'เครียด อ้วน เสื่อม ปวด'สัญญาณเตือนเกิดโรคร้าย
ยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายด้าน การมีสุขภาพดี เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดอย่างรวดเร็ว ย่อมเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ
Keypoint:
- กลุ่มพนักงานออฟฟิศอย่างพวกเรา ต้องทำงานหนักกันอย่างหนักหน่วง จนอาจละเลยการดูแลสุขภาพไป ซึ่งอาจทำให้คุณป่วยได้โดยไม่ทันตั้งตัว
- ความเครียด ความอ้วน ความเสื่อม และความปวด ล้วนเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าร่างกายของเราต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน เพราะหากปล่อยไว้อาจนำมาซึ่งโรคร้ายมากมาย
- การรับประทานอาหาร ออกกำลังกาย นอนหลับให้เพียงพอ ฝึกสมาธิ ดูแลสุขภาพกายและจิตใจ วิธีการป้องกันโรคที่ดีที่สุด
เทรนด์การดูแลสุขภาพ การรักษาโรคที่ดีที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้เกิดโรค หรือรีบจัดการเมื่อเริ่มมีอาการผิดปกติ
'เครียด อ้วน เสื่อม ปวด' เป็นสัญญาณเตือนที่ตอนนี้หลายๆ คนกำลังประสบพบเจอ ซึ่งอาการเหล่านี้หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอาจนำไปสู่โรคร้ายได้ และการดูแลรักษาต้องเริ่มตั้งแต่มีอาการ หากจะให้ดีสุดต้องป้องกันไม่ให้การเจ็บป่วยหนักที่จะตามมาได้
ตรวจร่างกาย สังเกตอาการ และดูแลจัดการเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหนักตามมาในอนาคต เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ดีจริงหรือ! อาหารที่เหมือนจะ Healthy กินแล้วดีต่อสุขภาพ กินแล้วผอม
ยิ่งเครียดมาก โรคยิ่งถามหา
- ความเครียด
พบว่าสังคมในปัจจุบัน ผู้คนมีความเครียดสูงขึ้น ตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน รวมไปถึงวัยสูงอายุ เพราะด้วยสภาพสังคม การใช้ชีวิตที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ทำให้มีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปจากเดิม ต้องอยู่ในสภาพที่แยกกันอยู่ ลดการมีปฏิสัมพันธ์ในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ลดกิจกรรมสังสรรค์การเดินทางท่องเที่ยว และยังมีปัญหาสภาพเศรษฐกิจ สังคม การใช้ social media ที่ทำให้เกิดความเครียดได้มากขึ้น
ความเครียด คือ การหดตัวของกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งหรือหลายส่วนของร่างกาย นั่นเอง ซึ่งทุกคนจำเป็นต้องมีอยู่เสมอในการดำรงชีวิต เช่น การทรงตัว เคลื่อนไหวทั่วๆไป มีการศึกษาพบว่าทุกครั้งที่เราคิดหรือมีอารมณ์บางอย่างเกิดขึ้นจะต้องมีการหดตัว เคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อแห่งใดแห่งหนึ่ง ในร่างกายเกิดขึ้นควบคู่เสมอ
'ความเครียด' มีทั้งประโยชน์และโทษ แต่ความเครียดที่เป็นโทษนั้น เป็นความเครียดชนิดที่เกินความจำเป็น แทนที่จะเป็นประโยชน์กลับกลายเป็นอุปสรรคและอันตรายต่อชีวิต เมื่อคนเราอยู่ในภาวะตึงเครียด ร่างกายก็จะเกิดความเตียมพร้อมที่จะ 'สู้' หรือ 'หนี' โดยที่ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆเช่น
- หัวใจเต้นแรงและเร็วขึ้น เพื่อฉีดเลือดซึ่งจะนำอ๊อกซิเจนและสารอาหารต่างๆไปเลี้ยงเซลล์ทั่วร่างกาย พร้อมกับขจัดของเสียออกจากกระแสเลือดอย่างเร็ว
- การหายใจดีเร็วขึ้น แต่เป็นการหายใจตื้นๆ
- มีการขับครีนาลีนและฮอร์โมนอื่นๆเข้าสู่กระแสเลือด
- ม่านตาขยายเพื่อให้ได้รับแสงมากขึ้น
- กล้ามเนื้อหดเกร็งเพื่อเตรียมการเคลื่อนไหว เตรียมสู้หรือหนี
- เส้นเลือดบริเวณอวัยวะย่อยอาหารหดตัว
- เหงื่อออกเพราะมีการเผาผลาญอาหารมากขึ้น ทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มขึ้น
ผลของความเครียดต่อชีวิต
เมื่อวิกฤตการณ์ผ่านพ้นไปร่างกายจะกลับสู่สภาวะปกติ แต่ความเครียดที่เป็นอันตราย ก็คือความเครียดที่เกิดขึ้นมากเกินความจำเป็น เมื่อเกิดแล้วคงอยู่เป็นประจำ ไม่ลดหรือหายไปตามปกติ หรือเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุการณ์ที่เป็นการคุมคามจริงๆสำหรับผลของความเครียดนั้น ส่งผลได้ทั้งสุขภาพทางกายและทางจิตใจดังนี้
- ผลต่อสุขภาพทางกาย
ได้แก่ อาการไม่สบายทางกายต่างๆเช่น ปวดหัว ปวดเมื่อยตามส่วนต่างๆของร่างกาย ความผิดปกติของหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคกระเพาะ อาการท้องผูกท้องเสียบ่อยๆ นอนไม่หลับ หอบหืด เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ฯลฯ
- ผลต่อสุขภาพจิตใจ
นำไปสู่ ความวิตกกังวล ซึมเศร้า กลัวอย่างไรเหตุผล อารมณ์ไม่มั่นคง เปลี่ยนแปลงง่าย หรือโรคประสาทบางอย่าง
นอกจากนี้ความเครียดส่งผลต่อร่างกายและจิตใจ ย่อมส่งผลไปถึง ประสิทธิภาพในการทำงาน สัมพันธภาพต่อครอบครัวและบุคคลแวดล้อม และเมื่อประสิทธิภาพในงานตกต่ำ สัมพันธภาพเสื่อมทรามลง จิตใจย่อมได้รับผลตึงเครียดมากขึ้นซ้ำซ้อน นับว่าความเครียดเป็นภัยต่อชีวิตอย่างยิ่ง
เครียดมากเสี่ยงโรคอะไรบ้าง?
คนวัยทำงานต้องระวัง เพราะหากทำงานหนักเกินไป โรคเหล่านี้อาจมาเยือนได้
- ออฟฟิศซินโดรม เกิดจากพฤติกรรมของคนทำงานส่วนใหญ่ ที่ต้องนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่เป็นเวลานาน โดยไม่ได้ขยับตัวเปลี่ยนอิริยาบถ ทำให้กล้ามเนื้อเกิดอาการตึง และกล้ามเนื้ออักเสบได้
- ไมเกรน อาการปวดหัวข้างเดียว ปวดตุ้บ ๆ บางครั้งปวดมากจนไม่เป็นอันทำอะไร แถมมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย เกิดจากความเครียด ความวิตกกังวล ความตื่นเต้น ความเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย พักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีที่มีมาจากการโหม ทำงานหนัก ทั้งสิ้น
- ภาวะอ้วน นั่งทำงานนาน ๆ ติดต่อกันวันละหลาย ๆ ชั่วโมง ทำให้ร่างกายเผาผลาญอาหารได้น้อยลง และอาจทำให้มีโรคอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ
- สายตามีปัญหา นั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานเกินไป อาจทำให้สายตามีปัญหา เช่น ตาแห้ง ปวดหัว คอ และไหล่ และอาจทำให้เห็นภาพเบลอ หากทิ้งไว้นาน ๆ จะทำให้ดวงตาเสื่อมสภาพเร็วกว่าวัยอันควร
- กรดไหลย้อน เนื่องจากทำงานหนัก ทำให้ทานอาหารไม่เป็นเวลา ทานอย่างเร่งรีบ รวมไปถึงการชอบทานเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ของมัน ของทอด หรือน้ำอัดลม ล้วนทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนได้
- เครียดลงกระเพาะ เมื่อเกิดความเครียด สมองจะกระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่งน้ำย่อยออกมามากกว่าปกติ จนทำให้เกิดการระคายเคือง และส่งผลให้คุณเป็นโรคกระเพาะอาหารในที่สุด
ทำอย่างไร?ให้ไกล 'ความอ้วน'
ด้วยไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในปัจจุบันที่มีการทำงานอยู่กับที่และการรับประทานอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง ทำให้ขาดความสมดุลระหว่างการรับเข้าและการระบายออก นำไปสู่การเกิดไขมันสะสม ซึ่งนำไปสู่ปัญหาตามมาเช่น ปวดเข่า ปวดหลัง เหนื่อยง่าย เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันสูง และร้ายแรงที่สุดคือการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง
โรคอ้วนทำให้คนไทยกว่า 20 ล้านคน มีสุขภาพแย่กว่าที่คิด ควรจะเป็น และทราบหรือไม่? ว่าโรคอ้วนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคร้ายแรงต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน และโรคอื่น ๆ อีกมากมาย
ความรุนแรงของโรคอ้วนมีตั้งแต่ระดับที่เป็นสัญญาณเตือน ซึ่งสามารถรีบรักษาให้หายได้ ไปจนถึงเกิดโรคร้ายแรงซึ่งยากต่อการรักษาให้หายขาด ดังนั้น เราจึงควรหมั่นดูแลสุขภาพให้ดีอยู่เสมอ
เกณฑ์วินิจฉัยโรคอ้วนคืออะไร?
วิธีที่เป็นมาตรฐานและใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ การคำนวณหาค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index: BMI) ซึ่งวัดได้จากการนำค่าน้ำหนักหน่วยเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงหน่วยเป็นเมตรยกกำลังสอง
- ค่า BMI < 18.5 – 22.9 kg/m² เรียกว่า 'ปกติ'
- ค่า BMI 23.0 – 24.9 kg/m² เรียกว่า 'น้ำหนักเกิน'
- ค่า BMI > 25 kg/m² เรียกว่า 'โรคอ้วน'
'โรคอ้วน' กับ 'ภาวะอ้วนลงพุง'
ผู้ที่มีภาวะอ้วนลงพุง มักจะมีไขมันสะสมในช่องท้องหรืออวัยวะในช่องท้องมากเกินควร ซึ่งเกิดจากการเผาผลาญอาหารของร่างกายที่ผิดปกติ ภาวะอ้วนลงพุงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคร้ายอื่น ๆ ตามมาได้ เช่นเดียวกับคนที่อ้วนทั้งตัว ดังนั้น แม้ว่าจะอ้วนลงพุงเพียงอย่างเดียว ก็ไม่ควรมองข้ามการดูแลสุขภาพ ควรลดน้ำหนักและไขมันในช่องท้อง เพื่อให้สุขภาพกลับมาดีอีกครั้ง
การตรวจวัดรอบเอวเพื่อดูภาวะอ้วนลงพุง สามารถตรวจวัดได้ด้วยตัวเอง โดยผู้ที่มีภาวะอ้วนลงพุงจำแนกตามเพศได้ดังนี้
- ผู้หญิง ที่มีรอบเอวตั้งแต่ 80 ซม. ขึ้นไป
- ผู้ชาย ที่มีรอบเอวตั้งแต่ 90 ซม. ขึ้นไป
ควรป้องกันและกำจัดสาเหตุของโรคอ้วน โดยสาเหตุของโรคอ้วนมี 2 ปัจจัยหลัก แบ่งออกเป็น ปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก
โรคร้ายแรงที่เป็นผลมาจากโรคอ้วน
โรคอ้วนและภาวะอ้วนลงพุง ส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ในหลาย ๆ ส่วน และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคร้าย หรือโรคเรื้อรังต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น
- โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบและกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคไขมันในเลือดสูง
- โรคเบาหวาน
- โรคไขมันพอกตับ
- ปัญหาทางระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหยุดหายใจขณะหลับ
- โรคมะเร็ง
- ภาวะมีบุตรยาก
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ
- ปวดข้อ ข้อเสื่อมก่อนวัย
- โรคผิวหนัง เช่น สิว ขนดก มีกลิ่นตัว
ถึงจะยังไม่แก่ ก็ต้องเช็กความเสื่อม
ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีความเสื่อมตามวัย หรือบางท่านอาจจะมีความเสื่อมเร็วกว่าคนทั่วไป ปัญหาความเสื่อมมีมากมายหลากหลาย เช่น
- สมองเสื่อม
- ปัญหาการมองเห็น เช่น ต้อกระจก
- ปัญหาการได้ยิน
- ปัญหาการทำงานของตับ ไต
- หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง มีความตีบตัน
- การทำงานของปอดลดลงจากถุงลมโป่งพอง
- ต่อมลูกหมากโต
- มดลูกหย่อน
- ปัญหากระดูกเสื่อม เข่าเสื่อม กระดูกสันหลังเสื่อม
- การเสื่อมสมรรถนะทางเพศ
- ความเสื่อมอื่น ๆ อีกมากมาย
ปวดตามร่างกาย บ่งบอกถึงการเกิดโรค
ในยุคดิจิตอลที่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงาน พบปัญหาความปวดกล้ามเนื้อ คอ บ่า ไหล่ จากภาวะ office syndrome มากขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งหากได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องในการออกกำลังกาย ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ จะลดอาการปวดได้พอสมควร
รวมไปถึงอาการปวดที่พบได้บ่อย เช่น การปวดศีรษะ ไมเกรน การปวดท้องจากกระเพาะอาหารอักเสบ กรดไหลย้อน นิ่วในถุงน้ำดี การปวดตาจากการจ้องคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์นาน ๆ การปวดท้องประจำเดือน การปวดหลังจากการนั่งท่าเดิมนาน ๆ หรือในผู้สูงอายุ ที่มีปัญหาเข่าเสื่อม กระดูกสันหลังเสื่อม ก็จะมีความปวดที่เรื้อรัง
เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ความเสื่อมของร่างกายย่อมมาเยี่ยมเยือน โดยเฉพาะคนทำงานที่ใช้ร่างกายอย่างหนัก พักผ่อนน้อย มีภาวะเครียดสะสม อาจส่งผลให้อวัยวะสำคัญอย่างสมองเกิดภาวะสมองล้า ส่งผลให้ความจำและการทำงานของสมองลดลง ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน โรคความจำเสื่อมก่อนวัย อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตได้ในระยะยาว เพราะฉะนั้นควรใส่ใจดูแลบำรุงสมองตั้งแต่วันนี้ก่อนสายเกินแก้
10 วิธีดูแลสุขภาพง่ายๆ ให้ตัวเองแข็งแรง
1.การเลือกรับประทานอาหาร
เป็นหนึ่งในวิธีง่าย ๆ ในการดูแลสุขภาพ เราควรที่จะรับประทานอาหารที่สมดุลซึ่งอุดมไปด้วยผลไม้ ผัก เมล็ดธัญพืช และโปรตีนไม่ติดมัน ซึ่งจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรังได้หลายอย่าง เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน และมะเร็งบางชนิด
อีกทั้งอาหารที่มีประโยชน์ยังเป็นการดูแลสุขภาพ ช่วยในการควบคุมน้ำหนักได้อีกด้วย โดยการให้สารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายแต่มีแคลอรีต่ำ
นอกจากนี้การรับประทานอาหารที่ดีต่อการดูแลสุขภาพที่มีวิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระสูง สามารถช่วยเพิ่มระดับพลังงาน ปรับปรุงสุขภาพร่างกาย และจิตใจโดยรวมได้อีกด้วย
2.การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
เป็นสิ่งที่สำคัญที่มักจะถูกมองข้าม เราสามารถที่จะเริ่มการดูแลสุขภาพได้จากการนอนหลับให้เพียงพอ การนอนหลับมีบทบาทสำคัญในการรักษาสุขภาพโดยรวม และความเป็นอยู่ที่ดีโดยเฉพาะเรื่องของสุขภาพจิต และสามารถช่วยลดอาการซึมเศร้าและความวิตกกังวลได้
อีกทั้งยังเป็นการดูแลสุขภาพ ช่วยควบคุมฮอร์โมนที่ควบคุมความอยากอาหาร และการเผาผลาญ ซึ่งจะส่งผลการควบคุมน้ำหนัก นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยระบุว่า การนอนหลับมีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้ และความจำ สามารถช่วยปรับปรุงสมาธิ และการตัดสินใจได้ดีกว่าคนที่นอนไม่เพียงพอ
3.การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
เป็นสิ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอยู่เสมอในการดูแลสุขภาพ เนื่องจากมีงานวิจัยมากมายที่สรุปออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่า การออกกำลังการอย่างสม่ำเสมอช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคได้มากมาย
การออกกำลังกายในระดับที่เหมาะสมจะช่วยปรับปรุงสุขภาพหัวใจ หลอดเลือด และกระดูกให้ดีขึ้นเป็นการดูแลสุขภาพด้วยตัวเองง่าย ๆ และใครที่ต้องการเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ ลดไขมัน หรือต้องการดูแลรูปร่างให้ดี การออกกำลังกายก็ช่วยได้เรื่องเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี
4. การดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้วต่อวัน
เป็นการดูแลสุขภาพง่าย ๆ ที่ส่งผลดีต่อร่างกายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยรักษาการทำงานของร่างกายให้สมดุล เช่น การย่อยอาหาร และการเผาผลาญ การดื่มน้ำยังสามารถช่วยรักษาสุขภาพผิวหนัง ผม และเล็บ ให้อยู่ในสภาพที่ดี
นอกจากนี้การดื่มน้ำยังช่วยป้องกันภาวะขาดน้ำ ซึ่งจะนำไปสู่ความเหนื่อยล้า ปวดศีรษะ และอาการอื่น ๆ อีกทั้งยังสามารถช่วยล้างสารพิษ และของเสียออกจากร่างกาย ซึ่งสามารถปรับปรุงร่างกายและเป็นการดูแลสุขภาพโดยรวมได้เป็นอย่างดี
5.การปรับวิธีคิดให้เหมาะสมเป็นการดูแลสุขภาพด้านจิตใจที่ดี โดยเฉพาะด้านความมั่นคงของจิตใจ ช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น ลดความรู้สึกเครียด และวิตกกังวลได้
นอกจากการดูแลสุขภาพด้านจิตใจแล้ว ความคิดเชิงบวกยังช่วยเพิ่มความมั่นใจในตนเอง และความนับถือตนเอง ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินใจที่ดีขึ้น รวมไปถึงการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับผู้อื่น และการดูแลสุขภาพด้านจิตใจนี้ยังช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น และความสามารถในการฟื้นตัวจากความรู้สึกพ่ายแพ้ พร้อมรับความท้าทายใหม่ ๆ
6.การดูแลสุขภาพด้วยการฝึกทำสมาธิ และปล่อยวางจากความเครียดส่งผลต่อสภาวะจิตใจของเราโดยตรง
การฝึกสมาธิเป็นประจำสามารถนำไปสู่การลดลงของระดับความเครียด ลดอาการวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้าได้ เป็นการดูแลสุขภาพใจ สร้างสมดุล และความสงบทางอารมณ์
นอกจากนี้การดูแลสุขภาพด้วยการฝึกทำสมาธิยังมีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ลดความดันโลหิต ปรับปรุงการทำงานของภูมิคุ้มกัน มีความจำที่ดีมากขึ้น และนอนหลับได้ดีมากยิ่งขึ้น
7.การใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ เมื่อออกไปที่สาธารณะ
เป็นหนึ่งในพื้นฐานการดูแลสุขภาพตัวเอง เพราะต่อให้สถานการณ์การระบาดจะไม่ได้รุนแรงเท่ากับช่วงก่อน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าโรคนี้ได้หมดไปแล้วเราก็ไม่ต้องทำการดูแลสุขภาพอีกต่อไป การใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ เมื่อออกไปที่สาธารณะยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่ เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพและทำให้เรามีความเสี่ยงน้อยมากที่สุด
8. การรับประทานอาหารเสริม
เป็นอีกหนึ่งวิธีการดูแลสุขภาพตัวเองง่าย ๆ เพื่อที่จะทำให้มั่นใจว่าร่างกายของเราได้สารอาหารที่จำเป็นครบ โดยเฉพาะสารอาหารประเภทวิตามิน และแร่ธาตุ
ทางการแพทย์ก็มีหลายเคสที่มีการรักษาด้วยการให้วิตามินบางประเภท อย่างเช่น การให้วิตามินดีสำหรับผู้ที่รักษาสุขภาพกระดูก เป็นต้น แต่เราต้องระลึกไว้เสมอว่าการได้รับวิตามิน และแร่ธาตุบางชนิดในปริมาณที่สูงเกินไปอาจไม่ใช่การดูแลสุขภาพที่ดีและทำให้เกิดผลข้างเคียงได้เช่นกัน
9.การงดดื่มสุรา ของมึนเมา และบุหรี่
เป็นการดูแลสุขภาพที่ได้รับการรณรงค์กันอยู่ทุกปี สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทำร้ายร่างกายของเราเป็นอย่างมากทั้งในระยะสั้น และระยะยาว เป็นสาเหตุของการเกิดโรคร้ายแรงมากมาย ดังนั้นหากเป็นไปได้เราก็ควรที่จะงดให้ได้แบบเด็ดขาด หรือไม่ก็เลี่ยงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพของตัวเอง
10.เข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ
หนึ่งในการดูแลสุขภาพที่ดีอย่างการเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ จะทำให้เรารับรู้สภาพร่างกายของเราได้ดีมากขึ้น อีกทั้งยังลดโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคในอนาคตได้ เพราะว่าโรคร้ายบางอย่างจะต้องใช้เวลาในการแสดงอาการ หากว่าเราเข้ารับการดูแลสุขภาพ และตรวจสุขภาพเป็นประจำก็จะเจอโรคได้เร็วขึ้น เป็นการเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายได้
อ้างอิง: โรงพยาบาลพระรามเก้า ,คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล , scbprotect