ศูนย์ฯ เวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช ข้อต่อสำคัญ ฟื้นฟูหลังการรักษา

ศูนย์ฯ เวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช  ข้อต่อสำคัญ ฟื้นฟูหลังการรักษา

รพ.ศิริราช เดินหน้าโครงการก่อสร้าง 'ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช' จ.สมุทรสาคร ชูระบบ Intermediate care ฟื้นฟู ดูแลผู้ป่วยสูงวัยหลังพ้นการเจ็บป่วยในระยะเฉียบพลัน จับมือ 'ไมเนอร์ ฟู้ด' ให้ลูกค้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการระดมทุนผ่าน 10 แบรนด์ในเครือ

Key Point : 

  • Intermediate care (การดูแลระยะกลาง) เป็นโมเดลที่เริ่มได้รับความนิยมในหลายประเทศ เพื่อดูแลผู้สูงวัยหลังการรักษาและมีอาการคงที่
  • รพ.ศิริราช จึงริเริ่มโครงการก่อสร้าง 'ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช' เพื่อเติมเต็มห่วงโซ่ของการฟื้นฟูและดูแลผู้ป่วยสูงวัยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฟสแรกจะเปิดให้บริการช่วงกลางปี 2567
  • ไมเนอร์ ฟู้ด ประเทศไทย ชวนลูกค้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการระดมทุนก่อสร้าง ผ่าน 10 แบรนด์ในเครือ ที่มีกว่า 1,900 สาขาทั่วประเทศ

 

แม้ปัจจุบันการรักษาทางการแพทย์โดยเฉพาะโรคยากซับซ้อนจะก้าวหน้าไปมาก แต่ช่องว่างที่สำคัญ คือ การดูแลและฟื้นฟูผู้ป่วย หลังการรักษาโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ข้อมูลจาก รพ.ศิริราช พบว่า กว่า 30 % มีอัตรากลับเข้ามาโรงพยาบาลใน 2-3 สัปดาห์ และในจำนวนนี้เสี่ยงเสียชีวิต 3 เท่า

 

ระบบ Intermediate care (การดูแลระยะกลาง) จึงเป็นโมเดลต้นแบบที่สาธารณสุขในหลายประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสนใจและได้เริ่มมีการปรับใช้ อาทิ อังกฤษ, ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, นิวซีแลนด์, แคนาดา, สหรัฐอเมริกา และอิตาลี เป็นต้น เพื่อฟื้นฟูและดูแลผู้ป่วยสูงวัยหลังพ้นการเจ็บป่วยในระยะเฉียบพลันที่เริ่มมีอาการคงที่ ผ่านบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และ Multidisciplinary Team (ทีมสหสาขาวิชาชีพ) เพื่อเตรียมความพร้อมในการกลับสู่บ้านและสังคมได้อย่างปกติสุข

 

ศูนย์ฯ เวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช  ข้อต่อสำคัญ ฟื้นฟูหลังการรักษา

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

ความท้าทายสังคมสูงวัย

ศ.คลินิก นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ รองคณบดีฝ่ายพันธกิจบริการทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวในงานแถลงข่าวความร่วมมือ การส่งเสริมสังคมผู้สูงวัย และเปิดแคมเปญ สูงวัยแล้วใครแคร์ ว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์แล้ว (Complete-aged society) กล่าวคือ มีประชากรที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป เกิน 20% ของประชากรทั้งประเทศ

 

โดยเมื่อสิ้นปี 2565 สัดส่วนผู้สูงอายุอยู่ที่ราว 19% ขณะที่ปี 2566 สัดส่วนเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% โดยในบางจังหวัด เช่น แพร่ สมุทรสาคร มีผู้สูงอายุสูงกว่า 30% และคาดการณ์ในอีก 10 ปีข้างหน้า จะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super-aged society) โดยมีผู้สูงอายุเกิน 28%

 

“ขณะเดียวกัน เมื่อดูโครงสร้างประชากร ตั้งแต่ปี 2565 พบว่า จำนวนผู้เสียชีวิต มากกว่าเด็กเกิดใหม่ วัยทำงานต้องแบกรับภาระผู้สูงอายุในอนาคตในอีก 10-20 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ อายุขัยของคนที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้แปลว่า แข็งแรง หากไม่ตั้งรับตั้งแต่วันนี้ ในอีก 10-20 ปีข้างหน้าจะวิกฤติ”

 

ศูนย์ฯ เวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช  ข้อต่อสำคัญ ฟื้นฟูหลังการรักษา

 

เติมเต็มดูแลผู้ป่วยหลังการรักษา

สำหรับ โรงพยาบาลศิริราช มีผู้ป่วยมากกว่า 3 ล้านคนต่อปี และมีผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุ ในแผนกอายุรศาสตร์ มากกว่า 50% ล่าสุด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนประชากรของประเทศ

 

รวมถึงรองรับผู้ป่วยสูงอายุที่เข้ามารักษากับทาง รพ.ศิริราช ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้ริเริ่มโครงการก่อสร้าง 'ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช' บนถนนเลียบคลองสี่วาพาสวัสดิ์ ต.นาดี อ.เมือง จ.สมุทรสาคร บนพื้นที่กว่า 24 ไร่ เพื่อเติมเต็มห่วงโซ่ของการฟื้นฟูและดูแลผู้ป่วยสูงวัยอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ศูนย์ฯ เวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช  ข้อต่อสำคัญ ฟื้นฟูหลังการรักษา

 

 

นำร่องเป็นศูนย์ฯ ฟื้นฟูและดูแลรักษาผู้สูงอายุที่ครบวงจรที่สุดแห่งแรกในประเทศไทย ผ่านระบบ Intermediate care (การดูแลระยะกลาง) ซึ่งเป็นโมเดลต้นแบบที่สาธารณสุขในหลายประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ อีกทั้ง ยังมีบริการการตรวจคัดกรองสุขภาพผู้สูงวัย (Screening & Check-up) เพื่อค้นหาความผิดปกติของร่างกายผู้สูงอายุ และครอบคลุมไปถึงกลุ่ม Pre-aging ที่มีอายุระหว่าง 50-59 ปี เพื่อให้ได้เตรียมความพร้อมทางด้านร่างกายและจิตใจก่อนการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคต

 

ศ.คลินิก นพ.วิศิษฎ์ กล่าวต่อไปว่า สูงอายุที่เข้ามานอนโรงพยาบาลโดยเฉพาะภาควิชาอายุศาสตร์ เมื่อออกจากโรงพยาบาล มีอัตราการกลับเข้ามาใหม่ภายใน 2-3 สัปดาห์ 30% และกลุ่มนี้มีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 3 เท่า แม้กระบวนการรักษาดี แต่เป็นการจัดการที่ปลายเหตุ ดังนั้น จำเป็นต้องมีกระบวนการขยับไปดูแลผู้ป่วยให้แข็งแรง สร้างเสริมสุขภาพ สามารถเผชิญกับกับการเจ็บป่วยได้ รวมถึงการรักษาหลังจากพ้นวิกฤติ ต้องมีการดูแลเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้กลับมาโรงพยาบาลอีก

 

ศูนย์ฯ เวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช  ข้อต่อสำคัญ ฟื้นฟูหลังการรักษา

 

การดูแลผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยหลังจากออกจากโรงพยาบาล ให้สามารถฟื้นตัว สามารถดูแลตัวเองได้ และไม่ต้องกลับเข้าโรงพยาบาล วิธีแรก คือ ให้อยู่โรงพยาบาลนานๆ จนกระทั่งร่างกายฟื้นฟู แต่ความจริงยังมีผู้ป่วยคนอื่นๆ ที่รอเตียงจำนวนมาก การรักษาส่วนใหญ่จึงให้ผู้ป่วยกลับบ้าน จังหวะนั้น คือ จังหวะทองในการฟื้นสุขภาพให้กลับมาได้มากที่สุด

 

“Intermediate care (การดูแลระยะกลาง) จึงเป็นแนวคิดการรักษาระยะกลาง เชื่อมโยงกับการรักษาเมื่อพ้นวิกฤติ สิ่งนี้จะเติมเต็ม รพ.ศิริราช ในการดูแลผู้ป่วยที่ออกจากโรงพยาบาล ให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและแข็งแรง เป็นข้อต่อที่สำคัญในการดูแลระยะกลาง”

 

ศูนย์ฯ เวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช  ข้อต่อสำคัญ ฟื้นฟูหลังการรักษา

 

3 เสาหลัก การดูแลสูงวัย

ทั้งนี้ ผู้ที่จะดูแลผู้สูงอายุได้ดีที่สุด มี 3 ส่วน คือ 'ผู้สูงอายุ' จะต้องรู้ตั้งแต่ก่อนป่วย เริ่มป่วย และหากยังดูแลตัวเองได้ ต้องดูแลตัวเองเป็นหลังจากการฟื้นฟู ถัดมา คือ 'ครอบครัว' ทำอย่างไรที่จะให้ผู้ป่วยฟื้นฟูได้ สิ่งสำคัญ คือ เวลา ความรู้ และสุดท้าย 'สังคม' ในสังคมเมืองอาจไม่มีเพื่อนบ้านเหมือนในต่างจังหวัด ต้องสร้างชุมชนในการซัพพอร์ต แต่กลุ่มเหล่านี้ก็ต้องมีความรู้ ซึ่งยังเป็นช่องว่าง

 

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร กรรมการและรองผู้จัดการศิริราชมูลนิธิ กล่าวว่า ผู้ป่วยสูงอายุที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูและดูแลหลังจากเข้ารับการรักษาในสภาวะเฉียบพลันอย่างถูกวิธีจำนวนมาก และมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เมื่อผ่านการรักษาแล้ว ต้องมีการฟื้นฟู ทั้งคนไข้ ทั้งญาติ สิ่งแวดล้อม บ้าน โดยทางศูนย์ฯ จะสอนวิธีการดูแลผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วย

 

รวมถึง เปิดสอน Care Giver ดูแลผู้สูงอายุ ตามมาตรฐานของศิริราช ให้กับคนทั่วไปที่สนใจ เพราะ Care Giver ในกลุ่มนี้ยังขาด และมิติการดูแลต่างจาก Care Giver ที่ดูแลผู้ป่วยทั่วไป ดังนั้น จึงตั้งใจให้ศูนย์ฯ นี้ เป็นแหล่งเรียนรู้ สร้างองค์ความรู้ สร้างงานวิจิย สร้างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงอายุ เป็นการสร้างแบบครบวงจร

 

ศูนย์ฯ เวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช  ข้อต่อสำคัญ ฟื้นฟูหลังการรักษา

 

สำหรับ ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช ในเฟสแรก จะทำการเปิดทดสอบระบบ ช่วงต้นปี 2567 และจะเปิดให้บริการในช่วงกลางปี 2567 และคาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบทั้ง 2 เฟส ภายใน 2 ปี ใช้งบประมาณทั้งหมดราว 3,000 ล้านบาท ซึ่งยังต้องการแรงสนับสนุนจากทุกภาคส่วน โดยผู้ที่สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริม โครงการก่อสร้าง ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช สามารถร่วมบริจาคผ่านทาง 'ศิริราชมูลนิธิ'

 

ร่วมสร้างสังคมสูงวัยอย่างยั่งยืน

เพื่อส่งเสริมสังคมผู้สูงอายุให้มีความยั่งยืน บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมเป็นพันธมิตรกับทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ ศิริราชมูลนิธิ จัดแคมเปญ 'ไมเนอร์แคร์' ให้ลูกค้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการระดมทุนก่อสร้างศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช ผ่าน 10 แบรนด์ในเครือ ที่มีกว่า 1,900 สาขาทั่วประเทศ

 

ธันยเชษฐ์ เอกเวชวิท ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไมเนอร์ ฟู้ด ประเทศไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญของการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงการให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพและความยั่งยืน เชิญชวนลูกค้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ ผ่านการสั่งสินค้าเมนูพิเศษภายใต้ 10 แบรนด์ในเครือ 

 

ประกอบด้วย เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, ซิซซ์เล่อร์, สเวนเซ่นส์, เบอร์เกอร์คิง, บอนชอน, เดอะ คอฟฟี่ คลับ, แดรี่ควีน, คอฟฟี่ เจอนี่, พูเลท์ และ ริเวอร์ไซด์ กริลล์ ฟิช แอนด์ หม่าล่า รวมถึง สามารถบริจาคเป็นจำนวนเงินตามจิตศรัทธาได้ผ่าน QR Code ของแคมเปญผ่านสาขาที่เข้าร่วมรายการ และช่องทางโซเชียลมีเดียของทางแบรนด์ได้เช่นกัน

 

ศูนย์ฯ เวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช  ข้อต่อสำคัญ ฟื้นฟูหลังการรักษา