โควิดวันนี้ ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รอบสัปดาห์ ล่าสุด 318 ราย เสียชีวิต 7 ราย
"โควิดวันนี้" กรมควบคุมโรค รายงานยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายสัปดาห์ รายใหม่ 318 ราย เสียชีวิต 7 ราย ขณะที่ "หมอธีระ" อัปเดตความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับ Long COVID
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โควิดวันนี้ รายงานยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 6-12 สิงหาคม 2566 ขณะที่ "หมอธีระ" อัปเดตความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับ Long COVID โดย ผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) จำนวน 318 ราย เฉลี่ยรายวัน จำนวน 45 ราย/วัน ส่วนจำนวน ผู้เสียชีวิต (รายสัปดาห์) จำนวน 7 ราย เฉลี่ยรายวัน จำนวน 1 ราย/วัน
ขณะที่ ผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล สะสม 31,843 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2566) และผู้เสียชีวิต สะสม 775 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2566)
ทั้งนี้ ผู้ป่วยปอดอักเสบ 136 ราย และผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 83 ราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
โดย รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ หมอธีระ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับ ลองโควิด ( Long COVID )
งานวิจัยจากทั่วโลกมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อค้นหาคำอธิบายเกี่ยวกับกลไกการเกิดความผิดปกติในร่างกายของผู้ป่วยที่ประสบปัญหา Long COVID
ดังที่ได้ทราบกันมาก่อนหน้านี้แล้วว่ามีหลากหลายกลไกที่ค้นพบ ตั้งแต่การคงค้างของไวรัสหรือชิ้นส่วนไวรัสจนทำให้อวัยวะและระบบต่างๆ ทำงานผิดปกติ (Persistent viral infection) การเกิดภูมิต่อต้านตนเอง (Autoimmunity) การที่เซลล์หรือเนื้อเยื่อในอวัยวะต่างๆ ถูกทำลายตั้งแต่ตอนติดเชื้อจนเป็นเหตุให้เกิดปัญหาตามมาระยะยาว (Direct damage from infection) การกระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบเรื้อรัง (Chronic inflammation) การกระตุ้นให้ไวรัสที่ติดเชื้อแฝงอยู่ในร่างกายของผู้ป่วย (Viral reactivation) ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงสมดุลของเชื้อโรคที่อาศัยอยู่ในอวัยวะต่างๆ (Dysbiosis)
ล่าสุดงานวิจัยจากสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ใน Science Translational Medicine วันที่ 9 สิงหาคม 2023 ชี้ให้เห็นว่าอีกกลไกหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังติดเชื้อโรคโควิด-19 คือ การติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 ทำให้เกิดการทำงานผิดปกติของ Mitochondria ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญภายในเซลล์ของร่างกายที่ทำหน้าที่ผลิตพลังงาน (Mitochondrial dysfunction)
ข้อค้นพบดังกล่าวเป็นอีกจิ๊กซอว์สำคัญที่สามารถนำมาอธิบายปัญหาอาการผิดปกติของระบบต่างๆ ในผู้ป่วย Long COVID ได้ด้วย
นอกจากกลไกดังกล่าวที่เพิ่งค้นพบ งานวิจัยใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ก็มีการพิสูจน์ยืนยันกลไกอื่นๆ ที่เคยนำเสนอมา โดยเจาะลึกไปถึงในแต่ละระบบ ล่าสุดทีมงานจากอิตาลี ได้เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ด้านหัวใจและหลอดเลือด Circulation เมื่อ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยพิสูจน์ให้เห็นว่า สามารถตรวจพบภูมิต่อต้านตนเอง (Autoimmunity) ในผู้ป่วยที่เป็น Long COVID ซึ่งมีความผิดปกติของหัวใจ โดยประเมินว่าภูมิต่อต้านตนเองที่เกิดขึ้นนั้นจะมีปฏิกิริยากับเซลล์ของหัวใจและนำไปสู่การทำงานที่ผิดปกติ จนทำให้เกิดอาการป่วยตามมา
ด้วยความรู้การแพทย์ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีรักษามาตรฐานสำหรับภาวะ Long COVID
อัตราการเกิดปัญหา Long COVID หลังจากติดเชื้อ ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ราว 10% โดยมีรายงานจากหลายแหล่งทั่วโลกที่แตกต่างจากนี้บ้าง ขึ้นอยู่กับช่วงอายุ
วิธีลดเสี่ยง Long COVID นั้นคือ การได้รับวัคซีนให้ครบตามกำหนด รวมถึงการได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสมาตรฐาน อาทิ Paxlovid, Molnupiravir และมีข้อมูลวิจัยสนับสนุนยาต้านไวรัสประเภท Ensitrelvir ของญี่ปุ่น และ Metformin
การป้องกัน Long COVID ที่ดีที่สุดคือ การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดเชื้อซ้ำ
ระวังที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี
การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
อ้างอิง
1. Topol E. Long Covid: Mitochondria, the Big Miss, and Hope. 14 August 2023.
2. Core mitochondrial genes are down-regulated during SARS-CoV-3 infection of rodent and human hosts. Science Translational Medicine. 9 August 2023.
2. Long COVID-19 Cardiac Complications Are Associated with Autoimmunity to Cardiac Self-Antigens Sufficient to Cause Cardiac Dysfunction. Circulation. 7 August 2023.