วัยทำงานระวัง! 'โรคภูมิคุ้มกันทำลายเกล็ดเลือด' ภัยเงียบเสี่ยงอันตราย
เช็กตัวเอง! หากเหนื่อยง่ายบวกกับมีผิวช้ำง่าย มีจุดเลือดออกแดงๆ กระจายใต้ผิวหนัง เลือดออกแล้วหยุดไหลช้า ฯลฯ อาการเหล่านี้เข้าข่าย “โรคภูมิคุ้มกันทำลายเกล็ดเลือด (ITP)” วัยทำงานอย่าชะล่าใจ
Key Points:
- โรคเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกัน คือ โรคที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายมีความผิดปกติ จึงไปทำลายเซลล์เกล็ดเลือดของตัวเราเอง ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคนี้ได้แทบทุกช่วงวัย ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ
- คนทั่วไปปกติจะมีค่าเกล็ดเลือดมากกว่า 150,000 เกล็ดต่อไมโครลิตร แต่ถ้าในผู้ป่วยโรคนี้บางกรณีพบว่ามีเกล็ดเลือดต่ำมากอยู่ที่ประมาณ 9,000-10,000 เกล็ดต่อไมโครลิตร ทำให้เลือดออกง่ายทั้งภายในและภายนอกร่างกาย
- สาเหตุของการเกิดโรคนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่แพทย์สันนิษฐานว่า “เชื้อไวรัสบางชนิด” อาจมีส่วนไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันแบบผิดปกติออกมา
“ระบบภูมิคุ้มกัน” เป็นอีกหนึ่งระบบสำคัญของร่างกายที่ทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ ป้องกันไม่ให้เราป่วย แต่ถ้าวันหนึ่งมันทำงานผิดปกติ แทนที่จะไปทำลายเชื้อโรคแต่กลับไปทำลาย “เซลล์เกล็ดเลือด” ของเราเอง จนทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำผิดปกติ เลือดออกง่ายผิดปกติ ก็ย่อมทำให้เสี่ยงอันตรายต่อชีวิตได้ ดังนั้นจึงเป็นภัยเงียบที่วัยทำงานไม่ควรมองข้าม
ศ.พญ.นงนุช สิระชัยนันท์ จากสาขาโลหิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ฯ รามาธิบดี ม.มหิดล ให้ข้อมูลผ่านรายการ RAMA Health Talk ไว้ว่า โรคเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกัน หรือ Immune thrombocytopenia (ITP) คือ โรคที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายมีความผิดปกติ จึงไปทำลายเซลล์เกล็ดเลือดของตัวเราเอง
ร่างกายคนเราปกติจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพื่อทำลายเชื้อโรค เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เพื่อไม่ให้เราป่วย แต่บางครั้งเกิดความผิดปกติของภูมิคุ้มกันขึ้นมา คือ มันมองเห็นว่าเซลล์เกล็ดเลือดหน้าตาเหมือนเซลล์เชื้อไวรัส มันจึงเข้าไปทำลายเซลล์เกล็ดเลือดของเราโดยไม่ตั้งใจ
"ภูมิคุ้มกันทำลายเกล็ดเลือด" เป็นภัยเงียบ เพราะยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด
สาเหตุการเกิดโรคภูมิคุ้มกันทำลายเกล็ดเลือด นี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ทางการแพทย์สันนิษฐานกันว่า “เชื้อไวรัสบางชนิด” อาจมีส่วนไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันแบบผิดปกติออกมา หรืออีกประการหนึ่งคือ เกิดจากโรคดั้งเดิมของผู้ป่วยที่ชักนำให้เกิดภูมิคุ้มกันผิดปกติ เช่น โรค SLE หรือลูปัส เป็นโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายซึ่งก่อให้เกิดการอักเสบและทำลายอวัยวะต่างๆ รวมถึงโรค HIV เป็นต้น
ยกตัวอย่างคนไข้เคสหนึ่งที่ พญ.นงนุช เคยให้การรักษา พบว่าผู้ป่วยรายนี้ตรวจเจออาการของ โรคITP ในวัยเด็ก โดยอาการของเธอในตอนนั้นคือ มีอาการผิวช้ำง่าย เกิดขึ้นเองโดยไม่ได้ล้มหรือไม่ได้โดนสิ่งของกระแทกใดๆ รวมถึงมีจุดเลือดเล็กๆ กระจายตามแขนขา เลือดกำเดาไหลบ่อย เหนื่อยง่าย เป็นต้น เคสนี้เคยรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งมาก่อนแต่ไม่ดีขึ้น จึงเปลี่ยนมารักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี และในที่สุดก็รักษาได้หายขาด จากช่วงที่ป่วยมีเกล็ดเลือดต่ำมากประมาณ 9,000 กว่าๆ ต่อไมโครลิตร แต่ตอนนี้เกล็ดเลือดกลับมาอยู่ในระดับปกติแล้ว
ความอันตรายของโรคนี้คือ เลือดจะออกง่ายทั้งภายในภายนอกร่างกาย หากเลือดไหลภายนอก (เช่น เลือดกำเดาไหล, เลือดออกตามไรฟัน ฯลฯ) ยังพอรู้ตัวและรีบไปหาหมอได้ทัน แต่ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเลือดจะออกด้านในร่างกายจุดไหนบ้าง (เช่น ช่องท้อง, สมอง ฯลฯ) ซึ่งเสี่ยงอันตราย ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษและกินยาอย่างมีวินัยเคร่งครัดจึงจะหายดี
โดยคนทั่วไปปกติจะมีค่าเกล็ดเลือดมากกว่า 150,000 เกล็ดต่อไมโครลิตร แต่ในคนที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีเกล็ดเลือดต่ำมาก เช่นบางเคสพบว่า ค่าเกล็ดเลือดต่ำว่า 10,000 เกล็ดต่อไมโครลิตร หรือในบางกรณีก็อาจจะไม่ต่ำมาก อยู่ที่ประมาณ 50,000-100,000 เกล็ดต่อไมโครลิตร เป็นต้น ซึ่งก็จะส่งผลต่ออาการป่วยที่หนัก-เบาแตกต่างกันไป
ขณะที่ข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ยังชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า ในกรณีที่เกล็ดเลือดต่ำมาก คือ มีระดับเกล็ดเลือดที่น้อยกว่า 30,000 เซลล์/ไมโครลิตร จะเป็นความเสี่ยงที่อาจจะเกิดเลือดออกได้เอง โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีอุบัติเหตุหรือการกระทบกระแทกมาก่อนเลย
เปิดลิสต์อาการที่เข้าข่าย "โรคเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกัน (ITP)"
ศ.พญ.นงนุช ย้ำว่าโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกช่วงวัย ทุกคนมีสิทธิเป็นได้ จึงอยากให้สังเกตตัวเองว่ามีความผิดปกติที่เข้าข่ายอาการป่วยเหล่านี้หรือไม่ ได้แก่
1. เลือดออกตามเยื่อบุร่างกาย เช่น เลือดกำเดาไหลง่าย แล้วหยุดไหลยาก ปกติเลือดหากมีกำเดาไหล ไม่เกิน 5 นาทีเลือดต้องหยุดแล้ว หรือไหลออกมาปริมาณมากผิดปกติ เป็นต้น นอกจากนี้ก็อาจพบเลือดออกตามไรฟัน-ช่องปาก ที่มากผิดปกติ
2. ตามผิวหนังมีรอยช้ำ รอยจ้ำ หรือจุดแดงเล็กๆ กระจายใต้ผิวหนัง ถ้ายิ่งเกล็ดเลือดต่ำมาก รอยช้ำรอยจ้ำหรือจุดเลือดออกใต้ผิวหนังก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้น
3. หลังเกิดบาดแผลแล้วเลือดออกมามากผิดปกติ หรือเกิดบาดแผลแล้วเลือดหยุดไหลช้า
4. ในผู้หญิงมีอีกอาการหนึ่งคือ ประจำเดือนมามากผิดปกติ
นอกจากนี้ สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย ยังมีข้อมูลด้วยว่า ประวัติที่สำคัญของโรค ITP คือ การแสดงอาการที่มีเลือดออกที่เข้าได้กับภาวะเกล็ดเลือดต่ำอย่างเดียว ผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์ด้วยปัญหาเลือดออกง่าย โดยจะมีเลือดออกทางผิวหนังและทางเยื่อบุโดยไม่มีอาการแสดงอื่นๆ (เช่น ไข้ น้ำหนักลด ปวดกระดูก เหงื่อออกตอนกลางคืน เป็นต้น) หรือเป็นผู้ป่วยที่มีประวัติเกล็ดเลือดต่ำมานานและไม่ตอบสนองต่อการรักษาตามมาตรฐานเบื้องต้น
โรคนี้รักษาหายได้ แต่ต้องกินยาและดูแลตัวเองเคร่งครัด
มาพูดถึงกระบวนการรักษากันบ้าง หากถูกวินิจฉัยพบว่าป่วยเป็น “โรคภูมิคุ้มกันทำลายเกล็ดเลือด” แพทย์จะดูตามอาการว่ารุนแรงมากหรือน้อย เป็นแบบฉับพลันหรือเป็นแบบเรื้อรัง โดยแพทย์จะพิจารณารักษาโดยการให้ยา, การให้เลือดหรือเกล็ดเลือดโดยตรง, การผ่าตัดม้าม (เกิดจากคนไข้มีภาวะโรคตับจึงทำให้มีม้ามโต เกล็ดเลือดส่วนหนึ่งจึงเข้าไปอยู่ในม้ามทำให้เกล็ดเลือดต่ำลง) หรืออื่นๆ ตามที่แพทย์วินิจฉัย
หากผู้ป่วยเลือดออกรุนแรงมาก แปลว่าผู้ป่วยมีเกล็ดเลือดต่ำมาก ก็จะรักษาโดยการให้ยากลุ่มสเตียรอยด์ ซึ่งผู้ป่วยจะตอบสนองต่อการรักษาได้ดี 70-80% และก็อาจจะมียาทางเลือกอื่นๆ อีก ที่แพทย์พิจารณาจ่ายยาเพิ่มเติมได้ในกรณีคนป่วยตอบสนองต่อยาเดิมได้ไม่ค่อยดี
เนื่องจากว่าโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัด ดังนั้นการป้องกันอาจจะยาก อย่างไรก็ตาม ศ.พญ.นงนุช แนะนำว่าสิ่งที่ทุกคนทำได้ก็คือ การป้องกันในภาพรวมนั่นคือการหมั่นดูแลตัวเองให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ ออกกำลังกายกินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายแข็งแรงไว้ก่อนจะดีที่สุด