โควิดวันนี้ ยอดผู้ติดเชื้อรอบสัปดาห์สูงขึ้น เฉลี่ย 29 ราย/วัน เสียชีวิต 2 ราย
โควิดวันนี้ ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รอบสัปดาห์ จำนวนป่วยนอนโรงพยาบาล 206 ราย เฉลี่ย 29 ราย/วัน เพิ่มขึ้นกว่าสัปดาห์ก่อน 7.9% เสียชีวิต 2 ราย
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงาน โควิดวันนี้ ระบุ ยอดผู้ติดเชื้อ โควิด-19 รายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 22 - 28 ตุลาคม 2566
โดยมี ผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) จำนวน 206 ราย เฉลี่ยรายวัน เฉลี่ยรายวัน จำนวน 29 ราย/วัน ผู้ป่วยสะสม 34,207 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2566)
ผู้เสียชีวิตโควิด-19 (รายสัปดาห์) จำนวน 2 ราย เฉลี่ยรายวัน จำนวน 1 ราย/วัน เสียชีวิตสะสม 818 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2566)
ส่วน ผู้ป่วยปอดอักเสบ 63 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 43 ราย
โดย รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ หมอธีระ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า วิเคราะห์การระบาดของไทย ตัวเลขรายงานรายสัปดาห์ 22-28 ตุลาคม 2023 จำนวนป่วยนอนโรงพยาบาล 206 ราย เพิ่มขึ้นกว่าสัปดาห์ก่อน 7.9% เสียชีวิต 2 ราย ปอดอักเสบ 63 ราย เพิ่มขึ้นกว่าสัปดาห์ก่อน 6.8% ใส่ท่อช่วยหายใจ 43 ราย สูงกว่าสัปดาห์ก่อน 4.9%
คาดประมาณการติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันอย่างน้อย 1,472-2,044 ราย
ถือว่าจำนวนป่วยนอนโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 2 สัปดาห์แล้ว ดังที่ได้ประเมินไว้ให้ทราบก่อนหน้านี้แล้วว่า หลังตุลาคมจะมีการระบาดมากขึ้นอันเป็นผลมาจากสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ที่ทั่วโลกเผชิญอยู่คือ EG.5.1 และตระกูล FLips ในขณะที่ BA.2.86.x นั้นคาดว่าจะมาแน่ แต่น่าจะปรากฏชัดตั้งแต่ปลายปีหรือต้นปีหน้าเป็นต้นไป
ทั้งนี้จะมีการติดเชื้อและป่วยมากเพียงใด แปรผันตรงกับพฤติกรรมการป้องกันตัวของคนในสังคม
ย้ำดังๆ อีกครั้งว่า ข้อมูลทางการแพทย์ปัจจุบันนั้น การตรวจด้วย ATK ในช่วงวันแรกๆ หลังมีอาการนั้นมีความไวลดลงเหลือ 30-60% เท่านั้น จึงมีโอกาสที่จะทำให้ตรวจได้ผลลบปลอม ทั้งๆ ที่ติดเชื้ออยู่มีสูงขึ้นกว่าเดิม
ไวรัสจะพีคช่วงวันที่ 4-5 หลังมีอาการ ดังนั้นหากมีอาการป่วยและตรวจในช่วง 3 วันแรกแล้วได้ผลลบ อย่าชะล่าใจ ควรตรวจซ้ำในช่วงวันที่ 4-5 ด้วย
ในสถานการณ์เช่นนี้ จำนวนติดเชื้อจริงในแต่ละวันจึงมีแนวโน้มที่จะสูงกว่าเดิมที่คาดประมาณข้างต้นได้ราวเท่าตัว และมักตรวจจับได้ช้าในระบบรายงาน จนกว่าจะป่วยจนต้องรักษาตัวในรพ. หรือรุนแรง
จากสถานการณ์ทั่วโลก การติดเชื้อ ทั้งคนติดใหม่ และคนติดซ้ำ มีมากขึ้นชัดเจนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี
ตัวชี้วัดโดยอ้อมจะเห็นได้จากจำนวนผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ที่สูงมากกว่าปีก่อนหลายเท่าตัว จะเป็นสัญญาณที่ชี้ให้เราตระหนักได้ว่า การป้องกันตัวระหว่างใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนในสังคมปัจจุบันนั้นไม่เพียงพอ
โควิดนั้นไม่เหมือนไข้หวัดธรรมดา และไม่เหมือนไข้หวัดใหญ่
ติดแต่ละครั้งป่วยนานกว่า เสี่ยงต่ออาการผิดปกติต่อเนื่องหลังติดเชื้อ เสี่ยงเสียชีวิต เสี่ยงต่อภาวะผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID และโรคเรื้อรังต่างๆ อีกด้วย