‘ไส้ตรง..กินปุ๊ป ออกปั๊ป’ สุขภาพปังจริงหรือ?

‘ไส้ตรง..กินปุ๊ป ออกปั๊ป’ สุขภาพปังจริงหรือ?

หลายคนอาจมองว่าตัวเองโชคดีที่กินอะไรเข้าไป ก็ถ่ายท้องทันที อย่างที่เรียกได้ว่า  ‘กินปุ๊ป ออกปั๊ป’ ซึ่งจริงๆ การถ่ายอุจจาระ หรือขับถ่าย ประจำทุกวัน ถือเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าคุณสุขภาพดี

Keypoint:

  • หลายครั้งที่พบเห็นคนใกล้ตัวมีอาการ กินปุ๊ป ถ่ายปั๊ป จนเรารู้สึกว่า สุขภาพดีจัง ซึ่งจริงๆ ทางการแพทย์ เรียกว่า ภาวะ 'Gastrocolic reflex' หากถ่ายไม่รุนแรง ไม่เพลีย นั่นถือเป็นอาการปกติ
  • ทว่าภาวะดังกล่าว ไม่ได้เกี่ยวกับความอ้วน หรือความผอมของร่างกาย เพราะนั่นเป็นการขับถ่ายของเหลือจากร่างกาย แต่ไม่ได้นำพาเจ้าไขมัน ตามแขน ขา หน้าท้อง หรือในเส้นเลือดของเราไปได้ 
  • การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะ'Gastrocolic reflex'  ลดอาหารที่เป็นตัวกระตุ้น โดยต้องสังเกตอาการของตัวเอง ขณะเดียวกันควรงดแอลกอฮอล์ ลดความเครียด 

ทุกครั้งที่กินอาหารเข้าไป แล้วไม่แน่ใจว่าจะทันย่อยได้ดี ก็ต้องวิ่งเข้าห้องน้ำเสียแล้ว เป็นแบบนี้คงจะลำบากเอาไม่น้อย หากต้องไปทานอาหารข้างนอกบ้าน หรือกินเพื่ออาหารรองท้องระหว่างเดินทางต้องพะวงมองหาห้องน้ำกันให้วุ่นวาย จนบางทีก็แอบสงสัยเหมือนกันหรือเปล่าว่าที่เป็นแบบนี้ร่างกายของเรานั้น 'สุขภาพดีสุดปัง' หรือ เสี่ยงสุขภาพพัง' ?

อาการ 'กินปุ๊บ ปวดท้องถ่ายปั๊บ' ทางการแพทย์ เรียกว่า ภาวะ 'Gastrocolic reflex' เมื่อกินอาหารเข้าไป กระเพาะอาหารจะขยายตัว แล้วส่งสัญญาณไปที่ลำไส้และทวารหนัก ทำให้มีความรู้สึกปวดเบ่ง อยากถ่าย 

ใครที่มีอาการแบบนี้ ไม่ต้องกังวลไป  เพราะมันถือเป็นกลไกปกติ เพื่อขับอุจจาระเดิมออก และทำให้เรากินเพิ่มได้ ไม่ใช่ผลที่มาจากลำไส้สั้นแบบที่คิดกัน โดยอาการดังกล่าว มักเป็นช่วงกลางวันมากกว่ากลางคืนด้วย  ฉะนั้น เวลาไปกินบุฟเฟ่ต์อิ่มๆ ก็อย่าลืมมองหาห้องน้ำไว้ หรือกินเสร็จแล้วจะไปไหน ควรลองแวะเข้าห้องน้ำสักหน่อย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

โรคอุจจาระเต็มท้อง อันตรายที่คนชอบอั้นต้องระวัง !

ทางเดินอาหารทำงานผิดปกติ ปัญหาสุขภาพ 1 ใน 3 ของคนไทย

 

Gastrocolic reflex 'กินปุ๊ป ถ่ายปั๊ป' ไม่ใช่อาการผิดปกติ

โดยทั่วไป Gastrocolic reflex ถือเป็นกลไกปกติของร่างกาย แต่ถ้ากลไกนี้ทำงานมากเกินไปก็ถือเป็นความผิดปกติได้ การที่ Gastrocolic reflex ทำงานมากเกินไป (overactive gastrocolic response) อาจจะพบได้ใน 2 โรค คือ

1.โรคลำไส้แปรปรวนชนิดท้องเสียเด่น มีอาการเช่น หลังรับประทานอาหารจะรู้สึกปวดอยากถ่ายมาก กลั้นไม่ค่อยได้ ต้องรีบไปเข้าห้องน้ำทันที อาจมีปวดมวนท้อง ปวดเบ่ง ท้องอืด ร่วมด้วย หลังถ่ายเสร็จอาการมักจะดีขึ้น

2. Dumping syndrome มีอาการปวดเบ่งอยากถ่ายหลังรับประทานอาหารได้เหมือนกัน แต่แตกต่างจากลำไส้แปรปรวนตรงที่ภาวะนี้มักจะมีหน้ามืด เวียนศีรษะ ใจสั่น เหงื่อออก ร่วมด้วย

ในทางกลับกัน ถ้า Gastrocolic reflex ทำงานน้อยไปหรือไม่ทำงาน จะทำให้เกิดภาวะท้องผูกเรื้อรังได้ (Chronic constipation)

แต่ถ้ามีการปวดถ่ายแบบนี้บ่อยเกินไป (overractive gastrocolic response) หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ ด้วย แปลว่าอาจเสี่ยงเป็นโรค ดังต่อไปนี้ และอย่าลืมไปหาคุณหมอเพื่อตรวจเพิ่มเติมกันด้วย

‘ไส้ตรง..กินปุ๊ป ออกปั๊ป’ สุขภาพปังจริงหรือ?

เช็กสาเหตุทำให้ขับถ่ายทันทีรับประทานอาหาร 

  • ดื่มน้ำเยอะ           
  • รับประทานผัก และผลไม้เป็นจำนวนมาก  
  • ความไวที่เกิดจากการรับประทานอาหารบางชนิด เช่น อาหารรสเผ็ด น้ำส้มสายชู และกาแฟ เป็นต้น 
  • การออกกำลังกาย  
  • ท้องเสีย จากระบบทางเดินอาหารติดเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย
  • โรคลำไส้แปรปรวน   
  • ความเครียด
  • ผู้หญิงที่ใกล้มีประจำเดือน

 

อาการขับถ่ายทันทีหลังกินที่บ่งบอกถึงความผิดปกติของร่างกาย

  • รู้สึกอ่อนเพลีย จากการขับถ่าย
  • ขับถ่ายเป็นเลือด
  • ลักษณะของอุจจาระที่ออกมามีสีดำ เรียวเล็ก คล้ายดินสอ
  • รู้สึกขับถ่ายออกไม่หมด เหมือนมีอุจจาระค้างลำไส้
  • มีอาการปวดท้อง ขณะขับถ่าย
  • น้ำหนักลดลง

หากมีอาการเหล่านี้ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยว่าเกิดจากโรคอะไร และจะได้ทำการรักษาต่อไป อีกทั้งการตอบสนองกลไก Gastrocolic reflex ที่รุนแรง มีอาการขับถ่ายหลังรับประทานอาหารทันที ร่วมกับมีอาการปวดท้อง ท้องอืด และขับถ่ายอุจจาระเหลว นี่อาจเป็นอาการของโรคลำไส้แปรปรวน  (Irritable Bowel Syndrome : IBS)

‘ไส้ตรง..กินปุ๊ป ออกปั๊ป’ สุขภาพปังจริงหรือ?

ถ่ายหลังมื้ออาหารทันที ไม่ได้ทำให้ผอม

ต่อให้การกินอาหาร และขับถ่ายทันที ไม่ได้แปลว่าจะทำให้ผอม หรือเป็นกลุ่มคนที่กินเท่าไหร่ ก็ไม่อ้วน เพราะภาวะดังกล่าว ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องอ้วน หรือผอม เพราะต่อให้ การขับถ่ายอุจจาระจะเป็นการขับเอา 'ของเหลือ' จากระบบย่อยอาหาร หลังจากที่ร่างกายดูดซึมสารอาหารออกไปหมด แต่ไม่ได้มีการขับไขมันออกมาด้วย

"การถ่ายอุจจาระทำให้น้ำหนักลดลงได้ก็จริง แต่ลดลงแค่เศษเสี้ยวในส่วนที่เราขับถ่ายออกไป ส่วนไขมันจากการทานอย่างอร่อยปาก ยังคงอยู่ตามต้นแขน ต้นขา หน้าท้อง และหลอดเลือด ดังนั้น  การขับถ่ายไม่ได้ทำให้ผอม อยากลดน้ำหนักต้องคุมอาหารควบคู่กับการออกกำลังกายจึงจะเห็นผล"

ขับถ่ายแบบไหนที่เสี่ยงโรค 

การถ่ายหนักทันทีหลังทานอาหารจะไม่ใช่เรื่องน่ากังวล หากคุณไม่ได้มีอาการเหล่านี้

  • ถ่ายบ่อย และมากจนรู้สึกอ่อนเพลีย
  • ปวดบิด
  • ถ่ายเป็นเลือด
  • รู้สึกถ่ายไม่สุด เหมือนมีก้อนอะไรอุดที่รูทวาร
  • เบื่ออาหาร
  • ท้องอืด แน่นท้อง
  • น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ 
  • ถ่ายกลางคืน ต้องตื่นมาถ่ายบ่อย
  • รู้สึก​ถ่ายไม่สุด เหมือนมีอะไรมาตุงๆที่รูทวาร
  • มีภาวะเลือดจาง ไม่ทราบสาเหตุ
  • นิสัยการขับถ่ายเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะ​ในผู้สูงอายุ​ 50 ปีขึ้นไป

แต่เมื่อไหร่ที่มีอาการข้างต้นร่วมด้วยแล้วละก็ คุณอาจกำลังเผชิญกับโรคลำไส้แปรปรวน หรือ Irritable bowel syndrome (IBS) อยู่ก็เป็นได้

‘ไส้ตรง..กินปุ๊ป ออกปั๊ป’ สุขภาพปังจริงหรือ?

ป้องกันการตอบสนอง Gastrocolic reflex ที่รุนแรง

  • รับประทานอาการที่มีกากใย (Fiber)  ทีละน้อย แต่กินให้บ่อยครั้ง
  • รับประทานอาหารประเภทแป้ง และน้ำตาล อย่างเหมาะสม
  • ไม่ควรรับประทานอาหารประเภทใดประเภทหนึ่ง เป็นเวลาหลายมื้อ
  • ลดการรับประทานอาหารที่กระตุ้นในการเกิด  Gastrocolic reflex  เช่น นม เนย ครีม และอาหารที่มีไขมันสูง
  • งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ และน้ำอัดลม
  • ลดความเครียด ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย
  • ออกกำลังกายจะช่วยให้การทำงานของลำไส้ใหญ่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  • ปรับอาหาร ลองสังเกตดูว่า อาหารแต่ละชนิดกระตุ้นให้คุณต้องวิ่งเข้าห้องน้ำช้า-เร็ว ต่างกันยังไง แล้วลองค่อยๆ ปรับลดการทานอาหารที่ยิ่งกระตุ้น Gastrocolic reflex โดยเฉพาะในวันที่เร่งรีบ หรือวันที่ภารกิจเรียงคิวแน่นทั้งวัน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องทรมานกับการอดทนขนลุกทุกมื้ออาหารไป

อย่างไรก็ตาม การขับถ่ายทุกวัน โดยเฉพาะในช่วงตอนเช้า เป็นสิ่งดีต่อสุขภาพ แต่ก็มีคำถามที่กังวลใจสำหรับผู้ที่ขับถ่ายทันทีหลังรับประทานอาหารในทุกมื้อ ว่าจะเป็นอันตรายหรือไม่ มีข้อสมมุติฐานมากมาย เช่น การเกิดโรคลำไส้แปรปรวน การที่มีลำไส้ที่สั้นกว่าปกติ  แต่ในความเป็นจริงแล้วขับถ่ายทันทีหลังรับประทานอาหารสามารถเกิดขึ้นได้เป็นปกติ และแบบผิดปกติ

‘ไส้ตรง..กินปุ๊ป ออกปั๊ป’ สุขภาพปังจริงหรือ?

ในการขับถ่ายทันทีหลังรับประทานอาหาร จะเป็นอันตรายหรือไม่นั้น จะต้องมีส่วนประกอบอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของอุจจาระ อาการขณะกำลังขับถ่าย ทั้งนี้หากมีการขับถ่ายทันทีหลังรับประทานอาหาร มากกว่า 3 ครั้ง ควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งแพทย์จะให้คำปรึกษา และการรักษาจากการตอบสนองที่รุนแรงของ Gastrocolic reflex ได้ 

อ้างอิง: Health online by หมอเฉพาะทางโรคทางเดินอาหารและตับ ,โรงพยาบาลพญาไท ,โรงพยาบาลเพชรเวช