ดื่มน้ำอัดลม กินเผ็ด เสี่ยง 'กระเพาะอาหาร' ทะลุ จริงหรือ ?

ดื่มน้ำอัดลม กินเผ็ด เสี่ยง 'กระเพาะอาหาร' ทะลุ จริงหรือ ?

หลายคนอาจเคยได้ยินว่า ทานน้ำอัดลมมากๆ หรือการทานอาหารรสเผ็ดมากๆ เป็นสาเหตุทำให้ 'กระเพาะอาหาร' ทะลุ ความเชื่อเหล่านี้ เป็นความจริงหรือไม่ แล้วความจริง กระเพาะทะลุ มีสาเหตุมาจากอะไรกันแน่

Key Point: 

  • กระเพาะอาหารทะลุ เกิดจากการที่ผนังกระเพาะเป็นแผล เกิดรู ส่งผลให้ปวดท้องรุนแรง มีไข้ อาเจียน ไปจนถึงติดเชื้อในกระแสเลือด
  • สาเหตุหลักๆ คือ เป็นแผลในกระเพาะอาหาร ขณะที่ การทานรสจัด หรือ น้ำอัดลมอาจจะมีความเสี่ยง แต่ไม่ได้เป็นผลโดยตรงจากการทานสิ่งเหล่านี้
  • อาการที่สังเกตได้ คือ เกือบ 100% ปวดท้องมาก รุนแรง ทานยาแก้ปวดไม่หาย ต้องรีบพบแพทย์โดยด่วนเพราะอาจเสียชีวิตได้ 

 

กระเพาะอาหารทะลุ เกิดจากการที่ผนังกระเพาะอาหาร เกิดการมีรู ทำให้มีเชื้อแบคทีเรีย เกิดกรดในกระเพาะอาหาร หรือเศษอาหารเข้าไปสัมผัสในโพรงช่องท้อง ส่งผลให้มีอาการปวดท้องรุนแรง มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือด และเสียชีวิตได้

 

โดยทั่วไป มักจะได้ยินเกี่ยวกับกระเพาะทะลุ เช่น การดื่มน้ำอัดลม และการรับประทานอาหารรสเผ็ด แต่ภาวะกระเพาะทะลุ แท้จริงแล้วไม่ได้เกิดจากการดื่มน้ำอัดลม หรือ การทานเผ็ดแต่อย่างใด ทั้งนี้ หากมีอาการปวดท้องรุนแรงมากกว่า 6 ชั่วโมง ร่วมกับอาการไข้ ควรรีบพบแพทย์ เพราะหากเกิดกระเพาะทะลุ และปล่อยอาการไว้ หรือหายามากินเอง จะเป็นอันตรายต่อร่างกายได้

 

ผศ.นพ.พงศศิษฏ์ สิงหทัศน์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ สาขาวิชาศัลยศาสตร์อุบัติเหตุและเวชบำบัดวิกฤตศัลยกรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในรายการ ลัดคิวหมอรามาฯ โดยอธิบายว่า สาเหตุกระเพาะทะลุ หลักๆ คือ เป็นแผลในกระเพาะอาหาร การทานรสจัด หรือ ทานน้ำอัดลมอาจจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดแผลได้ แต่ไม่ได้เป็นผลโดยตรงจากการทานสิ่งเหล่านี้ แล้วทำให้กระเพาะทะลุ บางคนบอกว่าทานน้ำอัดลมจนกระเพาะทะลุไม่ใช่ เพราะหากไม่เริ่มต้นจากการเป็นแผลก่อนก็ไม่เป็นกระเพาะทะลุ

 

สาเหตุกระเพาะทะลุ

  • แผลในกระเพาะอาหาร จากการที่กรดหลั่งเยอะจากความเครียด ทานอาหารไม่ตรงเวลา ติดเชื้อแบคทีเรียบางตัว
  • มะเร็งกระเพาะอาหาร
  • สิ่งแปลกปลอมที่แหลมคม เช่น ไม้กลัด ก้างที่ใหญ่ แข็ง ทิ่มกระเพาะทะลุได้

 

5 อาการกระเพาะทะลุ

  • ปวดท้องมาก เกือบ 100% บางคนปวดมากจนอยู่ไม่ได้ หากมีแผลใหญ่ก็จะมีน้ำย่อยในกระเพาะออกมา หรือเศษอาหารออกมา ทำให้ปวดท้องรุนแรง ทานยาแก้ปวดไม่หาย
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • มีไข้ หนาวสั่น
  • หัวใจเต้นเร็ว หอบ จากการติดเชื้อที่รุนแรง
  • ปัสสาวะ อุจจาระน้อย

 

ดื่มน้ำอัดลม กินเผ็ด เสี่ยง \'กระเพาะอาหาร\' ทะลุ จริงหรือ ?

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

สัญญาณเตือนกระเพาะทะลุ

ผศ.นพ.พงศศิษฏ์ อธิบายว่า ส่วนใหญ่จะเป็นแผลในกระเพาะอาหารมาก่อนเกือบ 90% ปวดเรื้อรัง บางคนอาจจะไม่สนใจ ทานข้าวก็จะดีขึ้น ไม่ปวดเยอะมาก ทนไปเรื่อยๆ และสักพักก็จะเป็นแผลที่เรื้องรังและกระเพาะทะลุ

 

"การทานอาหารไม่ตรงเวลาก็เสี่ยงต่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร เพราะร่างกายเหมือนนาฬิกา น้ำย่อยจะหลั่งออกมาตามเวลาของมัน หากเราเคยทานช่วงนี้ พอไม่ได้ทาน น้ำย่อยก็จะหลั่ง หากไม่มีอาหารที่เจือจางน้ำย่อย น้ำย่อยก็จะไปมีผลต่ออวัยวะผนังกระเพาะเกิดเป็นแผล"

 

การรักษากระเพาะทะลุ

การรักษาหลัก คือ ต้องซ่อมรู ปิดรู ซึ่งพื้นฐานต้องผ่าตัด 99% จะมีบางกลุ่มที่รูเล็กและคนไข้ทนมาจนร่างกายซ่อมแซมได้เอง เวลากระเพาะทะลุ เมื่อเอกซเรย์จะพบว่ามีลมขังอยู่ในผนังช่องท้อง บางคนมีลมแต่อาการปวดไม่รุนแรง เมื่อทดสอบการกลืนสีก็ไม่มีการกระจายของสีออกไปยังช่องท้อง ซึ่งหากเจอก็สามารถรักษาแบบประคับประคองได้ แต่พบเป็นส่วนน้อยมาก ปัจจุบัน มีการรักษาที่พัฒนาขึ้น โดยการส่องกล้องเข้าไปจัดการรูของผนังกระเพาะอาหาร แต่หากเป็นการรักษามาตรฐานยังคงเป็นการผ่าตัด

 

พฤติกรรมแบบไหนเสี่ยงกระเพาะทะลุ

  • ทานยาแก้ปวดบางชนิด
  • ทานยาสเตียรอยด์
  • ความเครียด
  • ทานอาหารไม่ตรงเวลา 
  • ทานอาหารมีความแหลมคม หรือ คนที่ชอบทานอะไรแปลกๆ
  • มะเร็งกระเพาะอาหาร