‘ตัวแม่’ ก็ต้องแคร์สุขภาพ เคล็ดลับดูแลกายใจ ตั้งแต่เด็ก-วัยทอง
รพ.วิมุต ชวนผู้หญิงไทย ใช้ชีวิตอย่างไร ไม่ให้สะดุด เพราะเรื่องสุขภาพ ส่องเคล็ดลับ ดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจ ตั้งแต่เด็กวัยก่อนมีประจำเดือน วัยทำงาน จนถึงวัยทอง
Key Point :
- หนึ่งในสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของผู้หญิงไทย คือ มะเร็ง โดย อันดับหนึ่ง คือ มะเร็งเต้านม รองลงมา คือ มะเร็งปากมดลูก
- ขณะเดียวกัน บริบทในปัจจุบัน ที่ผู้หญิงแต่งงานน้อยลง ทำให้ใช้จ่ายกับการดูแลตัวเองและสุขภาพมากยิ่งขึ้น
- อย่างไรก็ตาม การที่จะสุขภาพดีในทุกช่วงวัย จะต้องหมั่นตรวจสุขภาพและรู้ทันความผิดปกติของร่างกาย ทั้งสุขภาพกาย และ สุขภาพใจ
ประเทศไทย ข้อมูลจากสำนักทะเบียนกลาง ชี้ชัดว่า ประชากรผู้หญิง มีสัดส่วนมากกว่า ผู้ชาย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในปี 2565 มีผู้หญิงมากกว่าผู้ชายราว 1.59 ล้านคน ปัจจุบัน ผู้หญิงมีการดูแลสุขภาพและดูแลตัวเองมากขึ้น หนึ่งในปัจจัย คือ อัตราการแต่งงานลดน้อยลง ทำให้รายได้ที่ใช้กับด้านอื่นลดลง และใช้กับตัวเองมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่มีสุขภาพกายที่ดี จำเป็นต้องควบคู่กับ สุขภาพใจที่ดีด้วย
พญ.พรรณลดา ฉันทศาสตร์รัศมี สูตินรีแพทย์ ศูนย์สูตินรีเวช โรงพยาบาลวิมุต กล่าวในงานเปิดแคมเปญ ‘The Power of Woman’ โดยระบุว่า การดูแลสุขภาพที่ดีที่สุด คือ การดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจของผู้หญิงตั้งแต่วัยเด็ก วัยผู้ใหญ่ ตลอดไปจนวัยหมดประจำเดือน ซึ่งไม่เพียงช่วยให้มีสุขภาพที่ดีระยะยาว แต่ยังช่วยป้องกันการเกิดโรคได้ด้วย โดยการดูแลสุขภาพตาม 3 ช่วงวัย หลัก ๆ คือ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ประจำเดือนไม่ปกติ ผมร่วง สิวเยอะ อ้วน ! เสี่ยง ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ
- หญิงไทย 37% มี ภาวะ ‘โลหิตจาง’ เพราะประจำเดือนมามากผิดปกติ
- 'โภชนาการ' สำหรับสูงวัย ทานอาหารอย่างไรให้สุขภาพดี
1) วัยเด็กก่อนมีประจำเดือน
แนะนำให้กินอาหารครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เสริมสร้างพัฒนาการให้เหมาะสมแต่ละช่วงวัย นอกจากนี้ ยังแนะนำให้รับวัคซีนที่เด็กไทยควรได้รับตามคำแนะนำของแพทย์
2) วัยเจริญพันธุ์ หรือวัยที่มีประจำเดือนแล้ว
เมื่อถึงวัยอันสมควร แนะนำให้ตรวจภายใน ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและคัดกรองมะเร็งเต้านมอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญ ควรสังเกตความผิดปกติในร่างกาย หากพบความผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ทันที
"ปัจจุบัน ผู้หญิงทำงานเยอะขึ้น ไม่ค่อยมีเวลาดูแลตัวเอง บางคนประจำเดือนไม่มา 6 เดือน ดังนั้น ควรต้องหมั่นสำรวจตัวเอง คลำเต้านมทุกเดือน สังเกตเรื่องประจำเดือน นอกจากนี้ ผู้หญิงในช่วงใกล้มีประจำเดือน อาการทางกายจะพบได้หลายรูปแบบ เบื้องต้นแนะนำให้ พยายามปรับด้วยตัวเอง ความคิด อารมณ์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอจะช่วยลดอาการได้ แต่หากอาการหนัก แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ มีการใช้ยาเพื่อไปช่วยได้”
3) วัยหมดประจำเดือน
วัยนี้ต้องตรวจสุขภาพทุกปี รวมถึงตรวจภายในอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญ ควรสังเกตสัญญาณเตือนก่อนวัยทอง อาทิ ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หงุดหงิดง่าย ร้อนวูบวาบ หมดอารมณ์ทางเพศ เป็นต้น เพื่อให้รู้เท่าทันตัวเอง บอกเล่าให้คนใกล้ตัวเข้าใจ และรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ
“พอเริ่มเข้าสู่วัยทอง ใกล้หมดประจำเดือน จะมีสัญญาณเตือนด้านอารมร์ ร่างกาย ประจำเดือนมาบ้างไม่มาบ้าง คนไข้กลุ่มนี้จะเข้ามาพบแพทย์ค่อนข้างเยอะ เบื้องต้นต้นอาจจะต้องปรับเรื่องการออกกำลังกาย นั่งสมาธิ อาหาร ส่วนใหญ่อาการจะอยู่กับเราไม่เกิน 1-2 ปี ก็จะดีขึ้น แต่ก็มีบางรายที่อาการเยอะอาจจะต้องใช้ยาช่วย”
กายดี ใจก็ต้องดี
นอกจากโรคทางกายแล้ว สุขภาพใจก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญของผู้หญิง กรมสุขภาพจิต เผยคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน โดยในปัจจุบันผู้ป่วยซึมเศร้าในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้น ทางองค์การอนามัยโลกชี้ว่าเพศหญิงมีแนวโน้มเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย 2 เท่า เนื่องจากเพศหญิงเป็นเพศที่มีการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนมากกว่าเพศชาย ทั้งในช่วงที่มีประจำเดือน ช่วงตั้งครรภ์ ตลอดจนอาการซึมเศร้าหลังคลอด นอกจากนี้ผู้หญิงยังต้องเผชิญความคาดหวังจากสังคมและปัญหาในครอบครัวอีกด้วย
พญ.เพ็ญชาญา อติวรรณาพัฒน์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจิตเวช ศูนย์สุขภาพใจ โรงพยาบาลวิมุต เผยว่า สุขภาพใจก็ไม่ต่างกับสุขภาพกายที่ควรเริ่มต้นดูแลตั้งแต่วัยเด็กจนโต โดยมีเทคนิค 4 ล ให้ผู้หญิงทุกคนนำไปปฏิบัติง่ายดังนี้
ล แรก คือ เลิกคิดลบ คิดบวก พยายามมองด้านดี ๆ ของสิ่งต่าง ๆ ช่วยให้เรามีสติในการจัดการอุปสรรคและปัญหาได้
ล สอง คือ เลิกเปรียบเทียบกับคนรอบตัว เพราะทุกคนมีชีวิตแตกต่างกัน ความสุขและความทุกข์ของแต่ละคนยอมแตกต่างกันไปด้วย รวมถึงการมีสติในการใช้โซเชียลมีเดียที่อาจทำให้เรารู้สึกแย่กับตนเองโดยไม่รู้ตัว
ล สาม คือ เลือกเพื่อนและคนรอบข้างที่ดีที่พร้อมรับฟัง ปัญหาบางเรื่อง เพียงได้มีคนรับฟังและให้กำลังใจ ก็จะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นได้
ล สี่ คือ เลือกสร้างความสุขให้ตัวเอง ด้วยกิจกรรมที่ชอบเพื่อให้ผ่อนคลายจากความเหนื่อยล้าและความเครียดในแต่ละวัน
ดูแลสุขภาพใจ 3 ช่วงวัย
พญ.เพ็ญชาญา กล่าวต่อไปว่า โรคทางใจมีหลายโรค บางโรคผู้หญิงผู้ชายเป็นเท่าๆ กัน เช่น ไบโพลาร์ ขณะที่ซึมเศร้า ผู้หญิงจะพบมากกว่าผู้ชาย 2 เท่า สิ่งที่ตามมา คือ ภาวะอันตรายในการพยายามฆ่าตัวตายโดยผู้หญิงจะมีความพยายามเยอะกว่า แต่ผู้ชายมักจะฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าเพราะใช้วิธีที่รุนแรงกว่า
1) วัยเด็กก่อนมีประจำเดือน
สำหรับสุขภาพใจในเด็ก หลักๆ จะต้องดูแลเรื่องของพัฒนาการ ออทิสซึม และที่เจอบ่อยๆ 5-7% คือ สมาธิสั้น แปลว่า ในห้องเรียนหนึ่งที่มีเด็กราว 40-50 คน จะมีเด็กสมาธิสั้นราว 2-3 คน ซึ่งนั่นจะตามมาด้วย ภาวะมีปัญหาทางการเรียน บางคนไอคิวดี ดูเป็นเด็กฉลาด แต่พอเรียนสะกดคำ บวกเลขผิด ความจริงผู้หญิงกับผู้ชายไม่ต่างกันมาก แต่อาจจะมีอาการที่แตกต่างกันเล็กน้อย โดยสมาธิสั้น มี 3 อาการหลักๆ คือ
- เหม่อลอย
- ขาดสมาธิ
- หงุดหงิดรอไม่ได้ อยู่ไม่นิ่ง
เด็กผู้หญิงมักจะเหม่อลอยออกนอกหน้าต่าง ใจลอยมากกว่า ส่วนผู้ชายจะเป็นอาการอยู่ไม่นิ่ง ใจร้อนรอไม่ได้ พอเด็กผู้หญิงไม่ซน แต่เหม่อ ทำให้เราไม่ตระหนักตรงนี้ ดังนั้น หากเด็กมีอาการเหม่อ ทำงานเสร็จช้า ขี้ลืม ต้องซื้อดินสอใหม่ทุกสัปดาห์ก็ต้องสังเกต
“พ่อแม่อาจจะต้องประสานกับทางโรงเรียน เพราะส่วนใหญ่เกิดจากหลายปัจจัย เช่น อาจจะเลี้ยงดูแบบตามใจ แต่หากเด็กมีพฤติกรรมแบบนี้ในหลายสถานที่ เช่น ที่บ้าน ที่โรงเรียน สนามเด็กเล่น คลาสเรียนพิเศษ หากสังเกตว่า ลูกซนมากกว่าช่วงวัย หรือครูบอกว่าลูกซนที่สุดในห้อง อาจจะพามาพบแพทย์ก่อนได้”
2) วัยเจริญพันธุ์ หรือวัยที่มีประจำเดือนแล้ว
สำหรับหญิงวัยที่มีประจำเดือน อาจจะมีอาการผิดปกติที่จะเกิดขึ้นก่อนมีประจำเดือน หรือ PMS (Premenstrual Syndrome) โดยทั่วไปอาจจะมีอาการร้อนวูบวาบ ไม่ใช่แค่อารมณ์แปรปรวน แต่ร่างกายก็แปรปรวน อาจจะทานเยอะ ใจสั่น เมื่อใกล้ถึงวันนั้นของเดือน ต้องหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เตรียมตัวเองให้พร้อม ดูแลร่างกาย ทานอาหาร ออกกำลังกาย หากรู้ว่าชอบปวดท้องและอารมณ์หงุดหงิด อาจจะต้องพกยา พยายามยืดเหยียด มีกระเป๋าน้ำร้อน ฟังเพลง คุยกับเพื่อน ไม่ต้องรอให้ถึงวันนั้นของเดือนแต่สามารถดูแลได้ทุกวัน
สำหรับกลุ่มวัยทำงาน โดยเฉพาะผู้หญิงที่บทบาทเปลี่ยนมากขึ้น มีความเป็น Working woman หากเทียบกับสังคมสมัยก่อน ความเครียดเยอะมากขึ้น ซึ่ง รพ.วิมุต จะมีกลุ่มคนไข้เป็น Gen Z และ Gen Y ค่อนข้างเยอะ ในทุกเพศ เป็นสิ่งที่ดีที่คนรุ่นใหม่ตระหนัก และหลายคนจะชวนพ่อแม่มา
3) วัยหมดประจำเดือน สูงวัย
สังคมยุคใหม่เป็นสังคมผู้สูงอายุเยอะขึ้น ประชากรไทยในอีก 4-5 ปีจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ เรื่องของสุขภาพไม่ได้เกิดจากความเสื่อมของร่างกายเพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียว ยังมีด้านจิตใจ มิติสังคม ภาวะเกษียณอายุ บางคนมองว่าคุณค่าในตัวเองไม่เหมือนเดิม แต่ชีวิตมีหลายมิติ ไม่ใช่แค่งาน แต่มีมิติความสัมพันธ์ เอนเตอร์เทน และอีกเรื่องที่สำคัญ คือ ความสูญเสีย เมื่ออายุเยอะขึ้น จะมีเรื่องของการสูญเสียคนรู้จัก ใกล้ชิด
“มีวิจัยว่า ความสูญเสียที่ทุกข์ที่สุดในชีวิต คือ การสูญเสียคู่ชีวิต จะมีภาวะโดดเดี่ยว เกิดขึ้นเยอะมาก เพราะฉะนั้น ลูกหลานอย่าลืมใส่ใจผู้สูงอายุที่บ้าน โดยเฉพาะในบริบทของเมือง ที่พ่อแม่อยู่ต่างจังหวัด บางครั้งอาจจะมีความเหงา ไม่ใช่แค่โรคทางกาย แต่ยังมีโรคทางใจด้วย”
มะเร็ง สาเหตุเสียชีวิตต้นๆ ของผู้หญิง
หนึ่งในสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของผู้หญิงไทย คือ มะเร็ง จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ปี 2565 พบว่า หญิงไทย ป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมมากที่สุด กว่า 38,559 ราย รองลงมา คือ มะเร็งปากมดลูก 12,956 ราย ทั้งนี้ มะเร็งเต้านม นับเป็นภัยเงียบใกล้ตัว เนื่องจากในระยะแรกมักจะไม่แสดงอาการ ไม่เจ็บ ไม่ปวด เมื่อพบอาการผิดปกติมักอยู่ในระยะที่ก้อนมีขนาดใหญ่ขึ้นและลุกลามไปทั่วแล้ว ซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิต การคัดกรองและตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะแรก จะช่วยให้การรักษามีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากที่สุด
ขณะที่ มะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็นอันดับ 2 ที่พบในหญิงไทย โดยเฉพาะในวัน 30 -55 ปี ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิด Human Papillomavirus หรือ เอชพีวี (HPV) ในระยะแรก จะไม่แสดงอาการผิดปกติหรืออาจมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น มีภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดหรือตกขาวผิดปกติเรื้อรัง ดังนั้น การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ ทำให้สามารถตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่มและการฉีดวัควีนป้องกันเชื้อ HPV เป็นวิธีการป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกที่ดีที่สุด
ในทุกๆ ปี ผู้หญิงจำนวนมากที่ตรวจพบและเสียชีวิตจากโรคมะเร็งทางนรีเวช ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งเต้านม ที่พบบ่อยที่สุด รองลงมา คือ มะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งมดลูก ซึ่งเป็นโรคที่สามารถรักษาได้หากตรวจพบตั้งแต่ในระยะแรก
อย่าให้ชีวิตสะดุด เพราะเรื่องสุขภาพ
เมื่อเร็วๆ นี้ โรงพยาบาลวิมุต เปิดแคมเปญ ‘The Power of Woman’ อย่าให้การใช้ชีวิตสะดุดเพราะเรื่องสุขภาพ เร่งส่งต่อพลังความเป็นที่สุดของผู้หญิง นำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์และบริการเฮลธ์แคร์ในแบบองค์รวม ที่ครอบคลุมทุกมิติด้านสุขภาพของผู้หญิงทุกวัย เจาะตลาดกำลังซื้อผู้หญิง หนุนเทรนด์ตัวแม่ (SHEconomy) หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยผู้หญิง หนึ่งในเมกะเทรนด์มาแรง
ซึ่งจากสถิติผู้เข้ารับบริการใน รพ.วิมุต ในปี 2566 พบว่า มีสัดส่วนผู้ใช้บริการเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชายสูงถึงประมาณ 20% เช่นเดียวกับปี 2565 โดยส่วนใหญ่เน้นมาตรวจสุขภาพเป็นอันดับ 1 รองลงมา คือ ศูนย์สูตินรีเวช และ แผนกฉุกเฉิน ตามลำดับ
นายแพทย์สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิมุต กล่าวว่า โรงพยาบาลวิมุตยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้แก่ผู้หญิงทุกช่วงวัยผ่านการเปิดตัวแคมเปญ “The Power of Women” เพื่อร่วมขับเคลื่อนที่สุดแห่งพลังและศักยภาพในตัวผู้หญิง ให้ทุกคนได้ใช้ชีวิตที่มีคุณค่าและพัฒนาตนเองในทุกมิติบนรากฐานของสุขภาพกายและใจที่สดใสแข็งแรง ด้วยทีมสูตินรีแพทย์และแพทย์ผู้ชำนาญการในสาขาอื่น ๆ ที่มากด้วยประสบการณ์และความชำนาญในการรักษาทุกปัญหาสุขภาพของผู้หญิง
รพ.วิมุต ยังใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย ช่วยให้ทีมแพทย์มอบการวินิจฉัยที่แม่นยำ ในบรรยากาศส่วนตัวเป็นกันเองและบริการที่ใส่ใจในทุกขั้นตอน พร้อมดูแลสุขภาพผู้หญิงในแบบองค์รวม (Holistic Care) ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ อาทิ การฉีดวัคซีน HPV เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูก, การดูแลความพร้อมตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ตลอดจนการมีบุตร การให้คำปรึกษาสำหรับสตรีก่อนแต่งงานและก่อนตั้งครรภ์ บริการฝากครรภ์และคลอดบุตร ทั้งการคลอดธรรมชาติและผ่าตัดคลอด บริการตรวจหาโรคดาวน์ซินโดรม (Down’s syndrome) โดยการเจาะเลือดคัดกรอง (NIPT Test) บริการอัลตราซาวนด์ทั้งแบบ 2 มิติ และ 4 มิติ
"การตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคมะเร็ง การผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก (MIS) ตลอดจนการดูแลรักษาโรคที่ผู้หญิงสูงวัยต้องเผชิญ เช่น ปัญหาในเรื่องฮอร์โมน โรคกระดูกพรุน หรือมีปัญหาเรื่องทางเดินปัสสาวะ เพื่อให้หญิงทุกคนให้มีสุขภาพที่แข็งแรงและใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจได้ในทุก ๆ วัน”