รับมืออย่างไร เมื่อคนข้างกาย เป็นผู้ป่วย จิตเวช
ดูแล สังเกตอาการ โรคจิตเวช คนในครอบครัว โดยเฉพาะเด็กเล็ก รวมถึงเด็กโต และวัยรุ่น อาการแบบไหน ควบพบจิตแพทย์ กรมสุขภาพจิต ขอความร่วมมือ ชุมชน ท้องถิ่นช่วยดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการรุนแรง และขาดยา เพื่อป้องกันอาการทางจิตกำเริบ
Key Point :
- โรคจิตเวช คือ กลุ่มอาการทางจิตใจหรือพฤติกรรมที่ทำให้ผู้ป่วยมีความบกพร่องในกิจวัตรต่าง ๆ หรือเกิดความทุกข์ทรมาน
- การสังเกตอาการคนในครอบครัว โดยเฉพาะเด็กเล็ก รวมถึงเด็กโต และวัยรุ่น เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อจะได้พาไปพบจิตแพทย์อย่างทันท่วงที
- ขณะเดียวกัน ครอบครับ สังคม ชุมชน มีส่วนสำคัญ ในการสอดส่องดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการรุนแรงและขาดยา เพื่อป้องกันอาการทางจิตกำเริบ
รายงานความสุขโลก ปี 2565 พบว่า แนวโน้มความสุขคนไทยลดลงต่อเนื่อง จากลำดับ 32 ในปี 2560 ลงไปยอู่ลำดับที่ 61 ในปี 2565 รวมทั้งข้อมูลประเมินสุขภาพจิตคนไทยตลอดปี 2564 ยังพบสัดส่วนผู้มีภาวะเครียดสูง 14.5% เสี่ยงซึมเศร้า 16.8% เสี่ยงฆ่าตัวตาย 9.5%
สอดคล้องกับข้อมูลจากศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ ปี 2560 – 2564 ที่พบกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานตอนต้น (อายุ 15 – 24 ปี และ 25 – 34 ปี) มีแนวโน้มจำนวนผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จสูงขึ้น นอกจากนี้ สถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิต ได้มาพร้อมกับภัยเงียบ นั่นคือ ความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า
7 โรคจิตเวชที่พบบ่อย
โรคจิตเวช คือ กลุ่มอาการทางจิตใจหรือพฤติกรรมที่ทำให้ผู้ป่วยมีความบกพร่องในกิจวัตรต่าง ๆ หรือเกิดความทุกข์ทรมาน หากพบความผิดปกติหรือส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ควรรีบปรึกษาจิตแพทย์เพื่อวินิจฉัยและวางแผนรักษาก่อนอาการรุนแรง ทั้งนี้ ข้อมูลจากรพ.เวชธานี ระบุถึง 7 โรคจิตเวชที่พบบ่อย ได้แก่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- “ความเครียด” สามารถถ่ายทอดจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนได้
- ผลสำรวจเผย คนไทยป่วย ‘ซึมเศร้า’ เป็นอันดับ 1 ในกลุ่ม ‘โรคทางจิตเวช’
- คนไทยป่วย'ซึมเศร้า'เพิ่มเกือบ 1 แสนราย 3ส ช่วยคนใกล้ชิด
1. โรคซึมเศร้า (Depression)
อาการผู้ป่วยโรคซึมเศร้า จะมีอาการหดหู่ ท้อแท้ เบื่อหน่าย สะเทือนใจง่าย ร้องไห้บ่อย รู้สึกตัวเองไม่มีคุณค่าหรือเป็นภาระของผู้อื่น สมาธิแย่ลง หลงลืมง่าย เหม่อลอย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ปวดหัว บางรายอาจไม่รู้สึกเศร้าแต่จะเบื่อหน่ายทุกอย่างรอบตัวและไม่รู้จะอยู่ต่อไปเพื่ออะไร หากมีอาการดังกล่าวมากกว่า 2 สัปดาห์ ควรพบจิตแพทย์เพื่อประเมินอาการ
2.โรคแพนิก (Panic Disorder)
โรคแพนิค หรือ โรคตื่นตระหนก เกิดขึ้นจากระบบประสาทอัตโนมัติไวต่อสิ่งกระตุ้น จนเกิดอาการหายใจติดขัด หัวใจเต้นเร็ว เวียนศีรษะ จุกแน่น คล้ายจะเป็นลมหรือเหมือนกับจะถึงชีวิต แต่ละครั้งจะมีอาการประมาณ 10 – 20 นาที และหายเป็นปกติ แต่หากมีอาการแพนิกเกิดขึ้นแล้วมีอาการอื่น ๆ ตามมา เช่น กังวลอยู่ตลอดเวลาว่าจะมีอาการแพนิกเกิดขึ้นอีก คุมตัวเองไม่ได้ หมกมุ่น พฤติกรรมเปลี่ยนอย่างชัดเจน ไม่กล้าไปไหนคนเดียว แนะนำควรรีบพบจิตแพทย์
3.โรคจิตเภท (Schizophrenia)
อาการผู้ป่วยโรคจิตเภท จะมีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน โดยจะแสดงออกด้วยการพูดคนเดียว หัวเราะคนเดียว หลงผิดหรือหวาดระแวง หากมีอาการนานเกิน 6 เดือนแล้วไม่ได้รับการรักษาจะทำให้การรักษายากขึ้นและผลการรักษาไม่ดี เนื่องจากจิตเภทเป็นโรคเรื้อรังยิ่งมารักษาช้าอาการจะยิ่งมากและรักษายากขึ้นเรื่อยๆ
4.โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (Post-Traumatic Stress Disorder)
ซึ่งเป็นผลมาจากที่ผู้ป่วยผ่านเหตุการณ์เลวร้ายหรือรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึก ทำให้เกิดความกลัวและกลัวว่าจะเกิดขึ้นซ้ำ จนมีอาการระแวง หวาดกลัว หรือตกใจง่าย ดังนั้นควรรีบพบจิตแพทย์เพื่อรักษา เพราะหากปล่อยไว้อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้
5.โรคไบโพลาร์ หรือ โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder)
เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมาระหว่างซึมเศร้าอาการหดหู่ ท้อแท้ สิ้นหวังเหมือนผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เป็นแทบทุกวันและอารมณ์ดีเกินปกติหรือแมเนีย เช่น อารมณ์คึกคัก กระฉับกระเฉง อยากทำหลายอย่าง พลังงานเยอะ นอนน้อย ใจดี มนุษยสัมพันธ์ดี อารมณ์ดี แต่มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ เช่น อยากทำอะไรแล้วต้องได้ทำทันที หากมีคนขัดใจจะฉุนเฉียวมาก หงุดหงิดง่าย เป็นต้น
6.โรคสมองเสื่อม (Dementia)
โรคสมองเสื่อม คือ ภาวะการทำงานของสมองแย่ลงจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน โดยจะไม่สามารถจดจำสิ่งที่เรียนรู้ใหม่ได้ หลงลืมง่าย หรือเล่าเรื่องในอดีตได้แต่ไม่สามารถจำกิจกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละวันได้ พบมากในผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป
7.โรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง (Phobias)
โรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง คือ อาการหวาดกลัวต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างรุนแรงหรือสถานการณ์บางอย่าง เช่น กลัวความสูง กลัวความมืด กลัวสัตว์บางชนิด กลัวเลือด ซึ่งอาการที่แสดงออกมาจะเป็นไปในทางหลีกเลี่ยง และหนีการพบเจอสิ่งนั้น ๆ อย่างทันทีทันใด ในรายที่รุนแรงอาจหวาดกลัวแม้เป็นเพียงการเอ่ยถึงหรือพบเจอสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกัน
อาการแบบไหน ที่ควรพาคนใกล้ชิดพบจิตแพทย์
เด็กเล็ก
- ผลการเรียนตกลงอย่างชัดเจนถึงพยายามอย่างมากแต่ผลสอบไม่ได้เท่าที่พยายาม
- ท่าทางวิตกกังวลอย่างมาก ซึ่งอาจแสดงออกโดยการไม่ยอมไปโรงเรียนบ่อยๆ หรือปฏิเสธไม่ยอมเข้าเรียน หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่เด็กวัยเดียวกันมักทำ
- ซนมาก อยู่ไม่นิ่ง เคลื่อนไหวตลอดเวลา มากกว่าการเล่นทั่วๆ ไป
- ฝันร้ายบ่อยๆ
- ดื้อ ไม่เชื่อฟัง หรือก้าวร้าว ต่อต้านผู้ใหญ่ เป็นประจำ และนานกว่า 6 เดือน
- มีร้องไห้ อาละวาดบ่อยๆ โดยหาสาเหตุไม่ได้
เด็กโตและวัยรุ่น
- ผลการเรียนเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด
- มีการใช้สารเสพติดหรือดื่มสุรา
- ไม่สามารถแก้ปัญหาและปฏิบัติงานประจำได้
- มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการนอน และ/หรือ การกินอย่างชัดเจน
- บ่นเรื่องอาการเจ็บป่วยทางกายมากมาย
- ก้าวร้าว หรือละเมิดกฎอย่างไม่ก้าวร้าว หรือละเมิดสิทธิ์ผู้อื่นบ่อยๆ เช่น ต่อต้านผู้ใหญ่ หนีโรงเรียน ทำลายข้าของสาธารณะ หรือลักขโมย
- กลัวความอ้วนอย่างมาก ทั้งที่รูปร่างหรือน้ำหนักจริงไม่เป็นเช่นนั้น
- มีอารมณ์ซึมเศร้า ซึ่งเห็นได้จาก มีอารมณ์ไม่แจ่มใสต่อเนื่อง มองโลกในแง่ลบ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ หรือคิดเรื่องตายบ่อยๆ
- อารมณ์โมโหรุนแรงอย่างควบคุมไม่ได้บ่อยๆ
ช่องทางในการเข้ารับบริการ
1. คลินิกจิตเวช ในสถานพยาบาลของรัฐ และเอกชน
2. รพ.เฉพาะทางด้านสุขภาพจิต ซึ่งปัจจุบันมีเอกชนเปิดให้บริการหลายแห่ง ส่วนที่สังกัดกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้แก่
ภาคกลาง (กรุงเทพมหานครและปริมณฑล)
1. สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา - กทม.
2. สถาบันราชานุกูล - กทม.
3. สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ - กทม.
4. สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ - กทม.
5. รพ.ศรีธัญญา - นนทบุรี
6. รพ.ยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ - สมุทรปราการ
ภาคเหนือ
1. รพ.สวนปรุง อ.เมือง จ. เชียงใหม่
2. สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
3. รพ.จิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ อ.พยุหคีรี จ.นครสวรรค์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
1. รพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ อ.เมือง จ.นครราชสีมา
2. รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ อ.เมือง จ.ขอนแก่น
3. สถาบันพัฒนาการเด็กภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อ.เมือง จ.ขอนแก่น
4. รพ.จิตเวชเลยราชนครินทร์ อ.เมือง จ.เลย
5. รพ.จิตเวชนครพนมราชนครินทร์ อ.เมือง จ.นครพนม
6. รพ.พระศรีมหาโพธิ์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
ภาคตะวันออก
1. รพ.จิตเวชสระแก้วราชนครินทร์ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว
ภาคใต้
1. รพ.สวนสราญรมย์ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี
2. รพ.จิตเวชสงขลานครินทร์ อ.เมือง จ.สงขลา
ครอบครัว ชุมชน ช่วยดูแล สัญญาณเตือนจิตเวชรุนแรง
ขณะเดียวกัน จากการที่มีข่าวผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตกำเริบ ส่วนใหญ่เป็นสาเหตุจากการขาดการกินยาต่อเนื่อง
นายแพทย์จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ขอความร่วมมือกับบุคคลที่อยู่ในครอบครัว ชุมชน อสม และผู้นำท้องถิ่นที่มีผู้ป่วยประเภทนี้อยู่ในพื้นที่ ให้ช่วยกันสอดส่อง เฝ้าระวังและระมัดระวัง
อาการที่บ่งบอกถึงผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความรุนแรง และควรแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่กู้ภัย 1669 นำตัวเข้าสู่ระบบการรักษาแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้เกิดผลดี ได้แก่
- ไม่หลับไม่นอน
- เดินไปเดินมา
- พูดจาคนเดียว
- หงุดหงิดฉุนเฉียว
- เที่ยวหวาดระแวง
"หรือหากพบผู้ที่กำลังรักษาตัวและขาดยาต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 1 เดือน ให้นำตัวไปปรึกษาแพทย์ เพื่อปรับยาหรือใช้ยาฉีดเพื่อป้องกันอาการกำเริบ เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะก่อความรุนแรง และถือว่าเป็นผู้ที่ต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่2) พ.ศ.2562"
ซึ่งมีกฏหมายนี้ได้ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง หรือหน่วยงาน 1669 ที่สามารถจะเข้าควบคุมตัวได้ แต่อย่างไรก็ตามขอให้ผู้ปฏิบัติงานมีความระมัดระวัง มีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญในการเข้าระงับเหตุหรือการควบคุมตัวทั้งเพื่อความปลอดภัยต่อตนเองและผู้ก่อเหตุอีกด้วย
ผลักดันยาฉีดออกฤทธิ์ระยะยาว
นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิต มีความห่วงใยและอยากจะสื่อไปยังประชาชนและผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายว่า ผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตสามารถทำการรักษาได้หลายวิธี ซึ่งในกรณีของผู้ป่วยรายนี้มีอาการป่วยทางจิตแต่ไม่ยอมกินยา จึงทำให้อาการกำเริบ
ซึ่งในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ชอบกินยาหรือไม่กินยาอย่างสม่ำเสมอ แพทย์มีทางเลือกที่จะให้การรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น ยาฉีดชนิดออกฤทธิ์ยาว ซึ่งสามารถออกฤทธิ์ในระยะเวลาตั้งแต่ 1 – 3 เดือน ซึ่งในปัจจุบันมียาที่ออกมาใหม่ ฤทธิ์ข้างเคียงน้อยและมีคุณภาพสูง แก้ปัญหาการขาดยา แต่ปัญหาอยู่ที่ยาเหล่านี้ยังไม่ได้รับการบรรจุเข้าสู่บัญชียาหลัก และเป็นยาที่ค่อนข้างมีราคาสูง
แต่ถ้าหากคิดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ในกรณีผู้ป่วยจิตเวชที่ก่อความเดือดร้อนในสังคม ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น ค่ารักษาทางด้านร่างกาย การเสียทรัพย์สิน หรือค่าใช้จ่ายทางอ้อมอื่น ๆ เช่น ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการควบคุมตัว ซึ่งเมือเทียบกับค่าใช้จ่ายในการรักษาอาจจะมีมูลค่าพอกันเลยทีเดียว และหากมองในการเรื่องของการลงทุนเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต ก็ถือว่าคุ้มค่าในการลงทุนอย่างมาก
กรมสุขภาพจิต อยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหันมาให้ความสนใจกับคนไข้จิตเวชที่ขาดยา และมีแนวโน้มที่จะก่อความรุนแรง ให้ช่วยผลักดันและสนับสนุนให้มีการนำยาฉีดชนิดออกฤทธิ์ยาวคุณภาพสูงเพื่อเข้าสู่บัญชียาหลัก เพื่อนำไปใช้กับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงจริงๆ ที่จะทำร้ายตนเองหรือสังคม ที่เรียกว่า Serious Mental Illness with High Risk to Violence หรือ SMI-V
ท้ายนี้ กรมสุขภาพจิต ขอให้ครอบครัว ญาติ และคนใกล้ชิด สอดส่องสังเกตอาการผิดปกติทางจิตของคนในครอบครัว หากสงสัยให้ดำเนินการปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือ โทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ถ้าพิจารณาแล้วพบว่ามีภาวะเสี่ยง ให้ส่งต่อเพื่อประเมินรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน และหากพบว่ามีภาวะอันตรายทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคม จำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษาทันท่วงที ให้รีบโทรแจ้งสายด่วนการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 และสายด่วนตำรวจ 191