ก้าวต่อไป'อุตสาหกรรมชีวภาพ'มุ่งศักยภาพ เทรนนิ่งนักวิจัย
การผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ของภูมิภาค 'Medical Hub Thailand' และสร้างความแข็งแกร่งด้านนวัตกรรมภายในประเทศ รัฐบาลได้มีการลงทุนกว่า 7 หมื่นล้านบาทต่อปี เพื่อพัฒนาด้าน 'การแพทย์จีโนมิกส์ (Genomics)' หรือ 'การแพทย์แม่นยำ'
Keypoint:
- อุตสาหกรรมชีวภาพมีทิศทางเพิ่มขึ้นตามเมกะเทรนด์ของโลก อีกทั้ง ไทยยังได้เปรียบคู่แข่ง เนื่องจากมีวัตถุดิบทางการเกษตรที่นำไปต่อยอดในอุตสาหกรรมได้ในปริมาณมาก
- ไทยมีข้อจำกัด ในเรื่องความรู้ความสามารถของบุคลากร และแผนการวิจัยและพัฒนา (Research and Development : R&D)
- ต้องเร่งผลักดันและสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ลดช่องว่าง พัฒนาคน เทรนนิ่งผู้คนมีความรู้ ขยายอุตสาหกรรมชีวภาพ
'การแพทย์จีโนมิกส์ (Genomics)' หรือ 'การแพทย์แม่นยำ' เป็นแนวทางการดูแลและรักษาผู้ป่วย โดยประยุกต์ใช้ข้อมูลด้านพันธุกรรม สภาพแวดล้อม และวิถีชีวิต ที่จำเพาะต่อผู้ป่วยแต่ละคนมาประกอบในการวินิจฉัย โดยเลือกการรักษาที่ตรงจุดและเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย
ปัจจุบันหลายประเทศได้นำการแพทย์จีโนมิกส์ มาประยุกต์ใช้ เช่น รักษาโรคมะเร็ง โรคหายาก โรคติดเชื้อ เภสัชพันธุศาสตร์ในการป้องกันการแพ้ยาเพื่อเลือกใช้ยาที่เหมาะสม ให้เติบโตมากยิ่งขึ้น โดยเน้นการพัฒนาด้านความสามารถในการผลิต การพัฒนาและวิจัย รวมทั้ง จัดตั้งศูนย์จีโนมิกส์ขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
โรงงานผลิตเซลล์บำบัด เพิ่มโอกาสผู้ป่วย 'มะเร็ง-พันธุกรรม'
ครม.ปลดล็อกจดทะเบียนโรงงานชีวภาพ หนุนธุรกิจ 'บีซีจี'
ยกระดับอุตสาหกรรมชีวภาพ
บริษัท Cytiva และ Biotech Genepeutic Bio สตาร์ทอัพของประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดตั้ง 'โรงงานผลิตเซลล์บำบัด' ที่ได้มาตรฐาน GMP ขึ้นเป็นแห่งแรก ถือเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาการรักษามะเร็งแบบ CAR-T ภายในประเทศ
'ภัทรา เหล่าพูลกิจ' Bioprocess Zone Leader (ASEAN) กล่าวว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าเรื่องของเซลล์บำบัด และการผลิตในด้านการบำบัดโรคมากขึ้น ซึ่งในช่วงเดือนที่ผ่านมา 4 สถาบันชั้นนำของไทย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (ศลช.หรือ TCELS) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้ยกระดับอุตสาหกรรมชีวภาพ เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมหลักของประเทศ และผลักดันประเทศไทยสู่ ศูนย์กลางทางการแพทย์ และสุขภาพมูลค่าสูง
Cytiva จัดทำรายงาน Global Biopharma Resilience Index (GBRI) สำรวจ 22 ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย พบว่า การขับเคลื่อนเรื่องของอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ และการทำเรื่องเซลล์บำบัด (Stem Cell Therapy) ของไทยมีแนวโน้มที่จะเติบโตมากขึ้น
แต่มีข้อจำกัดใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ ความรู้ความสามารถของบุคลากร และแผนการวิจัยและพัฒนา (Research and Development : R&D) รวมถึงการจ้างงานก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้การยกระดับของอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ของไทย ไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้อย่างเต็มที่
52% ต้องการจ้างนักวิจัยและพัฒนา
ผลการสำรวจ GBRI 2566 ของประเทศไทย พบว่าในกลุ่มผู้มีความสามารถลดลงจาก คะแนน 5.90 ในปี 2564 ลดลงเป็นคะแนน 4.60 ขณะที่คะแนนเฉลี่ยทั่วโลกใน 22 ประเทศ สำหรับเสาหลักด้านความสามารถอยู่ที่ 5.60 ส่วนผู้บริหาร 48 % มีความท้าทายในการจ้างผู้มีความสามารถด้านดิจิทัล 62 % มีความท้าทายในระดับปานกลางถึงอย่างมากต่อผู้มีความสามารถด้านการผลิตที่สามารถทำงานในมาตรฐานการผลิตของอุตสาหกรรม GMP (Good Manufacturing Practice)ได้
นอกจากนั้น ผู้บริหาร 52 % ต้องการจ้างผู้มีความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนา 70 % ต้องการจ้างผู้มีความสามารถจากต่างประเทศที่มีความยืดหยุ่นมาทำงาน และ 48 % ต้องการบุคลากรที่มีความยืดหยุ่นในการขยายจำนวนพนักงานในประเทศไทย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงของผู้มีความสามารถและในระบบนิเวศด้านการวิจัยและพัฒนาสามารถลดน้อยลง
Cytiva ปี2020 มีมูลค่ากิจการ 3.3 พันล้านดอลลาร์ มีพนักงานเกือบ 7,000 คน ดำเนินงานอยู่ใน 40 ประเทศ มีผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ มีองค์ความรู้ มีเทคโนโลยีที่จะช่วยพัฒนานักวิจัย นักศึกษา ผู้ประกอบการ หรือหน่วยงานวิจัย ให้มีความรู้ ความสามารถผ่านการอบรมให้มีศักยภาพในเรื่องการพัฒนาและทำงานวิจัยที่จะเป็นการยกระดับ และเข้าถึงเทคโนโลยีการการบำบัดรักษาโรคด้วยวิธีทางชีวภาพ ผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub
เพิ่มทักษะ เทรนนิ่งนักวิจัย
'Mr.Premnath Mandalapu' ผู้จัดการทั่วไป ภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่าหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายประเทศและผู้คนหันมาสนใจด้านอุตสาหกรรมชีวภาพมากขึ้น ซึ่ง Cytiva จะให้การสนับสนุนตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ซึ่งต้นน้ำในที่นี้ คือการเทรนนิ่ง นักวิจัย นักศึกษาในการพัฒนานวัตกรรม และเทคโนโลยีชีวภาพ รวมถึงงานวิจัย องค์ความรู้ต่างๆ เพื่อดูแลผู้ป่วยในประเทศ รวมถึงทำงานกับบริษัท หรือผู้ประกอบการ SME ภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานไบโอเทค ไบโอฟาร์มา การผลิตบำบัดโรค พัฒนาโปรแกรม และสร้างความร่วมมือเพื่อจัดตั้งเซลล์บำบัด พร้อมสนับสนุนทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนระบบสาธารณสุข เข้าถึงประชาชนได้ง่ายมากขึ้น
ตลาดอุตสาหกรรมชีวภาพประเทศไทยค่อนข้างใหญ่ ความต้องการของตลาดในเรื่องไบโอฟาร์มา มีมูลค่าสูง ในภูมิภาคเอเชียแบซิฟิก มีการผลิตอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ รวมทั้งมีการเปิดโรงงานใหม่ที่ผลิตไบโอฟาร์มา และเสริมเรื่องความยั่งยืน โดยพยายามผลักดันและสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ลดช่องว่าง พัฒนาคน เทรนนิ่งผู้คนมีความรู้ ความสามารถ ขยายอุตสาหกรรมหลัก สอดคล้องนโยบาย Thailand 4.0 ของไทย
“ประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพในภูมิภาคนี้ และเป็นผู้นำด้านสุขภาพ โดยมีตัวอย่างของยีนส์บำบัดที่ได้รับการรับรองระดับสากล ทำให้ประเทศไทยเท่าทันโลก และมีการพัฒนาด้านวิจัย บทบาทของ Cytiva เป็นการเพิ่มศักยภาพของเทคโนโลยีชีวภาพให้มีความก้าวหน้ามากขึ้น และพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่คนเพื่อทำให้ด้านสาธารณสุข สุขภาพของผู้คนดีขึ้น”
แนวโน้ม 'อุตสาหกรรมชีวภาพ' ในไทย
การลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพมีทิศทางเพิ่มขึ้นตามเมกะเทรนด์ของโลก อีกทั้ง ไทยยังได้เปรียบคู่แข่ง เนื่องจากมีวัตถุดิบทางการเกษตรที่สามารถนำไปต่อยอดในอุตสาหกรรมชีวภาพได้ในปริมาณมาก ซึ่งอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio Industry) คือ อุตสาหกรรมที่อาศัยเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology)ในการผลิตสินค้า เช่น เคมีภัณฑ์ อาหาร ยา อาหารสัตว์บรรจุภัณฑ์ เป็นต้น และถือเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ประเทศไทยมีศักยภาพด้านการผลิต จากการเป็นแหล่งวัตถุดิบทางชีวภาพที่หลากหลาย
โดยจะใช้สินค้าเกษตรของประเทศ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน มาแปรรูปด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าเกษตร ยกตัวอย่างเช่น มันสำปะหลังและอ้อย เมื่อนำมาผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพ จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึง 32-110 เท่า และ 100-220 เท่า ตามลำดับ ส่วนปาล์มน้ำมัน เมื่อนำมาผลิตเป็นวิตามินจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึง 20-45 เท่า
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมชีวภาพในตลาดโลกจะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 13.8 ต่อปี (ช่วงปี 2558-2568) โดยกลุ่มเคมีชีวภาพคาดว่าจะมีแนวโน้มการเติบโตรวดเร็วที่สุด ด้วยอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 16 ต่อปี รองลงมาได้แก่ กลุ่มพลาสติกชีวภาพ และกลุ่มชีวเภสัชภัณฑ์ มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ12.8 และ 8.6 ต่อปี