รุนแรง!เป็น'ไข้หวัดใหญ่' พร้อม 'โควิด-19'ต้องดูแลตัวเองอย่างไร?
เมื่อติดเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ หรือโควิด-19 หากคุณอยู่ในวัยเรียนต้องขาดเรียน ถ้าอยู่ในวัยทำงานคุณต้องลางาน เพื่อพักฟื้นและรักษาตัวให้หายจากอาการป่วยเสียก่อน ยิ่งติดทั้ง 2 เชื้อใเวลาเดียวกัน อาการของคุณจะรุนแรงแค่ไหน?
Keypoint:
- อาการของโรคไข้หวัดใหญ่ และโควิด-19 มีความคล้ายคลึงกัน และมีโอกาสติดเชื้อร่วมกัน หากติดโควิดร่วมกับไข้หวัดใหญ่ จะทำให้มีความเสี่ยงป่วยรุนแรงและมีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้น
- หากติดเชื้อทั้งโรคไข้หวัดใหญ่ และโควิด-19 ควรรีบพบแพทย์ เพื่อรักษา และปัจจุบันวัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถฉีดพร้อมวัคซีนโควิดได้ โดยฉีดได้ในวันเดียวกัน ไม่ต้องเว้นระยะห่าง
- ทุกครั้งที่ป่วย มีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยร่างกาย ขอให้ตรวจATK ร่วมด้วย เพราะนั้นอาจจะไม่ใช่อาการไข้หวัด แต่เป็นโควิด-19 หรือเป็นทั้ง 2 โรค
พอเข้าสู่ฤดูหนาว หรือหน้าฝน หลายๆ คนมักจะเป็น ไข้หวัด หรือ ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นโรคที่ระบาดมาก ประกอบกับการแพร่ระบาดของเชื้อ โควิด-19 จึงมีความน่ากังวลมากขึ้นไปอีก เนื่องจากอาการของทั้งสองโรคนั้นค่อนข้างคล้ายคลึงกันมาก โดยผู้ป่วยจะมีอาการไข้ 38-40 องศา ไอ เจ็บคอ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
จะมีอาการที่แตกต่างกันเพียงเล็กน้อย คือ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะมีน้ำมูกไม่เยอะ และยังมีการแพร่กระจายสู่ผู้อื่นจากการสัมผัสผู้ป่วยเมื่อมีการไอและจามเหมือนกันอีกด้วย
จากการศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศจีนพบว่า ผู้ที่ป่วยเป็นโรคโควิด -19 จะทำให้มีโอกาสเสี่ยงในการได้รับเชื้ออื่น ๆ ถึง 20-80 % และการติดเชื้อร่วมกันกับโควิด -19 พบว่าเป็น ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ มีโอกาสทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการติดเชื้อร่วมกันนั้นเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากถึง 29-55 % โดยในประเทศไทยพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่มากกว่า โควิด -19 ถึง 33 เท่า พบผู้เสียชีวิตสูงถึง 2 %ทั่วโลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ไข้หวัดใหญ่ VS โควิด อาการต่างกันอย่างไร?
'อาการไข้หวัดใหญ่' อาการป่วยที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยสามารถพบได้ในทุกฤดูกาล แต่ในฤดูหนาวจะมีโอกาสเสี่ยงสูงกว่าปกติถึง 2 เท่า ซึ่งการดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่อย่างถูกวิธี ก็เพื่อการลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อน ที่อาจส่งผลให้เป็นอันตรายรุนแรง อย่างการติดเชื้อทางเดินระบบหายใจได้
อาการไข้หวัดใหญ่ ที่เด่นชัดมีดังต่อไปนี้
- ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลียอย่างเฉียบพลัน
- เบื่ออาหาร คลื่นไส้
- ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
- ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่จะปวดตามแขน ขา ปวดข้อ ปวดรอบตา ปวดเมื่อยตามตัว
- ไข้สูง 39-40 องศา
- เจ็บคอ และคอแดง มีน้ำมูกใสๆ ไหล
- ไอแห้งๆ ตามตัวจะร้อนแดง ตาแดง
- อาเจียน หรือท้องเดิน เป็นไข้ 2-4 วัน แล้วค่อยๆ ลดลง แต่อาการคัดจมูกและแสบคอยังคงอยู่ โดยทั่วไปจะหายใน 1 สัปดาห์
'โควิด-19' โรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ก่อให้เกิดอาการป่วยในระบบทางเดินหายใจ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปอดอักเสบรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้ สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้แล้ว จากการถูกไอ จาม หรือสัมผัสกับสารคัดหลั่งของคนที่ป่วย
อาการโควิด-19 ที่เด่นชัดได้แก่
- มีไข้สูง มากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- ไอแห้ง เจ็บคอ มีน้ำมูก
- ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้
- ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- ถ่ายเหลว
- หายใจลำบาก หายใจเหนื่อยหอบ
- จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส
เมื่อไรที่เป็นไข้หวัดใหญ่แล้วควรมาพบแพทย์
- มีไข้เกิน 24 ชั่วโมง
- ให้ยาลดไข้แล้วยังเกิน 5 องศา
- หายใจหอบ หรือหายใจลำบาก
- มีอาการ มากกว่า 7 วัน
- ปลายมือ ปลายเท้าเขียว
- เด็กดื่มน้ำ หรือรับประทานอาหารไม่พอ
- เด็กซึมลง ไม่เล่น
- เด็กไข้ลดลง แต่หายใจไม่ออก
ผู้ใหญ่ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ ควรมาพบแพทย์
- หายใจหอบ หรือหายใจลำบาก
- มีไข้เกิน 24-48 ชั่วโมง'
- เจ็บ หรือแน่นหน้าอก
- หน้ามืด เป็นลม สับสน หน้ามืด
- อาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้
เช็ก 'ไข้หวัดใหญ่' ใครบ้างที่ควรฉีดวัคซีน
โรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) พบได้ในทุกเพศ ทุกกลุ่มอายุ แพร่ระบาดอย่างมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ติดต่อผ่านการไอ จาม หรือหายใจรดกัน โดยมีระยะฟักตัว 1-4 วัน ไข้หวัดใหญ่ มีอาการอย่างไร?
อาการของโรคไข้หวัดใหญ่ และโควิด-19 มีความคล้ายคลึงกัน และมีโอกาสติดเชื้อร่วมกัน หากติดโควิดร่วมกับไข้หวัดใหญ่ จะทำให้มีความเสี่ยงป่วยรุนแรงและมีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้น ดังนั้น ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่กันด้วย
- เด็กเล็ก อายุ 6 เดือน – 3 ปี
- สตรีมีครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
- ผู้สูงอายุ อายุ65 ปีขึ้นไป
- ผู้มีโรคเรื้อรัง (ปอดอุดกั้นเรื้อรัง/หอบหืด/หัวใจ/หลอดเลือดสมอง/ไตวาย/เบาหวาน/มะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด)
- ผู้พิการทางสมอง ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้
- ผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคธาลัสซีเมีย (และผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)
- โรคอ้วน มีน้ำหนักเกิน 100 ก.ก. (BMI> 35 กก./ตรม.)
ไข้หวัดใหญ่ น่ากลัวกว่าที่คิด ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วิธีการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่ดีที่สุดคือ 'การฉีดวัคซีน' เสริมเกราะภูมิคุ้มกันให้ร่างกายโดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ปีละ 1 ครั้ง
ผลข้างเคียงของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่ควรทราบ
เจ็บเล็กน้อยบริเวณที่ฉีด และจะหายภายใน 2 วัน อาการทั่วไป มีไข้ ปวดตามตัว และหลังจากการฉีดยา 6-12 ชั่วโมง และอยู่ได้นาน 1-2 วัน บางรายอาจมีผื่นลมพิษ ริมฝีปากบวม
ขณะที่ เมื่อมีอาการข้างต้น ควรตรวจ ATK ด่วนๆเช่นเดียวกัน สำหรับใครที่มีอาการระบบทางเดินหายใจส่วนบน หากมีอาการ มีไข้ ไอ เจ็บคอ ตาแดง ผื่นขึ้น ถ่ายเหลว แสบคอมาก ตรวจ ATK ทันที หรือเมื่อใดก็ตามที่มีไข้ โดยที่ไม่ได้มีอาการอื่นๆ หรือมีอาการเตือนของโรคไข้เลือดออก ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาต่อไป และเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
4 วิธีดูแลตนเองเมื่อเป็นไข้หวัดใหญ่
- ควรรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง หมั่นเช็ดตัวด้วยผ้าชุบน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดาเพื่อลดไข้ และพักผ่อนให้เพียงพอ
- สวมเสื้อผ้าที่ทำให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ สวมผ้าปิดปากและจมูกเพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจาย
- ดื่มน้ำอุ่นมากๆ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นเป็นอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย และหากต้องรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่นควรใช้ช้อนกลาง
- หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือมีภูมิต้านทานต่ำ
หากพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ปฏิบัติอย่างไร
ควรปฎิบัติตามคำแนะนำดังนี้
- แยกตัวจากบุคคลอื่นเป็นเวลา 5 วัน และรับประทานยารักษาตามอาการ
- เมื่อครบ 5 วันแล้ว ไม่มีไข้ อาการโดยรวมดีขึ้น พบปะบุคคลอื่น ใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ให้สวมหน้ากากอนามัย
- หากยังมีไข้ อาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้แยกตัวเพิ่มเป็น 10 วัน
- ตรวจ ATK แล้วผลเป็น Negative (-) ทั้ง 2 ครั้ง สามารถถอดหน้ากากอนามัยได้
- ถอดหน้ากากอนามัยได้ เมื่อครบเวลา 10 วันแล้วนับตั้งแต่มีอาการ
โควิดยังคงอยู่กับเรา ผู้ที่มีอาการควรตรวจด้วย ATK ถ้าพบผลบวก (+) และพบว่าตัวเอง เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น อยู่ในกลุ่ม 608 หรือมีภูมิต้านทานต่ำ แนะนำให้ไปโรงพยาบาลพบแพทย์เพื่อรับยา และแนะนำควรรับวัคซีนเข็มกระตุ้น หากฉีดวัคซีนเข็มสุดท้ายเกิน 6 เดือน
ป้องกันตนเองให้ห่างไกล โควิด
การป้องกัน และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส โควิด-19 สามารถทำได้ด้วยวิธีที่เรารู้ข้อมูลอยู่แล้ว ได้แก่
- การสวมหน้ากากอนามัย
- หมั่นล้างมือบ่อย ๆ
- หลีกเลี่ยงสถานที่ผู้คนแออัด
- เว้นระยะห่างจากบุคคลอื่นขั้นต่ำ 2เมตร
- คอยตรวจดูเฝ้าระวังอาการของตนเองหากมีไข้
อย่างไรก็ตาม โดยปัจจุบันวัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถฉีดพร้อมวัคซีนโควิดได้ โดยฉีดได้ในวันเดียวกัน ไม่ต้องเว้นระยะห่าง หากสังเกตอาการป่วยของตนเองและคนที่คุณรักอยู่เสมอ ตรวจ ATK ด้วยตนเองก่อนในเบื้องต้น หากมีไข้สูง อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน
ฉะนั้น หากติดเชื้อทั้งโควิด-19 และโรคไข้หวัดใหญ่ สามารถดูแลตนเอง ด้วยการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนโควิด-19 เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อทั้ง 2 ตัวนี้พร้อมกันได้
อ้างอิง: กรมควบคุมโรค , โรงพยาบาลพญาไท , โรงพยาบาลเปาโล