อัปเดต 'โควิด-19' ทั่วโลกและไทย 'EG.5' กำลังเป็นสายพันธุ์หลัก
แม้เราจะผ่านช่วงการระบาดครั้งใหญ่ของ โควิด-19 และมีการระบาดของโรคทางเดินหายใจ โดยเฉพาะไข้หวัดใหญ่ที่พบผู้ป่วยจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกพบว่าโควิด-19 มีแนวโน้มพบผู้ป่วยอาการหนัก เสียชีวิตเพิ่มขึ้นในบางประเทศ โดยสายพันธุ์โอมิครอน EG.5 กำลังเป็นสายพันธุ์หลัก
Key Point :
- โรคโควิด-19 ทั่วโลกมีแนวโน้ม พบผู้ป่วยอาการหนัก เสียชีวิตเพิ่มขึ้นในบางประเทศ คาดพบการระบาดเพิ่มขึ้นหลังเทศกาลช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม นี้
- สำหรับ ในประเทศไทย สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และพบสายพันธุ์โอมิครอน EG.5 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นทุกสัปดาห์
- ปัจจุบัน มียารักษาที่ได้รับการพัฒนามากขึ้น รวมทั้งวัคซีนที่ยังคงแนะนำให้ผู้ที่ยังไม่เคยฉีด ให้รับวัคซีน รวมถึงการฉีดเข็มกระตุ้นเพื่อลดอาการป่วยหนัก
สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า มีผู้ป่วยสะสม 771 ล้านคน เสียชีวิต 6.9 ล้านคนทั่วโลก ส่วนใหญ่อยู่แถบอเมริกา ยุโรป สำหรับประเทศไทยที่เปิดรับนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น หลังฤดูหนาวผ่านไปโควิดอาจจะกลับมาใหม่ โดยสายพันธุ์ที่ระบาดทั่วโลก คาดว่าจะเป็น โอมิครอน EG.5 เป็นสายพันธุ์หลัก
ขณะเดียวกัน นอกจาก โควิด-19 แล้ว ปัจจุบันยังต้องเฝ้าระวังระบบทางเดินหายใจอย่าง ไข้หวัดใหญ่ ที่มีการระบาดเพิ่มมากขึ้นหลังโควิด-19 โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 16 กันยายน 2566 มีผู้ป่วย 185,216 ราย อัตราป่วย 279.9 ต่อประชากรแสนคน มีรายงานผู้เสียชีวิต 4 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 0.002 เฉพาะสัปดาห์ที่ 10-16 กันยายน มีผู้ป่วยเพิ่มมากกว่า 12,000 ราย ซึ่งสูงกว่าจำนวนผู้ป่วยในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 และค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- โควิด-19 , ไข้หวัดใหญ่ เผยพบผู้ป่วยหลายรายติดเชื้อพร้อมกัน
- จีนเตือนทั่วโลก เตรียมพร้อมรับมือ 'ไวรัสโคโรนา' 20 สายพันธุ์ใหม่ จากค้างคาว
- อัปเดต 'สายพันธุ์โควิด-19'ในไทย คาด EG.5 แนวโน้มเพิ่มขึ้น
ดร.นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวในหัวข้อ Future direction of COVID-19 infection and vaccination concern ภายในงาน ประชุมวิชาการร่วมประจำปี 2566 BDMS ACADEMIC ANNUAL MEETING 2023 จัดโดย บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ถึง สถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วโลกว่า มีแนวโน้ม พบผู้ป่วยอาการหนัก เสียชีวิตเพิ่มขึ้นในบางประเทศ คาดพบการระบาดเพิ่มขึ้นหลังเทศกาลช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม นี้ โดยสายพันธุ์โอมิครอน EG.5 (VOIs) กำลังเป็นสายพันธุ์หลัก
สำหรับ สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามการคาดการณ์ ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม 607 ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือยังไม่ได้ฉีด Booster เข็มประจำปี และพบสายพันธุ์โอมิครอน EG.5 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นทุกสัปดาห์แต่ยังไม่พบสัญญาณอาการป่วยรุนแรง เพิ่มมากขึ้น
ปี 2566 จากการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์โรคติดต่อทางเดินหายใจ พบการระบาดของโรคโควิด-19 ช่วงต้นปี ขณะที่การะบาดของไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลพบตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงปัจจุบัน เน้นสื่อสารการป้องกันโรคส่วนบุคคลจากการติดเชื้อทางเดินหายใจ สวมหน้ากากทุกครั้งเมื่อใกล้ชิดกลุ่ม 608 และเด็ก รวมทั้งฉีดวัคซีนโควิด-19 ประจำปี (ปีละเข็ม)
และสถานพยาบาล พิจารณาเตรียมพร้อมอุปกรณ์ ยา และเตียงรับผู้ป่วยในช่วงการระบาดของโรค รวมทั้งการรายงานโรคทันเวลา โดยเฉพาะโควิด-19 ต้องติดตามสถานการณ์ แนวโน้มการระบาด และมาตรการควบคุมป้องกันโรคที่สอดคล้องกับช่วงการระบาดต่อไป
“ตอนนี้กลุ่มที่ไม่เคยติดเชื้อ ไม่เคยฉีดวัคซีน จากที่คิดว่าปลอดภัย แต่ตอนนี้คนไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัยกันแล้ว ทำให้มีความเสี่ยงสูง และมีโอกาสติดเชื้อและเสียชีวิตได้ บางคนไปโรงพยาบาลในช่วงที่อาการค่อนข้างหนัก ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข แนะนำว่า หากอยู่ใกล้ชิดกลุ่ม 608 และ กลุ่มเด็กเล็กควรจะใส่หน้ากาก โดยเฉพาะในห้องแอร์ อาคารปิด และมีกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงอยู่จำนวนมาก เป็นคำแนะนำ เพราะปัจจุบันคนส่วนใหญ่ติดเชื้อไปแล้วกว่า 93% อย่างไรก็ตาม แม้จะติดเชื้อนานแล้ว โอกาสติดเชื้อได้อีกก็ยังมี และหากมีภูมิคุ้มกันลดลงก็มีโอกาสอาการรุนแรงกลับมาได้” ดร.นพ.จักรรัฐ กล่าว
นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ รองผู้อำนวยการ กลุ่มแพทย์ปฏิบัติการ สถาบันบำราศนราดูร กล่าวว่า สำหรับยารักษาโควิด-19 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ Nirmatrevir , Remdesivir และ Molnupiravir ขณะที่ อนาคตยาต้านโควิดตัวใหม่ 4 ตัว ได้แก่ VV116 เป็น Remdesivir ชนิดกิน จากเดิมที่ใช้ฉีด , Ensitrelvir , AZD3152 และ Vilobelimab โดยในปีหน้าคาดว่าจะได้ใช้ AZD3152
ด้าน นพ. ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เมื่อไรก็ตามที่มนุษย์สู้กับการระบาดครั้งใหญ่ครบ 3 อย่างเมื่อไหร่ก็จะจบ คือ ถ่วงเวลาด้วยการใส่หน้ากาก รักษาระยะห่าง , มียา และ มีวัคซีน และก็จะจบ ปัจจุบัน ยาและวัคซีนดีขึ้นเรื่อยๆ ปัญหา คือ โควิด-19 จะมีแค่ตัวที่เก่งกว่าตัวเดียว ครองโลกและทำลายตัวเก่าทิ้ง
"หลังการระบาดครั้งใหญ่ ไวรัสเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีการปรับตัว เราอยู่ในสังคมที่ต้องการ Immunity วัคซีนมีการฉีดเยอะ และติดเชื้อเยอะ วัคซีนมีหน้าที่ชะลอโรค กับลดอัตราการตาย พบว่า คนป่วยหนักลดลง การฉีดวัคซีนพบว่ามีประโยชน์ และ 1 เข็ม สู้ 2 เข็มไม่ได้ , 2 เข็ม สู้ 3 เข็มไม่ได้ แต่หลัง 3 เข็มไปยังไม่ชัดเจน ดังนั้น ต้องฉีดอย่างน้อย 3 เข็ม โดยในปี 2020 วัคซีนสามารถป้องกันการตายได้ 20 ล้านคน เอเชีย ได้รับวัคซีนดีกว่ายุโรป สหรัฐ ไทยฉีดเข็ม 2 เกือบ 80% และเข็ม 3 เกือบ 40% หากดูในสหรัฐ อัตราการฉีดเข็ม 2 น้อยกว่า ไม่ถึง 80%"
ทั้งนี้ ในอนาคตจะต้องมียาใหม่ๆ ต้องมีวัคซีนใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อด้วยและฉีดวัคซีนด้วยจะดีที่สุด การฉีดวัคซีนจะเกิดลองโควิดน้อยกว่าคนที่ไม่เคยฉีด ดังนั้น คนที่ไม่เคยฉีดต้องฉีด ขณะเดียวกัน ในสหรัฐ พบว่า เด็กน้อยกว่า 5 ปี ติดเชื้อรุนแรง เด็กนอนโรงบาลมากขึ้น ดังนั้น ยังแนะนำให้ฉีด ส่วนกลุ่มบูสเตอร์ อนาคตภูมิคุ้มกันตกลงและจะมีสายพันธุ์ตัวใหม่ขึ้นมา การฉีดบูสเตอร์จะลดอาการป่วยชัดเจน