Fried Rice Syndrome ภาวะอาหารเป็นพิษจากเชื้อ B.cereus ความร้อนฆ่าไม่ตาย

Fried Rice Syndrome ภาวะอาหารเป็นพิษจากเชื้อ B.cereus ความร้อนฆ่าไม่ตาย

รู้จัก “Fried Rice Syndrome” หรือ ภาวะอาหารเป็นพิษจากเชื้อแบคทีเรีย B.cereus ที่อยู่ในอาหารกินเหลือแล้วเก็บรักษาผิดวิธี พบบ่อยในอาหารกลุ่มแป้ง (ข้าว, พาสต้า) แม้จะอุ่นร้อนก่อนกินแต่ก็ยังวางใจไม่ได้!

ไม่กี่วันก่อน Theconversation และ Dailymail ต่างก็รายงานถึงกระแสความตื่นตระหนกเกี่ยวกับ Fried Rice Syndrome บนสื่อสังคมออนไลน์อย่าง Tiktok ในวงกว้าง ซึ่งต้นเรื่องมาจากผู้ใช้งานบางคนนำกรณีของชายอายุ 20 ปีที่เสียชีวิตจาก Fried Rice Syndrome ในปี 2551 มาพูดถึงบนโลกออนไลน์อีกครั้ง 

สำหรับสาเหตุการเสียชีวิตมาจากการที่เขากินพาสต้าที่เหลือค้างไว้ถึง 5 วันโดยวางไว้นอกตู้เย็น แม้เจ้าตัวจะนำมาอุ่นร้อนก่อนกิน แต่เชื้อโรคเหล่านั้นก็ยังทำให้เกิดอาหารเป็นพิษรุนแรง ทั้งนี้การเสียชีวิตลักษณะดังกล่าวพบได้น้อย แต่กรณีนี้ก็ทำให้หลายคนหันมาสนใจวิธีเก็บรักษาอาหารที่ถูกต้อง และวิธีป้องกันตนเองจาก Fried Rice Syndrome

 

  • Fried Rice Syndrome อาหารเป็นพิษจากการติดเชื้อ B.cereus

หลังจากประเด็นนี้แพร่สะพัดไปไม่นานก็มีทั้งแพทย์ นักโภชนาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยในอาหาร ฯลฯ ต่างก็ออกมาให้คำแนะนำกับชาวเน็ตมากมาย ยกตัวอย่างเช่น Dr.Joe แพทย์จากแผนกฉุกเฉินซึ่งมีผู้ติดตาม 1.7 ล้านคนบน Tiktok ได้ออกมาให้ความรู้ว่า Fried Rice Syndrome คือ กลุ่มอาการอาหารเป็นพิษที่เกิดจากการกินอาหารปรุงสุกบางชนิดที่จัดเก็บผิดวิธี (เก็บนอกตู้เย็น) จนทำให้เชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Bacillus cereus หรือ B.cereus เจริญเติบโตในอาหารเหล่านั้น

โดยเฉพาะอาหารประเภทแป้ง เช่น ข้าวและพาสต้า มักเป็นสาเหตุของอาการดังกล่าว แต่บางครั้งก็พบเชื้อโรคชนิดนี้ในผักและเนื้อสัตว์ปรุงสุกที่เก็บรักษาไม่ถูกวิธีเช่นกัน โดย แบคทีเรีย B.cereus สามารถผลิตสารพิษได้ ยิ่งเก็บอาหารปรุงสุกเหล่านั้นไว้ที่อุณหภูมิห้องนานเท่าไร เชื้อแบคทีเรียและสารพิษเหล่านี้ก็จะมีโอกาสเติบโตมากขึ้นเท่านั้น

Fried Rice Syndrome ภาวะอาหารเป็นพิษจากเชื้อ B.cereus ความร้อนฆ่าไม่ตาย

 

  • เชื้อแบคทีเรีย B.cereus สร้างพิษได้ แถมทนความร้อนสูง

Dr.Joe ย้ำว่าเชื้อ B.cereus เป็นสาเหตุหลักของอาการ Fried Rice Syndrome เนื่องจากมีส่วนที่เป็นแบคทีเรียชนิดอื่นไม่มี กล่าวคือมันสร้างเซลล์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่าสปอร์ ซึ่งทนทานต่อความร้อนได้ดีมาก ดังนั้นแม้ว่าผู้บริโภคจะอุ่นอาหารที่เหลือด้วยอุณหภูมิสูงก็อาจจะไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคชนิดนี้ได้ (เชื้อโรคอื่นๆ ส่วนใหญ่เมื่อโดนความร้อนสูงก็จะตายไป) 

สปอร์ของเชื้อ B.cereus เหล่านี้ตามปกติมันจะอยู่ในสภาวะสงบเงียบ แต่หากได้รับอุณหภูมิและสภาวะที่เหมาะสม พวกมันก็สามารถเติบโตและจะเริ่มผลิตสารพิษที่มีความอันตรายต่อร่างกายคนเรา หากเรากินอาหารที่มีเชื้อโรคชนิดนี้จำนวนมากเข้าไป ก็จะเกิดอาการท้องเสียและอาเจียน โดยการติดเชื้อ B.cereus มี 2 ประเภท ประเภทหนึ่งมักเกี่ยวข้องกับอาการท้องเสีย และอีกประเภทหนึ่งเกี่ยวข้องกับอาการอาเจียน

โดยทั่วไปอาการเจ็บป่วยดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะหายไปเองได้ภายใน 2-3 วัน แต่ในผู้ที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว อาจมีแนวโน้มที่จะต้องไปพบแพทย์

อย่างไรก็ตาม ภาวะอาหารเป็นพิษจากเชื้อ B.cereus ไม่ใช่กรณีที่พบได้บ่อยที่สุดของโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร แต่อาการป่วยจากการติดเชื้อ อี.โคไล, ซัลโมเนลลา และแคมไพโลแบคเตอร์ อาจพบได้บ่อยกว่า รวมถึงอาการป่วยจากสาเหตุของไวรัสในกระเพาะ เช่น โนโรไวรัส ก็พบได้บ่อยมากกว่าเช่นกัน ทั้งนี้ ผู้บริโภคก็ควรปลอดภัยไว้ก่อน หากอยากเก็บอาหารปรุงสุกที่เหลือไว้กินต่อก็ควรรู้จักวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสม

 

  • วิธีเก็บรักษาอาหารให้เหมาะสม ป้องกัน Fried Rice Syndrome

1. อาหารปรุงสุกที่กินเหลือและอยากเก็บไว้กินต่อ ต้องเก็บรักษาในตู้เย็นทันที

2. หากเผลอวางอาหารไว้ในอุณหภูมิห้อง นานกว่า 2 ชั่วโมงขึ้นไป ควรอุ่นอาหารร้อนอีกครั้ง จากนั้นค่อยนำไปเก็บในตู้เย็น

3. อาหารปรุงสุกที่คุณอยากเก็บบางส่วนไว้รับประทานในวันต่อๆ ไป ให้แบ่งส่วนนั้นเก็บแช่เย็นทันที โดยไม่ต้องรอให้เย็นสนิท

4. ปฏิบัติตามกฎ "2 ชม./4 ชม." คือ หากอาหารวางอยู่นอกตู้เย็นนาน 1-2 ชั่วโมง ก็สามารถใส่กลับคืนในตู้เย็นได้อย่างปลอดภัย แต่หากปล่อยไว้นานเกิน 4 ชั่วโมงขึ้นไปไม่ควรเก็บใส่ตู้เย็นและไม่ควรกิน

5. หากทำได้ให้แบ่งอาหารปริมาณมากออกเป็นส่วนเล็กๆ เพื่อที่ความเย็นจะได้เข้าถึงอาหารได้เร็วขึ้น อีกทั้งเมื่อจะนำมาออกมากินมื้อถัดไป ก็จะช่วยให้คลายความเย็นได้เร็วขึ้นเช่นกัน