คนทั่วโลกนอนไม่ถึง 7 ชั่วโมง แถมนอนหลับไม่มีคุณภาพ ทำสุขภาพแย่

คนทั่วโลกนอนไม่ถึง 7 ชั่วโมง แถมนอนหลับไม่มีคุณภาพ ทำสุขภาพแย่

เผยข้อมูลพฤติกรรม “การนอน” ของคนทั่วโลก พบนอนหลับลดลง เหลือไม่ถึง 7 ชั่วโมง ต่ำกว่าเกณฑ์การนอนหลับ แถมตื่นระหว่างคืนนานขึ้น หลับไม่มีคุณภาพ เป็นหนี้การนอน ทำสุขภาพเสีย

การนอนหลับ” เป็นการพักผ่อนที่สำคัญของร่างกาย ปรกติแล้วมนุษย์ควรนอนให้ได้ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน เนื่องจากการนอนหลับส่งผลตรงต่อสุขภาพ ทำให้ในปัจจุบันนี้ ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับการนอนหลับมากยิ่งขึ้น 

 

  • คนนอนน้อยลง

ซัมซุงทำการศึกษาด้านสุขภาพการนอนหลับ ด้วยการวิเคราะห์พฤติกรรมการนอนหลับ 716 ล้านคืนจากผู้ใช้ Samsung Health ทั่วโลก พบว่า คนทั่วโลกนอนหลับน้อยลง สวนทางกับเทรนด์การใส่ใจคุณภาพการนอนหลับ ระยะเวลาการนอนหลับโดยเฉลี่ยทั่วโลกลดลงจาก 7 ชั่วโมง 3 นาที เหลือ 6 ชั่วโมง 59 นาทีทั่วโลก ซึ่งต่ำกว่าที่มูลนิธิการนอนหลับแห่งชาติสหรัฐ National Sleep Foundation แนะนำให้นอนวันละ 7 ชั่วโมง

แต่สิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือ ช่วงที่ตื่นระหว่างคืนกลับมีระยะเวลานานขึ้นเป็น 50 นาที เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ประสิทธิภาพการนอนหลับลดลง เมื่อคำนวณระยะเวลาการนอนหลับจริงกับช่วงเวลาที่ใช้บนเตียงในแต่ละคืน พบว่า ประสิทธิภาพการนอนเหลือ 87.49 คะแนน

เมื่อสำรวจพฤติกรรมการนอนหลับของคนแต่ละเพศพบว่า ประสิทธิภาพการนอนหลับของผู้ชายอยู่ในระดับต่ำกว่าผู้หญิง แต่ประสิทธิภาพของผู้หญิงลดลงถึง 0.47 จุด ส่วนผู้ชายลดลง 0.26 จุด

หากแยกประสิทธิภาพการนอนหลับตามช่วงอายุพบว่า ยิ่งอายุเพิ่มขึ้นมากเท่าไหร่ประสิทธิภาพในการนอนยิ่งลดลงมากเท่านั้น โดยผู้ที่มีอายุมากกว่า 70 ปี ลดลง 1.12 จุด ซึ่งคิดเป็นเกือบสองเท่าของผู้ที่มีอายุ 20 ปี ที่ลดลง 0.47 จุด ส่วนช่วงอายุ 30 ปีเป็นวัยที่มีประสิทธิภาพการนอนหลับลดลงน้อยที่สุดเพียง 0.25 จุด

ทั้งนี้ เมื่อแยกดูประสิทธิภาพการนอนหลับของคนในแต่ละภูมิภาคทั่วโลก พบว่ามีเพียงยุโรปและอเมริกาเหนือเท่านั้นที่นอนมากกว่า 7 ชั่วโมง ที่เหลือมีช่วงเวลาการนอนหลับต่ำกว่า 7 ชั่วโมงทั้งสิ้น โดยเอเชียมีประสิทธิภาพการนอนหลับที่ต่ำที่สุดอยู่ที่ 87.16 แต่ภูมิภาคที่มีประสิทธิภาพการนอนหลับลดลงมากที่สุดกลับเป็นทวีปอเมริกาเหนือที่ลดลงไป 0.43 จุด

  • หนี้การนอน

การอดนอนในแต่ละคืน หรือการเข้านอนไม่เท่ากันในแต่ละวัน โดยเฉพาะในวันธรรมดาและวัดหยุดสัปดาห์จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า “หนี้การนอน” (Sleep Debt) เมื่อสะสมมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ร่างกายพยายามชดใช้การนอนที่ขาดไปโดยแสดงออกในรูปแบบของความง่วงในตอนกลางวัน การผล็อยหลับระหว่างวัน หรือหลับใน 

จากการสำรวจพบว่า หนี้การนอนนั้นสูงที่สุดในหมู่วัยรุ่นที่มีอายุ 20 ปี มีหนี้การนอนถึง 49 นาที  มากกว่าผู้ที่มีอายุมากกว่า 70 ปีเกือบสองเท่า ที่มีเพียง 29 นาที ตามลำดับ เมื่อจำแนกตามภูมิภาค พบว่า เอเชียมีหนี้การนอนหลับน้อยที่สุดที่ 41 นาที ในขณะที่ลาตินอเมริกามีหนี้การนอนหลับมากที่สุดที่ 47 นาที ทั้งค่าเฉลี่ยของหนี้การนอนอยู่ที่ 44 นาทีในช่วงสุดสัปดาห์

 

  • รูปแบบการนอนหลับ

หลังจากติดตามการนอนหลับได้สักพัก ซัมซุงจะทำการวิเคราะห์รูปแบบการนอนของผู้ใช้ ตามระยะเวลาการนอนหลับ ความสม่ำเสมอ และเวลาตื่นนอน โดยแบ่งเป็นสัตว์ประเภทต่าง ๆ ดังนี้ 

 

รูปแบบการนอนหลับที่ดีที่สุด 

  • สิงโตไร้กังวล คือรูปแบบการนอนหลับวันละ 10-15 ชั่วโมง

รูปแบบการนอนหลับระดับกลาง

  • วอลรัสเลี้ยงง่าย คือรูปแบบที่สามารถอดนอนได้นานถึง 84 ชั่วโมง และนอนได้นานถึง 19 ชั่วโมง
  • ตัวตุ่นยามเช้า คือรูปแบบการนอนหลับในเวลากลางคืนประมาณ 8 ชั่วโมงโดยเฉลี่ย ซึ่งคล้ายกับมนุษย์
  • เพนกวินกระวนกระวาย คือรูปแบบการนอนเพียง 3.5 ชั่วโมงในหนึ่งวันและพวกเขารู้สึกประหม่าหงุดหงิดง่าย

 รูปแบบการนอนหลับระดับไม่ดี

  • เม่นอ่อนไหว คือนอนหลับยากมีความกระฉับกระเฉงในเวลากลางคืน
  • กวางช่างระวัง คือรูปแบบการตื่นบ่อย นอนน้อยกว่า 10 นาที เหมือนจะสามารถตื่นตลอดเมื่อรู้สึกว่าอาจตกอยู่ในอันตราย
  • จระเข้ออกล่า คือรูปแบบการนอนหลับตาข้างเดียวเหมือนขยิบตา

 รูปแบบการนอนหลับระดับไม่ดีที่สุด

  • ฉลามหมดแรง คือรูปแบบที่ไม่ค่อยได้นอน มีอาการตื่นอยู่เสมอเพราะหายใจไม่ออกหากหยุดเคลื่อนไหว

 

จากการรวบรวมข้อมูลของคนทั่วโลก พบว่า 32% ของผู้ใช้งานมีรูปแบบการนอนหลับแบบเพนกวิน โดยสามารถรักษานาฬิกาชีวิตได้ดี เพียงแต่ประสบปัญหาการหยุดชะงักระหว่างการนอนหลับ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการนอนหลับลดลง ตามมาด้วยเม่นอ่อนไหว และ สิงโตไร้กังวล ที่ 18% เท่ากัน

สำหรับรูปแบบการนอนหลับแบบกวางช่างระวังสามารถพบได้ในกลุ่มผู้สูงอายุ ยิ่งมีอายุมากเท่าไหร่ยิ่งมีรูปแบบการนอนลักษณะนี้มากเท่านั้น ส่วนเม่นอ่อนไหว และ ตัวตุ่นยามเช้า พบได้มากในกลุ่มที่มีอายุน้อย โดยเฉพาะช่วงอายุ 20 ปี

 

  • วิธีช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แนะนำวิธีที่ช่วยให้นอนหลับให้ดีขึ้น โดยควรเข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาทุกวัน เพื่อให้ร่างกายเกิดความเคยชิน ออกกำลังกายสม่ำเสมอวันละ 30 นาที ช่วยลดความตึงเครียด ควรกินอาหารเบา ๆ เป็นมื้อเย็น ดื่มนม หรือน้ำผลไม้ แต่ไม่ควรดื่มน้ำมากก่อนเข้านอนเพราะจะทำให้ปวดปัสสาวะรบกวนการนอน

อ่านหนังสือเบาสมองก่อนเข้านอนสัก 1-2 ชั่วโมง ไม่ควรเล่นสมาร์ทโฟนหรือใช้อุปกรณ์สื่อสารก่อนนอน รวมถึงจัดห้องนอนให้มืด เงียบ สบาย ปลอดภัย อากาศถ่ายเทสะดวกเหมาะแก่การนอนหลับ