ในหลวง-ราชินี เสด็จฯ ในพิธีทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์ครุย พระบรมราชูปถัมภกแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทอดพระเนตรการแสดงดนตรีเฉลิมพระเกียรติฯ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายฉลองพระองค์ครุย พระบรมราชูปถัมภกแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทอดพระเนตรการแสดงดนตรีเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567
วันนี้ (22 ธันวาคม 2567) เวลา 17.26 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
โอกาสนี้ ทรงวางพุ่มดอกไม้ ทรงวางพวงมาลัย และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า
จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพิธีทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภก ซึ่งสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีมติเป็นเอกฉันท์ขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภกแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อแสดงออกซึ่งความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา ทรงเจริญรอยตามพระราชจริยวัตรในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์นานัปการแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยทรงให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากสถาบันพระมหากษัตริย์ มาตั้งแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระราชทานกำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้ยกโรงเรียนมหาดเล็ก เป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นองค์พระบรมราชูปถัมภกของโรงเรียนฯ แห่งนี้
ต่อมา ทรงสถาปนาขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดสร้างฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภกขึ้น เป็นครุยพิเศษเฉพาะพระมหากษัตริย์ เพื่อสํานึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นหาที่สุดมิได้จากพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
สำหรับครุยพระบรมราชูปถัมภก มีลักษณะเป็นครุยผ้าโปร่งขาว มีสำรดติดขอบรอบแขนและปลายแขน พื้นสำรดใช้สักหลาด "สีเหลือง" เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบรมราชจักรีวงศ์ มีขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร มีแถบทอง กว้าง 1 เซนติเมตร ทาบทับบนริมทั้ง 2 ข้าง ตอนกลางติดแถบทองกว้าง 5 เซนติเมตร และมีตราพระเกี้ยวเงินติดทับบนสำรดตรงหน้าอกทั้ง 2 ข้าง
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภก แด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระองค์แรก ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2473 และได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภกแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2532 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2533 เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี แห่งการพระราชทานปริญญาบัตรในประเทศไทย และครบ 40 ปี ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานปริญญาบัตร ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จากนั้น ทอดพระเนตรการแสดงดนตรี "รวมใจภักดิ์ เฉลิมทศมจักรีนฤบดินทร์ : มหาดุริยางค์ไทย – สากล เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ" โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วงการแสดง ประกอบด้วย การบรรเลงดนตรีไทย และวงดุริยางค์สากลในบทเพลงต่าง ๆ ดังนี้
องก์ที่ 1 โหมโรงวชิรราช – วงมหาดุริยางค์ไทย ประพันธ์และอำนวยการบรรเลง โดย ดร.สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) ประจำปี 2557 และศิลปินแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
องก์ที่ 2 เดี่ยวระนาดเอก เพลงเชิดนอก เรียบเรียงและอำนวยการบรรเลง โดย ดร.สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ ศิลปินแห่งชาติฯ
องก์ที่ 3 เพลงชุดเจ้าพระยา : สายน้ำแห่งกาลเวลาและอารยธรรม ประพันธ์ เรียบเรียงและอำนวยการบรรเลงโดย รศ.ดร.ยุทธนา ฉัพพรรณรัตน์
องก์ที่ 4 เพลง Triumphal March from Aida ประพันธ์โดย Giuseppe Verdi (1813-1901) ผู้อำนวยเพลง นาวาอากาศเอก ลิขิต บุญญา กองทัพอากาศ
องก์ที่ 5 บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประกอบด้วย มาร์ชราชวัลลภ ผู้อำนวยเพลง พ.ท.เกรียงไกร คงสบาย กองทัพบก, มาร์ชธงไชยเฉลิมพล ผู้อำนวยเพลง พ.ต.ท. กิตติกุล วรรณกิจ สํานักงานตํารวจแห่งชาติ, มาร์ชราชนาวิกโยธิน ผู้อำนวยเพลง น.อ.ชุมพล วาราชนนท์ กองทัพเรือ และKinari suite ประกอบการแสดงระบำบัลเลต์ อำนวยเพลงโดย อ.วรรธนะ ตันเจริญผล จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
องก์ที่ 6 พระเกียรติยศยิ่งฟ้า มหาวชิราลงกรณ์ ประพันธ์ดนตรีโดย พ.อ.สมเกียรติ จุลโอภาส, ประพันธ์บทร้องโดย พ.อ.กิรชิต คุณาวงศ์ โดยมีศิลปินรับเชิญ คือ รัดเกล้า อามระดิษ, เสาวนิตย์ นวพันธ์ และกิตตินันท์ ชินสำราญ และมี พ.อ.สมเกียรติ จุลโอภาส กองบัญชาการกองทัพไทย ผู้อำนวยเพลง
ภายหลังจบการแสดงฯ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ผู้แทนนักดนตรี นักแสดง และผู้ควบคุมวงดนตรี เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานช่อดอกไม้