‘มะเร็งปอด’ มีโอกาสพบใน ‘ผู้หญิง’ มากกว่าผู้ชาย แม้ไม่เคยสูบบุหรี่
"มะเร็งปอด" เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย และไม่ได้เป็นเฉพาะคนที่สูบบุหรี่เท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น ผลการวิจัยใหม่พบว่า “ผู้หญิง” วัยผู้ใหญ่ตอนต้นไปจนถึงวัยกลางคนเป็นมะเร็งปอดในอัตราที่สูงกว่าผู้ชาย
เข้าสู่ช่วงปลายปี “ฝุ่น PM 2.5” เริ่มกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง เป็นที่รู้กันดีว่า ฝุ่นละอองเหล่านี้ไม่ดีต่อสุขภาพ มีงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า หากสูดดมในร่างกาย ทำให้เกิดการอักเสบ ในระบบทางเดินหายใจขึ้น ซึ่งอาจจะสัมพันธ์กับการเกิด “โรคมะเร็งปอด” ได้
หากพูดถึง “มะเร็งปอด” คนมักจะคิดว่าเป็นโรคที่เกิดขึ้นจากการสูบบุหรี่เป็นประจำ แต่ความจริงแล้วมะเร็งปอดเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย และไม่ได้เป็นเฉพาะคนที่สูบบุหรี่เท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น ผลการวิจัยใหม่พบว่า “ผู้หญิง” วัยผู้ใหญ่ตอนต้นไปจนถึงวัยกลางคนเป็น “มะเร็งปอด” ในอัตราที่สูงกว่าผู้ชาย
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า สังคมขาดความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบของโรคมะเร็งปอดที่มีต่อผู้หญิง และรัฐบาลสหรัฐไม่ให้ความสำคัญต่อโรคนี้ในผู้หญิง
“คนส่วนใหญ่เข้าใจว่ามะเร็งที่คร่าชีวิตผู้หญิงมากที่สุดคือ มะเร็งเต้านม แต่ความจริงแล้วมันคือ มะเร็งปอดต่างหาก เราจำเป็นต้องให้ความรู้กับผู้คนมากขึ้นเกี่ยวกับโรคนี้” ดร.แอนเดรีย แม็คคี ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีรักษาและโฆษกทางการแพทย์ของสมาคมปอดแห่งอเมริกัน (American Lung Association) กล่าว
ข้อมูลจากการประชุม GO2 for Lung Cancer Conference เมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นพร้อมกันว่า มะเร็งปอดเป็น “ภัยซ่อนเร้น” ของผู้หญิง และจำเป็นต้องหาวิธีสื่อสารกับผู้คนให้รับรู้ถึงภัยของมะเร็งปอด เพราะในสหรัฐมีผู้หญิงเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดทั้งสิ้น 59,910 คน เฉลี่ยประมาณ 164 คนต่อวัน
สอดคล้องกับข้อมูล จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ โดยกรมการแพทย์ ในปี 2022 ระบุว่ามะเร็งปอดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของคนไทย เมื่อแบ่งตามเพศพบว่ามะเร็งปอดคร่าชีวิตผู้หญิงมากเป็นอันดับ 1 ขณะที่ผู้ชายอยู่ที่อันดับ 2 รองจากมะเร็งตับ
ในอดีตถือว่ามะเร็งปอดเป็นโรคของผู้ชายสูงอายุ เพราะผู้ชายมักสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคมะเร็งปอด โดยบุหรี่ถือเป็นหนึ่งในเสบียงของทหารช่วงยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ต่างจากผู้หญิงที่ถูกห้ามสูบบุหรี่ แต่ในยุคหลังที่สิทธิสตรีเบ่งบาน ทำให้ผู้หญิงหันมาสูบบุหรี่มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่ได้อธิบายถึงการเพิ่มขึ้นของมะเร็งปอดในผู้หญิงทั้งหมด เพราะอัตราการเป็นมะเร็งปอดในผู้หญิงกลับสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้หญิงที่ไม่เคยสูบบุหรี่ ทั้งที่ข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐ ระบุว่า อัตราการสูบบุหรี่ลดลงอย่างมากในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Oncology เมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ทำการศึกษาผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดระหว่างปี 2000-2019 พบว่าผู้หญิงอายุระหว่าง 35-54 ปี ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอดในอัตราที่สูงกว่าผู้ชายที่มีอายุใกล้เคียงกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจำนวนผู้ชายที่เป็นมะเร็งปอดลดลงมากกว่าจำนวนของผู้หญิง
ผลวิจัยพบว่า ในช่วง 43 ปีที่ผ่านมา การวินิจฉัยโรคมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 84% ในผู้หญิง สวนทางกับฝ่ายผู้ชายที่ลดลง 36% แม้ว่าผู้หญิงหลายคนไม่เคยสูบบุหรี่ก็ตาม แท้จริงแล้วผู้หญิงที่ไม่เคยสูบบุหรี่มีแนวโน้มเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ชายที่ไม่สูบบุหรี่มากกว่าสองเท่า
นักวิจัยกำลังพยายามทำความเข้าใจว่าเหตุใดอัตราการเกิดมะเร็งปอดจึงสูงขึ้นในกลุ่มสตรีอายุน้อย รวมถึงวิธีที่ดีที่สุดในการช่วยเหลือผู้ป่วย
- สาเหตุมะเร็งปอด
อาห์เมดิน เจมัล รองประธานอาวุโสฝ่ายเฝ้าระวังและความเท่าเทียมด้านสุขภาพของ American Cancer Society องค์กรส่งเสริมและป้องกันโรคมะเร็ง กล่าวว่า การสูบบุหรี่ยังคงเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปอด และผู้หญิงมักจะเลิกบุหรี่ได้ยากกว่า
ขณะที่ ดร.ชโยตี พาเทล ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ด้านเนื้องอกวิทยา จากมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น เปิดเผยว่า “ผู้หญิงที่ไม่เคยสูบบุหรี่เลย เป็นมะเร็งราวประมาณ 15-20% ของผู้หญิงที่ป่วยมะเร็งปอดงทั้งหมด พวกเขาอาจได้รับควันบุหรี่มือสอง หรือร่างกายของผู้หญิงอาจมีการเผาผลาญสารก่อมะเร็งแตกต่างจากผู้ชาย ซึ่งเรายังไม่รู้แน่ชัดถึงสาเหตุที่แน่ชัด เราต้องศึกษากันต่อไป”
สิ่งแวดล้อมและรูปแบบการใช้ในชีวิตประจำวันก็มีผลทำให้เป็นมะเร็งปอดได้ โดย ดร.แพทริค ฟอร์ด รองศาสตราจารย์ด้านเนื้องอกวิทยา ที่ศูนย์มะเร็งจอห์น ฮอปกินส์ คิมเมล เปิดเผยว่า มลพิษทางอากาศมีความเชื่อมโยงกับมะเร็งปอด และอาจเป็นไปได้ที่ผู้หญิงอาจมีความไวต่อมลพิษทางอากาศเป็นพิเศษมากกว่าผู้ชาย
ตามข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐ หรือ C.D.C (Centers for Disease Control and Prevention) ระบุว่า ก๊าซเรดอน ธาตุกัมมันตภาพรังสีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและมองไม่เห็น มีอยู่ในวัสดุการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน เช่น น้ำ หิน ดิน ทราย ซึ่งสามารถสะสมในบ้านบางหลังได้ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งปอดเป็นอันดับสองรองจากการสูบบุหรี่
- เพิ่มการรับรู้เรื่องมะเร็งปอดให้ผู้หญิง
ขณะนี้สหรัฐกำลังพิจารณาการออกกฎหมายเพื่อการวิจัย และบริการป้องกันมะเร็งปอดในสตรี โดยกำหนดให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานของรัฐให้มอบข้อมูล รณรงค์ และเข้าถึงวิธีการป้องกันการเกิดมะเร็งปอดในผู้หญิง
ในปี 2019 งบประมาณด้านมะเร็งปอดของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ มีเพียง 15% เท่านั้น ที่ใช้ไปในการทำวิจัยมะเร็งปอดในผู้หญิง ทั้งที่มะเร็งปอดเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้หญิงเสียชีวิตมากกว่า มะเร็งเต้านม รังไข่ และมะเร็งปากมดลูกรวมกันเสียอีก
แม้จะมีการศึกษาเรื่องมะเร็งปอดมาตลอด แต่ผู้หญิงจำนวนมากกลับไม่อยู่ในการศึกษาวิจัยขนาดใหญ่เกี่ยวกับมะเร็งปอดเลยด้วยซ้ำ ที่สำคัญก่อนปี 1993 การทดสอบทางคลินิกส่วนใหญ่ก็ละเว้นผู้หญิงเช่นกัน นอกจากนี้การวิจัยแสดงให้เห็นว่ามะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่ได้รับทุนสนับสนุนน้อยที่สุด เพียง 1 ดอลลาร์ต่อการเสียชีวิต
ด้วยเหตุที่คนไม่รู้ว่าผู้หญิงเป็นมะเร็งปอดจำนวนมากประกอบกับอคติทางเพศทำให้ผู้หญิง โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงผิวสีมีโอกาสเข้ารับการตรวจมะเร็งปอดน้อยกว่าคนกลุ่มอื่น ทั้งที่มะเร็งปอดสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่เฉพาะคนที่สูบบุหรี่
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า อาการทั่วไปที่พบได้บ่อยของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด ได้แก่ มีอาการไอเป็นระยะเวลานาน ไอเรื้อรัง อาจมีเสมหะปนเลือด เหนื่อย หายใจไม่สะดวก มีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด โดยไม่ทราบสาเหตุ ปอดอักเสบติดเชื้อบ่อย ๆ บางคนอาจมีอาการเสียงแหบห้าว ในกรณีที่รุนแรงอาจไอเป็นเลือดได้ หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์ มะเร็งยิ่งพบเร็วยิ่งสามารถหายได้เร็ว
ที่มา: CNN, New York Post, The New York Times, The Washington Post
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์