดออกแบบเรียลไทม์สำหรับเจ้าหน้าที่ หากย้อนไปช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ประชาชนอาจยังคุ้นเคยกับการได้เห็นเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคเดินถือกระดาษแผ่นใหญ่ออกสำรวจลูกน้ำยุงลายภายในชุมชน วัด และโรงเรียน แต่ทุกวันนี้เจ้าหน้าที่รวบรวมข้อมูลได้ง่ายขึ้นด้วยสมาร์ตโฟนเพียงเครื่องเดียว

แพลตฟอร์มจะประกอบด้วย 4 แอปพลิเคชันหลัก คือ

  1. 'ทันระบาดสำรวจ' ใช้รวบรวมข้อมูลการสำรวจลูกน้ำยุงลาย และรายงานความชุกชุมของลูกน้ำยุงลายให้กับพื้นที่แบบเรียลไทม์
  2. 'ทันระบาดติดตาม' ใช้นำเสนอสถานการณ์โรคไข้เลือดออกและความชุกชมของลูกน้ำยุงลายในรูปแบบแผนที่ และตารางที่สามารถเลือกดูข้อมูลได้ตามมิติที่สนใจ 
  3. 'ทันระบาดรายงาน' เป็นเครื่องมือช่วยสรุปชุดข้อมูลสำคัญที่ใช้งานเป็นประจำออกมาในรูปแบบรายงานอย่างอัตโนมัติ 
  4. 'ทันระบาดวิเคราะห์' สำหรับสนับสนุนการวิเคราะห์ข้อมูลในมุมมองที่สนใจ

\'ไข้เลือดออก\'โรควายร้ายตัวจิ๋ว \'ยุงลาย\' ที่ต้องป้องกัน ปักหมุดวิธีดูแล

ส่วน แอปพลิเคชัน 'รู้ทัน' เพื่อนำข้อมูลจากทันระบาดมาสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกแก่ประชาชน โดยเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่ปี 2564 ภายในแอปพลิเคชันจะมีการดึงข้อมูลสถานการณ์การระบาดของโรคมาแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบตามพิกัดที่ผู้ใช้งานอยู่ ณ​ ขณะนั้นว่ามีความเสี่ยงต่อการเป็นไข้เลือดออกสูง ควรป้องกันตัวไม่ให้ยุงกัด และกำจัดยุงลายและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในพื้นที่

นอกจากนี้ผู้ใช้งานยังดูข้อมูลในรูปแบบแผนที่ตั้งแต่ระดับตำบลถึงระดับภาพรวมประเทศ เพื่อแจ้งเตือนคนรู้จักหรือวางแผนเตรียมอุปกรณ์ป้องกัน อาทิ เสื้อแขนยาว ยากันยุง ก่อนเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงได้

การเฝ้าระวังไข้เลือดออกแล้ว แอปพลิเคชัน 'รู้ทัน' ยังผ่านการออกแบบให้ดึงข้อมูลเฝ้าระวังการระบาดของโรคโควิด-19 ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ดัชนีความร้อน รวมถึงสภาพอากาศ มาแจ้งเตือนให้ประชาชนได้ทราบในแอปพลิเคชันเดียวเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งานแก่ประชาชน ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน 'รู้ทัน' เพื่อใช้งานได้แล้วผ่านทั้ง Play Store และ App Store 

นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยว่าตั้งแต่ต้นปี จนถึง 13 กันยายน 2566 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกรวม 91,979 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกแล้ว 84 ราย จึงขอเชิญชวนให้ดาวน์โหลดและลงทะเบียนใช้งาน “แอปพลิเคชัน SMART อสม.” เพื่อการรายงาน และป้องกันโรคให้ทันสถานการณ์ และประสานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร (อสส.) ที่มีจำนวนกว่า 1,070,000 คน ซึ่งเป็นหมอคนที่ 1 ในทีม 3 หมอ ให้ความรู้ในการป้องกันโรคไข้เลือดออกแก่ประชาชน โดยเฉพาะ สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวซึ่งจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีความรุนแรงของโรคสูง  โดยตั้งแต่เดือนมกราคม – สิงหาคม 2566 มี อสม.รายงานผลสำรวจลูกน้ำยุงลาย ผ่าน “แอปพลิเคชัน SMART อสม.” มาแล้ว 907,342 ครั้ง

อ้างอิง:โรงพยาบาลสมิติเวช ,ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ,กรมควบคุมโรค