'พาราเซตามอล' สารพัดประโยชน์ แต่มีโทษหากใช้พร่ำเพรื่อ
พาราเซตามอล ยาบรรเทาอาการปวดระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง และบางครั้งยังใช้ลดไข้ในเด็กและผู้ใหญ่ จัดเป็นยาสามัญประจำบ้าน และเป็นยาที่ไม่อันตราย แต่หลายคนมักใช้ยาเกินขนาด ใช้พร่ำเพรื่อ หรือใช้โดยที่ไม่มีอาการ ซึ่งส่งผลเสียต่อร่างกายได้
Key Point :
- ยาพารา ซึ่งถือเป็นยาสามัญประจำบ้านที่หลายคนเลือกหยิบมาทานเวลาไม่สบาย ปวดหัว ตัวร้อน ปวดเมื่อย และดูจะสารพัดประโยชน์
- แม้จะดูบรรเทาอาการได้หลากหลาย แต่หากทานเกินขนาด ทานพร่ำเพรื่อ ก็อาจส่งผลต่อร่างกายได้
- การทาน พาราเซตามอล ใน 1 วัน ไม่ควรเกิน 8 เม็ด ซึ่งโดยปกติจะเม็ดละ 500 มิลลิกรัม และควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อให้รักษาได้ตรงจุดมากขึ้น
พาราเซตามอล หรือ ที่เรียกกันติดปากว่า ยาพารา ยาสามัญประจำบ้านที่ทุกคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะ ปวดข้อ ปวดกล้ามเน้อ และยังเป็นยาลดไข้ได้อีก อย่างไรก็ตาม แม้จะสารพัดประโยชน์ แต่หากใช้ไม่ถูกวิธี ก็สามารถเป็นอันตรายต่อร่างกายได้เช่นกัน
ข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายว่า พาราเซตามอล เป็นยาบรรเทาอาการปวดระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง และบางครั้งยังใช้ลดไข้ในเด็กและผู้ใหญ่ จัดเป็นยาสามัญประจำบ้าน และเป็นยาที่ไม่อันตราย ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งสารเคมีบางชนิดในสมองของมนุษย์ ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับอาการปวด เช่น สารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) และจะชักนำให้เกิดกลไกการลดอุณหภูมิหรือลดไข้ของร่างกายลง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- อย. ยันตามคืนได้ ยาลดความดัน 'เออบีซาแทน' 42 รุ่น ปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง
- ซื้อ 'นมแม่'ลูกเสี่ยงอันตราย รับเชื้อโรค
- อย.ยกเลิกเลขอนุญาต เครื่องดื่ม หัวปลีผสมขิงและใบเตย ชนิดผง ยี่ห้อดัง
ปัญหาที่พบจากการใช้ยาพาราเซตามอล
- ใช้ยาพร่ำเพรื่อ
การกินยาพาราเซตามอลพร่ำเพรื่อติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้ตับทำงานบกพร่อง โดยเฉพาะการกินยาร่วมกับแอลกอฮอล์ จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่ออาการตับอักเสบมากขึ้น
- ใช้ยาเกินขนาด
การกินยาพาราเซตามอลต่อครั้ง ระบุว่าต้องกินยาขนาด 1-2 เม็ด ถ้าหากกินมากเกิน 2 เม็ด ต้องดูที่น้ำหนักตัวของผู้ป่วยว่าสัมพันธ์กับขนาดยา 10-15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หรือไม่ ถ้าหากนำน้ำหนักตัวผู้ป่วยมาคำนวณแล้วเกินกว่า 10-15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) แปลว่าใช้ยาเกินขนาด จะทำให้มีความเสี่ยงต่อตับเช่นเดียวกับการใช้ยาพร่ำเพรื่อ
- ใช้ยาทั้งที่ไม่มีอาการ
บางรายมีการใช้ยาทั้งที่ไม่มีอาการ เช่น การกินยาดักไว้ก่อน เพื่อป้องกันอาการไข้ ทั้งที่ยังไม่มีไข้เกิดขึ้น ถือเป็นการใช้ยาที่ไม่สมเหตุสมผล และไม่ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษา ทั้งยังอาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากยาได้
แล้วพาราฯ ควรทานอย่างไร
- ทาน 1-2 เม็ด ห่างกัน 4-6 ชั่วโมง
- ใน 1 วันจะไม่ให้เกิด 8 เม็ด หรือ 4 กรัม (หากเทียบเท่า 1 เม็ดเท่ากับ 500 มิลลิกรัม)
- สามารถกินก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
- ระวังในผู้ป่วยที่มีภาวะการทำงานของตับบกพร่องหรือน้ำหนักตัวน้อย เนื่องจากอาจจำเป็นต้องปรับขนาดยา
- เป็นยารักษาตามอาการ หากไม่มีอาการปวดหรือไม่มีไข้ ไม่จำเป็นต้องกินยา
- กรณีลืมกินยา สามารถกินได้ทันทีที่นึกขึ้นได้ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยา
อาการของการใช้ยาพาราเซตามอลเกินขนาด
อาการแสดงของการใช้ยาเกินขนาดจะแสดงใน 1-3 วัน มีทั้งหมด 3 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร เหงื่อออก เป็นระยะสั้น ๆ โดยจะเกิดภายใน 24 ชั่วโมง บางรายอาจไม่มีอาการ
ระยะที่ 2 หลังกินยาระหว่าง 24-48 ชั่วโมง ไม่มีอาการแสดง แต่เมื่อเจาะเลือดจะพบว่าเอนไซม์ทรานซามิเนส (transaminase) เริ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่แสดงถึงการบาดเจ็บของตับ
ระยะที่ 3 หลังกินยาไปแล้ว 48 ชั่วโมง มีอาการตับอักเสบ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหารอีกครั้ง มีภาวะแทรกซ้อนเหมือนตับอักเสบทั่วไป หากรุนแรงอาจมีอาการสมองเสื่อมจากโรคตับ และเสียชีวิตได้หากได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที
พารา ไม่ได้รักษาได้ทุกโรค
ภญ.ปวันรัตน์ เสวตสมบูรณ์ ฝ่ายเภสัชกรรม คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มาเคลียร์ความเชื่อผิดๆ และใช้พาราเซตามอล อย่างไรให้ปลอดภัย ผ่านรายการ RAMA SQUARE ว่า พาราเซตามอล มีข้อบ่งใช้ในการบรรเทาอาการปวด ลดไข้ ไม่ได้ใช้สารพัดประโยชน์เหมือนที่หลายคนเข้าใจ
โดยทั่วไปหากมีอาการปวดแปล๊บๆ เหมือนเข็มทิ่มแทง อาจจะเกิดจากระบบเส้นประสาทของร่างกายทำงานผิดปกติ การใช้พาราเซตามอลบรรเทาอาการปวด อาจช่วยได้แค่ชั่วคราว ต้องหาสาเหตุโดยตรงว่าเกิดจากอะไร เพื่อให้ใช้ยาได้ตรงจุด เพราะการที่ทานยาพาราเซตามอลเกิน หรือ ทานติดต่อหลายๆ วัน อาจจะเกิดอาการเป็นพิษได้
พาราฯ จะให้ทานห่างกัน 4-6 ชั่วโมง หากจำเป็นต้องทานบ่อยๆ ถี่มากขึ้น จาก 4 ชั่วโมง เป็น 2 ชั่วโมง ต้องมาดูว่าขนาดยาเพียงพอต่อร่างกายหรือไม่ ในคนไข้บางคนทานบ่อย ต้องดูว่ารักษาตรงจุดหรือไม่ เช่น ปวดท้อง มาทานก็ไม่ใช่การรักษาตรงจุด หรือ อาการปวดเสียวแปล๊บๆ แล้วมาทานพารา อาจจะช่วยได้เล็กน้อยและกลับมาปวดใหม่ ต้องพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษาได้ตรงจุด
ขณะเดียวกัน ในคนไข้ที่ปวดกระเพาะอาหาร เป็นความผิดปกติทางเดินอาหาร ยาพาราเซตามอลไม่ได้ใช้ช่วยบรรเทาอาการเหล่านั้น ดังนั้น หากเป็นโรคกระเพาะ อาจะต้องทานยาลดกรด หรือ ยาปรับทางเดินอาหารแทน เพราะพาราเซตามอลไม่ได้ช่วย
“พาราเซตามอล เป็นแค่ยาที่ช่วยบรรเทาอาการ ไม่จำเป็นต้องครบจำนวนเหมือนยาปฏิชีวนะ แต่หากทานแล้วหายก็สามารถหยุดยาได้เลย ไม่ต้องทานจนยาหมด ใช้แค่บรรเทาอาการปวดหรือลดไข้เวลาที่เป็น”
ทั้งนี้ ข้อบ่งใช้ พาราเซตามอล ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดและลดไข้ ซึ่งในแต่ละบริษัทยาแต่ต่างกัน บางบริษัทยาในต่างประเทศอาจจะเป็นแคปซูลใส ทานไปออกฤทธิ์ทันที หรือ บางบริษัทยาอาจจะผลิตให้ควบคุมการออกฤทธิ์ 8 ชั่วโมง เพื่อให้ลดความถี่ในการทานลง อย่างไรก็ตาม ยาพารา อาจจะไม่ได้มีแค่พาราเซตามอลเดี่ยวๆ อาจจะมีผสมกับยาอื่นได้ ดังนั้น จะต้องดูยาให้ละเอียดทุกครั้งก่อนที่จะซื้อยาทานเอง เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องตระหนัก
“อย่างที่ทุกคนทราบว่า ยาทุกตัวมีทั้งคุณและโทษต่างกัน พาราเซตามอล ที่หลายคนอาจคิดว่ารักษาอาการได้สารพัดโรค แต่ความจริงเพื่อบรรเทาอาการปวดหรือลดไข้ หากคนที่ไม่มีอาการตามข้อบ่งใช้ อยากจะให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา ไม่ซื้อยาทานเอง เพราะการที่ทานยาไม่ตรงจุด หรือทานยาบ่อยๆ ก็อาจะเกิดผลเสียต่อร่างกาย และเกิดพิษได้”
ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาพาราเซตามอล
- หากมีภาวะการทำงานของตับผิดปกติ ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาเสมอ
- ห้ามใช้ยากับคนที่แพ้ยาพาราเซตามอลเด็ดขาด อาการแพ้ยา ได้แก่ ผื่นขึ้น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
การเก็บรักษายาพาราเซตามอล
- เก็บในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท
- เก็บให้พ้นแสงแดดและความร้อน อย่าให้อยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส
- เก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- อย่าเก็บยาในที่ชื้น เพราะจะทำให้ยาเสื่อมสภาพ