เปิด 11 มาตรการเร่งด่วนแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผย 11 มาตรการเร่งด่วนแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 เน้นปรับแนวทางสู่การปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 เวลา 15.30 น. นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงข่าวมาตรการเร่งด่วนแก้ไขปัญหา ฝุ่น PM 2.5 ณ ห้องแถลงข่าว 101 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อรับมือและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองได้ทันต่อสถานการณ์และเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและปกป้องสุขภาพอนามัยของประชาชน
โดย มาตรการแก้ไขปัญหา ฝุ่นพิษ PM 2.5 ปี 2567 ได้รวมถึงการจัดการไฟในป่า ไฟในพื้นที่เกษตรกรรม การควบคุมฝุ่นละอองในเมือง การสนับสนุนและการลงทุน รวม 11 มาตรการ คือ
1) การเตรียมความพร้อมการควบคุมพื้นที่เสี่ยงต่อการเผาใน 11 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวนแห่งชาติ โดยจัดทำแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า จัดระเบียบควบคุมผู้เข้าใช้ประโยชน์พื้นที่
2) การเตรียมความพร้อมการกำหนดเงื่อนไขการอนุญาตการเผาและการบริหารจัดการการเผาในพื้นที่เกษตร โดยสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่
3) การนำระบบการรับรองผลผลิตทางการเกษตรแบบไม่เผา (GAP PM 2.5 Free) มาใช้กับการปลูกอ้อย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
4) จัดหาและสนับสนุนเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่เหมาะสมในการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของเกษตร และมาตรการไม่รับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ
5) การบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยนำมาแปรรูปเพื่อสร้างรายได้ และจัดตั้งศูนย์รับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร
6) การพิจารณาเพิ่มเงื่อนไขเรื่องการเผาในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรในการนำเข้า-ส่งออกสินค้า เพื่อแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน
7) การพิจารณาสิทธิประโยชน์หรือแรงจูงใจให้ภาคเอกชนที่ร่วมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5
8) การผลิตและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร 5
9) การลดปริมาณฝุ่นละอองจากรถบรรทุก รถยนต์ รถจักรยานยนต์ โดยเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปีและการตรวจจับควันดำ การเข้มงวดวินัยจราจร การคืนพื้นผิวจราจรบริเวณการก่อสร้างรถไฟฟ้า การลดจำนวนรถยนต์ในท้องถนนโดยเฉพาะในพื้นที่เมือง สร้างจุดจอดแล้วจร และสนับสนุนการปรับเปลี่ยนใช้รถยนต์ไฟฟ้า
10) การลดปริมาณฝุ่นละอองจากการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้างและอื่นใด
11) การกำหนดหลักเกณฑ์ในการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน โดยได้เน้นย้ำการปรับแนวทางการสื่อสารจากระดับนโยบายสู่การปฏิบัติในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันมากขึ้น และสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้กับประชาชนได้อย่างทันท่วงที