ทำอย่างไร? ให้เด็ก-ผู้ใหญ่-สูงวัย ได้รับวัคซีนป้องกันโรคที่เหมาะสม
ปัจจุบันโลกของเรามีวัคซีนหลากหลายชนิด ซึ่ง ‘การฉีดวัคซีน’ เป็นการป้องกันโรค ไม่ใช่การรักษาโรค โดยวัคซีนบางชนิดสามารถรับเพียงแค่ครั้งเดียวก็สามารถป้องกันโรคไปได้ระยะเวลานาน หรือตลอดชีวิต แต่มีบางวัคซีนที่ต้องฉีดซ้ำทุกปี หรือตามที่แพทย์กำหนด
Keypoint:
- การรับวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นชนิดทาน หรือชนิดฉีด ล้วนมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เพราะเป็นการป้องกันโรคต่างๆ ไม่ให้เกิดขึ้น
- ปัจจุบันต้องมีการฉีดวัคซีน ตั้งแต่เด็กไปจนถึงสูงอายุ อย่ามองว่าเป็นผู้ใหญ่แล้วไม่ต้องฉีดวัคซีน อย่าง วัคซีนไข้หวัดใหญ่
- เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรค ลดผลข้างเคียงและยังกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี เพราะเด็กโตและผู้ใหญ่มีการตอบสนองต่อวัคซีนต่างกัน ต้องให้วัคซีนต้องเป็นไปอย่างเหมาะสม
วัคซีน (vaccine) เป็นชีววัตถุที่เตรียมขึ้นจากเชื้อจุลินทรีย์ที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลง ตาย หรือ ชิ้นส่วนของเชื้อจุลินทรีย์หรือการใช้ส่วนที่เป็นพิษที่อ่อนฤทธิ์ลง ซึ่งเมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายจะทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อจุลินทรีย์ชนิดนั้นๆ และสามารถป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคได้
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน วัคซีนให้ประโยชน์มากมาย พบว่าวัคซีนช่วยลดอัตราเสียชีวิตและพิการในเด็กแรกคลอดและเด็กจำนวนมากมายทั่วโลกเป็นล้านๆคน
ทว่า หลังจากมีการใช้วัคซีนฉีดในเด็กอย่างแพร่หลายมานานหลายสิบปีและสามารถลดการเกิดโรคติดเชื้อหลายชนิดในเด็กได้อย่างชัดเจน เด็กที่ได้วัคซีนเมื่อเวลาผ่านไปเติบโตเป็นผู้ใหญ่ พบว่าภูมิคุ้มกันโรคที่เกิดจากการฉีดวัคซีนตั้งแต่ในวัยเด็กจะมีระดับสูงไม่เพียงพอในการป้องกันโรค จึงต้องมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคเหล่านี้ซ้ำในผู้ใหญ่
ฉะนั้น การรับวัคซีน ต้องรับตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ และผู้สูงวัยควรได้รับวัคซีนเช่นเดียวกัน เพื่อป้องกันโรคที่อาจจะเกิดขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ขยายเวลาฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี ผู้ประกันตน ม.33 ม.39 เช็กสิทธิ เงื่อนไข
แนวทางตารางฉีดวัคซีนเด็ก
ในงาน BDMS ACADEMIC ANNUAL MEETING 2023 ระหว่างวันที่ 30 ต.ค.-3 พ.ย.2566 ภายใต้แนวคิด 'A Road to Lifelong Well-Being' จัดโดยบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ซึ่งเป็นงานประชุมวิชาการที่จัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อการพัฒนาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ทางวิชาการให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในสาขาต่าง ๆ รวมทั้งผู้ที่สนใจ
วันที่ 31 ต.ค.2566 ที่ผ่านมา นพ.พรเทพ สวนดอก โรงพยาบาลกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ ได้ในหัวข้อ Effectively Recommending Vaccines Across the Lifespan ว่า ปี 2566 สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ได้มีการปรับเปลี่ยนตารางการให้วัคซีน โดยมีประเด็นดังต่อไปนี้
1.เพิ่มรายละเอียดการให้วัคซีนโปลิโอแบบ sequential regimen ดังนี้ ในกรณีที่ได้รับ IPV 2 ครั้ง ที่อายุ 2 เดือน และ 4 เดือน (sequential regimen) ไม่ต้องให้ OPV ที่ 2 เดือน และ 4 เดือน จากนั้นให้ OPV ที่ 6 เดือน 18 เดือน และ 4 – 6 ปี
2.เพิ่มวัคซีนรวม คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ชนิดทั้งเซลล์-ตับอักเสบบี-โปลิโอชนิดฉีด-ฮิบ (DTwP-HB-IPV-Hib, SHAN6TM) เป็นหนึ่งในวัคซีนทางเลือก โดยสามารถฉีดได้ที่อายุ 2, 4, 6 เดือน
3.เพิ่มรายละเอียดชนิดของวัคซีนเอชพีวี ดังนี้ ชนิด 2 สายพันธุ์ (16, 18; CervarixTM, CecolinTM) ชนิด 4 สายพันธุ์ (6, 11, 16, 18; GradasilTM) และชนิด 9 สายพันธุ์ (6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52, 58; Gradasil 9TM)
4.เพิ่มรายละเอียดชนิดขององค์การอนามัยโลก ปี พ.ศ. 2565 วัคซีนเอชพีวี สามารถฉีด 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 6 เดือน ในผู้ที่มีอายุ 9 ปีขึ้นไป และอาจพิจารณาฉีด 1 เข็มเป็นทางเลือกในผู้ที่มีอายุ 9 – 20 ปี ทั้งหญิงและชาย สำหรับผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องควรฉีดอย่างน้อย 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 6 เดือน และหากเป็นไปได้ควรฉีด 3 เข็ม
การฉีดวัคซีนโปลิโอแก่เด็ก
โดยมีประเด็นต่าง ๆ ที่ปรับเปลี่ยน ดังนี้
5.เพิ่มชนิดของวัคซีนนิวโมคอคคัสชนิดคอนจูเกต ดังนี้ วัคซีนนิวโมคอคคัสชนิดคอนจูเกต 13 สายพันธุ์ (WeuphoriaTM) อายุที่รับรองให้ใช้ คือ 6 สัปดาห์ – < 6 ปี และ 15 สายพันธุ์ (PCV15) คือ VaxneuvanceTM โดยอายุที่รับรองให้ใช้ได้ คือ ตั้งแต่ 6 สัปดาห์ขึ้นไป และสามารถใช้ PCV10/13/15 เพื่อฉีดให้ครบตามตารางการฉีดวัคซีน
6.เพิ่มวัคซีนอีวี 71 (inactivated vaccine; EntroVacTM) สามารถป้องกันได้เฉพาะกลุ่มโรคมือเท้าปาก จากเชื้อ EV71 โดยอายุที่รับรองให้ใช้ได้ คือ 6 เดือน – น้อยกว่า 6 ปี โดยฉีดเข้ากล้าม 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน
7.เพิ่มรายละเอียดชนิดของวัคซีนอีสุกอีใส ดังนี้ วัคซีนอีสุกอีใสมี 2 ชนิด คือ สายพันธุ์ OKA (VarilrixTM, VarivaxTM, SKYvaricellaTM) และ MAV06 (Varicella GCCTM)
8.เพิ่มชนิดของวัคซีนไข้เลือดออก ดังนี้ วัคซีน live-attenuated recombinant dengue2-dengue (QdengaTM) ฉีดได้ในผู้ที่มีอายุ 4 – 60 ปี ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 3 เดือน สามารถฉีดได้ทั้งผู้ที่เคย และไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน โดยไม่จำเป็นต้องตรวจภูมิคุ้มกันก่อนการฉีดวัคซีน
การให้วัคซีนของไทยแต่โรคจะแตกต่างกัน ซึ่งสถานการณ์โรคโปลิโอในประเทศไทย ปัจจุบันยังไม่มีรายงานการพบผู้ป่วยโปลิโอ แต่ยังคงพบผู้ป่วย VAPP (Vaccine-associated paralytic poliomyelitis) หรือ ภาวะที่มีอาการกล้ามเนื้อแขนขามีอัมพาตอ่อนแรงอย่างเฉียบพลันแบบไม่สมดุลอย่างต่อเนื่อง และเป็นผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี จึงมีข้อกำหนดให้ใช้วัคซีนโปลิโอ โดยให้หยอด bivalent OPV (Type1,3) 5 ครั้ง ร่วมกับฉีดวัคซีน IPV 1 ครั้งที่อายุ 4 เดือน และเด็กที่อายุ 2 เดือนสามารถทำได้ ให้ใช้วัคซีนโรคโปลิโอชนิดฉีด (IPV) แทนวัคซีนโปลิโอชนิดรับประทาน (OPV)
เช็กวัคซีนบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน
ขณะเดียวกัน สามารถใช้ชนิดฉีดแทนชนิดกินได้ทุกครั้ง หากใช้ชนิดฉีดอย่างเดียวโดยตลอดอาจให้เพียง 4 ครั้ง งดเมื่ออายุ 18 เดือนได้ และในกรณีที่ได้รับ IPV 2 ครั้งที่อายุ 2 เดือนและ 4 เดือน (sequential regimen) ไม่ต้องให้ OPV ที่2 และ4 เดือน จากนั้นให้ OPV ที่ 6 เดือน 18 เดือนและ 4-6 ปี
ในส่วนของอาการไอกรน แล้ว 19.6% ของเด็กที่ไอนานกว่า 1 สัปดาห์ เป็นไอกรน และ 18.4% ของผู้ใหญ่ที่ไอนานกว่า 2 สัปดาห์เป็นไอกรน
สำหรับวัคซีนบาดทะยัก คอตีบ ไอกรนนั้น เป็นวัคซีนที่ประกอบด้วย ท็อกซอยด์ (Toxoid) ของเชื้อบาดทะยัก (Tetanus) คอตีบ (Diphtheria) และเชื้อไอกรนที่ทำให้ตายชนิดทั้งเซลล์ (Whole cell Pertussis) เนื่องจากมีการรายงานการเกิดปฏิกิริยาอันไม่พึงประสงค์จากไอกรนชนิดทั้งเซลล์ (wP) ที่อยู่ในวัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ชนิดทั้งเซลล์ (Whole cell) (DTwP)
จึงมีการพัฒนาวัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์ (Acellular Pertussis) หรือ DTaP ซึ่งทำให้เกิดปฏิกิริยาต่างๆ ได้เช่นเดียวกับ DTwP แต่พบในอัตราที่น้อยกว่า รวมทั้งยังอาจพบอาการบวมอย่างมากเฉพาะที่ได้ ซึ่งมักเกิดเมื่อมีการฉีด DTaP ต่อเนื่องเป็นเข็มที่ 4 และ 5 ส่วนใหญ่มีอาการภายใน 3 วัน และหายได้เอง1,2
ปัจจุบันมีวัคซีนหลายชนิดให้เลือกใช้ ได้แก่
1. DTwP วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ชนิดทั้งเซลล์ (Whole cell Pertussis)
2. DTaP วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ชนิดไร้เซลล์ (Acellular Pertussis)
3. DT วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก
4. Td วัคซีนบาดทะยัก-คอตีบ
5. TT วัคซีนบาดทะยักชนิดเดี่ยว
6. Tdap วัคซีนรวมบาดทะยัก-คอตีบ-ไอกรน ชนิดไร้เซลล์ (Acellular pertussis)
ความสับสนระหว่างวัคซีน DTwP, DTaP กับ Tdap และระหว่าง DT กับ Td ซึ่งมีการเขียนที่แตกต่างกันเนื่องจากวัคซีนที่ใช้ในเด็กเล็ก ( DTwP, DTaP,DT ) มีสัดส่วนของปริมาณ Toxoid ของเชื้อคอตีบ (D) มากกว่าปริมาณ Toxoid ของเชื้อคอตีบ (d) ที่ใช้ในเด็กโตและผู้ใหญ่ (Tdap ,Td) 3-5 เท่า
ทั้งนี้ วัคซีน Tdap มีสัดส่วนของปริมาณ Toxoid ของเชื้อคอตีบ (d) และส่วนประกอบของเชื้อไอกรน (ap) ลดลง ให้เหมาะกับเด็กโตและผู้ใหญ่ แต่ปริมาณ Toxoid ของเชื้อบาดทะยัก (T) มีเท่าเดิม เพื่อลดผลข้างเคียงและยังกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี เพราะเด็กโตและผู้ใหญ่มีการตอบสนองต่อวัคซีนคอตีบและไอกรนมากกว่าเด็กเล็ก จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังและตรวจสอบวัคซีนที่ใช้ให้ถูกต้องอย่างน้อย 3 ครั้งก่อนนำไปใช้
ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่อายุ 6 เดือนเป็นต้นไป
ส่วนวัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถฉีดได้ตั้งแต่เด็กอายุ 6 เดือนเป็นต้นไป โดยในเด็กที่อายุน้อยกว่า 9 ปีที่รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ครั้งเเรก จะต้องได้รับ 2 ครั้ง ในปีแรกนั้น โดยห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน หลังจากนั้น ควรได้รับการฉีดวัคซีน ทุกๆ ปี ปี ละ 1 ครั้ง
การป้องกัน อื่นๆ ที่จะช่วยป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ ล้างมือ ใส่หน้ากาก หลีกเลี่ยงสถานที แออัดหรือคลุกคลีคนป่วย เมื่อมีการไอ จาม ควรปิดปาก ปิ ดจมูก และควรแยกเด็กทีเป็นไข้หวัดออกจากเด็กคนอื่นๆ เพือป้องกันการติด ไข้หวัดระหว่างกัน
ทำไม? ผู้ใหญ่-สูงวัยต้องฉีดวัคซีน
ศ.นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าปัจจุบันการฉีดวัคซีนป้องกันโรคในช่วงผู้ใหญ่และผู้สูงอายุได้รับความสนใจและสนับสนุนในการฉีดวัคซีนมากขึ้นทั้งในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน แต่ยังพบว่าอัตราการให้วัคซีนยังอยู่ในอัตราที่ต่ำ
โดยมาจากสาเหตุหลายประการ เช่น วัยรุ่น ผู้ใหญ่มักไม่มีโอกาสพบแพทย์และได้รับการฉีดวัคซีนเนื่องจากมักมีสุขภาพดีไม่ป่วยและไม่มีโปรแกรมการนัดฉีดวัคซีนตามอายุที่ชัดเจนเหมือนโปรแกรมในเด็กเล็ก แพทย์ไม่ได้พิจารณาให้วัคซีนแก่ผู้ใหญ่เนื่องจากแพทย์บางท่านเข้าใจผิดคิดว่าผู้ป่วยเคยรับวัคซีนมาแล้วหรือเคยเป็นโรคเลยไม่ฉีดวัคซีนให้
รวมทั้ง แพทย์บางท่านไม่เข้าใจถึงความสำคัญของการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อที่มีความรุนแรงโดยเฉพาะในผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรง การจัดบริการการฉีดวัคซีนสำหรับผู้ใหญ่ในสถานพยาบาลไม่ชัดเจนหรือไม่เหมาะสมประชากรอาจกลัวการฉีดวัคซีนหรือกลัวผลข้างเคียงจากการรับวัคซีน ประชากรยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนโดยเฉพาะวัคซีนมีราคาแพงซึ่งอาจไม่มีความคุ้มทุนในการฉีดวัคซีนบางชนิด ฯลฯ
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ จำเป็นสำหรับสูงวัย
สำหรับวัคซีนที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ 60-65 ปี ได้แก่ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นโรคที่มีความสำคัญและพบเป็นสาเหตุที่ต้องเข้าโรงพยาบาลหรือป่วยหนัก ทำให้เกิดความพิการหรือเสียชีวิต ปัจจุบันมีการให้บริการฉีดฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย สำหรับผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน หอบหืด ถุงลมปอดโป่งพอง โรคหัวใจ โรคไตวายเรื้อรัง และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน และหญิงตั้งครรภ์กว่า 3.5 ล้านโดส และจะเพิ่มเป็น 6 ล้านโดสในปีถัดไป
รวมถึง วัคซีนป้องกันนิวโมคอคคัสซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียตัวการทำให้อาการป่วยหนักขึ้น บางรายถึงขั้นติดเชื้อในกระแสโลหิตหรือเสียชีวิต ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันปอดบวมจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัส แต่ประเทศไทยยังไม่มีให้บริการฟรี เนื่องจากราคาสูงราว 1,000-2,000 บาท นอกจากนี้การฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก คอตีบ วัคซีนป้องกันงูสวัด กระตุ้นทุก 10 ปี ก็มีความสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยพบว่ายังมีผู้สูงอายุที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนอยู่เป็นจำนวนมาก สาเหตุหลักคือห่างไกลโรงพยาบาลและแพทย์ไม่แนะนำให้ฉีด รวมถึงประชาชนยังไม่รู้ถึงประโยชน์ในการฉีดวัคซีน และมีความกังวลว่าการฉีดวัคซีนอาจมีผลข้างเคียง
แต่ในความเป็นจริงผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนไม่รุนแรงและมักเป็นอาการเฉพาะที่เช่น ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีด หรือมีไข้ และหายได้ภายใน 2-3 วัน ดังนั้นการให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพในผู้สูงอายุและการป้องกันโดยการฉีดวัคซีนจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดการทนทุกข์ทรมานต่อความเจ็บป่วย และลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล