ระบาดหนัก!! ฤดูกาลไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ 2023-2024 ที่ไทยต้องเฝ้าระวัง

ระบาดหนัก!! ฤดูกาลไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ 2023-2024 ที่ไทยต้องเฝ้าระวัง

'ไข้หวัดใหญ่' เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด และใครๆ ก็สามารถติดเชื้อได้ ยิ่งในปี 2566 พบผู้ป่วยมากกว่าปี 2565 ถึง 3 เท่า ขณะเดียวกันสายพันธุ์ในการระบาดมีการเปลี่ยนแปลงทุกปี

Keypoint:

  • ไข้หวัดใหญ่ ในแต่ละปีอาจจะมีสายพันธุ์ใหม่ๆ เพิ่มเติมขึ้นมา ซึ่งในปี 2566 มี 2 กลุ่ม 4 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ A / H1N1, H3N2 และสายพันธุ์ B/ Yamagata, Victoria
  • WHO  ประกาศเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่จะระบาดปี 2024  ไทยซึ่งอยู่ซีกโลกเหนือแต่ระบาดทั้งปีแบบซีกโลกใต้  โดยปีนี้ชื่อสายพันธุ์ มีทั้ง Thailand ทั้ง Phuket
  • การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันและลดความรุนแรงของไข้หวัดใหญ่ได้

โดยในปี 2023 และปี 2024 มีสายพันธุ์ใหม่เพิ่มเติม โดยล่าสุด ‘นพ.วิชล ลิ้มพัฒนชาติ’ ได้โพสต์ผ่านทวิสเตอร์ ‘Vichol Limpattanachart MD’ ว่า WHO  ประกาศเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่จะระบาดปี 2024 สำหรับประเทศที่มีการระบาดแบบ Southern Hemisphere เช่น  ไทย ซึ่งอยู่ซีกโลกเหนือแต่ระบาดทั้งปีแบบซีกโลกใต้  โดยปีนี้ชื่อสายพันธุ์ มีทั้ง Thailand ทั้ง Phuket

'โรคไข้หวัดใหญ่' โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา Influenza Virus อาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน ซึ่งไม่ควรมองข้ามว่าไม่อันตราย เนื่องจากสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกัน ควรรับการฉีดวัคซีนป้องกันเป็นประจำทุกปี

โดยในประเทศไทย สามารถพบการระบาดได้ทั้งปี แต่จะพบมากขึ้นในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ซึ่งในปี 2566 นี้ พบผู้ป่วยมากกว่าปี 2565 ถึง 3 เท่า โดยล่าสุด มีจำนวนผู้ป่วยมากถึง 138,766 ราย อัตราป่วยเพิ่มสูงถึงกว่า 200 รายต่อประชาการแสนราย

ระบาดหนัก!! ฤดูกาลไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ 2023-2024 ที่ไทยต้องเฝ้าระวัง ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

หายเจ็บคอ ไม่ง้อยาอักเสบ กินอะไร? ช่วยบรรเทา

ฟรี!! ชวนคนไทย 7 กลุ่มเสี่ยงทุกสิทธิการรักษา 'ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่'

เฝ้าระวัง หมอเผยอาการผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A รักษานานกว่า 16 วัน

 

สายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวัง

พญ. อรวลี ดิษยะกมล แพทย์ประจำสาขาอายุรกรรมโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลไทยนครินทร์ อธิบายว่า ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) เป็นโรคที่แพร่ติดต่อจากคนสู่คน ระบาดเป็นประจำทุกปี เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ไม่ว่าจะเป็น จมูก คอ หลอดลม และปอด โดยเชื้อจะลามเข้าไปที่ปอดจนทำให้เกิดอาการปอดบวมได้ พบการระบาดมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว

สายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดใหญ่ : มี 2 กลุ่มหลัก 4 สายพันธุ์ คือ

สายพันธุ์ A แบ่งย่อย 2 สายพันธุ์ คือ H1N1, H3N2

สายพันธุ์ B แบ่งย่อย 2 สายพันธุ์ คือ Yamagata, Victoria

ซึ่งสายพันธุ์ที่บรรจุในวัคซีนจะเปลี่ยนแปลงไปทุกปี

ระบาดหนัก!! ฤดูกาลไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ 2023-2024 ที่ไทยต้องเฝ้าระวัง

เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มักมีการกลายสายพันธุ์เล็กน้อยตลอดเวลาทำให้ต้องฉีดวัคซีนใหม่ทุกปีเพื่อผลการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ หากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการกลายสายพันธุ์มากจนเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ ก็จะทำให้เกิดการระบาดใหญ่ได้

 

ปัจจัยที่ทำให้ไข้หวัดใหญ่รุนแรงในปี 2566

สำหรับการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A/H1N1 ซึ่งมีการระบาดในโรงเรียน ค่ายทหาร และในกลุ่มเสี่ยง อย่าง  กลุ่มผู้สูงอายุ  กลุ่มที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ที่ต้องเฝ้าระวังเพราะเมื่อติดไข้หวัดใหญ่มักจะมีอาการรุนแรง  

การติดเชื้อหวัดต่างๆ แล้วอาการรุนแรง นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย  คือ

  • ปัจจัยแรก คือตัวผู้รับเชื้อเอง คนที่ร่างกายแข็งแรง โอกาสจะมีอาการรุนแรงก็จะน้อย  คนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก กลุ่มที่มีโรคประจำตัวหลายโรค โอกาสที่จะมีอาการมากก็เยอะ
  • ปัจจัยที่ 2 คือเชื้อที่ระบาด ซึ่งตอนนี้ที่ระบาดในไทยก็ไม่ได้เปลี่ยนไปเยอะ คือเชื้อ H1N1 ซึ่งเป็นเชื้อที่เจอมาตั้งแต่ปี 2009 ปีนี้ก็เป็นปีที่ 14 แล้ว ซึ่งทราบกันดีว่า เป็นเชื้อที่ไม่ได้ก่อความเสียหายรุนแรงอะไร
  • ปัจจัยที่ 3 คือ หากฉีดวัคซีนป้องกันก็จะทำให้ติดแล้วมีอาการน้อย หรือไม่มีอาการเลย

การติดต่อและแพร่เชื้อไข้หวัดใหญ่

การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่จะคล้ายกับไข้หวัดทั่วไป คือ ติดต่อโดยการหายใจเอาละอองน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วยที่ไอหรือจาม และการสัมผัสมือหรือการใช้สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ร่วมกับผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ โทรศัพท์ ของเล่น รีโมตโทรทัศน์ เมื่อใช้มือมาขยี้ตา แคะจมูก เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ร่างกายของเราได้โดยง่าย

  • เชื้อไข้หวัดใหญ่ติดต่อได้ง่ายจากเชื้อที่อยู่ในละอองฝอยของเสมหะ น้ำมูก หรือน้ำลายในระยะ 1-2 เมตร
  • รับเชื้อโดยตรงจากการจามหรือไอของผู้ป่วย
  • รับเชื้อทางอ้อมผ่าน ‘มือ’ ที่ไปสัมผัสสิ่งของสาธารณะ เช่น ลูกบิดประตู โทรศัพท์ ปุ่มกคในสิฟต์

ระบาดหนัก!! ฤดูกาลไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ 2023-2024 ที่ไทยต้องเฝ้าระวัง

ระยะเวลาที่เชื้อสามารถติดต่อไปยังผู้อื่น

  • ผู้ป่วยอาจเริ่มแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนมีอาการ
  • ระยะแพร่เชื้อประมาณ 7 วัน แต่อาจนานกว่านั้น ถ้าผู้ป่วยยังมีอาการไอมากอยู่
  • ผู้ป่วยควรหยุดงาน หยุดเรียน เป็นเวลาอย่างน้อย 7-10 วัน หรือจนกว่าจะหายไข้ และไอเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค

ไข้หวัดใหญ่ มีอาการแบบไหน? 

อาการของไข้หวัดใหญ่: จะเริ่มมีอาการหลังจากได้รับเชื้อไวรัส 1-3 วัน

อาการที่ไม่มีโรคแทรกซ้อน

  • มีไข้สูงถึง 39-40 องศาเซลเซียส มีอาการเจ็บคอ มีน้ำมูกใส ไอ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
  • ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดบริเวณรอบดวงตา ปวดแขนปวดขา
  • อาเจียนหรือท้องเดิน
  • ปกติจะมีไข้ประมาณ 2-4 วัน แล้วไข้จึงค่อยๆ ลดลง แต่ยังมีอาการคัดจมูกและแสบคออยู่ ประมาณ 1 สัปดาห์จึงหาย

อาการรุนแรงและโรคแทรกซ้อน

  • เกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอก หรือบางครั้งมีอาการหัวใจวาย
  • อาจพบอาการเยื่อหุ้มสมองหรือสมองอักเสบ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยปวดศีรษะอย่างมาก และมีอาการซึมลง
  • บางรายอาจมีอาการระบบทางเดินหายใจผิดปกติ เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดบวม โดยผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อย หอบ หายใจเร็ว แน่นหน้าอกและอาจทำให้เสียชีวิตได้

ระบาดหนัก!! ฤดูกาลไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ 2023-2024 ที่ไทยต้องเฝ้าระวัง

วิธีการรักษาไข้หวัดใหญ่ 

  • หากยังมีอาการไม่มาก เช่น ตัวไม่ร้อนจัด และยังพอรับประทานอาหารได้ ให้รับประทานยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ พาราเซตามอล ยาละลายเสมหะ เป็นต้น และเช็ดตัวลดไข้เป็นระยะด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำอุณภูมิปกติ
  • ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัว แพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัส (ชนิดกิน) ซึ่งควรได้รับยาภายใน 48 ชม. หลังเริ่มป่วยซึ่งจะได้ผลการรักษาที่ดีกว่าได้ยาหลัง 48 ชม. ไปแล้ว
  • ห้ามกินยาแอสโพริน เพราะจะทำให้เกิดตับอักเสบรุนแรง (Reye Syndrome) ซึ่งเป็นอันตรายได้

ป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่

  1. ฉีดวัคซีนป้องกันไช้หวัดใหญ่ทุกปี เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไข้หวัดใหญ่
  2. หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีอาการของไข้หวัด หลีกเสี่ยงไปในที่สาธารณะในช่วงที่มีการระบาดของโรค
  3. ผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วยต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา (โดยเฉพาะเมื่อมีอาการไอ/จาม)
  4. ล้างมือหรือทำความสะอาดมือด้วยแอล์กอฮอล์เจลให้เป็นนิสัย โดยเฉพาะหลังการไอหรือจาม หรือการสัมผัสสิ่งของเครื่องใช้ในที่สาธารณะ และหลังถอดหน้ากากอนามัยทุกครั้ง
  5. ทิ้งทิชชูที่เช็ดน้ำมูก น้ำลาย หรือหน้ากากที่ใช้แล้วลงถังขยะที่มีฝาปิดมิคชิด
  6. หลีกเสี่ยงการใช้มือขยี้ตาหรือใช้นิ้วแคะจมูก เพราะเป็นช่องทางที่ทำให้เชื้อโรคเข้าร่างกายได้ง่าย
  7. ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น ได้แก่ แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนส้อม ผ้าเช็ดมือ หรือผ้าเช็ดหน้า
  8. ใช้ช้อนกลางเมื่อต้องรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น

ใครบ้าง? เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

  • หญิงมีครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
  • เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี
  • ผู้มีโรคประจำตัว ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หัวใจ หอบ หืด ไตวาย หลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำนัด และเบาหวาน
  • ผู้สูงวัยที่อายุ 65 ปีขึ้นไป
  • ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
  • โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ที่มีอาการ
  • โรคอ้วน หรือผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 90 กิโลกรัม หรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
  • นักท่องเที่ยว ที่จะเดินทางไปต่างถิ่นที่อาจมีการระบาด

ใครไม่ควรฉีดวัคซีนหรือควรเลื่อนการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

  1. เด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน
  2. ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้วมีอาการแพ้อย่างรุนแรง
  3. หากมีไข้ เจ็บป่วยเฉียบพลัน หรือโรคประจำตัวมีอาการกำเริบควบคุมไม่ได้ ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อน กรณีเป็นหวัดเล็กน้อย ไม่มีไข้ สามารถรับการฉีดวัคซีนได้

ระบาดหนัก!! ฤดูกาลไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ 2023-2024 ที่ไทยต้องเฝ้าระวัง

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการฉีดวัคซีน

  • อาการเฉพาะที่บริเวณที่ฉีด เช่น ปวด บวม แดง เกิดภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังฉีด แต่อาการจะหายไปเองภายใน 2-7 วัน
  • หลังฉีดบางรายจะมีไข้ต่ำๆ รู้สึกไม่สบายตัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ อาจเริ่มมีอาการภายใน 6-12 ชั่วโมง และอาจเป็นนาน 1-2 วัน โดยไม่ต้องรับการรักษา

ข้อควรปฏิบัติภายหลังการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

  1. ไม่ควร นวด คลึง บริเวณที่ฉีด
  2. หากมีอาการไข้ รู้สึกไม่สบายตัว ปวดกล้ามเนื้อและข้อ ปวดศีรษะ สามารถรับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการได้
  3. หากมีอาการผิดปกติรุนแรงหรือสงสัยในการปฏิบัติตัวเพิ่มเติม แนะนำให้มาพบแพทย์

ทั้งนี้เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ทั้งสายพันธุ์ A และ B จะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาจึงเป็นเหตุให้มีการแพร่ระบาดทุกปี การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ ลดความรุนแรงในการเกิดโรค ลดโอกาสการนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล

อ้างอิง: กรมควบคุมโรค, โรงพยาบาลไทยนครินทร์ ,  โรงพยาบาลนครธน ,โรงพยาบาลกรุงเทพ