'มะเร็ง' ไม่ได้เท่ากับตาย รู้ทัน 'มะเร็งปอด' คัดกรองไว รักษาทัน

'มะเร็ง' ไม่ได้เท่ากับตาย รู้ทัน 'มะเร็งปอด' คัดกรองไว รักษาทัน

มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง ติดอาวุธความรู้ให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด รู้ทันปัจจัยเสี่ยง ตรวจคัดกรองไว เข้าสู่กระบวนการรักษาได้ทันท่วงที พร้อมทำความเข้าใจ การวินิจฉัย รักษาตามระยะของโรค

 

"มะเร็งปอด" เป็นโรคที่มีอุบัติการณ์ทั่วโลกที่สูงมาก ซึ่งข้อมูลของ GLOBOCAN ปี พ.ศ.2563 ชี้ให้เห็นว่ามีผู้ป่วยใหม่จำนวนกว่า 2.2 ล้านคนต่อปี และมีผู้ป่วยเสียชีวิตถึง 1.8 ล้านคนต่อปี นอกจากที่หลายชีวิตต้องสูญเสียจากโรคนี้ โรคมะเร็งปอดยังเป็นหนึ่งในโรคที่สร้างภาระทางด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคมอีกด้วย

 

 

เพื่อเป็นการให้สังคมได้รับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับโรคมะเร็งปอดมากยิ่งขึ้น มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง (Thai Cancer Society : TCS) ได้จัดงาน Steps of Strength ก้าวเล็กๆ บนเส้นทางของคนเป็น 'มะเร็งปอด' ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด โดยภายในงานได้มีการพูดคุยหารือในหัวข้อเรื่องความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโรคมะเร็งปอด การตรวจวินิจฉัยและกระบวนการรักษาโรค และความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับโรคมะเร็งปอด เพื่อเป็นการติดอาวุธความรู้ให้กับผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดให้สามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างตรงจุดและทันท่วงที 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

  • ปัจจัยสำคัญ ก่อมะเร็งปอด

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งปอด โดยหนึ่งในนั้นคือเรื่องของการ 'สูบบุหรี่' ที่ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับแรกที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดและมะเร็งชนิดอื่นๆ แต่นอกเหนือจากการสูบบุหรี่แล้ว ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่มือสอง (Secondhand Smoke) ที่มาจากการได้รับควันบุหรี่จากสิ่งแวดล้อมรอบตัว หรือปัจจัยเรื่องอายุที่เพิ่มขึ้นและเซลล์ในร่างกายที่เสื่อมสภาพตามกาลเวลาจนอาจกลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็งได้ในที่สุด

 

รวมไปถึงการสัมผัสกับสารก่อมะเร็ง (Carcinogen) เช่น ก๊าซเรดอน (Radon) หรือแม้กระทั่งการสูดฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ล่าสุดมีข้อมูลสนับสนุนว่าอาจจะเป็นสาเหตุการเกิดมะเร็งปอดมากขึ้น โดยสำหรับมะเร็งปอดนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small Cell Lung Cancer) และ มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer) ที่ในปัจจุบันพบเจอได้มากกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก

 

\'มะเร็ง\' ไม่ได้เท่ากับตาย รู้ทัน \'มะเร็งปอด\' คัดกรองไว รักษาทัน

 

  • ข้อควรระวัง 'มะเร็งปอด' 

สำหรับ ข้อควรระวังมะเร็งปอด ไม่ใช่แค่อาการของโรค แต่ยังรวมไปถึง 'การตรวจคัดกรอง' ด้วย มีหลายครั้งที่ผู้ป่วยเพิ่งตรวจเจอฝ้าหรือความผิดปกติในปอดแต่ยังคงมีความสับสนในขั้นตอนการวินิจฉัยว่าจะสามารถแยกแยะมะเร็งปอดกับวัณโรคได้อย่างไร โดยคำตอบที่ถูกต้องคือต้องพิจารณาตามกรณี จำเป็นต้องมีการตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจเสมหะหาเชื้อวัณโรค หรือ ตรวจชิ้นเนื้อ หรือ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan)

 

ผู้ป่วยมะเร็งปอดบางคนอาจไม่มีอาการแต่พอไปตรวจสุขภาพประจำปีกลับเจอก้อนในปอด หรืออาการทางปอด เช่น ไอ เหนื่อย และเอ็กซ์เรย์ปอดเจอก้อนเนื้อหลายก้อน การตรวจขั้นตอนถัดไปคือการทำ CT Scan ที่สามารถให้ข้อมูลที่แม่นยำกว่าการเอ็กซ์เรย์ปกติ เช่น ตำแหน่งของก้อนเนื้อ สำหรับขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการวินิจฉัยมะเร็งคือการตรวจชิ้นเนื้อเพื่อให้ทราบชนิดของมะเร็งปอด ทำให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาที่เจาะจงเฉพาะสำหรับแต่ละบุคคลได้

 

ทั้งนี้ การตรวจชิ้นเนื้ออาจใช้เวลานานหลายวันขึ้นอยู่กับความยากง่ายของแต่ละเคส ถ้าสามารถบอกได้เลยว่าเป็นมะเร็งชนิดไหนทันทีหลังตรวจก็จะเป็นอันจบขั้นตอนนี้ แต่ถ้าจำเป็นต้องมีการแยกชนิดเซลล์มะเร็งอาจต้องใช้เวลาตรงนี้อีกประมาณ 7-10 วันเพื่อระบุชนิดแบบชัดเจน

 

จากนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจ 'ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ' (Biomarker) เช่น 'ตัวรับเซลล์มะเร็ง' หรือ 'การกลายพันธุ์ของเซลล์มะเร็ง' ที่ส่วนใหญ่มักตรวจในกลุ่มมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็กและใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 2 สัปดาห์ โดยหากตรวจเจอการกลายพันธุ์ของเซลล์มะเร็งแล้ว แพทย์ก็จะสามารถเลือกการรักษาที่จำเพาะกับเซลล์มะเร็งชนิดนั้น เช่น ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) ได้ ดังนั้นแพทย์จึงแนะนำให้ผู้ป่วยรอจนกว่าจะได้ผลตรวจที่ชัดเจนแทนการรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy) ทันทีเพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในผู้ป่วยที่มีอาการไม่มากและรอได้

 

\'มะเร็ง\' ไม่ได้เท่ากับตาย รู้ทัน \'มะเร็งปอด\' คัดกรองไว รักษาทัน

 

  • การรักษา ผู้ป่วยมะเร็งปอด 

พญ. กุลธิดา มณีนิล อายุรแพทย์ด้านมะเร็งวิทยา กล่าวว่า อันดับแรกเวลาเริ่มรักษาผู้ป่วย คือ การตรวจวินิจฉัยชิ้นเนื้อมะเร็ง และที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ระยะของโรค ซึ่งโดยทั่วไป มะเร็ง 4 ระยะ

  • โดยระยะที่ 1 กับ 2 ถือเป็นระยะเริ่มต้น มะเร็งปอดอาจอยู่ในช่องอกและยังไม่กระจายไปไหน
  • แต่เมื่อเข้าสู่ระยะที่ 3 อาจมีการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองตรงกลางช่องอก
  • ส่วนมะเร็งปอดระยะที่ 4 จะมีการกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ สมอง หรือกระดูก

 

"ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าระยะของโรคมีผลต่อการตัดสินใจในการวางแผนการรักษา ซึ่งนอกจากขั้นตอนรอผลตรวจชิ้นเนื้อแล้ว ควรมีผล CT Scan หรือภาพเอ็กซ์เรย์ประกอบด้วยเพื่อประเมินระยะของมะเร็งและวางแผนการรักษาได้ถูกต้อง ถ้าเป็นระยะเริ่มต้นเราก็จะเริ่มด้วยการผ่าตัดก่อนและตามด้วยการรักษาเสริมด้วยยา ซึ่งหลักๆ มี 3 ชนิด ได้แก่ยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้า และยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ซึ่งเราต้องมาดูว่ายาแต่ละชนิดจะเหมาะกับผู้ป่วยคนไหน"

 

อีกหนึ่งประเด็นที่ผู้ป่วยต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมากคือเรื่องอาหารการกิน ควรตระหนักเสมอว่าอะไรกินได้ อะไรกินไม่ได้ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษารองรับว่าอาหารสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้ แต่มีกลุ่มอาหารที่ช่วยเสริมความแข็งแรงของร่างกายให้สามารถผ่านขั้นตอนการรักษาได้ง่ายขึ้นอย่าง 'โปรตีน' ที่ช่วยซ่อมแซมเซลล์ในร่างกายจากผลข้างเคียงของยาชนิดต่างๆ ดังนั้นในระหว่างการรักษาโรคมะเร็ง ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด ครบ 5 หมู่ และเน้นรับประทานโปรตีน แต่ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัดหรืออาหารหมักดองที่อาจทำให้ท้องเสียจนไม่สามารถรับยาได้

 

  • ทุกคนมีโอกาสเป็นมะเร็งปอด 

ด้าน ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง กล่าวว่า ทุกคนมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดได้ ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน หรืออายุเท่าไหร่ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราอยากช่วยรณรงค์คืออยากให้สังคมตระหนักรู้ 2 อย่าง เราอยากเชิญชวนให้คนทั่วไปหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำเพื่อเป็นการคัดกรองว่ามีอาการผิดปกติที่ปอดหรือไม่ และเราอยากบอกว่าการเป็นมะเร็งปอด ยังสามารถมีชีวิตที่ดีได้ เป็นมะเร็งไม่ได้เท่ากับตาย ซึ่งเราอยากให้เห็นตัวอย่างผ่านกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดที่เขามีชีวิตอยู่ในปัจจุบันว่าพวกเขาเหล่านี้ยังสามารถใช้ชีวิตอย่างปกติได้

 

จึงเป็นที่มาของงาน Steps of Strength ก้าวเล็กๆ บนเส้นทางของคนเป็น “มะเร็งปอด” ที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจของมูลนิธิเครือข่ายมะเร็งในการให้ความรู้กับกลุ่มผู้ป่วย ญาติและผู้ดูแลเพื่อการรับมือกับโรคที่ถูกต้อง รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ว่าการคัดกรองมีความสำคัญอย่างไรต่อสังคม โดยผู้ที่มีความสนใจในเนื้อหาสาระดีๆ เกี่ยวกับโรคมะเร็งปอด สามารถ คลิกที่นี่ เพื่อรับชมวิดีโอถ่ายทอดสดย้อนหลังบนเพจเฟซบุ๊ก Thai Cancer Society : TCS