‘ไข้เลือดออก’ ระบาดหนักในรอบ 5 ปี เสียชีวิตได้ แม้ร่างกายแข็งแรง
โรคไข้เลือดออก (Dengue fever) โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค แม้ส่วนใหญ่จะอาการไม่หนัก แต่ก็สามารถทำให้เสียชีวิตได้แม้ในคนที่ร่างกายแข็งแรง ปี 2566 พบผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 106 ราย
Key Point :
- ไข้เลือดออก ปี 2566 ระบาดหนักในที่สุดในรอบ 5 ปี พบผู้ป่วยแล้วกว่า 1.1 แสนราย เสียชีวิตกว่า 106 ราย
- ไข้เลือดออก ยังคงเป็นปัญหาด้านสาธารณสุข สร้างภาระทางด้านทรัพยากร ภาคเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งคุณภาพชีวิตของคนไทย
- แม้ผู้ป่วยไข้เลือดออก 70-80% ไม่ค่อยมีอาการ แต่สาเหตุการเสียชีวิต หลักๆ คือ การมาพบแพทย์ช้า ทำให้เจอภาวะแทรกซ้อน ช็อก ภาวะเลือดออก ทำให้รักษาไม่ทัน
สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกในประเทศไทยปี 2566 สถิติผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสมแล้วกว่า 110,809 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 106 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 11 ตุลาคม 2566) ทั้งนี้ พบตัวเลขการระบาดที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี
ขณะที่ ตัวเลขจาก กทม. ปี 2566 ถึงเดือนกันยายน มีผู้ป่วยแล้ว 7,400 คน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 3,500 คน ค่าเฉลี่ยห้าปีมีผู้ป่วยอยู่ที่ 4,400 คน ผู้เสียชีวิตเฉพาะ กทม. ขณะที่มีจำนวน 6 คน มากกว่าปี 2565 ทั้งปี ซึ่งเสียชีวิต 5 คน ตอกย้ำความจริงว่าไข้เลือดออกยังคงเป็นปัญหาด้านสาธารณสุข สร้างภาระทางด้านทรัพยากร ภาคเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งคุณภาพชีวิตของคนไทย
เมื่อเร็วๆ นี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และทาเคดา ประเทศไทย และพันธมิตรความร่วมมือ Dengue-zero ร่วมส่งต่อความหวังจาก “อิงมา” Dengue Virtual Influencer ที่ถูกสร้างขึ้นโดยอิงมาจากสถิติของคนไทยที่ตกเป็นเหยื่อไข้เลือดออกกว่า 1.2 ล้านคนใน 15 ปีที่ผ่านมา เปรียบเสมือนสิ่งเตือนใจว่า 'โรคไข้เลือดออกใกล้ตัว และน่ากลัวกว่าที่คิด' กับงาน 'ส่งต่อความหวังจากอิงมา ชวนคนไทย ปักหมุด หยุดไข้เลือดออก' ตอกย้ำข้อความแห่งความหวังในการต่อสู้กับโรคไข้เลือดออกด้วยมาตรการ การเฝ้าระวัง การควบคุมจำนวนลูกน้ำยุงลายเพื่อไม่ให้แพร่พันธุ์ และการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน
อีกทั้ง ยังสามารถส่งต่อความปรารถนาดีผ่านข้อความมากมายให้แก่คนที่คุณรักเพื่อให้ปลอดภัยจากไข้เลือดออกผ่าน 5 โซนประสบการณ์อินเตอร์แอคทีฟที่ให้ผู้เข้าร่วมได้สัมผัส และมีส่วนร่วมในการต่อสู้กับโรคไข้เลือดออก ไม่ว่าจะเป็น 'Message of Hope Gallery' แกลลอรี่ประสบการณ์จริงจากผู้ที่เคยตกเป็นเหยื่อของโรคไข้เลือดออก 'The Last Message from Ing-Ma' บูธถ่ายภาพที่เปรียบดังแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์กับการพบกับอิงมาที่จะมาชวนทุกคนร่วมปักหมุด หยุดไข้เลือดออกไปด้วยกัน
ไข้เลือดออก เกิดจากอะไร
โรคไข้เลือดออก (Dengue fever) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว มักพบในประเทศเขตร้อน และจะระบาดในช่วงฤดูฝนของทุกปี ไข้เลือดออกพบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่พบมากที่สุดในกลุ่มเด็กอายุ 5-14 ปี แต่พบว่าในวัยทำงานมีการเสียชีวิตสูงสุด
กลุ่มเด็กที่ติดเชื้อไข้เลือดออกสามารถสังเกตได้จากอาการ โดยหากมีอาการไข้สูงลอย มีผื่นแดงหรือจุดเลือดออกตามตัว ให้สันนิษฐานว่าอาจติดโรคไข้เลือดออกได้ ทั้งนี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคโดยเร็ว เนื่องจากโรคไข้เลือดออกจะทำให้มีเกล็ดเลือดที่ต่ำ และอาจนำพาไปสู่อาการช็อก และการเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รู้ทันสัญญาณเตือน 'ไข้เลือดออก' ดูแลตัวเองอย่างไร? ไม่ให้ป่วย
- มีไข้ อาจไม่ได้เป็น 'โควิด' แต่ให้สงสัย 'ไข้เลือดออก' รีบรักษาก่อนสาย
- รู้ทัน 6 โรคฮิตหน้าฝน ที่เด็กเล็กต้องเฝ้าระวัง ป้องกันรักษาทันท่วงที
ศ.พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยไข้เลือดออกมากกว่า 1.1 แสนราย เสียชีวิตกว่า 100 ราย หากเทียบกับเฉลี่ยปีที่ผ่านมา ปีนี้ถือว่ามีผู้ป่วยเยอะขึ้น รวมถึงอัตราการเสียชีวิต
“ไข้เลือดออก 70-80% ไม่ค่อยมีอาการ โดยสาเหตุการเสียชีวิต หนึ่ง คือ คนไข้อาจจะมาพบแพทย์ช้า ทำให้เจอภาวะแทรกซ้อน ช็อก ภาวะเลือดออก ทำให้รักษาไม่ทัน ถัดมา คือ ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ มีโรคร่วม ทำให้การรักษายาก ซับซ้อน ทำให้รุนแรงมากขึ้น โดยส่วนใหญ่ผู้เสียชีวิต จะอยู่ในช่วงอายุ 15 – 35 ปี กว่าครึ่ง”
อาการแค่ไหน ที่ควรจะไปพบแพทย์
- ไข้สูงลอยเฉียบพลัน
- มีอาการทางเดินอาหาร คลื่นไส้ ปวดท้อง อาเจียน
- หากเป็นไข้ 3 วันไม่ลง ตรวจ ATK ไม่ขึ้น อาการหวัดไม่ชัด แนะนำไปตรวจเลือดที่โรงพยาบาล
- อาการเด่นของโควิด และไข้หวัดใหญ่คือ น้ำมูก ไอ เจ็บคอ
การรักษา
ศ.พญ.ศศิโสภิณ อธิบายต่อไปว่า การรักษาไข้เลือดออกในปัจจุบัน หลักๆ คือ การรักษาตามอาการ เพราะไม่มียาต้านไวรัสจำเพาะ ไม่เหมือนโควิด-19 หรือไข้หวัดใหญ่ เพราะฉะนั้น ไข้หวัดใหญ่ต้องรักษาตามอาการ เช่น รับประทานอาหารไม่ได้ก็ให้น้ำเกลือ อาเจียน ให้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน เฝ้าระวังภาวะช็อก ภาวะเลือดออก หากเลือดออกก็ต้องพิจารณาว่าให้เกล็ดเลือดหรือให้เลือดเสริมหรือไม่ แก้ปัญหาตามอาการ
“ยารักษาไข้เลือดออก ที่ผ่านมามีผู้พยายามวิจัยยาต้านไวรัส แต่ก็ยังไม่สำเร็จ ดังนั้น จึงเป็นความยากที่จะทำนายยากว่าใครจะอาการแย่ เพราะบางคนสุขภาพแข็งแรง อยู่ๆ ก็เกล็ดเลือดต่ำ หรือบางคนอยู่ๆ เลือดออกในหัวก็เสียชีวิตเลย อาการส่วนใหญ่ในช่วงปลายสัปดาห์แรก หากไม่ดีขึ้นก็แย่เลย จึงเป็นช่วงที่ต้องเฝ้าระวังในช่วงปลายสัปดาห์แรก นอกจากนี้ ไข้เลือดออกสามารถหายเองได้เช่นกัน เพราะไวรัสส่วนใหญ่หายได้เอง”
“เหตุผลสำคัญ ที่เราควรจะต้องตื่นตัวคือ ปัจจุบัน จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต เยอะกว่าปีที่ผ่านมา ปัจจุบัน ไข้เลือดออกสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน จำนวน 2 เข็ม ฉีดห่างกัน 3 เดือน โดยวัคซีนที่อยู่ในท้องตลาดสามารถป้องกันการนอนโรงพยาบาล และการเสียชีวิตได้ 80-90% ซึ่งขณะนี้สามารถฉีดได้ที่โรงพยาบาลใหญ่” ศ.พญ.ศศิโสภิณ กล่าว
3 เก็บป้องกัน 3 โรค
ด้วยสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยมีลักษณะร้อนชื้น จึงเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสเดงกี โดยในปีนี้มีแนวโน้มผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสูงกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ด้วยจำนวนผู้ป่วยสูง และต่อเนื่อง จึงต้องเพิ่มมาตรการในการควบคุมโรคให้เข้มข้นขึ้น กรมควบคุมโรคจึงแนะนำให้ประชาชนรีบกำจัดภาชนะที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำ และป้องกันยุงลายกัดเป็นประจำ ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการปฏิบัติตามหลัก ‘3 เก็บป้องกัน 3 โรค’ ได้แก่
1.เก็บบ้านให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก
2.เก็บขยะ
3.เก็บแหล่งน้ำ ปิดภาชนะให้มิดชิดเพื่อไม่ให้ยุงลายลงไปวางไข่
ป้องกัน 3 โรค
1. โรคไข้เลือดออก
2. โรคติดเชื้อไวรัสซิกา
3. โรคไข้ปวดข้อยุงลาย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์