เครียด เหนื่อย เศร้า มาทางนี้! ‘10 แอปพลิเคชั่น’ ดูแลสุขภาพใจ
ในทุก ๆ วันที่ต้องเผชิญกับปัญหามากมาย มีทั้งเรื่องเครียด วิตกกังวล หรือเรื่องที่ทำให้จิตตก ไม่รู้จะทำอย่างไร? ดี ขอแนะนำ 10 แอปพลิเคชั่น ที่จะมาช่วยตรวจสุขภาพใจด้วยตัวเองง่ายๆ
Keypoint:
- คนไทยมีภาวะความเครียด วิตกกังวล และเป็นโรคซึมเศร้าจำนวนมากขึ้น สถิติพบว่าคนไทยอายุมากกว่า 15 ปี มีปัญหาสุขภาพจิต ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าสูงกว่า 1.5 ล้านคน
- 10 แอปฯ ช่วยดูแลสุขภาพใจ อีกหนึ่งทางเลือกในการประเมินความเครียด สภาพวะทางด้านจิตใจว่ามีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาสุขภาพจิต หรือโรคซึมเศร้าหรือไม่?
- ‘ปัญหาสุขภาพจิต’ เป็นปัญหาที่สามารถเกิดได้กับทุกเพศ ทุกอาชีพ และทุกวัย เมื่อรู้สึกไม่ไหวบอก ‘ไม่ไหว’ ไม่ต้องไปทนฝืน และหาพื้นที่ระบาย หาคนที่ปรึกษา หากไม่อยากให้คนใกล้ตัวรู้ สามารถเช็กสภาพจิตใจด้วยตนเองได้
ปัญหาจากการทำงาน จากการเรียน หรือการใช้ชีวิตในปัจจุบัน ส่งผลให้ผู้คน โดยเฉพาะคนวัยทำงาน และเด็ก ซึ่ง 5 ปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นกับผู้คนมากที่สุด มีดังนี้
‘ความเครียดสะสม’ การใช้ชีวิตบนความตึงเครียด ความกดดัน และมีความคาดหวังสูง 5-6 วันต่อสัปดาห์ มักเป็นสาเหตุของอาการเครียดสะสม หนึ่งปัญหาสุขภาพจิตที่หลายคนเป็นแต่ไม่รู้ตัว
‘ภาวะหมดไฟ’ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะการทำงาน แต่การใช้ชีวิตที่รู้สึกเบื่อหน่าย ไม่อยากทำอะไร เหนื่อยกำลังสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกๆ วัน
‘โรคซึมเศร้า’ เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง โดยสถิติพบว่าคนไทยอายุมากกว่า 15 ปี มีปัญหาสุขภาพจิต ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าสูงกว่า 1.5 ล้านคน
‘ภาวะความพึงพอใจในตนเองต่ำ’ ปัญหาสุขภาพจิตที่ชาวออฟฟิศ และเด็กวัยเรียนหลายคนไม่รู้ตัวว่ากำลังเผชิญภาวะนี้อยู่ นั่นคือ ความรู้สึกเศร้าใจ ไม่ชอบสิ่งที่ตัวเองได้ตัดสินใจทำลงไป รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า
‘กลุ่มโรควิตกกังวลและแพนิค’ เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติที่คอยควบคุมส่วนต่างๆ ของร่างกายทำงานผิดปกติ รวมถึงมีความเครียดและความกดดันเข้ามาเป็นตัวกระตุ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เปิด ‘ศูนย์ดูแลเยียวยาจิตใจ’ (MCATT) @ สยามพารากอน เช็กสภาพจิตใจเหตุกราดยิง
คลิ๊ก 10 แอปพลิเคชั่น ตัวช่วยฮีลใจ
‘กรุงเทพธุรกิจ’ ได้คัดสรร 10 แอปพลิเคชั่น ตัวช่วยฮีลใจที่แสนสะดวกง่ายๆ เพียงแค่คลิ๊ก!! เริ่มด้วย
1.Mental Health Check Up
แอปพลิเคชั่น ที่ทางกรมสุขภาพจิต ร่วมกับสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา พัฒนาขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้น และคัดกรองความเสี่ยงต่อปัญหาจิตเวช สำหรับประชาชนและผู้มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็ว ประกอบด้วย 6 รายการ ได้แก่ ความเครียด ภาวะซึมเศร้า ภาวะสมองเสื่อม ความสุข พลังสุขภาพจิต และความฉลาดทางอารมณ์ หลังจากทำแบบประเมินเสร็จแล้ว ระบบจะสรุประดับความเครียดหรือระดับความเสี่ยง หากอยู่ในระดับสูง จะแนะนำให้ไปพบจิตแพทย์ หรือโทร.หาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้เลยทันที
2. Sabaijai
เป็นแอปพลิเคชั่นที่จะช่วยประเมินสภาวะทางด้านจิตใจของบุคคลว่ามีภาวะที่เสี่ยงต่อการทำร้ายตนเองหรือไม่ โดยจะมีแบบคัดกรองเพื่อให้ทำการประเมิน จำแนกตามความเหมาะสมของเพศและอายุ มีเมนูเพื่อแก้ไขข้อข้องใจเกี่ยวข้องกับปัญหาการฆ่าตัวตาย มีเมนูบทความที่ช่วยเติมกำลังใจเกี่ยวกับการใช้ชีวิต การเรียน การงาน การเงิน ความรัก ครอบครัว และสุขภาพ มีเมนูบทความที่เกี่ยวกับคำสอนศาสนาต่าง ๆ ผู้ใช้สามารถตั้งค่าเสียงดนตรีประกอบการอ่านเพื่อความผ่อนคลาย และสามารถบันทึกหมายเลขโทรศัพท์ผู้ใกล้ชิดและโทรหาสายด่วนสุขภาพจิตที่มีผู้ให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง
ตรวจเช็กสภาพจิตใจด้วยตนเองง่ายๆ
3.APPEER
แอปพลิเคชันที่ผู้ใช้งานสามารถปรึกษาสุขภาพจิต หรือขอคำปรึกษาและแลกเปลี่ยนประเด็นทางสุขภาพจิตกับผู้เชี่ยวชาญได้โดยตรง รวมถึงมีแบบประเมินตนเองเบื้องต้น ซึ่งระบบจะประเมินผลให้โดยอัตโนมัติโดยใช้เวลาไม่นาน นอกจากนี้ยังได้รวบรวมข่าวสาร กิจกรรมความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ของสมาคมสายใยครอบครัว บทความสุขภาพจิตออนไลน์ รวมทั้งสื่อสุขภาพจิตที่น่าสนใจ และยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างเสริมอาชีพ พัฒนารายได้ แก่ผู้ป่วยจิตเวช ทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสังคมได้ พร้อมที่จะคืนสู่สุขภาวะ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
4. DMIND
แอปพลิเคชั่น ที่ช่วยประเมินภาวะซึมเศร้าโดยตรง โดยจะประกอบด้วย 3 ส่วน ส่วนแรกคือตัวแอปพลิเคชั่นในหมอพร้อม หรือ Automate Avatar ที่เป็น Mobile Application ที่คนไข้เข้ามาใช้งาน เมื่อมีการพูดคุยกับคนไข้ผ่านแอปก็จะได้ข้อมูลออกมาเป็นไฟล์วิดิโอ ซึ่งจะถูกส่งต่อไปให้ AI วิเคราะห์ในส่วนที่สอง และส่วนสุดท้ายคือ Web Base ที่แพทย์สามารถเข้ามาตรวจสอบย้อนหลังได้ หากมีผู้ใช้งานคนไหนที่ดูแล้วมีแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงก็จะมีแพทย์หรือนักจิตวิทยาจากสายด่วนกรมสุขภาพจิตเข้าไปติดตามให้การดูแล
5. Chiiwii ปรึกษาหมอออนไลน์
ดูแลตัวเองและคนที่ห่วงใย ด้วยบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพกับคุณหมอผู้เชี่ยวชาญผ่านวิดีโอคอล โทร และแชทภายในแอป มีคุณหมอหลากหลายสาขาให้เลือกปรึกษาไม่ว่าจะมีปัญหาทางสุขภาพกายหรือทางสุขภาพใจ เพื่อการดูแลที่ตรงจุด อาทิ สุขภาพเพศหญิง/ โรคติดต่อ, การเตรียมตัวเป็นคุณแม่ ดูแลสุขภาพคุณแม่และลูกน้อย, พัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก รวมถึงสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น และสุขภาพจิตผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ มีทั้งในรูปแบบฟรีและเสียเงินค่าบริการ โดยชำระเงินผ่านบัตรเครดิตแบบออนไลน์หรือโอนเงิน พร้อมระบบแจ้งเตือนก่อนเวลานัด เพื่อไม่ให้พลาดการรับคำปรึกษา
6. ยาใจ Yajai
อีกหนึ่งแอปพลิเคชันสัญชาติไทย ที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแลกเปลี่ยนความคิด ประสบการณ์ โดยมีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่คอยให้คำตอบ คำแนะนำและให้ความรู้มากมายในตัวชุมชน เพื่อให้เรานั้น ผ่อนคลายไปด้วย พร้อมได้ความรู้ไปต่อยอดได้อีกด้วย
7. Ooca
การปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาและรักษาสุขภาพจิตจะไม่เป็นเรื่องยากอีกต่อไปด้วยแอปพลิเคชัน Ooca เราสามารถปรึกษาปัญหาคาใจจากที่บ้านได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น การปรึกษาจิตแพทย์ออนไลน์สามารถปรึกษาที่ไหนก็ได้ มั่นใจได้ว่าเป็นความลับ ไม่ต้องรู้สึกกลัวคนอื่นมองไม่ดี และที่สำคัญไม่เสียเวลารอ แทนที่จะต้องนั่งรอพบแพทย์ที่โรงพยาบาล คุณสามารถเลือกพบแพทย์เวลาไหนก็ได้ที่สะดวก
8.Headspace
แอปพลิเคชัน ที่จะช่วยให้จิตใจของเราสงบในวันที่วุ่นวาย ด้วยกิจกรรมมากมาย เช่น เพลงสำหรับการนั่งสมาธิ หรือ วิธีการนั่งสมาธิให้เห็นผล พร้อมกับดีไซน์ของแอปพลิเคชันที่น่ารักโดนใจสุดๆ รวมทั้ง มีวีดีโอที่ให้เลือกดูมากมาย ไม่ว่าจะเป็นหมวดฝึกร่างกายด้วยโยคะ หรือฝึกจิตใจด้วยการนั่งสมาธิ ได้ทั้งฝึกหายและใจไปด้วยพร้อมๆกัน
นอกจากนั้น ยังมีบทความน่าสนใจมากมาย เกี่ยวกับจิตใจและการใช้ชีวิตอีกด้วย เช่น จะชนะความกลัวได้ยังไง หรือ หยุดการอิจฉาคนอื่นได้อย่างไรบ้าง เป็นต้น
9.แอปพลิเคชัน Health ใน Apple
‘State Of Mind’ ฟีเจอร์ใหม่ของแอปพลิเคชัน Health จาก ‘Apple’ ตัวช่วยดูแลสุขภาพจิตและประมวลภาวะอารมณ์ของผู้ใช้งาน โดยมีจุดเด่น คือ การช่วยคัดกรอง ‘ภาวะซึมเศร้า’ และ ‘ภาวะวิตกกังวล’ ได้ 24 ชั่วโมง
ฟีเจอร์ State Of Mind ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึก และคำปรึกษาเบื้องต้นของปัญหา ‘สุขภาพจิต’ ได้
10. MOODA
อีกหนึ่งแอปที่น่าสนใจมาก ๆ และอยากนำเสนอก็คือ MOODA เป็นแอปที่จะช่วยเราติดตามอารมณ์ในแต่ละวันว่าวันนี้เรารู้สึกอย่างไรบ้างและมีอีโมจิอารมณ์น่ารัก ๆ ให้เราได้เลือกและสามารถบันทึกได้เป็นไดอารีประจำวันสั้น ๆ เก็บไว้ นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์ในการโพสต์ลงโซเชียลเพื่อแบ่งปันกับเพื่อน ๆ อีกด้วยว่าเดือน ๆ นั้นเรารู้สึกเป็นอย่างไร ที่สำคัญแอปยังสามารถสำรองข้อมูลได้ผ่านการซิงค์กับ iCloud ทำให้ไม่ต้องกลัวเรื่องข้อมูลหายอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ‘ปัญหาสุขภาพจิต’ เป็นปัญหาที่สามารถเกิดได้กับทุกเพศ ทุกอาชีพ และทุกวัย เมื่อรู้สึกไม่ไหวบอก ‘ไม่ไหว’ ไม่ต้องไปทนฝืน เพราะนั่นอาจเป็นการปกปิดปัญหาและทำร้ายตัวเองมากไปกว่าเดิม และ ‘ควรหาทางระบายความรู้สึก ความคิดของตนเอง’ ออกมาก
การรับรู้ตัวเอง เข้าใจภาวะที่เกิดขึ้นในเบื้องต้น สามารถทำให้รู้เท่าทันและเตรียมพร้อมรับมือกับสุขภาพจิตที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างถูกวิธี อย่าลืมดูแลสุขภาพจิตให้แข็งแกร่ง ร่วมกับสุขภาพกายที่แข็งแรง ให้โอกาสตัวเองได้โฟกัสชีวิตในมุมมองที่มีความสุข
อ้างอิง: โรงพยาบาลวิมุต ,กรมสุขภาพจิต