จะรู้ได้อย่างไร?..ว่าเข้าข่าย 'โรคอ้วน' ศูนย์รักษ์พุง รพ.จุฬาฯ ช่วยได้
ทำไม? ของอร่อยมักจะมาด้วยความเสี่ยงต่อสุขภาพและโรคต่าง ทั้งของมัน ของทอด ขนมหวาน เบเกอรี่ น้ำอัดลม ฟาสต์ฟู้ด เรียกได้ว่ายิ่งอร่อยก็ยิ่งอ้วน
Keypoint:
- ลดน้ำหนักไม่ใช่เรื่องยาก แต่อาจจะไม่สามารถทำได้ทันที ต้องมีวินัยในตนเอง ควบคุมการกิน การออกกำลังกาย เพราะหากตามใจปากไปเรื่อยๆ อาจจะกลายเป็นโรคอ้วนได้
- 'โรคอ้วน' ถือเป็นโรคเรื้อรังที่ก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ตามมาได้ทั้ง เบาหวาน หัวใจ ความดันโลหิตสูง หากไม่ดูแลสุขภาพ ป้องกันก่อนเกิดโรคอ้วน
- หมั่นสังเกตน้ำหนักของตนเอง หรือ คำนวณดัชนีมวลกายว่ามีภาวะความเสี่ยงเป็นโรคอ้วนหรือไม่ และหากเป็น ควรรีบปรึกษาแพทย์
ใครที่กำลังลดน้ำหนัก... การหักห้ามใจไม่ให้รับประทานนั้น ถือเป็นเรื่องยากมาก บางคนก็ปล่อยตัวเอง กินตามใจปาก จนทำให้น้ำหนักพุ่ง และเข้าสู่ภาวะโรคอ้วน
แล้วเราจะรู้อย่างไร? ว่าเจ้าน้ำหนักที่เกินแล้ว เกินอีก ต้องหนักเท่าไหร่ถึงจะเข้าสู่ภาวะโรคอ้วน จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าปี พ.ศ. 2559 ผู้ใหญ่มากกว่า 1.9 พันล้านคนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปมีน้ำหนักเกิน ปัจจุบันโรคอ้วนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
ผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรี (MICS) ในปี 2562 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) และองค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ประเทศไทย พบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนเพิ่มขึ้นจาก 8.8% ในปี 2561 เพิ่มเป็น 9.2% ในปี 2562 ส่วนเด็กอายุ 6-14 ปี จากฐานข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข พบเด็กมีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน เพิ่มขึ้นจาก 11.7% ในปี 2561 เพิ่มเป็น 12.4% ในปี 2564
ส่วนวัยผู้ใหญ่อายุ 19 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มอ้วนมากขึ้น จากคลังข้อมูลสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข (HDC) พบว่าเป็นโรคอ้วนหรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 25 กก./ตร.ม. มากถึง 45.6% ในปี 2563 และเพิ่มเป็น 46.2% ในปี 2564 และ 46.6% ในปี 2565
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ยิ่ง 'อดนอน' ก็ยิ่งอ้วน! วิจัยชี้ นอนน้อยกว่า 7 ชม. จะอ้วนง่ายขึ้น 26%
‘ศูนย์รักษ์พุง’ รักษาโรคอ้วนแบบองค์รวม
ศ.นพ.สุเทพ อุดมแสวงทรัพย์ ศัลยแพทย์โรคอ้วน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เล่าว่าศูนย์รักษ์พุง หรือโครงการจัดตั้งศูนย์บำบัดรักษาและป้องกันโรคอ้วนและโรคเมตาโบลิคแบบครบวงจร ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2550 โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านการผ่าตัดส่องกล้อง ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยโรคอ้วนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้ร่วมกับทีมแพทย์และสหสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องอีก 9 สาขา เพราะโรคอ้วน เป็นโรคที่ต้องทำการรักษาด้วยหลากหลายศาสตร์
“ตลอดระยะเวลากว่า 15 ปี ศูนย์รักษ์พุง สามารถรักษาผู้ป่วยโรคอ้วนนับหมื่นราย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่อ้วนมาตั้งแต่วัยเด็ก และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เคลื่อนไหวได้ไม่คล่องตัว หายใจลำบาก เหนื่อยหอบง่าย เนื่องจากผู้ป่วยจะมีขนาดอวัยวะที่ใหญ่ขึ้น และมีสรีระและระบบต่างๆ ของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงยังมีโรคร่วมมากกว่าหนึ่งโรคด้วย จึงจำเป็นต้องอาศัยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางพิเศษหลากหลายสาขาร่วมกันทำงานแบบสหสาขาวิชาชีพ มีการใช้เทคโนโลยีและการรักษาที่ทันสมัย เพื่อยกระดับและพัฒนาการดูแลรักษา ให้ผู้ป่วยเกิดความมั่นใจและมีความปลอดภัยสูงสุด เพื่อผลการรักษาที่ดีขึ้นสำหรับผู้ป่วย”ศ.นพ.สุเทพ กล่าว
เช็กน้ำหนัก ก่อนเข้าสู่ภาวะโรคอ้วน
‘โรคอ้วน (Obesity)’ เป็นภาวะที่จัดเป็นโรคเรื้อรังอย่างหนึ่ง และเป็นภาวะที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคร่วมต่างๆ อาทิ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ภาวะปอดทำงานผิดปกติ หลอดเลือดสมองขาดเลือด ข้อเข่าเสื่อม โรคถุงน้ำดี โรคไขมันคั่งสะสมในตับ และยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ผศ. (พิเศษ) พญ.พัชญา บุญชยาอนันต์ สาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เล่าว่าภาวะน้ำหนักเกิน และโรคอ้วน หมายถึงการสะสมไขมันที่ผิดปกติหรือมากเกินไปซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ ดังนั้น ควรสังเกตจากน้ำหนักตัวที่มากกว่าปกติ หรือ
คำนวณด้วยค่าดัชนีมวลกาย BMI (Body mass index) โดยคิดได้จากน้ำหนักตัว (หน่วยเป็นกิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (หน่วยเป็นเมตร) ยกกำลังสอง เช่น น้ำหนัก 80 กิโลกรัม ส่วนสูง 160 เซนติเมตร หรือ 1.60 เมตร คำนวนค่า BMI = 80 / (1.60 x 1.60) เท่ากับ 31.25 กก./ตร.ม. เป็นต้น
“หากดัชนีมวลกาย (BMI) ที่มากกว่า 25 กก./ตร.ม. ถือว่ามีภาวะน้ำหนักเกิน และมากกว่า 30 กก./ตร.ม. ถือว่ามีโรคอ้วน ซึ่งควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษา หรือคัดกรองว่าควรจะมีโรคอื่นๆ หรือไม่ ขณะเดียวกันสัญญาณเตือนเบื่องต้น จะสังเกตได้ว่า ผู้ป่วยโรคอ้วนมักจะง่วงนอนระหว่างวัน มีอาการเหนื่อยง่าย หยุดหายใจขณะเวลานอน ซึ่งอาการเหล่านี้ จะบ่งบอกถึงภาวะโรคอ้วน และภาวะแทรกซ้อนได้” ผศ.(พิเศษ) พญ.พัชญา กล่าว
ทั้งนี้ โรคอ้วนควรป้องกันตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก เพราะโรคอ้วนในเด็กจะส่งผล เช่น ขาโก่ง นอนกรน ระบบหายใจ หัวใจ พัฒนาการ และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรค NCDs ในวัยผู้ใหญ่ ที่สำคัญยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคเรื้อรังหลายชนิด ซึ่งข้อมูลของ WHO ยืนยันว่าโรคอ้วนในวัยเด็กนั้นมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคอ้วนในวัยผู้ใหญ่ รวมถึงการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและภาวะทุพพลภาพ
3 วิธีรักษาโรคอ้วนอย่างตรงจุด
ผศ.(พิเศษ) พญ.พัชญา เล่าต่อว่าแนวทางการรักษาโรคอ้วนในปัจจุบันสามารถแบ่งออกได้ 3 วิธี คือ
1.การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต
2.การรักษาโดยการใช้ยา
3.การรักษาโดยการผ่าตัด ใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร
ผู้ป่วยโรคอ้วนแต่ละรายจะได้รับการรักษาตามระดับความรุนแรงของโรค โดยจะเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต หากไม่ได้ผลจึงมีการใช้ยาร่วมด้วย
ปัจจุบันยาในการรักษาโรคอ้วนมีวิวัฒนาการในด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากขึ้น เช่น ยาในกลุ่ม GLP-1 analogues ในรูปแบบปากกาฉีดที่สามารถใช้ในการลดน้ำหนักในผู้ป่วยโรคอ้วนได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยบางรายอาจต้องพิจารณาการผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนัก
ขณะที่ การผ่าตัดมีด้วยกัน 2 วิธี ได้แก่
- การผ่าตัดลดกระเพาะอาหาร
- การผ่าตัดบายพาส
ทั้งนี้ แพทย์จะเป็นผู้ประเมินร่วมกับแพทย์สาขาที่เกี่ยวข้อง ผู้ป่วยและผู้ดูแล และคำนึงถึงภาวะโรคอ้วนและโรคต่างๆ ของผู้ป่วยร่วมด้วย โดยแพทย์จะพิจารณาทำการผ่าตัดเมื่อผู้ป่วยโรคอ้วนมีค่า BMI ตั้งแต่ 32.5 กก./ตร.ม. เป็นต้นไป และมีโรคร่วมที่เป็นภาวะแทรกซ้อน หรือผู้ป่วยที่มีค่า BMI มากกว่า 37.5 กก./ตร.ม.
“ผู้ป่วยที่มีเกณฑ์ในการรักษาด้วยการผ่าตัดจะได้รับการเตรียมการอย่างถี่ถ้วนเพื่อเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งพบว่าผู้ป่วยสามารถควบคุมน้ำหนักให้คงที่ในระยะยาวได้ อีกทั้ง น้ำหนักที่ลดลงช่วยให้การรักษาโรคร่วมได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น อาทิ ลดอัตราการใช้ยาในการรักษาโรคหัวใจ ไขมัน สามารถรักษาผู้ป่วยเบาหวานได้หายขาดสูงถึง 80% ลดอาการของโรคกระดูกและข้อ รวมถึงทำให้โรคนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับดีขึ้น ที่สำคัญการลดน้ำหนักยังทำให้ภาวะทางสุขภาพจิตและการเข้าสังคมของผู้ป่วยดีขึ้น” ผศ.(พิเศษ)พญ.พัชญา กล่าว
‘โรคอ้วน’ รักษาได้เริ่มต้นที่ตัวเอง
นายสามารถ เจริญสุข ผู้ป่วยโรคอ้วนที่เข้ารับการรักษาศูนย์รักษ์พุง รพ.จุฬาฯ เล่าว่าเข้ารับการรักษาโรคอ้วน ด้วยวิธีการผ่าตัดลดกระเพาะอาหาร ตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งขณะนั้นน้ำหนักอยู่ที่ 203 กิโลกรัม และมีภาวะแทรกซ้อน ทั้งโรคความดัน หัวใจเต้นผิดปกติ ออกซิเจนในเลือดต่ำ หยุดหายใจขณะหลับและเคยหลับขณะขับรถ โดยการรักษาของศูนย์รักษ์พุง จะมีทีมแพทย์ตรวจร่างกาย และให้คำแนะนำเตรียมความพร้อมของร่างกายและควบคุมความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ก่อนเข้ารับการผ่าตัด โดยใช้เวลาประมาณ 6-7 เดือน หลังจากผ่าตัดลดกระเพาะในปีแรก น้ำหนักเคยลดลงมาอยู่ที่ 95 กิโลกรัม
“ปัจจุบันน้ำหนักตัวอยู่ที่ 103 กิโลกรัม ตลอดการรักษามากว่า 11 ปี สามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติ ไม่ถูกบูลลี่เหมือนแต่ก่อน สภาพร่างกายและสภาพจิตใจดีขึ้นมาก รู้สึกไม่เป็นภาระของภรรยา เดินไม่หอบเหนื่อย สามารถเดินขึ้นเขาได้ ส่วนโรคภัยต่างๆ ตอนนี้เหลือเพียงอาการกรดไหลย้อน ซึ่งคนที่เป็นโรคอ้วนต่อให้รับการรักษาแล้ว แต่ต้องหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ ทั้งว่ายน้ำ ยกน้ำหนัก และควบคุมการบริโภคร่วมด้วย” นายสามารถ กล่าว
เปลี่ยนทัศนคติ เลิกคิดว่าเด็กอ้วนแล้วดี
นายอนันตชัย คงจันทร์ ผู้ป่วยอีกราย เล่าว่าอยากให้ปรับเปลี่ยนทัศนคติ เลิกมองว่าเด็กอ้วนน่ารัก เพราะตนจริงๆ ตอนเด็กผอมและถูกผู้ใหญ่หลายๆ คนพูดว่าทำไมผอม ผอมแล้วไม่น่ารัก ซึ่งหลังจากนั้นตกเริ่มรับประทานอาหาร จนกระทั่งน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมา100 กว่าโรค และอ้วนมาตลอด แต่เมื่อได้ไปเรียนเมืองนอก ไม่มีใครบลูลี่หรือพูดเรื่องน้ำหนัก แต่เราอยากผอม จึงได้ลดน้ำหนักด้วยการออกกำลังกายและควบคุมน้ำหนักสำเร็จมาแล้ว โดยใช้เวลาประมาณ 1 ปี จากน้ำหนัก 120 กิโลกรัม ลงมาเหลือ 80 กิโลกรัม แต่พอกลับมาเมืองไทยน้ำหนักเริ่มขึ้นจึงลดด้วยการใช้ยาลดน้ำหนัก
“ปี 2554 มีเพื่อนแนะนำว่ามีวิธีการเย็บกระเพาะอาหาร และได้คำแนะนำให้มารักษากับอาจารย์สุเทพที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตอนนั้นน้ำหนักอยู่ที่ 123 กิโลกรัม อาจารย์สุเทพแนะนำด้วยวิธีผ่าตัดบายพาส หลังจากรักษาประมาณ 1-2 เดือน น้ำหนักลดลง 50 กิโลกรัม ซึ่งในช่วงแรกๆ ต้องมีการปรับตัวเพราะกระเพาะถูกจำกัดลงอย่างครั้งมาก มีอาการอาเจียนบ้าง ทุกวันนี้น้ำหนักคงที่ 75 – 77 กิโลกรัม มาตั้งแต่ปี 2554 รวม 12 ปีแล้ว โดยทุกๆ เช้าจะต้องชั่งน้ำหนักจนกลายเป็นกิจวัตรประจำวัน ทำให้สามารถควบคุมปริมาณอาหารและออกกำลังกายได้อย่างพอเหมาะ จะวิ่งและว่ายน้ำเป็นประจำ ทุกวันนี้ทำให้ผมมีวินัยในการใช้ชีวิตและได้ร่างกายที่แข็งแรงกลับมา” นายอนันตชัย กล่าว
‘ศูนย์รักษ์พุง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย’ เดินหน้ารณรงค์สร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้ป่วยโรคอ้วนและผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน ซึ่งโรคดังกล่าวสามารถป้องกันและรักษาได้ ล่าสุดได้จัดทำปฏิทิน New Year New Life ถ่ายทอดชีวิตใหม่ของตัวแทนผู้ป่วยโรคอ้วน 9 ราย ‘ชีวิตใหม่’ คุณทำได้ A Journey to The Healthier Life เพื่อร่วมเป็นแรงบันดาลใจและสร้างความหวังให้กับผู้ป่วยโรคอ้วนรายอื่นๆ กลับมามีชีวิตที่สดใส ปราศจากโรคภัยอีกครั้ง ซึ่งปฏิทินปี 2567 นี้ จะถูกแจกจ่ายไปยังหน่วยงานต่างๆ
ทั้งนี้ ผู้ใช้สิทธิ์บัตรทอง ประกันสังคม หรือข้าราชการ สามารถใช้สิทธิในการรักษาโรคอ้วนด้วยการผ่าตัดผ่านส่องกล้อง (Laparoscopic Bariatric Surgery) ได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์รักษ์พุง โทร. 02 256 4000 ต่อ 71205 ทุกวันอังคาร-ศุกร์ เวลา 8.30 - 15.30 น. (ยกเว้นวันหยุดราชการ)