สูดอากาศสะอาดกลางกรุง ‘MagikFresh’ ต้นแบบเมืองน่าอยู่ ณ สวนจตุจักร
สวทช. จับมือ กรุงเทพมหานคร เปิดตัว ‘ต้นแบบสวนนันทนาการอากาศสะอาดเพื่อเมืองน่าอยู่’ หรือ ‘MagikFresh’ สร้างพื้นที่ ให้คนกรุงได้สูดอากาศสะอาด บนพื้นที่ 100 ตารางเมตร ณ สวนจตุจักร
ในช่วงสิ้นปี เรียกว่าปัญหาที่พบคงหนีไม่พ้น PM2.5 ซึ่งหากเกินค่ามาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ในภาพรวมของประเทศล่าสุด ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ประจำวันที่ 11 ธันวาคม 2566 ณ 07:00 น สรุปภาพรวมปริมาณ PM 2.5 ในประเทศพบเกินค่ามาตรฐานในพื้นที่ดังนี้
จ.ปทุมธานี กรุงเทพฯ จ.นนทบุรี จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรปราการ จ.อุตรดิตถ์ จ.สุโขทัย จ.พิษณุโลก จ.พิจิตร จ.นครสวรรค์ จ.อุทัยธานี จ.ชัยนาท จ.สิงห์บุรี จ.ลพบุรี จ.อ่างทอง จ.พระนครศรีอยุธยา จ.กาญจนบุรี จ.ราชบุรี จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี จ.ระยอง จ.หนองคาย จ.อุดรธานี จ.นครพนม จ.มุกดาหาร จ.ขอนแก่น จ.กาฬสินธุ์ จ.อำนาจเจริญ จ.ยโสธร และ จ. อุบลราชธานี
ขณะที่ ในเขตเมืองอย่างกทม. สถานการณ์ค่าฝุ่น PM 2.5 กรุงเทพล่าสุด (11 ธ.ค.66) ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร ประจำวันจันทร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2566 เวลา 07.00 น. ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ตรวจวัดได้ 32.4-59.3 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ดัชนีคุณภาพอากาศ ของสถานีตรวจวัดของกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่อยู่ในระดับคุณภาพอากาศ เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- PM2.5 ฝุ่นจิ๋ว ภัยสุขภาพปอดที่ไม่จิ๋ว คัดกรอง สังเกตอาการ รู้ก่อนรักษาก่อน
- ดูแลตัวเองอย่างไร? ให้ปลอดภัยจากฝุ่นPM2.5
- ค่าฝุ่น PM 2.5 วันนี้ 30 จว. พุ่งเกินค่ามาตรฐาน - กทม. ระดับสีส้ม 55 พื้นที่
ต้นแบบสวนสันทนาการ อากาศสะอาด
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมวิจัยพัฒนากับ กรุงเทพมหานคร เปิดตัว ‘ต้นแบบสวนนันทนาการอากาศสะอาดเพื่อเมืองน่าอยู่’ หรือ ‘MagikFresh’ นวัตกรรมที่ช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ด้วยการออกแบบโครงสร้างกึ่งเปิดขนาดย่อมบนพื้นที่ 100 ตารางเมตร พร้อมติดตั้งเครื่องกรองฝุ่น PM2.5 เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ทำกิจกรรมนันทนาการและพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งภายในจะมีอากาศสะอาดและช่วยลดฝุ่น PM2.5 บริเวณอุทยานสวนจตุจักร
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เผยว่า โครงการนวัตกรรมสวนนันทนาการอากาศสะอาดเพื่อเมืองน่าอยู่ โดยมี ดร.พรอนงค์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยสร้างสรรค์พื้นที่สวนสำหรับการทำกิจกรรมนันทนาการและพักผ่อนหย่อนใจ ในช่วงที่มีปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5
“สวทช. ได้คิดค้นรูปแบบโครงสร้างที่สามารถควบคุมการไหลเวียนของอากาศภายในพื้นที่กึ่งปิดกึ่งเปิดโดยฝุ่น PM2.5 จากภายนอกไม่สามารถเข้ามาได้ ร่วมกับนวัตกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพการกรองฝุ่น PM2.5 เพื่อสร้างพื้นที่อากาศสะอาดให้หายใจได้เต็มปอดโดยไม่ต้องกังวลต่อมลพิษฝุ่น PM2.5 ซึ่งโครงสร้างได้ถูกออกแบบให้สามารถถอดประกอบเพื่อการขนย้ายไปติดตั้งใช้งานในสถานที่ต่าง ๆ ที่ประสบปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้ นวัตกรรมสวนนันทนาการอากาศสะอาดเพื่อเมืองน่าอยู่ จะติดตั้ง ณ สวนจตุจักร ระหว่างเดือน พฤศจิกายน 2566 - พฤษภาคม 2567 เป็นระยะเวลา 7 เดือน”
MagikFresh
- พื้นที่อากาศสะอาดขนาด 100 ตร.ม.
- ประชาชนสามารถพักผ่อน ทำกิจกรรม
- ลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจาก PM2.5
- พัฒนาองค์ความรู้ด้านการสร้างสวนอากาศสะอาด
- ลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
- ต้นแบบติดตั้ง ณ สวนจตุจักร
- ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2566 - พฤษภาคม 2567
จุดเด่นของต้นแบบนวัตกรรม
เป็นนวัตกรรมของคนไทย ที่ได้รับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เป็นการนำเสนอนวัตกรรมเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาที่ประชาชนคนกรุงเทพฯ ไม่สามารถทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้งได้ในช่วงที่มีปัญหาฝุ่น PM2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งต้นแบบนวัตกรรมนี้เหมาะสำหรับพื้นที่เปิดโล่ง เช่น สวนสาธารณะ ลานกีฬา สามารถถอดประกอบเพื่อเคลื่อนย้ายไปติดตั้งในที่ต่างๆ ที่ประสบปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้
การทำงานของเครื่อง
นวัตกรรมนี้ ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนโครงสร้าง ที่มีลักษณะเฉพาะ คือ มีพื้นที่เปิดโล่งด้านบน ที่อากาศสามารถไหลเวียนออกไปสู่ภายนอก โดยที่ฝุ่น PM2.5 จากภายนอกไม่สามารถย้อนกลับเข้ามาได้
และ ส่วนเครื่องกรองอากาศ เป็นเครื่องกรองอากาศที่สามารถสร้างอากาศบริสุทธิ์ได้ 60,000 ลูกบาศก์เมตร ต่อชั่วโมง ทำให้มีการไหลเวียนของอากาศภายในโครงสร้างไม่ต่ำกว่า 10 รอบต่อชั่วโมง และช่วยให้ฝุ่น PM2.5 ภายในโครงสร้าง มีค่าต่ำกว่า 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
นวัตกรรมนี้เหมาะกับใคร
นวัตกรรมนี้ ช่วยสร้างพื้นที่อากาศสะอาดให้กับประชาชนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง ให้สามารถทำกิจกรรมและออกกำลังกายได้แม้ในยามที่มีปัญหาฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ทั้งนี้ หากมีหน่วยงานหรือผู้ที่ต้องการสนับสนุนการขยายผลนวัตกรรมนี้ สวทช. พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อนำไปผลิตใช้งานในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ประสบปัญหาฝุ่น PM2.5 ต่อไป
ดร.พรอนงค์ พงษ์ไพบูลย์ ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า สำหรับการเลือกพื้นที่สวนจตุจักร นำร่องติดตั้งต้นแบบ เนื่องจากทีมวิจัย อยากให้คนทั่วไปใช้ประโยชน์จากพื้นที่ และได้รับความร่วมมือจากกรุงเทพมหานคร ที่ให้เรามาติดตั้งในสวนจตุจักร โดยสามารถรองรับคนได้ประมาณ 15 คน
ทั้งนี้ การวิจัยนวัตกรรมดังกล่าว ใช้เวลาร่วม 2 ปี ตั้งแต่จดสิทธิบัตรองค์ประกอบทั้งหมด โดยระหว่างการติดตั้งต้นแบบนี้ จะมีการใช้ไฟในช่วงเวลาที่สวนเปิดและปิด ขณะเดียวกัน หากฝนตกก็ยังมีเซ็นเซอร์เช็กระดับน้ำฝนและตรวจสภาพอากาศ สำหรับการใช้โซลาร์เซลล์สามารถเป็นไปได้แต่ต้องมีขนาดใหญ่เพราะให้มั่นใจว่ามีไฟที่เพียงพอ
"ในส่วนของไส้กรอง มีระบบตรวจสอบหลังบ้านว่าเครื่องทำงานปกติหรือไม่ ระดับแรงดันที่เปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน และทำความสะอาดซึ่งสามารถถอดออกมาล้างทำความสะอาดได้ง่าย ทำให้ไม่ต้องใช้ค่าบริหารจัดการมาก โดยเราพยายามปรับให้ทุกส่วนของเครื่อง User Friendly โดยอายุการใช้งานขึ้นอยู่กับปริมาณฝุ่น คาดหวังว่าอยากให้มีการนำไปใช้ และหากใครสนใจยินดีที่จะให้คำแนะนำ" ดร.พรอนงค์ กล่าว
กทม. เดินหน้า สร้างพื้นที่ปลอดภัยคนเมือง
พรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมา กทม.มีความพยายามในการแก้ปัญหามลพิษ โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 โดยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนรวมถึงการพยายามแก้ปัญหาทั้งระยะสั้น กลาง ยาว โดยการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นตอของแหล่งกำเนิดฝุ่นรวมถึงการบำบัดอากาศซึ่งเป็นปลายทาง อย่างไรก็ตาม เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ผลงานของ สวทช. ที่ทาง กทม.ได้ใช้อยู่ด้วยแล้ว คือ Traffy Fondue ที่จะเป็นการช่วยแจ้งเตือน เฝ้าระวังปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่ กทม. ซึ่งประชาชนสามารถมีส่วนร่วมถ่ายรูปและส่งทางไลน์ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปเร่งดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว
“ทั้งนี้ ผลงานวิจัยต่าง ๆ ของสวทช. ทาง กรุงเทพมหานคร มีความยินดีที่จะสนับสนุนและใช้แก้ปัญหาเพื่อตอบโจทย์ด้านมลพิษของประเทศ โดยเฉพาะปัญหาของฝุ่น PM2.5 ที่เป็นปัญหาของเมืองใหญ่ๆ ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งต่อสังคม สุขภาพและคุณภาพชีวิตชาวเมือง ซึ่งการมีความร่วมมือกันครั้งนี้ถือเป็นการป้องกันและเป็นตัวช่วยบรรเทาปัญหาเพื่อให้ประชาขนมีทางเลือกในการเข้าถึงนวัตกรรมและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น”
ค่า PM2.5 สีไหน เป็นภัยต่อสุขภาพ
- 0 – 15 มคก.ลบ.ม. ดีมาก
- 15.1 – 25.0 มคก./ลบ.ม. ดี
- 25.1 – 37.5 มคก./ลบ.ม. ปานกลาง (ลดกิจกรรมกลางแจ้ง)
- 37.6 – 75.0 มคก./ลบ.ม. เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (งดกิจกรรมกลางแจ้ง)
- 75.1 มคก./ลบ.ม. ขึ้นไป มีผลกระทบต่อสุขภาพ (งดกิจกรรมกลางแจ้ง)