'หิวบ่อย หิวตลอด กินไม่รู้จักอิ่ม' สัญญาณเตือนโรคที่คาดไม่ถึง

'หิวบ่อย หิวตลอด กินไม่รู้จักอิ่ม'  สัญญาณเตือนโรคที่คาดไม่ถึง

เคยถามตัวเองหรือไม่? ว่า ทำไมกินมากขนาดไหนก็รู้สึกไม่อิ่ม หิวบ่อย หิวตลอดเวลา กินได้เรื่อยๆ กินได้ตลอดเวลา หรือเคยเจอคนใกล้ตัวมีพฤติกรรมการกินดังกล่าว แถมบางคนอาจจะเห็นของกินก็สามารถกินได้ทันที หรือกินครั้งละมากๆ จนน่าตกใจ

Keypoint:

  •  แม้การ ‘หิวบ่อย กินไม่หยุด กินไม่รู้จักอิ่ม’ หลายคนอาจมองว่าไม่ได้ส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยตรง แต่ใครจะคาดคิดว่านั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนเรื่องสุขภาพก็เป็นได้ เพราะอาจมีอะไรผิดปกติสักอย่างในร่างกาย เป็นสาเหตุที่ทำให้หิวตลอดเวลา
  • วัดระดับความหิวของร่างหาย หิวแบบไหนที่ทางการแพทย์เรียกว่าโรค Binge Eating Disorder โรคที่พบมากในหมู่วัยรุ่น
  • สาเหตุที่ทำให้หิวบ่อย หิวตลอดเวลา กินไม่รู้จักอิ่ม จะมาจาก 3 ประเด็นหลักๆ คือ ความเครียด พฤติกรรมลดน้ำหนัก ควบคุมอาการ และปัญหาครอบครัว ความกดดันจากสังคม


เชื่อว่ามีหลายคนเคยสังเกตตัวเอง ว่าเป็น คนกินไม่หยุด กินจุบจิบ มีขนม ผลไม้ ของว่างเท่าไร ก็คอยหยิบมากินจนหมด รู้สึกว่าตัวเอง หิวบ่อย หิวตลอดเวลา เหมือนกินเท่าไรก็ไม่รู้สึกอิ่ม ไม่พอสักทีลองสังเกตตัวเอง คนใกล้ตัว หรือคนรอบข้าง อาจจะพบเจออยู่บ้าง 

ความหิวเกิดจากอะไร?

ความหิวเกิดจากร่างกายของเราเตือนว่าต้องการอาหาร เพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานในการทำกิจกรรมต่างๆ เมื่อไม่มีอาหารตกถึงท้อง ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนไปยังสมอง โดยส่งสัญญาณผ่านทางอาการปวดท้อง ท้องร้อง เพื่อบอกว่าเราหิวนั่นเอง

หลายครั้งที่เกิดความสับสนระหว่างความหิว และ อาการกระหายน้ำ ความรู้สึกอยากทานอะไรสดชื่นๆ และจบลงที่ขนม หรือ ของว่างพลังงานสูง แต่ก็ยังไม่หายหิวอยู่ดี นั่นเป็นเพราะร่างกายอาจจะแค่กระหายน้ำไม่ได้หิวอย่างที่เข้าใจ

ถ้ามีอาการแบบนี้ แนะนำให้เริ่มจากการดื่มน้ำเปล่าก่อน ถ้าหากยังมีอาการหิว ค่อยหาอาหารมื้อหลักที่มีประโยชน์มารับประทาน หรือให้เลือกเป็นเครื่องดื่มที่ให้พลังงานต่ำมาดื่ม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ยิ่ง 'อดนอน' ก็ยิ่งอ้วน! วิจัยชี้ นอนน้อยกว่า 7 ชม. จะอ้วนง่ายขึ้น 26%

'อดอาหารเช้า' ไม่ใช่แค่หิว ! ระวัง 5 โรคร้ายถามหา

 

วัดระดับความหิวของร่างกาย

  • ความหิวที่มาจากการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง

อาหารบางประเภท รับประทานแล้วรู้สึกว่าอิ่มได้ไม่นาน เผลอแป๊บเดียวก็หิวอีกแล้ว ความหิวแบบนี้ มีสาเหตุมาจากอาหารที่ทานเข้าไปนั้นทำให้หิวมากขึ้น และหิวเร็วขึ้น เช่น อาการประเภทข้าว แป้งขาว น้ำตาล, อาหารที่มีโซเดียมสูง ฟาสต์ฟู้ด ขนมขบเคี้ยว, น้ำผลไม้ที่แยกกากใยออกจนหมด รวมถึง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็ทำให้ควบคุมความหิวได้ยากขึ้น

  •  ความหิวที่มาจากปัจจัยด้านร่างกาย และสุขภาพ

สำหรับสาวๆ อาการหิวที่มากกว่าปกติ อาจเป็นอาการของช่วงก่อนวันมีประจำเดือน (PMS) หรือ เป็นสัญญาณเตือนว่าเรากำลังตั้งครรภ์ก็ได้ โดยในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ร่างกายจะมีความต้องการอาหารมากขึ้น ทำให้หิวบ่อยขึ้น

\'หิวบ่อย หิวตลอด กินไม่รู้จักอิ่ม\'  สัญญาณเตือนโรคที่คาดไม่ถึง

นอกจากนี้ การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็ส่งผลต่อความหิวได้ จากการศึกษาวิจัยพบว่า การนอนหลับไม่เพียงพอจะส่งผลกับการหลั่งฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) ตัวการควบคุมความหิว ทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนชนิดนี้มากขึ้น ในขณะที่ทำให้ระดับการหลั่งฮอร์โมนเลปติน (leptin) ที่ควบคุมความอิ่มลดลง

นอกจากนี้ อาการหิวที่มากกว่าปกติ อาจเป็นอาการของโรคต่างๆ ได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น โรค Hypoglycaemia หรือ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งโดยมากจะพบอาการนี้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่ใช้ อินซูลิน เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด เมื่อเกิดภาวะน้ำตาลต่ำจะส่งผลให้อยากอาหารมากขึ้น หิวหนักขึ้น หิวเร็วขึ้น หรืออาจมีอาการวิงเวียนศีรษะ และหน้ามืดได้ นอกจากนี้ ความหิวอาจเป็นอาการของโรคไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) ได้ด้วย ถ้าหากมีอาการหิวโดยมีสาเหตุจากโรคเหล่านี้ แนะนำให้มาปรึกษาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย

 

สาเหตุที่ทำให้หิวบ่อยๆ หิวตลอดเวลา

ความหิวเรื่องธรรมชาติ แต่หิวบ่อย หิวเร็ว ต้นเหตุอาจเกิดจาก

  • ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง
  • ฮอร์โมนเลปติน (Leptin) หรือฮอร์โมนควบคุมความอิ่มในร่างกายไม่สมดุล
  • ความเครียด ความเศร้า ใช้อาหารบำบัดความเครียด
  • การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง (อาหารบางประเภททำให้หิวมากขึ้น และหิวเร็วขึ้น)
  • ปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น อาการ PMS, ตั้งครรภ์ พักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ความเคยชิน กินจุกจิกทุก 1 ชั่วโมง

โดย 10 สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้หิวบ่อย หิวตลอดเวลา มีดังนี้ 

1. พักผ่อนไม่เพียงพอ

การพักผ่อนไม่เพียงพอทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมน ที่ทำให้เราหิวหนักกว่าเดิม แถมทำให้เรารู้สึกอิ่มน้อยลงอีกด้วย ซึ่งการนอนน้อยนั้นเป็นศัตรูสำหรับคนอยากผอมอยู่แล้วค่ะ เพราะทำให้ระบบการเผาผลาญทำงานได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ

2. ความเครียดสะสม

อาการเครียด หรืออารมณ์ที่ไม่ปกติเหล่านี้ จะทำให้เราเกิดอาการหิวผิดปกติได้และจะกินอาหารมากกว่าปกติ เพื่อทดแทนความสุขจากการกินนั่นเอง แต่จริงๆ แล้วมีอีกหลายวิธีที่ช่วยผ่อนคลายจากความเครียด เช่น ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ

3. ดื่มน้ำน้อยเกินไป

 บางทีการที่เรารู้สึกอยากกินขนม ก็ไม่ได้แปลว่าจะหิวเสมอไป อาจเป็นภาวะที่ร่างกายขาดน้ำ หรือแค่รู้สึกกระหายน้ำก็ได้ ทางที่ดีเพื่อหุ่นสวย ควรเลือกดื่มน้ำเปล่าก่อนไปหาอะไรกิน จะช่วยให้เรารู้สึกอิ่มจนหายหิวได้ แถมการดื่มน้ำมากๆ ยังดีต่อสุขภาพอีกด้วย

4. กินอาหารไม่ตรงเวลา

การกินอาหารที่ไม่ตรงเวลาบ่อยๆ จะทำให้ ระบบร่างกายรวน หรือตารางเวลาของร่างกายทำงานผิดปกติ และอาจทำให้เกิดโรคกระเพาะได้ ทางที่ดีควรกินอาหารให้ตรงเวลา

5. กินโปรตีนไม่เพียงพอ

การเน้นกินอาหารจำพวกโปรตีน จะช่วยสร้างกล้ามเนื้อ และอิ่มท้องได้นาน ดีกว่าเน้นกินอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต ที่นอกจากจะให้พลังงานสูง และอ้วนแล้ว ยังไม่ทำให้อยู่ท้องได้นานอีกด้วย

\'หิวบ่อย หิวตลอด กินไม่รู้จักอิ่ม\'  สัญญาณเตือนโรคที่คาดไม่ถึง

6. ไฟเบอร์ไม่เพียงพอ

นอกจากโปรตีนไม่เพียงพอแล้ว การกินไฟเบอร์ไม่เพียงพอก็ทำให้หิวได้ค่ะ ดังนั้นควรเลือกรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เพราะจะช่วยให้อิ่มท้องได้นาน ไม่ทำให้หิวบ่อยนั่นเอง

7. กินอาหารแปรรูป

การกินอาหารแปรรูปที่นอกจากจะแคลอรี่สูงแล้ว ปริมาณโซเดียมยังสูงอีกเช่นกันค่ะ ทางที่ดีควรเลือกกินอาหารที่ปรุงสดใหม่ ไม่ผ่านกรรมวิธีมากมาย จะช่วยให้ได้รับคุณค่าทางอาหารที่มากกว่า และอยู่ท้องกว่า

8. ไดเอทนานเกินไป

การอดอาหารเป็นเวลานานๆ จะทำให้เรากินอาหารเข้าไปมากกว่าปกติ และมีแนวโน้มว่าจะกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์

9. อยู่ในช่วง Calorie Deficit มากเกินไป

Calorie Deficit การลดน้ำหนักและการควบคุมอาหาร ที่รับพลังงานเข้ามาน้อยกว่าพลังงานที่ร่างกายได้ใช้ออกไปในแต่ละวัน ทำให้ร่างกาย ดึงไขมันที่เก็บไว้ในส่วนต่างๆ ของร่างกายออกมาใช้เป็นพลังงานแทน ทำให้ไขมันในร่างกายลดลง แต่หากอยู่ในช่วงนี้นานๆ จะทำให้พลังงานขาดดุล จึงเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้หิวบ่อย

10. ความอยากล้วนๆ

นี่ไม่ใช่ความหิวที่แท้จริง แต่เป็นความอยากล้วนๆ อาการเหล่านี้ อาจเกิดขึ้นเมื่อเราดูคลิปทำอาหาร หรือเสพภาพอาหาร แล้วรู้สึกอยากกิน เลยเอาความหิวมาเป็นข้ออ้างนั่นเอง!

โดยพฤติกรรมการกินดังกล่าว ทางการแพทย์ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ผิดปกติ ที่เรียกกันว่า Binge Eating Disorder

Binge Eating Disorder คืออะไร ?

Binge Eating Disorder คืออาการของคนที่กินอาหารได้ครั้งละมากๆ มากจนน่าตกใจ และมักจะกินในเวลาอันรวดเร็ว หรือบางคนอาจจะเป็นบางช่วงที่กินเยอะเหมือนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้

สาเหตุของโรค Binge Eating Disorder ยังหาสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้ แต่ทางการแพทย์สันนิษฐานว่า อาจเกิดได้จาก 3 พฤติกรรมเหล่านี้  

  • ความเครียด ความกังวลที่ค่อนข้างมีอิทธิพลต่อผู้ป่วยมาก เช่น กังวลในรูปร่างของตัวเอง หรือกลัวอ้วนขึ้นมากๆ
  • พฤติกรรมลดน้ำหนักแบบผิดๆ เช่น อดมื้อกินมื้อ หรือพยายามงดอาหารจนแทบไม่ได้กินอะไรในแต่ละวัน
  • ปัญหาทางครอบครัวที่ฝังลึกในจิตใจ หรือความกดดันทางสังคมจนก่อให้เกิดความเครียด  

ทั้งหมดคล้ายกับอาการกินตามอารมณ์อย่างมาก แตกต่างเพียงแค่กินตามอารมณ์นั้นอาจจะเกิดได้จากอารมณ์ที่หลากหลาย และอาจไม่ได้กินเยอะและรวดเร็วเท่ากับ Binge Eating Disorder 

ใครที่เสี่ยงเป็นโรค Binge Eating Disorder

โรค Binge Eating Disorder พบมากในกลุ่มวัยรุ่นตอนปลาย ช่วงอายุประมาณ 23 ปี โดยค่าเฉลี่ยมีแนวโน้มที่จะพัฒนามาจากโรคกินผิดปกติอย่างโรคคลั่งผอม แต่พัฒนามาเป็นอีกขั่วจนมาเป็น Binge Eating Disorder และโดยเฉลี่ยของผู้ป่วยด้วยโรคนี้จากสถิติจะเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

นอกจาก ผู้ป่วยโรค Binge Eating Disorder มักจะเป็นคนที่ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ค่อยได้ไม่ว่าจะกับเรื่องไหนก็ตาม อีกทั้งกับคนที่ชอบให้รางวัลตัวเองด้วยการกิน กินเพื่อคลายเครียด หรือรู้สึกอะไรก็มักจะกิน คนกลุ่มนี้ก็มีความเสี่ยงเป็นโรค Binge Eating Disorder มากกว่าคนอื่นๆ ด้วย

ถึงแม้ว่าโรค Binge Eating Disorder จะไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงมากนัก แต่ก็สามารถกระทบกับการดำเนินชีวิตและสภาพจิตใจของผู้ป่วยได้ นอกจากนี้หากไม่รักษาอาการอย่างเหมาะสม พฤติกรรมกินเยอะเป็นช่วงๆ อาจนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพ เช่น โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันสูง โรคอ้วน โรคหัวใจโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตัน โรคเส้นเลือดในสมอง รวมทั้งโรคที่เกิดจากน้ำหนักตัวที่มากเกินไป เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก เป็นต้น 

\'หิวบ่อย หิวตลอด กินไม่รู้จักอิ่ม\'  สัญญาณเตือนโรคที่คาดไม่ถึง

สังเกตอาการโรค Binge Eating Disorder

  • กินอาหารมากกว่าปกติ และทุกครั้งที่เริ่มกินอาหาร ก็เหมือนจะควบคุมปริมาณอาหารที่กินเข้าไปไม่ได้
  • กินอาหารด้วยความรวดเร็วเสมอ ยังคงกินอีกได้เรื่อยๆ แม้จะรู้สึกอิ่มจนแน่นท้องแล้วก็ตาม
  • สามารถกินอาหารในปริมาณมากๆ ได้ แม้จะไม่รู้สึกหิวเลยสักนิด
  • ทุกครั้งที่เกิดอาการก็มักจะหลบไปกินคนเดียว เพราะอายที่จะให้ใครรู้ว่าตัวเองกินอาหารได้เยอะขนาดไหน
  • ยิ่งเครียด ยิ่งอารมณ์เสีย ยิ่งกินมากขึ้นๆ แต่จะรู้สึกผิดและรู้สึกแย่ทุกครั้ง หลังกินอาหารมื้อใหญ่เข้าไปแล้ว
  • มีพฤติกรรมแปลกๆ คือกังวลกับน้ำหนักตัวและรูปร่าง แต่กลับกินไม่หยุด
  • พยายามอย่างมากที่จะควบคุมตัวเอง หรือพยายามลดน้ำหนักอย่างหักโหมเกินพอดี แต่ก็เหมือนเอาชนะใจตัวเองไม่สำเร็จเท่าไร 
  • รู้สึกเกลียดตัวเองทุกครั้งที่กินอาหาร

หากตัวคุณเองหรือคนใกล้ชิดมีพฤติกรรมหรือเกิดอาการแบบนี้เกิน 3 ข้อขึ้นไป อาจจะต้องได้เวลาไปพบแพทย์เพื่อหาวิธีรักษา

รักษาโรค Binge Eating Disorder  ได้อย่างไร ?  

วิธีการรักษาโรค Binge Eating Disorder  ต้องพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เพื่อใช้วิธีพฤติกรรมบำบัด และค่อยๆ ปรับทัศนคติต่อการลดน้ำหนัก การระบายอารมณ์ ความเครียดและปรับพฤติกรรมการกินให้เป็นปกติอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากนั้นจิตแพทย์จะใช้การรักษาด้วยยา โดยจิตแพทย์อาจให้ยาในกลุ่มยาคลายเครียดเพื่อลดอาการ Binge Eating Disorder ร่วมกับการบำบัดทางจิต

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเครียดหนักมาก และบางส่วนอาจจะต้องใช้การบำบัดพฤติกรรมลดน้ำหนัก ซึ่งวิธีนี้เหมาะจะรักษาผู้ป่วยโรค Binge Eating Disorder ที่มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมลดน้ำหนักผิดวิธี โดยจะจัดให้ผู้ป่วยเข้าคอร์สลดน้ำหนักอย่างถูกต้องด้วยเทรนเนอร์และนักโภชนาการ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่การทานอาหาร วิธีการออกกำลังกาย ฯลฯ

\'หิวบ่อย หิวตลอด กินไม่รู้จักอิ่ม\'  สัญญาณเตือนโรคที่คาดไม่ถึง

เช็กอาการสาเหตุที่หิวบ่อย หิวตลอดเวลา

สาเหตุที่ทำให้เราหิวตลอดเวลา แต่อาจจะไม่ได้เป็นโรค Binge Eating Disorder มีดังนี้ 

อาการหิวบ่อย จากพฤติกรรมและการใช้ชีวิต

บางครั้ง พฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรา (รวมไปถึงนิสัยการกิน) อาจเป็นต้นเหตุให้เรารู้สึกกินไม่อิ่ม กินไม่พอ หิวตลอดเวลาได้ เช่น

  • กินโปรตีนไม่พอ กินอาหารประเภทแป้งขัดขาวเยอะ เพราะโปรตีนเป็นหนึ่งในสารอาหารหลักที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย (ร่วมกับคาร์โบไฮเดรตและไขมัน) เมื่อกินร่วมกันในหนึ่งมื้อ ร่างกายจะมีพลังงานและรู้สึกอิ่ม แต่หากกินแต่อาหารที่มีแต่คาร์โบไฮเดรต หรือกินอาหารประเภทแป้งขัดขาว ที่มีสัดส่วนคาร์โบไฮเดรตสูง และไม่มีใยอาหาร จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงและลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้รู้สึกหิวอีกครั้ง
  • กินไขมันไม่พอ หลายคนหลีกเลี่ยงการบริโภคไขมันเพราะคิดว่าจะทำให้อ้วน แต่ในความเป็นจริง ไขมันคือหนึ่งในสารอาหารจำเป็น หากเลือกกินแต่อาหารที่ไม่มีไขมัน หรือไขมันต่ำ ร่างกายอาจขาดไขมันที่ดี ทำให้เกิดความรู้สึกอยากกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลสูงเข้าไปทดแทน
  • กินใยอาหารน้อยเกินไป เพราะใยอาหารจะขยายตัวเมื่อกินเข้าไป จึงมีบทบาทในการควบคุมความหิวได้ หากกินอย่างเพียงพอ จะทำให้รู้สึกอิ่มได้เร็ว
  • ดื่มน้ำน้อยไป บางครั้งเมื่อรู้สึกหิว อาจไม่ใช่ความหิวจริง ๆ แต่คือความรู้สึกกระหายน้ำ การดื่มน้ำสม่ำเสมอตลอดทั้งวัน จึงช่วยให้ร่างกายไม่ขาดน้ำ และอาจป้องกันความรู้สึกหิวได้ด้วย
  •  ไม่จดจ่อเวลากินอาหาร การกินอาหารโดยไม่จดจ่อ ไม่ว่าจะกินระหว่างกำลังดูหนัง ดูซีรีส์ คลิปวิดีโอ หรืออื่น ๆ อาจทำให้ไม่ตระหนักรู้ว่าตัวเองกำลังกินอะไร และกินเข้าไปเท่าไร แม้จะรับรู้ว่าตัวเองกินไปแล้ว แต่สมองจะไม่ได้ดื่มด่ำ พึงพอใจกับสิ่งที่กิน เมื่อไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งที่กินอยู่ จึงทำให้รู้สึกว่าอาหารที่กินเข้าไปยังไม่พอ ไม่ตอบสนองความต้องการเท่าที่ควร
  • นอนไม่พอ หากนอนไม่พอจะทำให้ระดับฮอร์โมนเกรลิน (ghrelin) เพิ่มขึ้น ฮอร์โมนนี้ส่วนใหญ่ผลิตจากกระเพาะอาหาร ทำให้รู้สึกหิวได้

อาการหิวบ่อย ที่อาจมาจากความผิดปกติของร่างกาย

อาการหิวตลอดเวลา อาจเกิดจากโรค หรือสภาวะของร่างกายที่ผิดปกติได้เช่นกัน ดังนี้

  • โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เมื่อเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ร่างกายจะขาดอินซูลินที่จะพากลูโคสเข้าสู่เซลล์ ทำให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายไม่ได้รับกลูโคส กลูโคสจึงอยู่ในกระแสเลือด และถูกขับออกทางปัสสาวะ ทำให้ร่างกายเรียกร้องให้กินมากขึ้น
  •  ไฮโปไกลซีเมีย (Hypoglycemia) หรือภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ คือภาวะที่ร่างกายมีกลูโคสในระดับต่ำ อาจมาจากการกินยารักษาโรคเบาหวาน ผู้ที่มีภาวะนี้มักมีอาการเบลอ พูดไม่ชัด และมีปัญหาในการเดิน
  • ปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมที่ผลิตฮอร์โมนเพื่อควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย หากต่อมไทรอยด์ทำงานมากไป หรือมีภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ (hyperthyroidism) จะทำให้มีอาการชีพจรเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก กล้ามเนื้ออ่อนแรง กระหายน้ำแม้จะเพิ่งดื่ม
  • ความเครียด เมื่อมีความเครียดหรือวิตกกังวล ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล ที่จะเพิ่มความรู้สึกหิว อีกทั้งผู้ที่มีความเครียดมีแนวโน้มอยากอาหารประมาณน้ำตาลและไขมันสูง

โดยปกติ ความหิวเป็นเรื่องธรรมชาติของร่างกายที่เรียกร้องพลังงาน ทำให้รู้สึกหิวเมื่อไม่ได้กินอะไรติดต่อกันประมาณ 2-3 ชั่วโมง แต่หากรู้สึกว่าร่างกายไม่ได้หิวหรืออยากกินเพราะขาดอาหาร ควรหาสาเหตุที่แท้จริงและวิธีแก้ไข เพื่อหลีกเลี่ยงการกินอาหารเกินกว่าความต้องการจริง ๆ ของร่างกาย

อ้างอิง :โรงพยาบาลเมดพาร์ค ,โรงพยาบาลรามคำแหง ,trueid  ,โรงพยาบาลศิครินทร์