ขับเคลื่อนสังคมสูงวัยด้วยเทคโนโลยี ธรรมศาสตร์ระดมนักวิจัยรับมือ
ความเคลื่อนไหว ขับเคลื่อนสังคมสูงวัยด้วยเทคโนโลยี ธรรมศาสตร์ระดมนักวิจัยรับมือ
กรณีสำนักข่าวดิอีโคโนมิสต์รายงานข่าว เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ระบุถึงผู้สูงอายุในเอเชีย ในเนื้อหากล่าวถึงประเทศไทยกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุว่าเป็นประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงอายุเร็วที่สุดในภูมิภาคนี้
กล่าวคือใช้เวลาเพียง 19 ปีจากปี 2545 ถึง 2564 จำนวนผู้อายุเกิน 65 ปีเพิ่มจาก 7% ขึ้นไปถึง 14% อันเป็นตัวเลขที่บ่งชี้ระดับสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ในขณะที่ญี่ปุ่นใช้เวลาราว 24 ปี สหรัฐอเมริกาใช้เวลา 72 ปี และฝรั่งเศสใช้เวลาถึง 115 ปี
ที่น่ากังวลกว่านั้นคือไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยก่อนที่ประชาชนจะมีรายได้สูง รายได้ต่อหัวของคนไทยอยู่ที่ระดับ 7,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีในปี 2564 เทียบกับปีที่ญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2537 นั้น ประชากรของเขามีรายได้สูงกว่าคนไทยถึงเกือบ 5 เท่า การมีผู้สูงอายุมาก เร็ว แต่ยังจน จะสร้างปัญหาอย่างมาก เมื่อไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสุดยอดในอีกเพียงสิบกว่าปีข้างหน้า
รองศาสตราจารย์วิทยา ด่านธำรงกูล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่าในภูมิภาคนี้ ญี่ปุ่นซึ่งมีประชากรสูงอายุสูงสุดใช้เวลาถึง 40 ปี เตรียมการล่วงหน้าเพื่อรับมือกับปัญหา เมื่อหันมาดูประเทศไทยซึ่งเริ่มจริงจังกับเรื่องนี้ก็เมื่อราว 10 กว่าปีมานี้เอง หลายฝ่ายจึงอดห่วงไม่ได้ว่าประเทศไทยจะรับมือกับความท้าทายนี้อย่างไร
แต่ในข่าวร้ายก็ยังพอมีข่าวดี เพราะแม้จะเพิ่งเริ่มต้น แต่พัฒนาการของเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ทำให้เกิดความหวังว่าเราจะสามารถรับมือกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุได้ด้วยการใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่สามารถช่วยย่นเวลาหรือเชื่อมช่องว่างแห่งความล่าช้าในการเตรียมตัวได้อย่างมาก หากมีความร่วมมือจากทุกฝ่ายและได้รับการสนับสนุนที่ดีพอ
นอกจากนั้นเทคโนโลยีที่ง่ายขึ้นในปัจจุบันทำให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขึ้น อีกทั้งโครงสร้างการสื่อสารที่แผ่ขยายออกไปทุกพื้นที่รวมถึงชนบท ทำให้เกิดโอกาสที่จะนำเทคโนโลยีไปขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ตัวอย่างหนึ่งคือแอปพลิเคชันต่างๆ ที่รัฐบาลออกมาใช้ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด เช่น หมอพร้อม ไทยชนะ เป๋าตัง ฯลฯ ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าผู้สูงอายุก็สามารถเรียนรู้และเข้าถึงเทคโนโลยีได้
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยด้วยว่า ธรรมศาสตร์โดยทีมนักวิจัยที่ทำงานร่วมกันในลักษณะสหสาขาวิชา ได้พยายามค้นหาวิธีการใหม่ๆ ที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาของผู้สูงอายุและการดูแลผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเทคโนโลยีที่ถูกใช้แล้วคือ การใช้ AI ในการช่วยอ่านฟิล์มเอกซเรย์และภาพจาก MRI ที่มีความแม่นยำถึง 95% จะช่วยทำให้การคัดกรองผู้ป่วยด้วยโรคร้ายต่างๆ เช่นมะเร็งปอด วัณโรค โรคทรวงอก ทำได้อย่างรวดเร็วมาก จากเดิมที่มีปัญหาจำนวนแพทย์ที่อ่านผลไม่เพียงพอทำให้ผู้ป่วยต้องรอกันนานๆ เมื่อใช้ AI เข้ามาช่วยประมวลผล ไม่เพียงเร็วขึ้นแต่ยังลดค่าใช้จ่ายลงได้ ทำให้โรงพยาบาลขนาดเล็กในต่างจังหวัดสามารถให้บริการผู้ป่วยได้ดีขึ้น
การวิจัยที่นำโดย ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับทีมแพทย์จากคณะแพทยศาสตร์ยังขยายผลไปถึงการใช้ AI เพื่อคัดกรองโรคจอประสาทตาเสื่อมซึ่งเป็นโรคที่มักมากับผู้สูงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปก่อนจะลุกลามจนผู้สูงอายุสูญเสียการมองเห็น เทคโนโลยีนี้ทำผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งให้ความแม่นยำถึง 99% ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขของผู้ป่วยในเมืองและชนบทได้อย่างมาก
งานวิจัยของ ดร.จิณพิชญ์ชา สาธิยมาส จากคณะพยาบาลศาสตร์ ได้นำเทคโนโลยีมาพัฒนาเตียงอัจฉริยะสำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง ให้สามารถพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดแผลกดทับโดยไม่ต้องใช้แรงคนยกเหมือนเตียงผู้ป่วยสมัยก่อน นอกจากนั้นเตียงนี้ยังมีเซนเซอร์วัดแรงกดติดตั้งบนเบาะนอนที่จะแจ้งเตือนการเกิดแผลกดทับ ทั้งหมดควบคุมผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ สามารถแก้ปัญหาครอบครัวที่ไม่มีลูกหลานหรือลูกหลานออกไปทำงาน เหลือเพียงผู้สูงอายุดูแลผู้สูงอายุกันเองเท่านั้น การลดภาระให้ผู้ดูแลนับเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้การดูแลตัวผู้ป่วยเอง
เกษตรกรสูงอายุซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศก็ต้องได้รับการดูแลด้วยเช่นกันจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรที่ง่าย สะดวก ต้นทุนต่ำ ซึ่งเป็นงานวิจัยของ ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงผู้สูงอายุในเมืองที่ควรได้รับการใส่ใจด้วยเทคโนโลยีเพื่อหลีกเลี่ยงการพลัดตกหกล้ม การสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่สะดวก ไปจนถึงการออกแบบเมืองให้ใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพไม่ตัดขาดจากสังคมรอบข้าง ซึ่งเป็นงานของ ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง
“เทคโนโลยีเพื่อผู้สูงอายุทั้งหมดที่กล่าวข้างต้นเป็นเพียงบางส่วนในความพยายามของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จะแสวงหาคำตอบสำหรับการแก้ปัญหาของสังคมผู้สูงอายุไทย เทคโนโลยีเหล่านี้จะถูกนำเสนอในงาน The Silver Tech National Conference 2023 ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในโอกาสครบ 90 ปีการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ตั้งแต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป ณ SCBX NextTech Hall ศูนย์การค้าสยามพารากอน ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ 090-575-1066” รองศาสตราจารย์วิทยากล่าว
การเริ่มต้นแก้ปัญหาที่ค่อนข้างล่าช้ากับจำนวนผู้สูงอายุที่ทวีจำนวนขึ้น ทำให้การใช้เทคโนโลยีอย่างเข้มข้นเป็นหนทางเดียวในการทำงานแข่งกับเวลาเพื่อหาคำตอบใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุไทยได้อย่างรวดเร็ว แม้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุจะเป็นโจทย์ใหญ่และสำคัญมากต่อสังคมไทย และจะส่งผลกระทบต่อทั้งผู้สูงอายุและผู้ยังไม่สูงอายุ แต่หากทุกภาคส่วนร่วมกันใช้เทคโนโลยีเพื่อแสวงหาหนทางร่วมกัน ปัญหาสังคมผู้สูงอายุย่อมไม่ใช่ปัญหาที่ใหญ่เกินกำลังของคนไทยทุกคน