ติดหวัดอาจป่วยนานเหมือน‘ลองโควิด’
การศึกษาชิ้นหนึ่งของสหราชอาณาจักรชี้ว่า อาการหวัด อาจเจ็บป่วยยืดเยื้อกลายเป็นลองโคลด์ (long colds) ได้เช่นเดียวกับลองโควิด
เว็บไซต์ซีเอ็นบีซีรายงาน ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยควีนแมรีแห่งลอนดอน สำรวจจากประชาชน 10,171 คน เผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์แลนเซ็ต เมื่อวันศุกร์ (6 ต.ค.) ชี้ว่า การติดเชื้อที่ไม่ใช่โควิดอาจมีอาการเจ็บป่วยต่างๆ นานาได้นานกว่าสี่สัปดาห์หลังการติดเชื้อครั้งแรก ซึ่งอาจมีผลต่อสุขภาพในระยะยาวจากการติดเชื้อทางเดินหายใจอื่นๆ เช่น อาการหวัด ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุ
ถึงขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า อาการของลองโคลด์จะยาวนานเท่าลองโควิดหรือไม่
“กลุ่มอาการหลังติดเชื้อเฉียบพลันไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ แท้จริงแล้วหลายคนอ่อนเพลียเรื้อรังหลังมีอาการคล้ายติดเชื้อ แต่กลุ่มอาการเหล่านี้มักไม่ได้รับการวินิจฉัยเนื่องจากอาการมีมากมายและไม่ได้ตรวจ” บทนำงานวิจัยระบุ
โดยทั่วไป “อาการลองโควิด” กับ “อาการลองโคลด์” คล้ายคลึงกัน แต่คนที่ป่วยลองโคลด์มักพบอาการหลังโควิด เช่น ไม่รับรสและกลิ่น เวียนศีรษะ ได้น้อยกว่า
“ลองโควิด” มักหมายถึงอาการอ่อนๆ แต่เรื้อรังที่อาจเกิดขึ้นหลังติดเชื้อโควิด เช่น อ่อนเพลีย หายใจไม่ออก ความจำผิดปกติ
คำว่า “ลองโควิด” เกิดขึ้นในฤดูใบไม้ผลิปี 2563 เมื่อผู้ป่วยโควิด-19 ไม่หายดีแม้ผ่านไปแล้วหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนนับตั้งแต่ติดเชื้อครั้งแรก
องค์การอนามัยโลก (WHO) นิยามลองโควิดว่า “ความต่อเนื่องหรือการเกิดอาการใหม่สามเดือนหลังติดเชื้อครั้งแรก อาการเหล่านี้ยาวนานอย่างน้อยสองเดือนโดยไม่มีคำอธิบายอื่นๆ”