BMHH ดูแล 'สุขภาพใจ' คนทำงาน สร้างความสุขด้วย Safety mental

BMHH ดูแล 'สุขภาพใจ' คนทำงาน สร้างความสุขด้วย Safety mental

ส่องแนวคิดการบริหาร ดูแลสุขภาพใจคนทำงาน โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต BMHH ในเครือ รพ.เวชธานี สร้างพื้นที่ปลอดภัยทางจิตใจ Safety mental ลดช่องว่างในที่ทำงาน

Key Point : 

  • การดูแลสุขภาพใจของคนทำงาน เป็นสิ่งที่หลายองค์กรให้ความสำคัญ เพราะการที่คนทำงานมีสุขภาพใจที่ดี จะสะท้อนถึงการทำงานที่ดี
  • BMHH ในฐานะโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต ไม่เพียงมุ่งมั่นให้คนไข้ได้รับบริการดีเท่านั้น แต่คนที่ทำงานภายในเองก็ต้องมีสุขภาพใจที่ดีเช่นกัน
  • ทั้งนี้ การเป็นสถานที่ทำงานที่ปลอดภัย Safety Workplace อย่างเดียวไม่เพียงพอพอ ต้องปลอดภัยทางจิตใจ Safety mental ด้วย

 

โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต Bangkok Mental Health Hospital หรือ BMHH เป็นโรงพยาบาลสุขภาพจิตเอกชน เครือข่ายโรงพยาบาลเวชธานี ขนาด 30 เตียง ปัจจุบัน มีแพทย์และบุคลากรประจำราว 30 คน ระยะเวลาราว 2 เดือน ที่เปิดให้บริการ ผู้ป่วยที่เข้ามาส่วนใหญ่มาด้วยโรคซึมเศร้า และ วิตกกังวล ซึ่งพบได้บ่อยในยุคปัจจุบัน  การดูแลสุขภาพจิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น ปัจจัยสำคัญ ไม่ใช่แค่แพทย์เพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยทุกฝ่ายทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ การดูแลสุขภาพใจของคนในองค์กร ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม

 

BMHH ดูแล \'สุขภาพใจ\' คนทำงาน สร้างความสุขด้วย Safety mental

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

Safety Mental

พญ.ปวีณา ศรีมโนทิพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต Bangkok Mental Health Hospital หรือ BMHH ให้สัมภาษณ์กับ 'กรุงเทพธุรกิจ' ว่า BMHH เน้นเรื่องของ Safety Mental สุขภาพจิตคนทำงานต้องดี เป็นอย่างแรก คนทำงานต้องมีความสุข แต่ไม่ใช่ความสุขบนความไม่รับผิดชอบ แต่เป็นความสุขในความรับผิดชอบของเขา เวลาที่เขารักงาน ทำงานของตนเองเรียบร้อย เขามีความสุข ทุกอย่างก็จะไปได้ค่อนข้างดี

 

“สิ่งที่คุยกันตั้งแต่วันแรก คือ การทำงานที่ไม่ได้เป็นลำดับชั้น ทุกคนต้องคุยกันได้ ปรึกษากันได้ทั้งหมดไม่ต้องรอปรึกษาหัวหน้า หากมีเหตุการณ์เฉพาะหน้า ให้แก้ไขปัญหาให้กับผู้รับบริการทันที เน้นคนไข้มาก่อน หลังจากนั้นหากต้องมาแก้ระบบหลังบ้านค่อยมาคุยกันทีหลัง จะไม่ให้เกิดปัญหากับผู้รับบริการ เป็นข้อตกลงร่วมกันว่าทุกคนต้องดูแลคนไข้อันดับแรก ถัดมา คือ ไม่แบ่งหน้าที่ ทุกคนต้องช่วยกัน ยกเว้นงานที่เป็นข้อบังคับทางวิชาชีพ งานบางอย่าง เช่น รับโทรศัพท์คนที่โทรเข้ามาปรึกษา หลายครั้งคนที่รับสายก็เป็นแพทย์เอง หรือไม่ก็เภสัชกร พยาบาล ทุกคนสามารถตอบคำถามลูกค้าได้ทั้งหมด”

 

สะท้อนให้เห็นถึง Value ในองค์กร ที่เน้นการทำงานเป็นทีม ให้เกียรติซึ่งกันและกัน สำคัญที่สุด คือ ความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) ทั้งกับคนที่ทำงานด้วยกันและการให้เกียรติ เข้าอกเข้าใจลูกค้า จำเป็นมากสำหรับโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต

 

BMHH ดูแล \'สุขภาพใจ\' คนทำงาน สร้างความสุขด้วย Safety mental

 

ดูแลสุขภาพใจคนในองค์กร

เมื่อถามถึงการดูแลสุขภาพใจของคนในองค์กร “พญ.ปวีณา” อธิบายว่า ทุกคนคุยกันได้ทุกเรื่อง เน้นว่าทุกคนต้องรับผิดชอบงานตัวเองให้เรียบร้อย เน้นผลรับของงาน หากผลลัพธ์ดีงานเรียบร้อยก็ไม่มีปัญหา คนทำงานทุกคนต้องมีความสุข หากมีปัญหาอะไรต้องเปิดใจคุยกัน ซึ่งส่วนใหญ่น้องๆ ค่อนข้างที่จะเปิดใจ เปิดรับ

 

“เรากำลังดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต เพราะฉะนั้น สุขภาพจิตของคนทำงานสำคัญมาก หากคนทำงานอยู่ในอารมณ์ที่ไม่เหมาะสม เขาไม่มีทางจะไปดูแลคนไข้ได้ดี ดังนั้น ความสุขของคนทำงานที่นี่สำคัญมาก ที่ผ่านมาจะเคยได้ยินคำว่า Safety Workplace สถานที่ทำงานที่ปลอดภัย แต่เราเป็น Safety mental ด้วย ไม่ใช่แค่รู้สึกปลอดภัยในสถานที่ทำงาน แต่ต้องปลอดภัยทางจิตใจด้วย”

 

นอกจากนี้ สิ่งที่จะไม่ทำเลยก็คือการตำหนิ (No blame culture) ถือว่าทุกเรื่องที่เกิดขึ้น จะนำมาพัฒนาไปข้างหน้า จะไม่ถามว่าใครทำ ไม่ชี้ตัวบุคคล ไม่ต่อว่ากันเพราะไม่มีประโยชน์ แต่มาคิดช่วยกันว่าทำอย่างไรไม่ให้ครั้งหน้าเกิดขึ้นอีก ซึ่งส่งผลให้คนทำงานกล้าที่จะบอก มองเห็นปัญหาได้ชัดเจนมากขึ้น ในทางกลับกันหากปิดช่อง กลายเป็นว่าเวลามีปัญหาจะซ่อน ไม่บอก พยายามแก้ด้วยตัวเอง ถือว่าอันตรายในเรื่องภายในโรงพยาบาล

 

BMHH ดูแล \'สุขภาพใจ\' คนทำงาน สร้างความสุขด้วย Safety mental

 

ใช้เทคโนโลยี บาลานซ์ชีวิต

ปัจจุบัน เรียกได้ว่าเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการทำงานมากขึ้น และเป็นตัวช่วยให้กับคนในองค์กรสามารถบาลานซ์การทำงานและการใช้ชีวิต พญ.ปวีณา กล่าวต่อไปว่า เรื่อง Work life balance สมัยนี้โชคดีกว่าสมัยก่อน เพราะเทคโนโลยีต่างๆ ช่วยได้เยอะมาก ช่วยให้การทำงานเร็วขึ้น ไม่ว่าจะติดต่อ ประสานงาน สื่อสาร ประชุมออนไลน์ อย่าง BMHH เอง ไม่ได้บังคับว่าเจ้าหน้าที่จะต้องมาประชุมที่โรงพยาบาล หากมีประชุมคนที่ไม่ได้ขึ้นเวรก็ไม่ต้องมาเข้า สามารถออนไลน์ได้ หากไม่สะดวกสามารถฝากเรื่องไว้กับเพื่อนได้ หรือเป็นวันหยุดก็ไม่บังคับเพราะวันหยุดก็ต้องให้เขาหยุด แต่หากอยากเข้าร่วมประชุมก็ยินดี

 

“คิดว่าพอมีเทคโนโลยี ช่วยได้เยอะทั้งกับคนทำงาน และในอนาคตกับคนไข้เองก็จะเป็นประโยชน์มาก เพราะโรคทางสุขภาพจิต บางครั้งไม่จำเป็นต้องเข้ามาพบแพทย์ สามารถช่วยกันรักษาแบบออนไลน์ได้ ทั้งคุยกับแพทย์ นักจิตวิทยา ส่งยาถึงบ้าน”

 

ผลักดันศักยภาพบุคลากร

แนวคิดของการบริหารคนที่ BMHH เรียกว่าถูกถ่ายทอดและส่งต่อมาจาก รพ.เวชธานี ซึ่งมีแนวคิดการพัฒนาและโปรโมตบุคลากรให้เติบโตในศักยภาพที่มี 'พญ.ปวีณา' เล่าย้อนไปว่า ส่วนตัวทำงานที่ รพ.เวชธานี มากว่า 18 ปี ตั้งแต่เรียนจบ เริ่มต้นจากการเป็นแพทย์ ตรวจคนไข้ และเริ่มเข้ามาช่วยทำงานด้านอื่น ขยับตำแหน่งมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ ผู้ช่วยผู้อำนวยการแพทย์ ผู้อำนวยการแพทย์ และปัจจุบัน ควบตำแหน่ง ผู้ช่วย CEO รพ.เวชธานี และ CEO ของ BMHH ในปัจจุบัน

 

“การบริหารคนของ รพ.เวชธานี บุคลากรทุกกลุ่มจะได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในด้านที่แต่ละคนมีศักยภาพ ด้านวิชาชีพจะมีการทบทวนความรู้ ปรับระดับการทำงานให้สูงขึ้น ได้รับค่าตอบแทนสูงขึ้น หรือคนที่มีศักยภาพก็จะส่งเสริมให้แต่ละคนทำงานในสิ่งที่ถนัดและเติบโต ดังนั้น บุคลากรใน รพ.เวชธานี จะค่อนข้างอยู่นาน หลายคนอยู่ตั้งแต่ รพ. เปิด ใกล้จะครบ 30 ปี สิ่งที่บุคลากรในเวชธานีจะได้รับเหมือนๆ กัน คือ การได้รับโอกาส เน้นในเรื่องของผลลัพธ์ของการทำงาน การรับผิดชอบในการทำงาน และส่งเสริมให้คนก้าวหน้า และ BMHH ก็จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน” พญ.ปวีณา กล่าวทิ้งท้าย

 

BMHH ดูแล \'สุขภาพใจ\' คนทำงาน สร้างความสุขด้วย Safety mental