4 วิธีอยู่ร่วม ช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานเป็น 'โรคซึมเศร้า' และคำพูดต้องห้าม
ปัจจุบันผู้ป่วยซึมเศร้าในประเทศไทย มีจำนวนเพิ่มขึ้น องค์การอนามัยโลกมีการประเมินว่ามีจำนวนกว่า 5% ของประชากรปกติ ขณะที่การศึกษาของสหรัฐอเมริกา หรือยุโรปพบว่าสูงถึง 10% ส่วนอัตราของไทยอยู่ที่ 1-2% และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
Keypoint:
- โรคซึมเศร้าจัดว่าเป็น ‘โรค’ ที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกาย เมื่อเป็นแล้วสามารถเข้ารับการรักษา และวินิจฉัยโดยแพทย์ เพื่อระบุสาเหตุและนำไปสู่การรักษาอย่างถูกต้อง เช่นเดียวกับโรคอื่น
- ถ้าคนใกล้ตัวเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เราต้องดูแลพวกเขาอย่างเข้าใจเขาให้มากที่สุด และต้องปฎิบัติตามคำแนะนำเบื้องต้นว่าอะไรควรทำ และไม่ควรทำ
- 4 วิธีอยู่ร่วมกับเพื่อนร่วมงานที่เป็น 'โรคซึมเศร้า' เริ่มจากทำความเข้าใจ ไม่เห็นเป็นไรถ้าเราเป็นฝ่ายเข้าหาก่อน จริงใจกับตัวเอง และสนับสนุนให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไปพบผู้เชี่ยวชาญ
ข้อมูลจากศูนย์ความรู้โรคซึมเศร้าไทย กรมสุขภาพจิต ระบุว่า โดยเฉลี่ยผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจำนวน 100 คน จะเข้าถึงการรักษาเพียง 28 คนเท่านั้น พบว่าเพศหญิงมีอัตราการป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าเพศชาย แต่เพศชายมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่า และผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า และ 70% ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยปี 2564 คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน และมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าพยายามฆ่าตัวตาย 6 คนต่อชั่วโมง หรือทั้งปีมากกว่า 53,000 คน และเสียชีวิตราว 4,000 คน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลก พยากรณ์ไว้ใน Provisional agenda item 6-2 ว่า ตั้งแต่ปี 2554 ในปี 2572 นั้นโรคซึมเศร้า จะขึ้นมาเป็นสาเหตุของภาระโรคในระดับโลก และการเป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตายอันดับ 2 ในกลุ่มคนอายุ 15-29 ปี ซึ่งเป็นวัยหนุ่มสาวที่เป็นกำลังหลักให้กับประเทศชาติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำคนรุ่นใหม่ "หดหู่ เครียด ซึมเศร้า" และวิธีการรับมือ
เช็กลิสต์ 9 อาการของโรคซึมเศร้า
คุณมีอาการของโรคซึมเศร้าหรือเปล่า? มาประเมินตัวเองไปพร้อมกันกับแนวทางคัดกรองตัวเองเบื้องต้นว่าอาจเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ โดยเบื้องต้นสามารถสังเกตได้จาก 'ภาวะอารมณ์หรือความคิดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างผิดปกติ' นอกจากนี้ ยังสามารถประเมินอาการได้จาก เช็กลิสต์ 9 อาการนี้
1. มีอารมณ์เชิงลบเป็นส่วนมาก: รู้สึกเศร้า หดหู่ ท้อแท้ ร้องไห้โดยไม่ทราบสาเหตุ กังวลหรือหงุดหงิดมากเกินไป จนส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงาน ความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้าง หรือสูญเสียความสามารถในการดูแลตนเอง
2.เบื่อหน่ายสิ่งรอบตัว: ไม่อยากทำหรือหมดสนใจในหลายกิจกรรม โดยเฉพาะกิจกรรมที่เราเคยชอบทำ เริ่มเก็บตัว ไม่สนใจต่อสิ่งรอบข้าง
3.กินผิดปกติ: รับประทานอาหารน้อยลง น้ำหนักตัวลดลงผิดปกติ หรืออาจเป็นตรงกันข้ามคือ รับประทานอาหารมากกว่าปกติ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นผิดปกติ
4.มีปัญหาในการนอน: นอนไม่หลับ หลับไม่สนิท หรือนอนมากจนเกินไป โดยเฉพาะในรายที่มีอาการเช่นนี้เรื้อรัง
5. อยู่ไม่สุข หรือเฉื่อยไปเลย: เริ่มเฉื่อย ๆ เนือย ๆ การเคลื่อนไหวช้าลง หรือในทางตรงกันข้ามอาจกระวนกระวายมากจนเกินไป
6.อ่อนเพลีย หมดเรี่ยวแรง
7.สมาธิสั้น ความจำแย่ลง
8.เสียความมั่นใจ: รู้สึกตนเองไร้ค่า สิ้นหวัง คิดว่าตนเองเป็นภาระ สูญเสียความมั่นใจในตนเอง
9.ไม่อยากมีชีวิตอยู่ คิดถึงความตายบ่อยครั้ง
ปัจจัยกระตุ้นของโรคซึมเศร้า
‘โรคซึมเศร้า’ ไม่ใช่แค่อาการอ่อนแอทางจิตใจ แต่เป็นอาการป่วยทางร่างกายอย่างหนึ่ง ดังนั้น คนที่ไม่ได้ป่วยย่อมไม่สามารถรู้สึกถึงสิ่งที่ผู้ป่วยรู้สึกได้ร้อยเปอร์เซนต์ โรคซึมเศร้าจึงถือเป็นภัยเงียบที่พบมากขึ้นในสังคมปัจจุบันอันตึงเครียด และเป็นที่น่ากังวลไม่แพ้กับการเจ็บป่วยทางร่างกาย
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกพบว่า ในคน 20 คน จะมีคนที่กำลังเผชิญกับภาวะซึมเศร้า 1 คน ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่ไม่น้อย แม้บางคนจะมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคนี้ แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่เข้าใจว่า โรคซึมเศร้าสามารถรักษาได้ด้วยการปรับความคิด หรือ มองว่าถ้าเข้มแข็งขึ้นก็จะหายได้เอง ซึ่งบางครั้งอาจไม่ใช่หนทางรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยเสมอไป
หากมีอารมณ์เศร้าตามปกติ จะหายได้เองเมื่อปัจจัยกระตุ้นหมดไป แต่ถ้าหากความเศร้าคงอยู่เป็นเวลานาน และไม่ได้รับการแก้ไข มีโอกาสก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย โดยจะทำให้เกิดการเสียสมดุลของสารเคมีในสมองดังที่ได้กล่าวไป โดยมีสาเหตุและปัจจัยกระตุ้น ดังต่อไปนี้
1. สาเหตุทางพันธุกรรม
หากมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคซึมเศร้าหรือความผิดปกติทางอารมณ์ จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้คน ๆ นั้นเป็นโรคนี้ได้ มีรายงานว่าหากมีฝาแฝดคนหนึ่งเป็นโรคซึมเศร้า ฝาแฝดอีกคนมีโอกาสเป็นซึมเศร้าด้วย ในอัตราที่สูงกว่า 70%
แต่อย่างไรก็ดี การที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคซึมเศร้า ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องเป็นซึมเศร้าด้วย ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิต รวมถึงพฤติกรรมและการใช้ชีวิตของเราด้วย
2. การเจ็บป่วยด้านร่างกาย
เมื่อเรามีความเจ็บป่วย นอกจากจะต้องทรมานกับอาการของโรคแล้ว ยังเกิดความเครียดและความวิตกกังวลในการรับมือกับภาวะความเจ็บป่วยนั้นอีกด้วย โดยเฉพาะหากโรคดังกล่าวมีลักษณะอาการรุนแรงหรือเป็นภาวะเรื้อรัง ก็อาจเชื่อมโยงกับโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น
ดังนั้น ใครที่มีคนในครอบครัว ญาติ ผู้ที่สนิท เป็นโรคเรื้อรังหรือโรคร้ายแรงต่าง ๆ นอกจากเรื่องของการรักษาแล้ว ควรเฝ้าระวังสภาพจิตใจของผู้ป่วยด้วย
3. เพศและฮอร์โมน
มีรายงานว่าผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเป็นภาวะซึมเศร้ามากกว่าผู้ชาย แต่ยังไม่มีการยืนยันว่าเกิดจากปัจจัยทางด้านสรีรวิทยาของเพศโดยตรง หรือเกิดจากการที่ผู้หญิงมีแนวโน้มเลือกที่จะเข้ารับการรักษามากกว่าผู้ชาย เมื่อพบว่าตนเองอาจมีภาวะซึมเศร้า
นอกจากนี้ พบว่าผู้หญิงในช่วงที่มีความแปรปรวนหรือความผิดปกติของฮอร์โมนก็สามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อย่างรวดเร็ว แล้วนำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ เช่น ช่วงตั้งครรภ์หรือหลังคลอดบุตร ผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน หรือบางคนในช่วงก่อนมีประจำเดือน อาจมีภาวะผิดปกติทางจิตใจ (premenstrual dysphoric disorder; PMDD) ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเป็นภาวะซึมเศร้าได้
4.เหตุการณ์สำคัญในชีวิต (life events)
เหตุการณ์สำคัญในชีวิต นับเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่อาจกระตุ้นให้ผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้ โดยเฉพาะเหตุการณ์ในเชิงลบที่ก่อให้เกิดความกระทบกระเทือนทางใจ เช่น การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก การหย่าร้าง การตกงาน ความตึงเครียดทางการเงิน การย้ายที่อยู่ไปยังที่ที่ไม่คุ้นเคย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีเหตุการณ์ในเชิงบวก ที่สามารถทำให้คนเป็นโรคซึมเศร้าได้ด้วยเช่นกัน มีรายงานว่า ผู้ที่พึ่งผ่านประสบการณ์แห่งความสุขมา ก็อาจเกิดภาวะซึมเศร้าขึ้นได้ด้วย เช่น หลังจากทำเป้าหมายใหญ่ในชีวิตสำเร็จ หลังจากผ่านการแต่งงานหรือคลอดบุตร หรือแม้แต่หลังการเกษียณ เป็นต้น ซึ่งก็มีข้อสันนิษฐานว่า อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อย่างรวดเร็วจนตั้งตัวไม่ทัน
5.การพักผ่อน และการนอนหลับ
หากพักผ่อนน้อยเป็นประจำ หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับการนอน (โดยเฉพาะในรายที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนแบบเรื้อรัง) อาจเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคซึมเศร้าได้ด้วย
6.ฤดูกาล
หลายคนอาจมีความรู้สึกว่า ตนเองมักจะมีความรู้สึกนึกคิดหรืออารมณ์ดิ่งลงโดยเฉพาะในฤดูหนาว ซึ่งเป็นฤดูที่ช่วงเวลากลางวันจะสั้นลงและเวลากลางคืนยาวขึ้น ส่งผลให้เกิดความรู้สึกเซื่องซึม หรือเหนื่อยล้า และหมดความสนใจในกิจกรรมประจำวัน เราเรียกภาวะนี้ว่า โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล (seasonal affective disorder) หรือย่อสั้น ๆ เศร้า ๆ ว่า “SAD” ซึ่งถ้าใครมีอาการตามฤดูกาลเช่นนี้ ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันควรมาพบแพทย์เพื่อปรึกษาหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสม
มักพบในผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีช่วงฤดูหนาวยาวนาน ช่วงกลางวันสั้นกว่ากลางคืน การได้รับแสงอาทิตย์อย่างจำกัด ก็สัมพันธ์กับโอกาสเป็นภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน
7. ปัจจัยอื่น ๆ
นอกจากปัจจัยหลักดังที่กล่าวมาแล้ว การแยกตัวจากสังคมเป็นเวลานาน ๆ การถูกทอดทิ้งหรือทารุณกรรมในวัยเด็ก ยังเป็นปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ด้วย
บางคนอาจเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นจากบุคลิกภาพและลักษณะนิสัย เช่น มีความคิดเห็นหรือมีความเชื่อที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริง มีความนับถือตัวเองต่ำ รวมถึงผู้ที่ชอบดื่มแอลกอฮอล์ ใช้สารเสพติดหรือใช้ยาบางชนิดเป็นประจำ โดยเฉพาะยานอนหลับ
หากพบว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวมีลักษณะอาการดังกล่าวข้างต้นโดย
- เป็นอย่างน้อย 5 อาการขึ้นไป
- มีอาการในข้อ 1 หรือข้อ 2 ร่วมด้วยอย่างน้อย 1 ข้อ
- มีอาการตลอดทั้งวัน
- เป็นแทบทุกวัน ต่อเนื่องอย่างน้อย 2 สัปดาห์
- ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด เพราะอาจเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าได้
4 วิธีอยู่ร่วมกับเพื่อนร่วมงานเป็น 'โรคซึมเศร้า'
อยากชวนให้ทุกคนได้เรียนรู้วิธีการอยู่ร่วมกันกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้าติดตัวไว้ เผื่อว่าในวันหนึ่งคุณพบว่าคนใกล้ชิดของคุณเป็นผู้ที่มีอาการของโรคซึมเศร้า โดยบางคนอาจจะเป็นเพื่อนร่วมงานของคุณเอง จะได้สามารถอยู่ร่วมกันกับเพื่อนร่วมงานที่มีอาการของโรคซึมเศร้าโดยที่คุณไม่เผลอไปทำร้ายจิตใจเขา และคุณเองก็สามารถวางตัวได้อย่างเหมาะสม ดังนี้
1. ทำความเข้าใจผู้ที่มีอาการของโรคซึมเศร้าให้ถูกต้อง
สิ่งหนึ่งที่คนทั่วไปมักไม่เชื่อแต่จากเหตุผลทางการแพทย์แล้วอยากให้ทุกคนทราบว่า โรคซึมเศร้า เป็นอาการป่วย (illness) เช่นเดียวกับโรคมะเร็ง มีข้อมูลที่ถูกระบุไว้ในตำราจิตเวชศาสตร์อยู่จริง ดังนั้น อาการแสดงต่าง ๆ ของโรคที่คุณเห็นผ่านพฤติกรรมของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่ว่าจะเป็นอาการหดหู่ คิดลบ ฉุนเฉียว พลังงานน้อย เฉื่อยชา ฯลฯ ล้วนแต่เป็นอาการที่เกิดจากผู้ป่วยกำลังมีอาการของโรคซึมเศร้าอยู่ เปรียบเหมือนคนที่เป็นหวัด ก็ไม่ได้อยากมีน้ำมูกไหล ไอจาม แต่ก็ห้ามไม่ได้แม้อยากจะให้อาการเหล่านั้นมันหายไปเท่าไหร่ก็ตาม ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าก็เช่นกัน
ในช่วงที่อาการอยู่ในระดับมากหรือเพิ่งได้รับการรักษา ก็จะมีอาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ซึ่งผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเองก็ไม่ชอบที่ตัวเองต้องเป็นแบบนั้นเหมือนกัน แต่ไม่สามารถทำให้อาการมันหายไปได้ จึงจำเป็นต้องใช้ยาเข้ามาช่วยให้อาการของโรคซึมเศร้าลดระดับลง จนผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างสงบสุขมากขึ้นได้ ซึ่งความรู้สึกสงบและมีสมาธินั้นสัมพันธ์กับปริมาณของสารเคมีในสมองของคนเราจริง ๆ มีหลักฐานอ้างอิงในทางวิทยาศาสตร์จริง ๆ ดังนั้น จึงอยากชวนให้มองผู้ป่วยโรคซึมเศร้าแบบที่เขาเป็น ไม่ใช่แบบที่เราอยากให้เขาเป็น
2. ไม่เห็นเป็นไร ถ้าเราจะเป็นฝ่ายเข้าหาก่อน
เนื่องจากคนทั่วไปที่ไม่มีปัญหาเรื่องของระดับสารเคมีในสมองหรือความผิดปกติทางอารมณ์ ย่อมจะเป็นผู้ที่มีทักษะในการปรับตัวที่ดีกว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้า จึงเป็นการง่ายกว่าที่คนทั่วไปจะเป็นฝ่ายเข้าหาผู้ป่วยก่อน โดยคุณอาจต้องวางความคิดที่มีลักษณะเป็นสมการของตัวเองลง
เช่น 'ฉันเข้าเธอก่อน 5 ครั้ง = เธอต้องเข้าหาฉันก่อนบ้าง 5 ครั้ง' ลองนึกถึงภาพความเท่าเทียม (equality) ที่เหมือนกับการเอาคนที่มีความสูงไม่เท่ากันมายืนบนกล่องขนาดเดียวกัน กล่องอาจจะสูงเท่ากันแต่ระดับสายตาของแต่ละคนก็จะไม่เท่ากัน แต่หากคุณนึกถึงภาพความเสมอภาค (equity) คนตัวสูงอาจจะได้กล่องที่ไม่สูง ส่วนคนที่ตัวไม่สูงได้ยืนบนกล่องที่สูงกว่า กล่องสูงไม่เท่ากันแต่ระดับสายตาของแต่ละคนจะเท่ากัน ซึ่งคนทั่วไปกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าก็มีลักษณะเป็นเช่นนั้น คือทักษะในการปรับตัวเข้าสังคมของผู้ป่วยมักจะน้อยกว่าคนทั่วไป หากคุณรอให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเป็นฝ่ายทักทายเข้าหาคุณก่อน ก็อาจจะต้องรอตลอดไป
3. จริงใจกับตัวเอง
คำว่า จริงใจกับตัวเอง แปลมาจากคำในภาษาอังกฤษว่า 'genuine' หากคุณมีความรู้สึกห่วงใยเพื่อนร่วมงานที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ก็สามารถแสดงออกหรือบอกได้เลย เช่น 'เป็นห่วงนะ' หากอยากช่วยเหลือก็อาจจะเปิดประตูใจให้กับผู้ป่วยเอาไว้ด้วยการพูดว่า 'มีอะไรที่อยากให้ช่วยก็บอกมาได้นะ ยินดีช่วยมากเลย' และเน้นย้ำให้เขารู้ว่า แม้การขอความช่วยเหลือจะต้องอาศัยความกล้าอย่างมาก แต่มันก็เป็นสิ่งจำเป็นมากในเวลาที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรับรู้เจตนาของคุณได้อย่างชัดเจนมากกว่าการพูดจาอ้อมค้อม เช่นไปพูดว่า 'ก็หัดสู้ชีวิตบ้างสิ' ด้วยเจตนาดีว่าอยากให้ผู้ป่วยเข้มแข็งมากขึ้น แต่การสื่อสารที่ไม่ชัดเจนตรงไปตรงมาอาจทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าตีความไปว่า คุณมองว่าเขาไม่สู้ชีวิตมากพอ
และในทางตรงข้าม หากคุณรู้สึกไม่ดีกับเพื่อนร่วมงานที่เป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจริง ๆ คุณก็ไม่จำเป็นต้องเสแสร้งแกล้งทำเป็นดีกับผู้ป่วย แต่ก็ไม่จำเป็นต้องแสดงออกว่าคุณไม่ชอบเขาเช่นกัน และแม้ว่าคุณจะไม่อยากช่วยเหลือเขา ก็เพียงหลีกเลี่ยงคำพูดที่ทำร้ายจิตใจก็พอ อย่างน้อย แม้คุณจะช่วยอะไรเขาไม่ได้ ก็ขอแค่อย่าไปสร้างความทุกข์ให้กับเขาเพิ่มก็พอ
4. สนับสนุนให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไปพบผู้เชี่ยวชาญอย่างสม่ำเสมอ
มันไม่มีเหตุผลเลยที่คนเราจะต้องมาทุกข์ทรมานกับโรคซึมเศร้าทั้งที่มีบริการสุขภาพจิตอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน แต่ในบางครั้งคนที่มีอาการของโรคซึมเศร้าก็ตกอยู่ในสภาวะไม่ยินดียินร้าย ขาดแรงจูงใจที่จะไปพบผู้เชี่ยวชาญ หากพบว่าเพื่อนร่วมงานของคุณมีอาการของโรคซึมเศร้า (สามารถศึกษาได้จากบทความทางการแพทย์ในอินเตอร์เน็ต)
แล้วคุณเป็นส่วนหนึ่งที่คอยสนับสนุนให้กำลังใจเขาในการไปพบผู้เชี่ยวชาญ โดยบอกกับเขาว่า 'โรคซึมเศร้านั้นเป็นอาการป่วย ไม่ได้หมายความว่าคุณเป็นคนที่แย่โดยนิสัย หลังจากรับการรักษาแล้วคุณก็จะมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น แล้ววันนั้นคุณก็จะพบว่าตัวเองไม่ได้เป็นคนที่แย่เลย เพียงแต่คุณกำลังเผชิญอยู่กับอาการของโรคซึมเศร้าอยู่ต่างหาก'
ทั้งนี้ การสนับสนุนให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไปพบผู้เชี่ยวชาญตามนัดหมายอย่างสม่ำเสมอ นอกจากจะช่วยให้อาการของโรคบรรเทาลงแล้ว ยังเป็นการช่วยลดความเสี่ยงเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้อีกด้วย
สิ่งที่ควรทำแก่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
- ชวนผู้ป่วยให้ลุกมาทำกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นเล่นกีฬาเบาๆ เล่นเกม ทำงานศิลปะ นอกจากจะลดโอกาสที่จะคิดฟุ้งซ่าน และคิดหดหู่แล้ว การเคลื่อนไหวร่างกายยังช่วยหลั่งสารความสุขอย่างเอ็นโดรฟินออกมา
- ฟังด้วยความตั้งใจ และท่าทีที่สบายๆ ไม่คะยั้นคะยอ และไม่ตัดสินใจแทน นั่นเพราะผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักมีความคิดว่าตัวเองเป็นภาระให้คนอื่นอยู่แล้ว ดังนั้น การจะให้ผู้ป่วยพูดคุยระบายความรู้สึก ต้องให้พวกเขารู้สึกก่อนว่ามีคนอยากรับฟัง และไม่กดดัน หรือตัดสินเขา สร้างความไว้วางใจ และบรรยากาศสบายๆ ให้ผู้ป่วยได้เล่าสิ่งที่อยากพูดออกมาเต็มที่ เพราะในบางครั้งเขาอาจมีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง หรืออยากตาย หากว่าคนรอบข้างได้มีโอกาสรับฟัง จะได้สามารถป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้ทันท่วงที
สิ่งที่ไม่ควรทำแก่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
- อย่าบอกปัด ผู้ป่วยให้ไปเข้าวัดฟังธรรมหรือทำจิตใจให้สงบ โดยไม่อยู่เคียงข้างพวกเขา เพราะผู้ป่วยจะรู้สึกทันทีว่าไม่มีที่พึ่งพา หรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นที่น่ารำคาญ และยิ่งตีตัวออกห่าง ส่งผลให้เกิดความคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ได้
- อย่าทำเป็นไม่ได้ยิน หรือไม่อยากพูดถึงเมื่อผู้ป่วยพูดถึงการอยากตาย หลายๆ คนคิดว่าการเอ่ยหรือพูดคุยถึงเรื่องการฆ่าตัวตายกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอาจเป็นแนวโน้มให้ผู้ป่วยอยากทำ หรือชี้โพรงให้กระรอก แต่ในความเป็นจริงแล้วหากผู้ป่วยเอ่ยถึงการอยากตาย แล้วคนใกล้ตัวกลับมีท่าทีต่อต้าน หรือทำเป็นไม่สนใจเพื่อให้ผู้ป่วยเลิกคิด หรือมีคำพูดทำนองว่า 'อย่าคิดมาก' 'อย่าคิดอะไรบ้าๆ' ยิ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแย่ลงอย่างมากว่าเราไม่รับฟังสิ่งที่เขารู้สึกคับข้องใจ ไม่มีวันจะเข้าใจเขาจริงๆ
- อย่ากดดันและเร่งรัด ถ้าผู้ป่วยยังอาการไม่ดีขึ้น ห้ามพูดหรือทำให้พวกเขารู้สึกว่า 'เมื่อไหร่จะหาย' หรือ 'หายได้แล้ว' เพราะผู้ป่วยจะยิ่งรู้สึกกดดัน และผิดหวัง หากอาการเพิ่งเริ่มดีขึ้น ความเครียดเหล่านี้จะยิ่งส่งผลให้จิตใจแย่ลง และอาจเป็นหนักกว่าเดิม
วิธีจัดการอารมณ์ และความรู้สึกของผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยซึมเศร้า
ผู้ที่ดูแลผู้ป่วยซึมเศร้า (Caregiver) ถือเป็นคนที่มีความสำคัญเช่นกัน เพราะเป็นผู้ใกล้ชิด มีโอกาสรับฟังปัญหา และอาจได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมของผู้ป่วย ผู้ดูแลอาจเกิดความรู้สึกเหนื่อย เบื่อหน่าย ท้อแท้ รับมือกับผู้ป่วยยาก และสะสมเป็นความเครียดได้ ดังนั้น ผู้ดูแลควรมีวิธีดูแลสุขภาพใจตนเองเบื้องต้น
1. รู้เท่าทันอารมณ์ตนเอง สังเกตอารมณ์ตนเองว่าในช่วงนี้เรารู้สึกเหนื่อยเกินไปหรือเปล่า ควรวางแผนในการดูแลร่วมกันกับครอบครัว หรือคนสนิทรอบตัวผู้ป่วย เพื่อไม่ให้ใครคนใดคนนึงเหนื่อยมากจนเกินไป มีการผลัดเปลี่ยนช่วยกันดูแล และถอยออกมา มีเวลาทำงาน มีเวลาส่วนตัวบ้าง เพื่อให้มีช่วงเวลาผ่อนคลายจากความตึงเครียด
2. เข้าใจธรรมชาติของโรค ลดความคาดหวังในตัวผู้ป่วย และการรักษา การรักษาผู้ป่วยโดยการใช้ยา หรือทำจิตบำบัด ใช้เวลาอย่างน้อย 3-6 เดือนถึงจะเริ่มดีขึ้น แต่บางรายอาจจะมากกว่านั้นแตกต่างกัน ขึ้นกับปัญหาของผู้ป่วยแต่ละราย
3. หากเกิดความเครียด วิตกกังวล โทษตัวเองมากขึ้น ควรปรึกษาจิตแพทย์ หรือทีมสหวิชาชีพที่ดูแลด้านสุขภาพจิตเพื่อประเมินอาการ และรับคำแนะนำเบื้องต้น
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะใช้เวลารักษาอย่างน้อย 6 เดือน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย มีโอกาสหาย และกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ มีการรับรู้การเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ ความคิด พฤติกรรมของตนเองได้ดีขึ้น นอกจากตัวผู้ป่วย แผนการรักษา คนใกล้ชิดที่ดูแลผู้ป่วยก็มีส่วนสำคัญในการรักษา เพราะการที่จะต้องอยู่กับผู้ป่วยตลอดเวลา ถ้ามีความรู้ ความเข้าใจในโรคซึมเศร้า จะทำให้สามารถดูแลผู้ป่วยด้วยความเข้าใจ เพราะโรคซึมเศร้าไม่ใช่อาการของคนอ่อนแอ แต่เป็นเรื่องของสมดุลสารเคมีในสมอง ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
อ้างอิง:กรมสุขภาพจิต , โรงพยาบาลเปาโล , คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี