คันยุบยิบตามตัว คันเรื้อรัง ผื่นคัน ผื่นแดง เรื่องเล็กๆ ที่ไม่ควรปล่อยไว้

คันยุบยิบตามตัว คันเรื้อรัง ผื่นคัน ผื่นแดง เรื่องเล็กๆ ที่ไม่ควรปล่อยไว้

อยู่ดีๆ ก็มี 'อาการคัน' เกิดขึ้นตามร่างกาย โดยที่ไม่ทราบสาเหตุ ซึ่ง 'อาคารคัน' สามารถเกิดขึ้นได้ตามผิวหนังทุกส่วนของร่างกาย อาจคันเพียงบริเวณเล็กๆ หรือคันทั่วร่างกาย  และอาจเกิดขึ้นร่วมกับอาการอื่นๆ  เช่น ผิวแห้ง ผิวแตก เป็นขุย มีผื่นแดง ผื่นนูน หรือตุ่ม แผลพุพอง 

Keypoint:

  • อย่ามองข้าม 'อาการคัน' ยิบๆ ตามแขนขาหรือทั่วตัว เพราะสาเหตุของการคันส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวข้องกับโรคผิวหนัง เช่น โรคภูมิแพ้ที่ผิวหนัง โรคผิวหนังอักเสบ เหตุสารสัมผัส แต่ถ้าคันเรื้อรังไม่หายอาจจะบ่งบอกถึงโรคร้ายได้
  • อาการคันตามร่างกายในแต่ละบริเวณ แสดงโรคที่แตกต่างกันออกไป และหากคันยุบยิบตามตัว ไม่มีผื่น คันทั่วทั้งร่างกายโดยไม่ทราบสาเหตุ  อาการคันไม่ดีขึ้นนานกว่า 2 สัปดาห์  ควรรีบพบแพทย์
  • การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต สามารถช่วยป้องกันอาการคันได้ โดยเมื่อกลับถึงบ้านรีบอาบน้ำล้างเหงื่อหรือฝุ่นออก เลือกใช้ผลิตภัณฑ์อ่อนโยน ไม่ใส่สาร Preservative ทาโลชั่นหลังอาบน้ำ กินยาแก้แพ้ 

อาการคัน จะไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรุนแรง แต่หลายๆ ครั้งก็รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของเรา แถมยังส่งผลเสียต่อบุคลิกภาพ เดินไปไหนมาไหนแล้วเกาตลอดเวลา คงเป็นภาพที่ไม่น่าดู เพราะถ้าเกิดรุนแรงหรือเป็นอยู่นานอาจต้องใช้ยาบรรเทาอาการคัน อาการคัน เนื่องจากอาจจะเป็นโรคเรื้อรังซึ่งบางอย่างเป็นโรคร้าย

ด้วยเหตุนี้ 'อาการคันเรื้อรัง' จึงอาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายโดย 'คัน (itch หรือ pruritus)' เป็นอาการที่รู้สึกอยากเกา คันเป็นอาการทางผิวหนังที่พบได้บ่อย แม้ไม่ใช่อาการที่เป็นอันตรายร้ายแรงแต่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตโดยเฉพาะหากเกิดแบบเรื้อรัง สิ่งที่เกิดตามมาเมื่อมีอาการคัน คือ การเกาซึ่งจะทำให้ผิวหนังแดงและเกิดรอยหรือแผล คันอาจเกิดอย่างเดียวหรือเกิดร่วมกับผื่น รอยนูน หรือลมพิษ

แม้การเกาจะช่วยบรรเทาอาการคันได้บ้าง แต่หากเกาต่อเนื่องรุนแรงก็อาจส่งผลให้ผิวหนังระคายเคือง เป็นแผล และติดเชื้อได้ การหาสาเหตุจะช่วยแก้ปัญหาอาการ 'คัน' ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

อาการคันบริเวณรอบหน้าอก อันตรายหรือไม่?

หน้าร้อนต้องรู้ 'ผดร้อน' สังเกตอาการ รักษา ป้องกันอย่างไร

 

เช็กสาเหตุอาการคัน เกิดจากอะไร?

ผศ.พญ.ปุณยพัศฐิช์ ศิริธนบดีกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาตจวิทยา โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท อธิบายว่า อาการคันตามผิวหนัง อาจเกิดจากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • โรคทางผิวหนัง เช่น ลมพิษ กลาก เกลื้อน สะเก็ดเงิน หิด อีสุกอีใส ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ภาวะผิวแห้ง โรคผื่นระคายสัมผัส เป็นต้น
  • โรคทางระบบประสาท เช่น โรคเบาหวาน  โรคงูสวัด  โรคเส้นประสาทอักเสบ เป็นต้น
  • โรคหรือภาวะเจ็บป่วยบางชนิด  เช่น โรคตับอักเสบเรื้อรัง ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ  ไตวายเรื้อรัง  โลหิตจาง มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง  หรือการมีพยาธิบางชนิดในร่างกาย
  • โรคทางจิต เช่น  โรคซึมเศร้า  โรคย้ำคิดย้ำทำ  
  • ระคายเคืองจากแมลงสัตว์กัดต่อย
  • ระคายเคืองจากภูมิแพ้ เช่น แพ้สารเคมี แพ้สารประกอบในสบู่ ผงซักฟอก และเครื่องสำอาง  
  • ผลจากการใช้ยาบางชนิด เช่น  ยาปฏิชีวนะ  ยากันชัก ยาแก้ปวดบางชนิด 
  • การตั้งครรภ์ อาการคันมักเกิดบริเวณหน้าท้องหรือต้นขา กรณีผู้ป่วยโรคผิวหนัง อาจส่งผลให้อาการคันแย่ลงในช่วงตั้งครรภ์ 

คันยุบยิบตามตัว คันเรื้อรัง ผื่นคัน ผื่นแดง เรื่องเล็กๆ ที่ไม่ควรปล่อยไว้

คันเรื้อรัง สัญญาณเตือนโรคอันตราย

อาการคันเรื้อรัง อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับตับ และ ไต ได้ นอกจากนี้ยังอาจเป็นอาการเริ่มต้นของโรคที่เกี่ยวกับกับระบบเลือด โรคเบาหวาน โรคจากต่อมไร้ท่อ หรืออาจจะเป็นโรคมะเร็ง 

อาการคันของร่างกายในแต่ละที่ อาจจะบ่งบอกโรคแตกต่างกัน 

  • สำหรับอาการคันเพราะผิวแห้งทั่วตัว และมักคันในช่วงเวลากลางคืน อาจเป็นสัญญาณของโรคไต
  • คันหนักมากที่มือ หรือเท้า และตำแหน่งที่เสื้อผ้ารัดตึง เช่น ต้นแขน เอว ขาหนีบ ใต้ราวหน้าอก อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคที่เกี่ยวกับตับ
  • อาการคันจากโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบเลือด โรคเบาหวาน มักมีอาการคันเฉพาะที่ เช่น คันที่ทวารหนัก อวัยวะเพศ หรือมีอาการคันหลังจากสัมผัสน้ำ
  • อาการคันจากโรคต่อมไร้ท่อ จะมีอาการคันไปทั่วร่างกาย
  • คันรุนแรงมากทั้งแขน และขา เป็นโรคมะเร็ง

 

อาการคันที่ควรพบแพทย์

  • อาการคันยุบยิบตามตัว ไม่มีผื่น คันทั่วทั้งร่างกายโดยไม่ทราบสาเหตุ  
  • อาการคันไม่ดีขึ้นนานกว่า 2 สัปดาห์  
  • คันมากจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน  
  • พบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด 

การวินิจฉัยและการรักษาอาการคัน

การวินิจฉัยอาการคัน แพทย์เริ่มจากการตรวจร่างกายและซักประวัติเพื่อหาสาเหตุและสาเหตุร่วมด้านอื่นๆ ก่อน เช่น การมีผื่นแดงนูนร่วมด้วย จากนั้นอาจมีการส่งตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด ตรวจภูมิแพ้ผิวหนัง หรือตรวจการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ

การรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ  กรณีอาการคันไม่รุนแรง สามารถบรรเทาอาการคันได้เอง  ดังนี้

  • กดหรือตบเบาๆ บริเวณที่มีอาการคันแทนการเกา
  • ประคบเย็น บริเวณที่มีอาการคัน 
  • รับประทานยาแก้แพ้  
  • ทายาบรรเทาอาการคัน

คันยุบยิบตามตัว คันเรื้อรัง ผื่นคัน ผื่นแดง เรื่องเล็กๆ ที่ไม่ควรปล่อยไว้

ป้องกันอาการคันที่ไม่ได้เกิดจากโรค

อาการคันอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ บางสาเหตุสามารถป้องกันได้ และบางสาเหตุเกิดจากผลกระทบของโรคและความเจ็บป่วย ซึ่งต้องพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธี   โดยอาการคันที่ไม่ได้เกิดจากโรคหรือความเจ็บป่วยร้ายแรง อาจป้องกันได้ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดอาการคัน เช่น สารเคมี สบู่หรือผงซักฟอกบางชนิด  
  • ไม่อาบน้ำอุ่นหรือน้ำร้อน ซึ่งส่งผลให้ผิวแห้ง
  • ทาครีมบำรุงผิว เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น และช่วยให้ผิวไม่แห้งจนเกินไป  อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
  • พยายามหลีกเลี่ยงการเกา เนื่องจากอาจทำให้หนังถลอกหรือเกิดการติดเชื้อ 
  • ผู้ป่วยโรคต่างๆ ควรรับประทานยาและปฏิบัติตัวตามแพทย์แนะนำ

ทำความรู้จักภาวะคันจากโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง  (Atopic Dermatitis) เป็นโรคผิวหนังที่ส่งผลกระทบต่อผู้ใหญ่ 2-5% และเด็กมากถึง 10-20% ทั่วโลก เป็นภาวะเรื้อรังในระยะยาว โดยมีลักษณะเฉพาะเริ่มจากผิวแห้ง เป็นขุย ระคายเคือง แม้ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้ ทั้งนี้ การดูแลผิวอย่างสม่ำเสมอก็ยังสามารถปกป้องผิวพรรณของเราได้เช่นกัน

อาการของภาวะคันจากโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

  • โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง  เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่ส่งผลต่อผิวหนังบนใบหน้าและร่างกายของคนทุกวัย ทั้งทารก เด็ก และผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่มักเกิดในเด็กวัยก่อน 5 ปี และอาจคงอยู่ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ 
  •  อาการคันจากภาวะผื่นภูมิแพ้ผิวหนังนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยทั่วไปคืออาการผิวแห้ง เป็นขุย และระคายเคือง บางรายอาจมีอาการเรื้อรังเป็นๆ หายๆ หรืออาจหายไปหลายปีแล้วกลับมาเป็นอีกได้  
  • ผิวเป็นสะเก็ด  หรือตุ่มพองขนาดเล็ก อาจติดเชื้อรอบแผล  
  • คันตามผิวหนัง โดยเฉพาะช่วงกลางคืน
  • ทารกต่ำกว่า 1 ปี มักเป็นผื่นบริเวณแก้ม แขน  ขา  และในบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อม  
  • เด็กวัยหัดเดินและก่อนวัยเรียน ส่วนใหญ่มีผื่นขึ้นบริเวณข้อต่อกระดูก เช่น ข้อมือ ข้อศอก หัวเข่า ข้อเท้า รวมถึงอวัยวะเพศ อาจมีลักษณะแข็ง หนา หยาบ และทำให้รู้สึกไม่สบายตัว    
  • เด็กวัยเรียน มักปรากฎผื่นหนาบริเวณข้อศอกและหัวเข่า รวมถึงเปลือกตา ใบหู และศีรษะ มักพบรอยเกา ซึ่งผื่นผิวหนังในช่วงวัยเรียนอาจหายได้เองเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น  
  • ผู้ใหญ่ พบผื่นผิวหนังหลายรูปแบบ อาจเกิดขึ้นเฉพาะส่วนหรือทุกส่วนพร้อมกัน ส่วนใหญ่เป็นผื่นแห้ง หนา และแข็ง

คันยุบยิบตามตัว คันเรื้อรัง ผื่นคัน ผื่นแดง เรื่องเล็กๆ ที่ไม่ควรปล่อยไว้

โรคแพ้เหงื่อตัวเอง ปรับพฤติกรรมลดอาการ

โรคแพ้เหงื่อตัวเอง ที่เกิดจากผื่นคันแพ้เหงื่อ มักจะเกิดจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันหลาย ๆ อย่าง เช่น การออกกำลังกาย เดินขึ้นบันได อยู่ในบ้าน หรือในสถานที่ที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ รวมไปถึงสภาพอากาศโดยทั่วไปที่ร้อนอบอ้าว ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เราเหงื่อออก

หลายคนที่เมื่อเหงื่อออกแล้วมักจะมีผื่นแดง  ขึ้นตามแขนขา หรือแผ่นหลังเป็นประจำ หรือที่หลายคนเรียกว่า ‘ผื่นคันแพ้เหงื่อ’ ก็คงทำให้ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจไม่น้อย และเพื่อลดโอกาสการเกิดอาการเหล่านี้ มาค้นหาต้นตอผื่นแพ้เหงื่อมีสาเหตุจากอะไร รักษาและป้องกันได้ด้วยวิธีใด มาหาคำตอบกันได้จากบทความนี้

ผื่นคันแพ้เหงื่อ คือ ลมพิษชนิดหนึ่งที่เรียกว่า โรคแพ้เหงื่อตัวเอง เกิดจากความร้อนเข้าไปกระตุ้นการทำงานของต่อมเหงื่อ เหงื่อจึงหลั่งออกมาร่วมกับการเกิดผื่น บางรายอาจแพ้เหงื่อตัวเองจากการที่ร่างกายสร้างแอนติบอดี้ หรือภูมิต้านทานต่อเหงื่อตัวเอง จึงทำให้เกิดเป็นผื่นลมพิษ อาการผื่นแพ้เหงื่อจึงเป็นอุปสรรคต่อการทำกิจกรรมใด ๆ ก็ตามที่ออกแรง ทั้งการออกกำลังกาย อยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อน หรือแม้กระทั่งการอยู่ภายในบ้านที่สามารถทำให้เกิดเหงื่อได้

สาเหตุของผื่นคันแพ้เหงื่อตัวเอง

สาเหตุหลักของอาการแพ้เหงื่อตัวเอง คือ เกิดจากความร้อน เมื่อผู้ป่วยอยู่ในบริเวณที่มีความร้อนสูง หรือทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความร้อนในร่างกาย เช่น ออกกำลังกาย สวมใส่เสื้อผ้าที่คับแน่นหรือไม่ระบายอากาศ รับประทานอาหารรสเผ็ดจัด หรือเป็นไข้ ต่อมเหงื่อจึงต้องสร้างเหงื่อเพื่อระบายความร้อน เมื่อผิวหนังมีปฏิกิริยากับเหงื่อและความร้อน ก็จะกระตุ้นให้เกิดลมพิษ อย่างไรก็ตาม อาการแพ้เหงื่ออาจเกิดจากภาวะความเครียดได้ด้วย นอกจากนี้ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ผื่นผิวหนังอักเสบ หอบหืด หรือมีอาการแพ้อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นภูมิแพ้อาหาร ภูมิแพ้อากาศ ก็มีโอกาสเกิดผื่นแพ้เหงื่อได้ง่ายขึ้น

โดยลักษณะของอาการผื่นแพ้เหงื่อนั้น ในเบื้องต้นผื่นลมพิษจะขึ้นหลังจากเริ่มมีเหงื่อออกมาไม่นาน ผื่นจะมีลักษณะเป็นปื้นแดง หรือเป็นวงกลมหนานูน อาจมีอาการคันร่วมด้วย ซึ่งโดยปกติผื่นสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย แต่มักพบบริเวณหน้าอก ใบหน้า แผ่นหลังส่วนบน และแขน บางรายอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ท้องเสีย วิงเวียนศีรษะ หายใจตื้น ความดันโลหิตลดต่ำลง ซึ่งเป็นอาการแพ้รุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

คันยุบยิบตามตัว คันเรื้อรัง ผื่นคัน ผื่นแดง เรื่องเล็กๆ ที่ไม่ควรปล่อยไว้

ป้องกันและรักษาโรคผื่นคันแพ้เหงื่อตัวเองได้อย่างไร ?

อาการของโรคแพ้เหงื่อตัวเองไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่สามารถลดความถี่ในการเกิดอาการได้ ด้วยการดูแลตัวเองดังนี้

1. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสูตรอ่อนโยน

สำหรับคนที่มีปัญหาผื่นคันแพ้เหงื่อควรเลือกผลิตภัณฑ์หรือครีมที่ไม่ผสมสี น้ำหอม และสารเคมี เพื่อป้องกันการระคายเคืองของผิวที่แพ้เหงื่ออยู่แล้วไม่ให้เกิดอาการแพ้เพิ่มขึ้น หรือเลือกใช้สกินแคร์ผิวแพ้ง่ายโดยเฉพาะ เพื่อเสริมสมดุลผิวให้แข็งแรงขึ้นและสามารถต่อกรกับปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการแพ้

2. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดอาการแพ้เหงื่อตัวเอง

ควรเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดเหงื่อออกได้ง่าย เช่น การทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือการออกกำลังกายท่ามกลางอากาศร้อนจัด แนะนำให้ปรับเปลี่ยนเป็นการออกกำลังกายในบริเวณที่อากาศไม่ร้อนมากเกินไปและมีอากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อให้การระบายเหงื่อออกมาน้อยที่สุด และหากเริ่มเกิดผื่นแพ้เหงื่อตามผิวหนังควรหยุดทำกิจกรรมต่างๆ หรือหยุดออกกำลังกายทันที เป็นการป้องกันไม่ให้ผื่นเกิดความรุนแรงมากขึ้น

3. หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่นและใช้สบู่ที่ช่วยปรับสมดุลผิว

เพราะสาเหตุของผื่นคันแพ้เหงื่อตัวเองเกิดจากความร้อน การหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อยู่ภายใต้อุณหภูมิสูงเป็นอีกหนทางที่ช่วยลดโอกาสการเกิดผื่นแพ้จากเหงื่อได้ ซึ่งนอกจากการอาบน้ำอุ่นจัดแล้วควรเลี่ยงการอบซาวน่าด้วยเช่นเดียวกัน

4. สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี

การสวมใส่เสื้อผ้าหนา ๆ และไม่สามารถระบายความร้อนได้ จะก่อให้เกิดเหงื่ออันนำมาซึ่งอาการผื่นแพ้เหงื่อในที่สุด ดังนั้น จึงควรสวมใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบาย ไม่รัดแน่นจนเกินไป เพื่อให้เกิดการระบายอากาศและความร้อนจากร่างกายได้ดี

 5. เลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม

หากพบว่าตนเองมีภาวะเกิดผื่นคันแพ้เหงื่อได้ง่าย ก็ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่จะก่อให้เกิดเหงื่อ เช่น อาหารรสเผ็ดจัด อาหารหรือเครื่องดื่มร้อน ๆ เป็นต้น เพื่อช่วยลดความถี่ในการเกิดอาการคันแพ้เหงื่อ

ทั้งนี้หากอาการกำเริบ หรือมีแนวโน้มที่เพิ่มระดับความรุนแรง ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อได้รับคำแนะนำด้านการรักษาผื่นแพ้เหงื่อที่เหมาะสม โดยแพทย์อาจสั่งยาแก้แพ้ ที่ช่วยออกฤทธิ์ในการขัดขวางสารฮีสตามีนซึ่งส่งผลให้เกิดอาการแพ้

ผื่นแพ้เหงื่อไม่ใช่อาการที่ควรนิ่งนอนใจ เมื่อทราบถึงสาเหตุที่เกิดได้ง่ายจากไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมที่เราใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว รวมไปถึงทราบวิธีการป้องกันเพื่อลดความถี่ในการเกิดอาการแล้ว ดังนั้น จึงควรที่จะดูแลตัวเองให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้อาการผื่นแพ้เหงื่อรุนแรงจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

คันยุบยิบตามตัว คันเรื้อรัง ผื่นคัน ผื่นแดง เรื่องเล็กๆ ที่ไม่ควรปล่อยไว้

5 ข้อเปลี่ยนพฤติกรรมปรับไลฟ์สไตล์

  1. กลับถึงบ้านรีบอาบน้ำล้างเหงื่อหรือฝุ่นออก ใส่เสื้อใหม่ อย่าใส่เสื้อผ้าหรือชุดชั้นในรัด ยิ่งรัด ยิ่งถู ยิ่งคัน
  2. ใช้สบู่อ่อน ๆ ไม่มีน้ำหอม (No Perfumed) หรือไม่ใส่สาร Preservative หรือมีคำว่า No Preservative หรือ For Sensitive Skin
  3. ทาโลชั่นหลังอาบน้ำทุกครั้ง เลือกโลชั่นที่ไม่มีน้ำหอมหรือสารเคมี ไม่ควรใช้โลชั่นประเภทไวท์เทนนิง เพราะมีกรดผลไม้ ยิ่งทายิ่งระคาย ผื่นยิ่งเห่อ
  4. กินยาแก้แพ้ เป็นยากลุ่มแอนตี้ฮีสตามีนที่คุณหมอสั่งเท่านั้น ห้ามซื้อยากินเองเด็ดขาด
  5. รักษาด้วย Phototherapy โดยใช้แสงอัลตราไวโอเลตคลื่นความถี่เพื่อการรักษาผื่นผิวหนังโดยเฉพาะ เพื่อช่วยกดภูมิในร่างกายไม่ให้ไวต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้คนไข้เข้าไปยืนในตู้ รับการฉายแสง 1 – 2 นาที อาทิตย์ละ 2 ครั้ง อาการดีขึ้นจึงค่อย ๆ ลดปริมาณฉายแสงน้อยลง จากนั้นค่อย ๆ ทายาและกินยาตามปกติ

โรคนี้จะรักษาหายหรือไม่หายขึ้นอยู่กับตัวคนไข้ เมื่อผื่นดีขึ้นต้องระวังตัวเองในการเลือกใช้สบู่และโลชั่น งดการใช้อารมณ์มาก ๆ หรือเครียด หากรักษาหายแล้วกลับไปมีไลฟ์สไตล์หรือพฤติกรรมแบบเดิมย่อมกลับมาเป็นโรคนี้ได้อีก

อ้างอิง: โรงพยาบาลสมิติเวช ,โรงพยาบาลกรุงเทพ ,ยูเซอริน ,คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล