ดูแล 'สูงวัย'เมื่อพลัดตกหกล้ม เรื่องไม่เล็กที่ต้องเฝ้าระวัง

ดูแล 'สูงวัย'เมื่อพลัดตกหกล้ม เรื่องไม่เล็กที่ต้องเฝ้าระวัง

‘ผู้สูงอายุไทย’ มีปัญหาเรื่องสุขภาพที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง และบางส่วนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น รับประทานอาหาร เข้าห้องน้ำและแต่งตัวเองไม่ได้ ทำให้ผู้สูงอายุกลุ่มนี้กลายเป็นภาระกับคนใกล้ชิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Keypoint:

  • ภัยเงียบที่ไม่มีสัญญาณเตือน 'โรคกระดูกพรุน' ปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญอันดับ 2 ของโลก  รองจากโรคหัวใจและหลอดเลือด 
  • ยิ่งจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น ผู้สูงอายุอายุยืนขึ้น จะพบผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนมากขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยจะไม่รู้ว่าตัวเองมีภาวะของโรค จนกระทั่งหกล้มแล้วกระดูกหัก
  • ป้องกันกระดูกพรุน ควรมีการตรวจวัดมวลกระดูก ลดความเครียด รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดการสูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่ม และป้องกันไม่ให้ล้ม

โดยปัญหาที่พบบ่อยของผู้สูงอายุที่ได้รับอุบัติเหตุภายในบ้าน คือ กระดูกสะโพกแตกหัก และอุบัติเหตุทางสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้มีอัตราการความพิการและอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง

จากสถิติปี 2564 จากกรมควบคุมโรค พบว่า เรื่องที่น่าห่วงของกลุ่มผู้สูงอายุ คือ การพลัดตกหกล้ม ซึ่งแต่ละปีจะพบอุบัติเหตุผู้สูงอายุหกล้มประมาณ 3 ล้านราย และบาดเจ็บต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลมากกว่า 60,000 รายต่อปี มีผู้เสียชีวิตจากการหกล้มเฉลี่ย วันละ 4 ราย

อีกทั้ง ยังเป็นเหตุให้เกิดความพิการในผู้สูงอายุ ส่งผลกระทบต่อจิตใจ หวาดกลัวการหกล้ม ต้องพึ่งพาผู้อื่น ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง แต่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น กระทบต่อเศรษฐกิจของครอบครัวและสังคม ขณะที่การพลัดตกหกล้มมักเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ร้อยละ 80 โดยจุดเสี่ยงที่คือ พื้นเปียก ลื่น

ดูแล \'สูงวัย\'เมื่อพลัดตกหกล้ม เรื่องไม่เล็กที่ต้องเฝ้าระวัง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

'โรคกระดูกพรุน' ไม่ได้เกิดเฉพาะสูงวัย คนวัยทำงานก็เป็นได้

10 วิธีป้องกัน "โรคกระดูกพรุน" ทำอย่างไร? ไม่ให้เป็นโรค

 

Osteoporosis เป็น Silent Killer 

การบาดเจ็บที่พบบ่อยของผู้สูงอายุที่ได้รับอุบัติเหตุพลัดตกหกล้ม มักจะเป็นการหักของกระดูกสะโพก ที่เป็นเช่นนั้น เพราะผู้สูงอายุจะเริ่มมีภาวะกระดูกบาง หรือกระดูกพรุน โดยเฉพาะผู้หญิงมวลกระดูกจะเริ่มลดลงเมื่อหมดประจำเดือน คือ ช่วงอายุประมาณ 60 - 65 ปี ส่วนผู้ชายจะเริ่มมีภาวะกระดูกพรุนในช่วงอายุ 70 - 75 ปี ทำให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุกระดูกหัก อัตราการเสียชีวิตของผู้สูงอายุชายจึงสูงกว่า เพราะมีอายุที่มากกว่านั่นเอง

วันนี้ (2 พ.ย.2566) นพ.สุทร บวรรัตนเวช ผู้อำนวยการใหญ่ ศูนย์อุบัติเหตุและออร์โธปิดิกส์ ในเครือบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) บรรยายหัวข้อ Osteoporosis Silent Killer  ในงานประชุม ‘BDMS ACADEMIC ANNUAL MEETING 2023’ จัดโดย บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS  ว่า Osteoporosis Silent Killer เป็นคำแปลมาจากต่างประเทศที่ให้นิยาม Osteoporosis  (โรคกระดูกพรุน) ว่าเป็น Silent Killer (ฆาตกรเงียบ) ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมผู้สูงอายุ ปัจจุบันจะเริ่มด้วยคนไข้ประสบปัญหาปวดหลัง เนื่องจากมีกระดูกสันหลังยุบ ถือเป็นสัญญาณเตือน เพราะเมื่อเกิดการสะโพกหักปีแรก ปีต่อมาจะสะโพกหักอีกข้าง และสุดท้าย ต่อให้คนไข้ได้รับการดูแล แต่อาจจะจบลงด้วย RIP หรือเสียชีวิต

ดูแล \'สูงวัย\'เมื่อพลัดตกหกล้ม เรื่องไม่เล็กที่ต้องเฝ้าระวัง

 

จุดเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน

นพ.สุทร กล่าวต่อว่ากระดูกของผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุน จะมีลักษณะคล้ายๆ อิฐบล็อกโปร่งๆ หรือบางชิ้นเหมือนฝอยขัดหม้อ อีกทั้ง ผู้ที่มีภาวะโรคกระดูกพรุน จะไม่ได้แสดงอาการ ยกเว้น เมื่อมีอาการเจ็บ หรือล้มลง  เพราะส่วนใหญ่มักไม่ได้มีการตรวจเช็กกระดูก  โดยกระดูกในร่างกายเรามีเกือบทุกตำแหน่งแต่ไม่มีการตรวจ  ซึ่งจุดเสี่ยงกระดูกหักจากกระดูกพรุน จะเป็นบริเวณที่มักเกิดกระดูกหักจากกระดูกพรุน ได้แก่

  • กระดูกสันหลัง
  • สะโพก
  • ข้อมือ

"สิ่งแรก เรารู้หรือไม่ว่า Osteoporosis หรือโรคกระดูกพรุน คืออะไร ซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งอายุ ฮอร์โมน ปริมาณแคลเซียมในร่างกายไม่เพียงพอ คุณภาพกระดูกแย่ลง หักง่ายมากขึ้น และบางคนไม่ได้จำเป็นต้องตกจากที่สูง เดินเข้าห้องน้ำตอนกลางคืน ก็อาจจะหกล้มได้ หรือบางคนยืนๆ อยู่ก็ล้มได้ โดยผู้สูงอายุที่เป็นผู้หญิงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ประมาณ 40% จะมีสัญญาณเตือนจากโรค Osteoporosis และจะมีอาการหักในบางตำแหน่ง ก่อนจะหักไปอีกตำแหน่ง จนสุดท้ายมีผลต่อการใช้ชีวิต เกิดความพิการ และโรคนี้เมื่อเป็นไม่ได้ส่งผลเฉพาะคนไข้ แต่ส่งผลต่อครอบครัวด้วย"นพ.สุทร กล่าว

ดูแล \'สูงวัย\'เมื่อพลัดตกหกล้ม เรื่องไม่เล็กที่ต้องเฝ้าระวัง

อาการกระดูกพรุน

เนื่องจากโรคกระดูกพรุนมักไม่มีอาการเตือนใด ๆ ผู้ป่วยมักไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคกระดูกพรุนจนเกิดอุบัติเหตุและนำไปสู่ภาวะกระดูกหัก อาการบ่งชี้อื่น ๆ ที่ควรใส่ใจและหมั่นสังเกต เพื่อให้สามารถรักษาและป้องกันโรคกระดูกพรุน ได้แก่

  • ปวดหลังเรื้อรัง
  • หลังค่อมหรือกระดูกสันหลังส่วนบนโค้งลง
  • ความสูงลดลง

นอกจากนั้น ก่อนที่จะมีการหกล้มเกิดจากโรคกระดูกพรุน จะสังเกตว่ามีอาการหลังค่อม ไหล่ห่อ หรือตัวเตี้ยลง  ซึ่งอาการเหล่านี้ มาจากกระดูกสันหลังยุบลง และถ้ามีการล้ม จะทำให้เห็นชัดเจน โดยโรคกระดูกพรุน เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญอันดับ 2 ของโลก  รองจากโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นภัยเงียบที่ไม่มีสัญญาณเตือน

ในปี 2564  ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนถึง 20% ยิ่งผู้สูงอายุมีอายุยืนยาวมากขึ้น ทำให้มีจำนวนผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนมากขึ้น และโรคอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย

"ความเสี่ยงเมื่อกระดูกสะโพกหักจากโรคกระดูกพรุน พบว่า 23% มักเสียชีวิตภายใน 1 ปี 30% พิการถาวร 40% ต้องใช้เครื่องช่วยพยุงในการเดิน และ80% ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เหมือนก่อนกระดูกหัก"นพ.สุทร กล่าว

ปัจจัยเสี่ยงกระดูกพรุน

  • เพศ 

ผู้หญิงเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่าและเร็วกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะเมื่อหมดประจำเดือน หรือผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง การสลายกระดูกจะเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากขาดฮอร์โมนเพศ จึงเริ่มสูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสเกิดกระดูกหักได้ถึง 40 – 50%

  • อายุ 

มวลกระดูกของคนเราหนาแน่นที่สุดเมื่ออายุประมาณ 30 ปี หลังจากนั้นจะค่อย ๆ ลดลงตามลำดับ

- ผู้หญิงอายุเกิน 60 ปี โอกาสเกิดกระดูกพรุน 10 คน ใน 100 คน

- ผู้หญิงอายุเกิน 70 ปี โอกาสเกิดกระดูกพรุน 20 คน ใน 100 คน

- ผู้หญิงอายุเกิน 80 ปี โอกาสเกิดกระดูกพรุน 40 คน ใน 100 คน

  • กรรมพันธุ์ 

ในครอบครัวที่พ่อหรือแม่มีโรคกระดูกพรุนแล้วมีกระดูกหัก ลูกจะมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนแล้วกระดูกหักด้วย

ดูแล \'สูงวัย\'เมื่อพลัดตกหกล้ม เรื่องไม่เล็กที่ต้องเฝ้าระวัง

  • เชื้อชาติ

ชาวต่างชาติที่มีผิวขาวและคนเอเชียมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนสูง

  • ยา

 การได้รับยาบางชนิดเป็นเวลานานทำให้มวลกระดูกบางลง เช่น กลุ่มยาสเตียรอยด์ในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์, ผู้ป่วยโรค SLE (โรคพุ่มพวง)ยาทดแทนธัยรอยด์ ยาป้องกันการชัก เป็นต้น

  • เคยกระดูกหัก 

โอกาสที่จะเกิดกระดูกหักซ้ำเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2.5 เท่า

  • แอลกอฮอล์ 

การดื่มเหล้า เบียร์ หรือแม้แต่ไวน์ในปริมาณมากกว่า 3 แก้ว/วัน ทำให้มีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนเร็วขึ้น

  • บุหรี่ 

สารพิษนิโคตินเป็นตัวทำลายเซลล์สร้างมวลกระดูกทำให้กระดูกบางลง หากสูบบุหรี่มากกว่า 20 มวน/วัน ความเสี่ยงต่อกระดูกสะโพกหักสูงขึ้น 1.5 เท่าของคนไม่สูบบุหรี่

  • ผอมเกินไป 

คนที่ผอมเกินไปจะเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่า และมีความเสี่ยงกระดูกหักเพิ่มขึ้น 2 เท่าของคนรูปร่างปกติ

  • ขาดสารอาหาร 

การรับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ นอกจากทำให้ร่างกายเสียสมดุลแล้วยังอาจขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างมวลกระดูก โดยเฉพาะแคลเซียม วิตามินดี และโปรตีน

  • ขาดการออกกำลังกาย 

คนไม่ออกกำลังกายมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่า พบว่า ผู้หญิงที่นั่งมากกว่า 9 ชั่วโมง/วัน เสี่ยงกระดูกสะโพกหักมากกว่าผู้หญิงที่นั่งน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวันถึง 50%

  • การรับประทานอาหาร 

ถ้าได้รับเกลือมากกว่า 1 ช้อนชา/วัน ชา กาแฟมากกว่า 3 แก้ว/วัน น้ำอัดลมมากกว่า 4 กระป๋อง/สัปดาห์ และทานโปรตีนมากกว่า 10 – 15% ในแต่ละมื้อของอาหาร มีความเสี่ยงกระดูกพรุนสูง เนื่องจากอาหารและเครื่องดื่มดังกล่าวจะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียม ส่วนอาหารเค็มจัดและคาเฟอีนยังทำให้ร่างกายขับแคลเซียมมากขึ้นอีกด้วย

"กระดูกหักจากภาวะกระดูกพรุน มีอันตรายสูงมาก ควรป้องกันและรักษาภาวะกระดูกพรุนทันทีเมื่อทราบ  โดยเฉพาะการหักบริเวณสะโพก เพราะจะลุกไม่ได้ เดินไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ ส่งผลต่อการใช้ชีวิตในผู้สูงอายุอย่างมาก"นพ.สุทร กล่าว

รักษาทันทีเมื่อทราบ ลดการเสียชีวิต

การรักษา 'โรคกระดูกพรุน' นั้น จะเริ่มจากการซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างรวดเร็วที่ห้องฉุกเฉิน โดยทีมสหสาขาวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ อายุรแพทย์ด้านต่างๆ เช่น อายุรแพทย์ผู้สูงอายุ อายุรแพทย์โรคหัวใจ เพื่อตรวจดูว่าผู้ป่วยมีโรคประจำตัวอะไร อาการเป็นอย่างไรบ้างและให้การตรวจรักษาตามแนวทางที่โรงพยาบาลในกลุ่ม BDMS จัดทำขึ้น

"หากผู้ป่วยต้องได้รับการผ่าตัดรักษากระดูกสะโพก ก็จะทำให้ทราบได้ทันทีว่า ผู้ป่วยแข็งแรงพอที่จะรับการผ่าตัดหรือไม่ ซึ่งโรงพยาบาลในกลุ่ม BDMS ตั้งเป้าหมายไว้ว่า หากผู้ป่วยต้องรับการผ่าตัด ต้องสามารถเตรียมความพร้อมของร่างกายผู้ป่วย ให้เข้าห้องผ่าตัดได้ไม่เกิน 36 ชั่วโมงจากที่รับรักษาตัวไว้ในโรงพยาบาล เพื่อเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนจากการที่ผู้ป่วยต้องนอนอยู่กับที่เป็นเวลานาน และช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ไว"นพ.สุทร กล่าว

ดูแล \'สูงวัย\'เมื่อพลัดตกหกล้ม เรื่องไม่เล็กที่ต้องเฝ้าระวัง

โรงพยาบาลในกลุ่ม BDMS มีแนวทางการทำกายภาพบำบัดเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ รวมทั้งให้ความสำคัญในการรักษาโรคกระดูกพรุนเพื่อป้องกันกระดูกหักซ้ำในอนาคต ซึ่งปัจจุบัน ได้ให้การรักษาผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักมากกว่า 500 ราย เคสที่ได้รับการผ่าตัดทั้งหมดไม่มีผู้ใดเสียชีวิตใน 28 วันตามข้อกำหนดสากล ภาวะแทรกซ้อนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และมีผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัดซ้ำเพียง 1 ราย ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก

รู้วิธีป้องกันโรคกระดูกพรุน 

 

'ผู้สูงอายุ' ควรดูแลตัวเองให้มากกว่าปกติ

  • ควรลดความเครียด
  • รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น กุ้งแห้ง ถั่วแดง ผักคะน้า ฯลฯ ซึ่งเป็นสารหลักในการสร้างเนื้อกระดูก
  • โดยเฉพาะ ผู้หญิงที่หมดประจำเดือน การเสริมแคลเซียมไม่ได้ช่วยให้กระดูกแข็งแรง แต่ช่วยยับยั้งการเสื่อมสลายของกระดูก
  • ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อาทิตย์ละ 2 – 3 ครั้ง ๆ ละ 1 ชั่วโมง จะช่วยลดการสลายของแคลเซียมจากกระดูกได้ด้วย
  • ควรงดการสูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • พยายามป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการหกล้ม

การป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุถือว่า เป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยเริ่มจาก

  • การปรับปรุงสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน เช่น มีราวจับขึ้นลงบันได ราวจับในห้องน้ำ
  • จัดบ้านให้เป็นระเบียบไม่วางของระเกะระกะ มีแสงสว่างที่เพียงพอ รับการตรวจตาและการได้ยิน
  • ดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรง ลดภาวะเจ็บป่วย โดยรับประทานอาหารให้เพียงพอ เน้นผักและผลไม้
  • ไม่ควรงดอาหาร เพราะจะทำให้อ่อนเพลีย มึนงง และเกิดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุได้ 

ดูแล \'สูงวัย\'เมื่อพลัดตกหกล้ม เรื่องไม่เล็กที่ต้องเฝ้าระวัง

เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้วต้องรู้จักวิธีการปฐมพยาบาลและการดูแลผู้ป่วยสูงอายุที่หกล้มเบื้องต้น คือ 

1. ถ้ามีศีรษะกระแทกและไม่รู้สึกตัว ให้นอนในท่าเดิมและเรียกรถพยาบาล

2. ถ้าผู้ป่วยรู้ตัวดีและมีอาการปวดต้นคอร่วมด้วย ให้นอนราบไม่หนุนหมอนเรียกรถพยาบาล พยายามขยับผู้ป่วยให้น้อยที่สุด

3. ในส่วนของผู้ป่วยที่ปวดสะโพกหรือต้นขา ให้นอนในท่าที่ผู้ป่วยปวดน้อยที่สุดแล้วเรียกรถพยาบาล ไม่ควรเคลื่อนย้ายเอง เพราะอาจจะทำให้มีการเคลื่อนของกระดูกมากขึ้นได้

4 .กรณีผู้ป่วยศีรษะกระแทก แต่ไม่ปวดต้นคอ รู้ตัวดี ให้ญาตินำส่งโรงพยาบาล 

5. กรณีมีแผลเลือดออกให้ใช้ผ้าสะอาดกดไว้นาน 10 - 15 นาที