HOOK เปิดคอร์สชวนสังคมไทย 'เข้าใจเด็ก เข้าใจเรา เข้าใจโลก'
HOOK เปิดคอร์สชวนสังคมไทย "เข้าใจเด็ก เข้าใจเรา เข้าใจโลก" เรียนรู้ด้านสุขภาพจิตแบบออนไลน์ เพื่อผสานความเข้าใจระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ให้ใกล้กันมากขึ้น
ในวินาทีนี้ เชื่อว่าสังคมยังคงตกใจกับเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น จากกรณีกราดยิงกลางห้างดัง ที่ผู้ก่อเหตุคือเยาวชนวัยเพียงไม่ถึง 15 ปี ท่ามกลางคำถามและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของคนในสังคมที่มีทั้งการตัดสิน ตีตรา และความเศร้าเสียใจ รวมถึงความรู้สึกร่วมปนเปมากมาย อีกหนึ่งประเด็นที่ทุกคนควรตระหนักคือ การหันกลับมาทบทวน ตั้งคำถามกับตัวเองด้วยว่า ในฐานะผู้ใหญ่ในสังคมนี้ ได้ใส่ใจดูแล เข้าใจลูกหลานให้ "ดีพอ" แล้วหรือยัง?
ยิ่งโลกเปลี่ยนแปลง ยิ่งไม่เข้าใจ
ต้องยอมรับว่าการอยู่ในโลกแห่งความเปลี่ยนแปลงชนิด "หน้ามือเป็นหลังมือ" เช่นปัจจุบัน บวกกับชีวิตที่รีบเร่งได้สร้าง "ช่องว่าง" ระหว่างเจนเนอเรชันให้พ่อแม่ผู้ปกครองและลูกหลานห่างเหินมากกว่าในอดีต สวนทางกับปัจจุบัน ที่ปัญหาวัยรุ่นกับโลกออนไลน์ ความรุนแรง สุขภาพจิต ความไม่เข้าใจระหว่างวัยกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น
ความน่าห่วงใยในสถานการณ์สังคมไทยที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เมื่อไม่นานมานี้ สองแนวร่วมสำคัญ ได้แก่ สำนักพิมพ์ Bookscape และ สสส. จับมือกันเปิดตัวแพลตฟอร์มออนไลน์ที่พัฒนารูปแบบการสื่อสารตอบโจทย์คนยุคใหม่ ที่ชื่อว่า "HOOK Learning" ขึ้น
ล่าสุดแม้ Hook จะเปิดตัวมาแล้วเกือบสองเดือน แต่จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา สะท้อนถึงช่วงเวลาสำคัญ ที่สังคมไทยจำเป็นต้องมีช่องทางสื่อกลาง เพื่อผสานความเข้าใจระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ให้มากขึ้น และนี่เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ควรแนะนำทุกคนให้รู้จัก HOOK Learning.com
HOOK เครื่องมือเรียนรู้เพื่อเข้าใจ
HOOK เป็นหลักสูตรออนไลน์ คัดสรรประเด็นสาระน่ารู้เชิงลึกและร่วมสมัยเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน และครอบครัว ถ่ายทอดโดยผู้ชำนาญการเฉพาะทาง พร้อมแบบฝึกหัด และอินโฟกราฟิกที่ช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ โดยจะเข้ามาช่วยให้ผู้ใหญ่ทำความเข้าใจ รวมถึงเชื่อมความเข้าใจเด็กและเยาวชน
ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า HOOK คือโลกการเรียนรู้ทางสุขภาพจิตแบบออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนขอเพียงมีอุปกรณ์พร้อมอินเทอร์เน็ต ซึ่งได้ประเดิมเปิดตัว 3 หลักสูตรแรกไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยล้วนเป็นการคัดสรรจากประเด็นที่กำลัง Hot Topic ของสังคมในปัจจุบัน
Design Thinking ออกแบบชีวิตสู้ความเปลี่ยนแปลง
เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล เล่าถึงหลักสูตรออกแบบชีวิตด้วยแนวคิดนักออกแบบว่า สิ่งที่ทำให้สามารถรับมือความเปลี่ยนแปลง คือควรยอมรับในการเปลี่ยนแปลงนั้น และปรับตัว เพราะหากเมื่อไหร่ที่การปรับตัวไม่คงที่จะเริ่มมีความเครียด กดดัน ซึมเศร้า และเริ่มสับสนว่าจะไปต่ออย่างไรดี ซึ่ง Design Thinking จะเป็นกระบวนการที่ให้แนวทางว่าการที่เราจะออกแบบชีวิตตัวเองภายใต้ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ซึ่งเหมาะกับน้องๆ ที่กำลังสับสนว่าจะไปต่ออย่างไรดี
"สำหรับคอร์สนี้เราไม่ได้มองว่า พอฟังหรือเรียนรู้ครบทั้ง 7 ตอนแล้วจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันที เพราะปลายทางชีวิตคนแตกต่างกัน ชีวิตจริงกับสิ่งที่คิดอาจไม่เหมือนกัน แต่จะเป็นเข็มทิศของตัวเองไปทางไหน อย่างไร เราพยายามออกแบบให้กระชับและลงมือทำ มีสามส่วน Heart Head Hand โดยเริ่มจากการสังเกตก่อนว่าจุดอ่อนจุดแข็งคืออะไร เราเคยสังเกตหรือไม่ เข้าใจตัวเราแล้วลองหาทางเลือกให้กับตัวเอง ที่สำคัญในขั้นตอนสุดท้ายของการออกแบบเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงคือการทดลอง ลงมือทำ" เมษ์ กล่าว
ก้าวผ่าน "ซึมเศร้า" ในเยาวชน
"ซึมเศร้า" คือความป่วยไข้ของคนยุคใหม่ที่กำลังมีสถิติเพิ่มมากขึ้น โดยจากรายงานจับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ThaiHealth Watch พบวิกฤติโรคซึมเศร้าในเยาวชนไทยเพิ่มขึ้นทุกปี
ผศ.นพ. พนม เกตุมาน จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายถึงหลักสูตร "โรคซึมเศร้าในเยาวชน: ช่วยเหลือ รักษา ต้นกล้าแห่งความหวัง" หนึ่งในสามคอร์สแรกที่ประเดิม ใน Hook Learning.com ที่จะช่วยให้ทุกคน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนก้าวผ่านวิกฤติไปได้ว่า ซึมเศร้า จัดเป็นโรคที่มีสาเหตุชัดเจน อยู่ในกลุ่มโรคทางอารมณ์ ทั้งเป็นโรคที่เกิดจากทางกาย นั่นเกิดจากสารสื่อประสาทในสมองที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ เช่น สารเซโรโทนิน ลดลง โดยภาวะความเครียด หรือการเผชิญเรื่องรุนแรงที่เจอ สูญเสีย อาจมีผลทำให้สารสื่อประสาทลดลง เป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมเป็นซึมเศร้าแล้วรักษาหายได้ โดยการให้ยา ซึ่งอาจไม่ต้องทราบสาเหตุก็หายได้
"บางรายอาจมีปัจจัยอื่นประกอบ เช่น ปัจจัยแวดล้อม ครอบครัว โรงเรียน ประสบการณ์ที่โดนบูลลี่ถูกทำร้าย ฯลฯ เหล่านี้เป็นปัจจัยเสริมที่หากแก้ไขไปพร้อมกันก็ยิ่งทำให้หายได้ ซึ่งส่วนใหญ่ร้อยละ 80 ที่รักษาหายได้โดยยาและการให้กำลังใจสิ่งแวดล้อม" ผศ.นพ. พนม กล่าว
ซึมเศร้าไม่ใช่ตราบาป
สำหรับหลักสูตร ไม่เพียงเป็นการแนะแนวและช่วยในการป้องกันรักษาผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า หากเป้าหมายของหลักสูตรนี้ ยังเป็นการชวนทุกคนมาร่วมเข้าใจตั้งแต่สาเหตุที่มา กระบวนการรักษา และแนวทางป้องกันโรคซึมเศร้าทั้งในตนเองและลูกหลานเยาวชนรอบตัวได้
ผศ.นพ.พนม กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาหลายคนรู้สึกตนเองมีภาวะซึมเศร้าแต่ไม่มีทางออก หรือหลายคนอยากหายจากซึมเศร้า แต่ไม่กล้าไปหาหมอ ดังนั้นในกระบวนการให้ความรู้เสริมสร้างคือ จะทำอย่างไรให้คนรู้จักสาเหตุของโรคซึมเศร้าและมองเป็นเรื่องไม่น่าอาย เพราะความเข้าใจของคนสังคมจะส่งผลให้สถานการณ์ซึมเศร้าดีขึ้น เพราะทั้งสามารถป้องกันและรักษาได้
อ่าน Hashtag อย่างไรให้เข้าใจคนอื่น
อีกหนึ่งไฮไลต์เก็บตกจากงานคือ นานาทัศนะผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงตัวแทนเยาวชนมาคุยเพื่อสร้างความเข้าใจกันผ่านแฮชแท็กที่เป็นกระแส ผ่านวงเสวนา "#เด็กสมัยนี้ #ผู้ใหญ่สมัยนี้: เข้าใจเด็ก เข้าใจเรา เข้าใจโลก" ไม่ว่าจะเป็น #SAVE… ที่ "เมษ์" ผู้บริหารจากลูกคิด ให้มุมมองว่า ออนไลน์เป็นพื้นที่ที่ทุกคนแสดงความเห็นได้ อีกมุมคือพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการแสดงความคิดเห็น
"แต่การที่คนหนึ่งมีความคิดเห็นอย่างหนึ่ง อีกคนอาจมีความคิดผ่านแฮชแท็ก SAVE บางอย่าง ไม่ได้แปลว่าเราอยู่ร่วมโลกกันไม่ได้ เป็นธรรมชาติมนุษย์ที่ไม่ต้องเห็นตรงกันทุกอย่าง หากมีคนที่ไม่เห็นด้วยหรือมีความเห็นสองฝั่ง ควรสร้างสิ่งแวดล้อมให้เกิดการตั้งคำถามอย่างสร้างสรรค์ อาจไม่ได้หมายความว่าต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะหรือแพ้ แต่เป็นการฟังมุมมองจากสองฝั่ง เชื่อว่าจะเป็นการสอนให้คนคิดวิพากษ์ได้หลากหลายมากขึ้น ซึ่งเริ่มต้นได้ตั้งแต่วิชาเล็กๆ ในห้องเรียนที่ทำให้คนคิดว่าคนเราไม่ต้องเห็นด้วยเหมือนกันทุกอย่างเป็นเรื่องปกติ"
ณัฐยา ตัวแทนจาก สสส. ทำงานด้านเด็กและเยาวชน ร่วมแสดงความเห็นในมุมบวกว่า จุดเด่นของโซเชียลมีเดียคือ ทำให้คนสามารถรวมพลังกันได้ ได้เห็นการรวมพลังกันของคนตัวเล็ก เรื่องนี้ถึงโดนใจวัยรุ่น เพราะพูดในแง่อำนาจแล้ว เด็กและเยาวชนยิ่งอายุน้อยเท่าไหร่ ก็เป็นกลุ่มที่มีอำนาจน้อย เพราะต้องพึ่งพาคนอื่น เมื่อเทียบกับเด็กที่โตกว่า หรือผู้ใหญ่ ยิ่งหากเทียบกับองค์กร อำนาจรัฐ องค์กรข้ามชาติระดับประเทศแล้ว เพราะฉะนั้นการมีแฮชแท็กนี้ ยังแสดงว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของโลก และเราจะสู้กับเรื่องนี้ไปด้วยกัน
#เด็กสมัยนี้ VS #ผู้ใหญ่สมัยนี้
หากยอมรับความจริงที่ว่า ผู้ใหญ่สมัยนี้ก็เคยเป็นแบบเด็กสมัยนี้มาก่อน ช่องว่างระหว่างวัย และปัญหาที่ตามมาอาจลดน้อยลง
ธนกฤต เปิดใจว่า แฮชแท็กเด็กสมัยนี้ ในมุมมองเด็กคือ การถูกเปรียบเทียบกับเด็กสมัยอดีต ซึ่งมองว่ายุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องมีความเปลี่ยนแปลง แต่เข้าใจว่าที่ผู้ใหญ่มองแบบนั้นเพราะรู้สึกว่าเด็กสมัยนี้ไม่ช่วยทำงานบ้านหรือมีพฤติกรรมแบบอดีต
เขายังแสดงความเห็นว่า การเป็น "เด็กสมัยนี้" เองก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเด็กสมัยนี้ เพราะการต้องอยู่ในโลกยุคผันผวนตลอดเวลา และยังมีโลกไซเบอร์ที่อาจเป็นภัยร้ายสำหรับเด็กได้ รวมถึงเด็กสมัยนี้ยังต้องเผชิญปัญหาสภาพแวดล้อมที่แย่ลงในโลกชีวิตจริง
"การสื่อสารทางบวก การทำความเข้าใจเป็นเรื่องสำคัญ ฝั่งผู้ใหญ่ต้องฟังเด็กมากขึ้นจะทำให้เข้าใจว่าโลกยุคนี้เปลี่ยนแปลง แต่รุ่นหลังๆ โชคดีเริ่มมีผู้ใหญ่ฟังมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะเด็กมีวิธีการสื่อสารที่ดี ผู้ใหญ่อาจต้องการรูปแบบการสื่อสารที่ซอฟต์ เพราะถ้ามาแรงๆ เราก็ไม่ฟัง การมีท่าทีที่อ่อนน้อมขึ้นและใช้เหตุผลจะทำให้เด็กสื่อสารให้ผู้ใหญ่เข้าใจมากขึ้น และสามารถจัดการกับผู้ใหญ่ได้ ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ยุคนี้เองก็ต้องเรียนรู้วิธีการที่จะสื่อสารกันเอง หรือสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ด้วยวิธีการสันติวิธีมากขึ้น"
ณัฐยา กล่าวเสริมว่า แฮชแท็กดังกล่าวเป็นการติดป้าย เหมารวมและตีตรา ซึ่งไม่สะท้อนความเป็นจริงที่ว่า คนทุกเพศทุกวัยมีความหลากหลาย ไม่ได้แบ่งเป็นรุ่นใครรุ่นมัน ทำให้นึกถึงผลสำรวจเยาวชนของ คิด for Kids ปีที่ผ่านมา โดยได้มีการสำรวจความรับรู้ คุณค่า และทัศนคติของเยาวชนไทยอายุ 15-25 ปี จากกลุ่มตัวอย่าง 19,237 คนทั่วประเทศ มีหนึ่งหัวข้อที่น่าสนใจคือ เราพบกลุ่มวัยรุ่นที่จัดอยู่ในกลุ่มมีแนวคิดที่ค่อนข้างเปิดรับความแตกต่าง หลากหลาย หรือเรียกว่าพหุวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ วัฒนธรรม ศาสนา รสนิยมหรืออะไรก็ตาม เขามีคุณลักษณะอย่างหนึ่งร่วมกันคือ เขาคบเพื่อนหลากหลายมาก ไม่ได้คบแค่คนที่เหมือนกับเขา สะท้อนให้เห็นว่าหากเรามีการพยายามทำความเข้าใจคนอื่น ทำความเข้าใจคนที่วิธีคิดแตกต่างกับเรา