'วัคซีนโควิด-19' เกณฑ์คนที่ต้องฉีดในปี 2567
WHOออกเกณฑ์รับวัคซีนโควิด-19 ในปี 2567 คนทั่วไปไม่จำเป็นต้องฉีด ส่วนกลุ่มเสี่ยงในไทยพบต้องการรับวัคซีนเพียง 10 % ขณะที่กรมวิทย์เผยสายพันธุ์หลักในไทย
Keypoints :
- แนวทางการให้วัคซีนโควิด-19 ในปี 2567 ตามการออกประกาศหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก(WHO) แนะนำเฉพาะกลุ่มเสี่ยง
- สายพันธุ์โควิด-19ในไทยตอนนี้เป็น XBB.1.9.2* มีสัดส่วนมากที่สุด 24.5% สายพันธุ์ EG.5* และ XBB.1.92* มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
- กรณีมีการแชร์และส่งต่อข้อมูลในโซเชียลมีเดีย ว่า เตรียมพร้อมรับมือโควิด 19 ระลอกใหม่ XBB.1.16* “อาร์คตูรุส” อาการใหม่ ไม่มีไข้ ตาแดง ผื่นขึ้น น้ำมูกไหล ไม่เป็นความจริง
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกเกณฑ์การรับวัคซีนโควิด-19 ในปี 2567 แยกเป็น
- ผู้ที่ต้องรับวัคซีนยังคงเป็นกลุ่มเสี่ยงเดิม 608 รับปีละ 1 เข็ม คือ ผู้สูงอายุมีอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัวในกลุ่ม 7 โรคประจำตัว ได้แก่
- โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
- โรคไตวายเรื้อรัง
- โรคหลอดเลือดสมอง
- โรคอ้วน
- โรคมะเร็ง
- โรคเบาหวาน
ส่วน กลุ่มที่ผู้ภูมิคุ้มกันต่ำ ต้องได้รับยากดภูมิ เช่น คนปลูกถ่ายอวัยวะ หรือ ฟอกไต ต้องได้รับวัคซีน 2 เข็ม ทุก 6 เดือน
- คนทั่วไป ไม่จำเป็นต้องรับวัคซีน แต่หากกังวลก็สามารถฉีดได้ เพราะเป็นเรื่องของความสมัครใจและเสียค่าบริการเอง
กลุ่มเสี่ยงต้องการฉีด 10 %
“จากการสำรวจกลุ่มเสี่ยงของไทยที่ต้องรับวัคซีนโควิด-19 พบว่า มีจำนวน 15 ล้านคนเบื้องต้นจากการสำรวจความต้องการวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงพบว่า มีเพียง 10 %เท่านั้น และการติดตามจำนวนวัคซีนโควิด-19 ที่คงเหลืออยู่ที่ 6 แสนโดส ส่วนการสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 เพิ่มหรือไม่นั้น ต้องรอกรมควบคุมโรคพิจารณา”นพ.จักรรัฐกล่าว
นพ.จักรรัฐ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้การผลิตวัคซีนโควิด-19ทั่วโลกเหลือเพียงวัคซีน ชนิด m-RNA ของไฟเซอร์ เท่านั้นที่ยังผลิตอยู่ ส่วนสถานการณ์โรคระบบทางเดินหายใจ คาดการณ์ว่า ภายใน 3-4 สัปดาห์ จำนวนผู้ติดโควิด-19 จะค่อยๆ สูงขึ้น แซงหน้าการป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ และผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน
โควิด-19สายพันธุ์หลักในไทย
ด้าน นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 และสายพันธุ์ที่เฝ้าติดตามในประเทศไทยว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการ ติดตามการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึง 2 ธันวาคม 2566 จากการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อก่อโรคโควิด 19 จำนวน 253 ราย
- พบสายพันธุ์ XBB.1.9.2* มีสัดส่วนมากที่สุด คิดเป็น 24.5%
- ถัดมาคือ EG.5* , XBB.1.16* และ XBB.2.3 โดยพบสัดส่วน 23.3%, 17.80% และ 11.90% ตามลำดับ
สถานการณ์โดยรวมของประเทศไทยในปัจจุบัน พบว่า สัดส่วนของสายพันธุ์ EG.5* และ XBB.1.92* มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่สัดส่วนของสายพันธุ์ XBB.1.16* กับ XBB.2.3* มีแนวโน้มลดลง เมื่อเทียบกับช่วงสองเดือนก่อนหน้า
นพ.ยงยศ กล่าวด้วยว่า กรณีมีการแชร์และส่งต่อข้อมูลในโซเชียลมีเดีย ว่า เตรียมพร้อมรับมือโควิด 19 ระลอกใหม่สายพันธุ์ XBB.1.16* “อาร์คตูรุส” อาการใหม่ ไม่มีไข้ ตาแดง มีผื่นขึ้น หรือน้ำมูกไหล นั้น จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลสายพันธุ์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระหว่างเดือนกันยายน ถึงพฤศจิกายน 2566 พบเป็น สายพันธุ์ XBB.1.16* จำนวน 83 ราย หรือคิดเป็น 16.4%
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง และข้อมูลลักษณะอาการทางคลินิกจากประวัติ ที่ผู้ติดเชื้อ SARS-CoV-2 สายพันธุ์ XBB.1.16* พบว่า ส่วนใหญ่กว่า 90% มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก เสมหะ ปวดเมื่อย บางรายประมาณ 10 %มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อย/หอบ ร่วมด้วย ไม่พบลักษณะอาการตาแดง มีผื่นขึ้น หรือน้ำมูกไหล
สำหรับช่วงนี้มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนๆ เล็กน้อย เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่จะพบผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น ซึ่งการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ยังคงเป็นมาตรการการป้องกันที่ได้ผลดี
ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดำเนินการเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยโควิด 19 ทั่วประเทศ มาตรวจสายพันธุ์ เพื่อเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ต่อไป และขอให้ความมั่นใจว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเครือข่าย ยังคงเฝ้าระวังติดตาม การกลายพันธุ์ของเชื้อ SARS-CoV-2 อย่างต่อเนื่อง และเผยแพร่บนฐานข้อมูลสากล GISAID อย่างสม่ำเสมอ” นายแพทย์ยงยศ กล่าว