ผู้เชี่ยวชาญ เตือนโอมิครอน JN.1 ปรับกลยุทธ์กลายพันธุ์คล้ายกับ ไวรัสเมอร์ส

ผู้เชี่ยวชาญ เตือนโอมิครอน JN.1 ปรับกลยุทธ์กลายพันธุ์คล้ายกับ ไวรัสเมอร์ส

ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกประเมินว่า โอมิครอน JN.1 กำลังปรับกลยุทธ์ด้วยการกลายพันธุ์ส่วนหนาม คล้าย “ไวรัสเมอร์ส (MERS)”

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2566 ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผ่านเพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ระบุถึงกรณีเชื้อ "โควิด-19" ว่า

ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกประเมินว่า โอมิครอน JN.1 กำลังปรับกลยุทธ์ด้วยการกลายพันธุ์ส่วนหนามแบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน กล่าวคือปรับส่วนหนามจากเดิมที่จะจับจำเพาะกับเซลล์เยื่อบุปอดให้สามารถแพร่ลงลึกจับกับเซลล์เยื่อบุลำไส้ร่วมด้วยคล้ายกับ “ไวรัสเมอร์ส (MERS)” เพราะหลายประเทศตรวจพบโอมิครอน JN.1 ในน้ำเสีย (ที่ปนเปื้อนอุจจาระและปัสสาวะ) เพิ่มมากขึ้น

แม้จะยังไม่มีข้อพิสูจน์โดยตรงที่แน่ชัดว่าโอมิครอน JN.1 จะทำให้เกิดปัญหาการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับโอมิครอนสายพันธุ์ก่อนๆ แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายสถาบันสังเกตเห็นแนวโน้มจากการตรวจพบโอมิครอน JN.1 ในน้ำเสียเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในหลายประเทศทั่วโลก เช่น ออสเตรีย เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ อินเดีย และสิงคโปร์ รวมทั้งในสหรัฐอเมริกา

การเฝ้าติดตามการเพิ่มจำนวนและการอุบัติขึ้นของสายพันธุ์เก่าและใหม่ของเชื้อโควิด-19 จากน้ำเสียที่ยังไม่ได้บำบัด (wastewater surveillance of SARS-CoV-2) จากแหล่งชุมชนที่มีการปนเปื้อนปัสสาวะและอุจจาระจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีและไม่มีอาการ โดยสามารถตรวจจับเชื้อไวรัสโควิด-19 จากน้ำเสียได้ก่อนที่จะมีผู้ป่วยปรากฏให้เห็นในสถานพยาบาลประมาณ “1-2 สัปดาห์” ทำให้การตรวจเชื้อโควิด-19 จากน้ำเสียเป็นเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพสำหรับการเตือนภัยล่วงหน้าและการติดตามการระบาดของโควิด-19 รวมทั้งโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำหรืออุบัติใหม่อื่นๆ และเนื่องจากโอมิครอน JN.1 ได้รับการจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่าสนใจ หรือ “Varian of interest " โดยองค์การอนามัยโลกเมื่อ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2566 ทำให้มีการตรวจหาโอมิครอน JN.1 ในน้ำเสียร่วมด้วย

• ในสหรัฐอเมริกา ตรวจพบโอมิครอน JN.1 ในตัวอย่างน้ำเสียจากหลายรัฐในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ซึ่งช่วยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขระบุการระบาดที่อาจเกิดขึ้นได้ก่อนที่จะลุกลาม

• ในสิงคโปร์ มีการตรวจพบโอมิครอน JN.1 ในตัวอย่างน้ำเสียเมื่อต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 ซึ่งส่งผลให้มีการทดสอบและเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

• ในอินเดีย ตรวจพบโอมิครอน JN.1 ในตัวอย่างน้ำเสียจากรัฐปุเณ ต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 ส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐเพิ่มการเฝ้าระวังและติดตามเพิ่มมากขึ้นในรัฐมหาราษฏระและเกรละ ซึ่งเป็นที่ซึ่งมีผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้น

• ในประเทศไทย ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ร่วมมือกับสำนักงานวิจัย วิชาการและนวัตกรรม รพ. รามาธิบดี เคยตรวจไวรัสโคโรนา 2019 จากน้ำเสียในช่วงที่สายพันธุ์เดลตา และโอมิครอนดั้งเดิมกำลังระบาด สามารถเริ่มการตรวจกรองน้ำเสียเพื่อคัดกรองโอมิครอน JN.1 ได้หากมีความจำเป็น

ข้อมูลล่าสุดจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริการะบุว่าระดับปริมาณไวรัสโอมิครอนจากน้ำเสียในปัจจุบัน (พ.ศ. 2566) เพิ่มสูงมากเกินกว่าระดับของโอมิครอนในน้ำเสียที่สังเกตได้ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว (พ.ศ. 2565) ที่มีผู้ป่วยเกือบ 40,000 รายเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากการติดเชื้อไวรัสโอมิครอนในสหรัฐอเมริกา

ในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2566 เวลาประมาณ 17.00 น. ตามเวลากรุงเทพฯ กระทรวงสาธารณสุขอินเดียรายงานจำนวนผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รายใหม่จำนวน 752 ราย ซึ่งนับเป็นการเพิ่มขึ้นในวันเดียวสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

กลุ่มความร่วมมือจีโนมิกส์ SARS-CoV-2 ของอินเดีย (the Indian SARS-CoV-2 Genomics Consortium: Insacog) รายงานผู้ป่วยติดเชื้อโอมิครอน JN.1 จำนวน 21 รายจากทั่วประเทศ โดย 19 รายอยู่ในรัฐกัว และในรัฐมหาราษฏระและเกรละ รัฐละ 1 ราย กรณีของโอมิครอน JN.1 ในอินเดียยังไม่พบการติดเชื้อที่รุนแรง

การตรวจพบโอมิครอน JN.1 ในอินเดียนำไปสู่มาตรการคัดกรองผู้โดยสารที่สนามบินนานาชาติปุเณ รัฐมหาราษฏระ และการติดตามบุคคลที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่และมีอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง

การศึกษาในอดีตพบว่าไวรัสเมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome: MERS) ซึ่งเป็นไวรัสโคโรนาตระกูลหนึ่งที่มีจุดเด่นในการติดเชื้อที่เซลล์เยื่อบุระบบทางเดินอาหารเป็นการเฉพาะ และเร็วๆนี้พบว่าการกลายพันธุ์บางตำแหน่งบนจีโนมของโอมิครอน JN.1 ไปคล้ายกับไวรัสเมอร์ส อันอาจทําให้มีพันธุกรรมที่เอื้อต่อการติดเชื้อในเซลล์เยื่อบุลำไส้ สังเกตจากหลายประเทศขณะนี้ตรวจพบโอมิครอน JN.1 ในน้ำเสีย(ที่ปนเปื้อนอุจจาระปัสสาวะ) เพิ่มมากขึ้นอันบ่งชี้ว่าโอมิครอน JN.1 มีการกลายพันธุ์เพื่อหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันในบริเวณ “เซลล์เยื่อบุปอด” อันสืบเนื่องมาจากการฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อโควิดตามธรรมชาติ ไปเพิ่มจำนวนในบริเวณ “เซลล์เยื่อบุลำไส้” แทน

การที่ไวรัสเปลี่ยนแปลงเซลล์เป้าหมาย (viral tropism) จากเซลล์เยื่อบุปอดมาเป็นเซลล์เยื่อบุลำไส้ของโอมิครอน JN.1 คาดว่าช่วยให้ไวรัสไม่ถูกจับและทำลายจากแอนติบอดีในปอด โดยอาจส่งผลกระทบต่อการเกิดโรคและการแพร่กระจายของเชื้อในอนาคต

ต่อไปนี้คือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากโอมิครอน JN.1 สามารถติดเชื้อในเซลล์เยื่อบุลำไส้:

• มีอาการทางระบบทางเดินอาหาร: ผู้ที่ติดเชื้อโอมิครอน JN.1 อาจมีอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องร่วง คลื่นไส้ และอาเจียน อาการเหล่านี้อาจพบได้บ่อยหรือรุนแรงกว่าโอมิครอนสายพันธุ์ อื่นๆ

• ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการแพร่เชื้อ: หากโอมิครอน JN.1 สามารถแพร่เชื้อในลำไส้ได้ ก็อาจหลั่งออกมาทางอุจจาระได้ สิ่งนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไวรัสจากคนสู่คน

• โรคที่รุนแรงมากขึ้น: ในบางกรณี ไวรัสที่สามารถติดเชื้อในลำไส้อาจทำให้เกิดโรคที่รุนแรงยิ่งขึ้นได้ เนื่องจากลำไส้เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ที่มีเซลล์ภูมิคุ้มกันจำนวนมาก ซึ่งสามารถตกเป็นเป้าหมายของไวรัสเข้าทำลายได้

ดังนั้นจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจผลกระทบทั้งหมดของความสามารถของโอมิครอน JN.1 ในการติดเชื้อกับเซลล์เยื่อบุลำไส้ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการติดเชื้อโอมิครอน JN.1 ที่อาจมีเพิ่มขึ้น ดังนั้นประชาชนจึงควรปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันหรือควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อป้องกันตนเองติดเชื้อ เช่น การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบตามกำหนด การสวมหน้ากากอนามัยในที่ที่มีผู้คนหนาแน่น กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ เว้นระยะห่างทางสังคม เป็นต้น

 

กระบวนการตรวจจับไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์โอมิครอน JN.1 ในน้ำเสียมีหลายขั้นตอน

ขั้นตอนที่ 1 :  ตัวอย่างน้ำเสียจะถูกรวบรวมจากสถานที่ทดสอบต่างๆ

ขั้นตอนที่ 2 : ลดปริมาณน้ำลงเพื่อทำให้อนุภาคไวรัสโคโรนา 2019 เข้มข้นขึ้นอันได้แก่ การกรองแบบอัลตราฟิลเตรชัน การกรองผ่านเมมเบรนอิเล็กโทรเนกาติวิตีด้วยการเติม MgCl2 และสารโพลีเอทิลีนไกลคอล (PEG)ช่วยในการตกตะกอนอนุภาคไวรัสและตามด้วยการปั่นเหวี่ยงความเร็วสูงเพื่อให้อนุภาคไวรัสตกตะกอนลงมาที่ก้นหลอด

ขั้นตอนที่ 3 : นำตะกอนก้นหลอนไปสกัดเอาสารพันธุกรรมมาถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมด้วยเทคโนโลยีการหาลำดับเบสที่พัฒนาขึ้นใหม่ (Next generation sequencing) และแชร์ผลบนฐานข้อมูลโควิดโลกจีเสส (GISAID)